แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการปัญหาการปรากฎตัวของมนุษย์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต


ปัญหาหลักของการบังคับใช้กฎหมายสำหรับการกระทำของมนุษย์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตก็คือ การพิสูจน์ตัวบุคคลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แต่ทว่า แนวคิดในการจัดการปัญหาเรื่องการพิสูจน์ตัวบุคคลกลับอยู่ในภาวะติดขัด

 

     แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการปัญหาการปรากฏตัวของมนุษย์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

            ปัญหาหลักของการบังคับใช้กฎหมายสำหรับการกระทำของมนุษย์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตก็คือ การพิสูจน์ตัวบุคคลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
            เนื่องจากระบบการทำงานของอินเทอร์เน็ตที่มีลักษณะการเชื่อมต่อแบบระบบเครือข่ายใยแมงมุมทำให้ผู้ใช้สามารถปกปิดตัวตนที่แท้จริงของตนได้ เกิดบุคคลเสมือนจริงขึ้น (Virtual man)
            บุคคลที่มีตัวตนจริง 1 คน สามารถสร้างบุคคลเสมือนจริง (Virtual man) ขึ้นมาได้จำนวนมากมายหลายตัวตน ยิ่งทำให้การพิสูจน์ตัวบุคคลยิ่งเป็นไปได้ยากมากขึ้น
            บุคคลเสมือนจริงนี่เองที่ก่อให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น เพราะความสามารถในการปกปิดตัวตนนี้เองที่ทำให้อาชญากรในโลกแห่งอินเทอร์เน็ตเพิ่มปริมาณมากขึ้นทั้ง ปริมาณของการกระทำและปริมาณผู้กระทำ รวมทั้งระดับของความรุนแรงที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
           โดยเฉพาะกรณีของการกระทำความผิดที่มีโทษทางกฎมายอาญา มีกรณีเกิดขึ้นในสังคมเป็นจำนวนมาก เช่น กรณีการหมิ่นประมาทบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การประกอบการผิดกฎหมายบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
            ปัญหาก็คือ การไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันถึงผู้กระทำได้ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายนั้นไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแท้จริงเนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นโดยปราศจากข้อสงสัยได้ว่า “บุคคลผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิดนั้นๆ จริง” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
           จะเห็นได้ว่า สาเหตุหลักของปัญหาก็คือ ความไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนอันแท้จริงของตัวบุคคลได้อย่างแน่นอน แนวทางในการแก้ปัญหาประการหนึ่งก็คือ การระบุตัวตนของบุคคลที่เข้ามาใช้อินเทอร์เน็ต
            แนวความคิดในการจัดการแก้ปัญหาการพิสูจน์ทราบตัวบุคคลบนอินเทอร์เน็ต โดยความพยายามที่จะทำให้ ๑ ตัวตนบนโลกแห่งความเป็นจริง(1 Real Man) เท่ากับ  ๑ บุคคลบนโลกเสมือน (1 Virual Man) กล่าวคือ  1 Real Man = 1 Virual Man  ผล ก็คือ 1:1 RV จึงเกิดขึ้น
          โดยความเชื่อที่ว่า เมื่อสามารถเชื่อมต่อระหว่างบุคคลในโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกของอินเทอร์เน็ต ก็จะสามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า Virtual Man ในโลกอินเทอร์เน็ต คือใครที่เป็น Real  Man ในโลกแห่งความเป็นจริง
           เมื่อมีการนำหลักการเรื่อง ๑ ตัวตนบนโลกแห่งความเป็นจริง ๑ บุคคลบนโลกเสมือนมาปรับใช้ได้ในทางปฏิบัติ ประโยชน์ที่ได้รับสามารถอาจมองเห็นได้เป็นอย่างน้อย ๓ ลักษณะกล่าวคือ
           ในประการแรก ก็คือ จะเป็นประโยชน์ทางด้านข้อมูล โดยหลักการแล้ว จะต้องมีการให้รหัสประจำตัวแก่บุคคลเพื่อใช้ในการเชื่อมต่อ ซึ่งหากมีการเชื่อมต่อกับระบบการทำงานของภาครัฐแล้ว บุคคลผู้ใช้สามารถใช้รหัสประจำตัวนั้นในการเข้ารับบริการด้านข้อมูลและสามารถทำธุรกรรมต่างๆกับหน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชนอื่นได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เช่น กรณีของกำหนดรหัสบุคคล (PIN) ของกรมการปกครอง  หรือแนวคิดในการกำหนดตัวบุคคลผู้เล่นเกมคอมพิวเตอร์ออนไลน์ของกระทรวงไอซีที
          ในประการที่สอง ก็คือ จะเป็นประโยชน์ทางด้านเทคนิค เนื่องจากการที่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนอย่างนั้นจะทำให้การสืบค้นตัวบุคคลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีความเป็นไปได้มากขึ้น
          นอกจากนั้นแล้ว ในประการที่สาม ก็คือ จะเป็นประโยชน์ทางด้านคุณภาพของข้อมูลในอินเทอร์เน็ต กล่าวคือ ย่อมมีผลกระทบให้มนุษย์ที่จะเข้าไปใช้บริการบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีการไตร่ตรองในการกระทำของตนเอง ซึ่งเป็นผลให้เนื้อหาของข้อมูลที่เกิดจากการเข้าไปใช้บริการในอินเทอร์เน็ตมีคุณภาพมากขึ้น
          หากบุคคล ๑ คนใช้เพียง ๑ ตัวตนในโลกเสมือนในการเข้าทำธุรกรรมบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความสามารถในการพิสูจน์ตัวบุคคลจะเกิดความแน่นอนชัดเจนมากขึ้น
          ในความเป็นจริงแล้วในโลกแห่ง e-commerce ก็มีการระบุตัวบุคคลผ่านทางลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน แต่นั่นจำกัดเฉพาะอยู่แต่ภาคธุรกิจซึ่งต้องการความแน่นอนชัดเจนในการประกอบการ ในขณะที่การเข้าใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งสามารถก่อปัญหาจากการไม่สามารถพิสูจน์ตัวบุคคลได้นั้นมาจากทั่วทุกภาคส่วนในสังคม
           แต่ที่กล่าวมาเป็นเพียงการเริ่มต้นของการวางแนวความคิด ยังคงมีปัญหาเรื่องการจำกัดเสรีภาพ ปัญหาในทางเทคนิค ปัญหาในเชิงการปฏิบัติการอีกมากมายที่จะตามมาหากแนวความคิดนี้ได้รับการสนับสนุนให้มีการนำมาใช้บังคับ
            นั่นไม่ได้หมายความว่าปัญหาที่จะตามมาจะเป็นอุปสรรคให้แนวความคิดนี้ตกเป็นอันสูญเปล่า แต่การคำนึงถึงคุณประโยชน์โดยการชั่งนำหนักระหว่างผลดีกับผลเสียที่ได้จะเป็นปัจจัยในการกำหนดว่าแนวความคิดนี้จะมีผลใช้บังคับได้จริงในทางปฏิบัติหรือไม่
          สิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างรีบด่วน ก็คือ การเข้าป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายของผู้ร้ายในอินเทอร์เน็ต ซึ่งการหวงกันเสรีภาพส่วนตนในการใช้อินเทอร์เน็ตจนไม่ยอมทำสิ่งใดที่กระทบประโยชน์ส่วนตนเลย ก็คือ การสนับสนุนการกระทำอันเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชนบนอินเทอร์เน็ต แต่การไตร่ตรองเพื่อให้เกิดจุดสมดุลย์ของเสรีภาพและความปลอดภัยของเหล่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตย่อมนำไปสู่การแก้ปัญหา แม้เสรีภาพบางส่วนจะต้องมีน้อยลง แต่ความปลอดภัยและความมั่นคงของมนุษย์บนอินเทอร์เน็ต (Human Safety and Security on Internet) ย่อมจะทวีมากขึ้นอย่างแน่นอน

 

           อิทธิพล ปรีติประสงค์ / มณทนา สีตสุวรรณ / วันฉัตร ผดุงรัตน์ / พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร
                                      โครงการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมไทยบนอินเทอร์เน็ต
                                                                           กองทุน ศาสตราจารย์ คนึง ฦาไชย
                                                                        วันอาทิตย์ที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 28555เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2006 14:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากได้เนื้อหา (การจัดการธุรกิจเกี่ยวกับระบบไอซีที)

ในวันพรุ่งนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท