ทำอย่างไรจึงจะปรับเปลี่ยนการกินได้ง่ายขึ้น


ผู้เป็นเบาหวานสามารถกินอาหารได้ทุกชนิด แต่ควรควบคุมปริมาณ อะไรที่หวานมากก็กินแต่น้อยพอชื่นใจ อะไรที่หวานน้อยก็กินแต่พอควร

คุณจุรีย์พร จันทรภักดี นักกำหนดอาหาร โรงพยาบาลเทพธารินทร์ ส่งข้อมูลการให้คำแนะนำและจัดอาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวาน ตัวอย่างอาหาร ๑,๕๐๐ กิโลแคลอรีมาให้เรา ดูเมนูแล้วเป็นอาหารสำหรับคนในเมือง สมาชิกที่ทำงานกับผู้เป็นเบาหวานในหมู่บ้านในชุมชน คงจัดเมนูที่แตกต่างจากนี้ ลองเขียนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันนะคะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๘

"ทำอย่างไรจึงจะปรับเปลี่ยนการกินได้ง่ายขึ้น"

การให้คำแนะนำและจัดอาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวาน หลักสำคัญคือปริมาณอาหารที่เหมาะสมและมีชนิดหลากหลาย เพื่อให้ได้ปริมาณเพียงพอและสารอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ นอกจากนี้คนกินก็ไม่รู้สึกจำเจ คนเป็นเบาหวานส่วนใหญ่ มักได้รับข้อมูลมากมายจากผู้ประสงค์ดี จึงมีความเชื่อต่างๆ เช่น ห้ามกินผลไม้หรืออาหารบางชนิด การเลือกอาหารจึงมักจะถูกจำกัดอยู่ในวงแคบๆ ซึ่งสร้างความเบื่อหน่าย ท้อใจในการดูแลเรื่องอาหาร

นักกำหนดอาหารต้องสร้างความเข้าใจว่าผู้เป็นเบาหวานสามารถกินอาหารได้ทุกชนิด แต่ควรควบคุมปริมาณ อะไรที่หวานมากก็กินแต่น้อยพอชื่นใจ อะไรที่หวานน้อยก็กินแต่พอควร นอกจากนี้การแนะนำหลักการอาหารแลกเปลี่ยนและการเปิดโอกาสให้ผู้เป็นเบาหวานร่วมวางแผนเมนูอาหารของตนเองก็จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนการกินได้ง่ายขึ้น และต้องคำนึงถึงความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำอาหารกินเอง ผู้ที่อาศัยกับข้าวนอกบ้าน หรือบางวาระที่ต้องไปงานเลี้ยง

การจัดเมนูอาหารตัวอย่างพร้อมทั้งสัดส่วนอาหารแลกเปลี่ยน ก็เป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องอาหาร ทำให้ผู้เป็นเบาหวานเห็นภาพอาหารที่ชัดเจนยิ่งขึ้น นักกำหนดอาหารสามารถจัดสื่อเมนูอาหารประเภทรูปภาพ เพื่อประกอบการให้คำแนะนำ หรือจัดแสดงมุมตัวอย่างเมนูอาหาร พร้อมสัดส่วนเพื่อให้ผู้เป็นเบาหวานได้เรียนรู้ในขณะรอพบแพทย์ก็ได้

ตัวอย่างอาหาร ๑,๕๐๐ กิโลแคลอรี

 

  มื้อเช้า

สัดส่วนอาหารแลกเปลี่ยน 

 แซนวิชไก่ พลังงาน ๓๔๐ กิโลแคลอรี ข้าว/แป้ง ๒ ส่วน เนื้อสัตว์ ๒ ส่วน ผัก ๑ ส่วน ไขมัน ๑ ส่วน
 โยเกิร์ตผลไม้สด พลังงาน ๑๘๐ กิโลแคลอรี   นมพร่องมันเนย ๑ ส่วน ผลไม้ ๑ ส่วน

 

มื้อกลางวัน

สัดส่วนอาหารแลกเปลี่ยน 

วุ้นเส้นต้มยำ พลังงาน ๔๔๐ กิโลแคลอรี  ข้าว/แป้ง ๑ ส่วน เนื้อสัตว์ ๒ ๑/๒ ส่วน ผัก ๑/๒ ส่วน ไขมัน ๑ ส่วน
แคนตาลูปปั่น พลังงาน ๖๐ กิโลแคลอรี  ผลไม้ ๑/๒ ส่วน นมพร่องมันเนย ๑/๒ ส่วน
ผลไม้สด พลังงาน ๖๐ กิโลแคลอรี   ผลไม้ ๑ ส่วน

 

 มื้อเย็น

สัดส่วนอาหารแลกเปลี่ยน 

 ข้าวสวย พลังงาน ๑๖๐ กิโลแคลอรี  ข้าว/แป้ง ๒ ส่วน
 เต้าเจี้ยวหลนผักสด พลังงาน ๑๖๕ กิโลแคลอรี  เนื้อสัตว์ ๑ ส่วน นมพร่องมันเนย ๑/๒ ส่วน ผัก ๒ ส่วน
 แกงจืดสาหร่ายปลา พลังงาน ๗๐ กิโลแคลอรี  เนื้อสัตว์ ๑ ส่วน ผัก ๑/๒ ส่วน

ผู้เล่าเรื่อง คุณจุรีย์พร จันทรภักดี นักกำหนดอาหาร โรงพยาบาลเทพธารินทร์ โทร ๐-๒๒๔๐-๒๗๒๗ ต่อ ๒๒๓๑

คำสำคัญ (Tags): #เมนูอาหาร#อาหาร
หมายเลขบันทึก: 2856เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2005 09:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท