เว็บไซต์สื่อทางเพศ ไม่ใช่ไม่มีทางออก แต่ไม่ออกเอง


เว็บไซต์สื่อทางเพศ ไม่ใช่ไม่มีทางออก แต่ไม่ออกเอง

                 

                      เว็บไซต์สื่อทางเพศ ไม่ใช่ไม่มีทางออก แต่ไม่ออกเอง[1]

         ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา กระแสความเคลื่อนไหวในการปิดกั้นเว็บไซต์เป็นมาตรการหลักที่ถูกจัดทำโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร
นอกจากเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมประเภทอื่นๆ แล้ว "เว็บไซต์สื่อลามกอนาจาร" เป็นเป้าหมายหลักของมาตรการนี้
          มาตรการดังกล่าวถูกต่อต้านว่าจากกลุ่มเสรีนิยมสุดโต่งว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของเสรีภาพ ไม่ควรมีขอบเขตหรือการควบคุมดูแล ดังนั้น การบล็อกเว็บไซต์จึงเป็นเรื่องที่ผิดอย่างมหันต์
ความคิดนี้ไม่ได้ผิดทั้งหมด กิจกรรมในเรื่องเพศซึ่งมีหลายเรื่อง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเพศ การประกอบธุรกิจในข้อมูลเรื่องเพศเป็น "เสรีภาพ" ที่สามารถมีได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมและความสงบของสังคม
          การบล็อกเว็บไซต์จึงสามารถกระทำได้ แต่ต้องเป็นเว็บไซต์ที่สังคมเห็นไปแนวทางเดียวกันว่า ไม่ควรให้มีการปรากฏตัวในสังคมได้เลย วันนี้มาตรการดังกล่าวเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? มีการแยกแยะประเภทของสื่อทางเพศ แยกแยะระดับความรุนแรงแล้วหรือ ?
        คำตอบในเรื่องนี้คือ "ไม่"
        การปิดกั้นเว็บไซต์หรือการบล็อกเว็บไซต์เป็นการจัดการที่ตัว "สื่อ" ซึ่งได้ผลเพียงชั่วคราว มีช่องทางหรือวิธีในการหลีกเลี่ยงการบล็อกได้หลายวิธี เช่น การตัด Http ออกจาก URL หรือการเพิ่ม WWW ลงไปใน URL เข้าไปในเว็บไซต์ อีกทั้งมีการส่งข่าวไปยังกลุ่มลูกค้าของเว็บไซต์เพื่อบอกถึงรายละเอียด และวิธีในการเข้าถึงเว็บไซต์เหล่านี้โดยเจ้าของเว็บไซต์
        ในขณะที่ผู้ที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์ รวมทั้ง เว็บมาสเตอร์ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการเว็บไซต์ยังคงเข้าถึงตัวได้ยาก และถึงแม้เข้าถึงตัวบุคคลเหล่านี้ได้แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเอาผิดกับบุคคลเหล่านี้ได้ เพราะกฎหมายเรื่องพยานหลักฐานยังไม่เอื้ออำนวยพอ
        กฎหมายเก่าที่มีอยู่ ก็เก่าจริงๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2471 บทลงโทษก็เล็กน้อยไม่ได้ทำให้บุคคลเหล่านี้เกิดความเข็ดหลาบ มีโอกาสที่จะกลับมาทำเว็บไซต์เหล่านี้อีก ทั้งนี้เหตุผลของการทำเว็บไซต์อาจจะเกิดขึ้นเพราะความสะใจ หรืออาจจะมีเรื่องธุรกิจเข้ามาเป็นตัวดึงดูด
ในบางเว็บไซต์มีการทำธุรกิจเป็นเรื่องเป็นราว มีกำไรเป็นกอบเป็นกำ เช่นการขายวีซีดี หรือการเก็บค่าเช่าพื้นที่ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า Banner ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก
       กฎหมายที่มีอยู่มุ่งจัดการต่อผู้จัดทำเว็บไซต์ ในขณะที่ผู้ประกอบการบางกลุ่มเช่น ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) ถูกมองข้ามไปทั้งที่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้ประโยชน์จากการเข้าถึงเว็บไซต์สื่อลามกอนาจารด้วยเช่นกัน
      มาตรการในการจัดการที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสังคมมากที่สุดก็คือ การยอมรับความเป็นจริงเรื่องของเพศตามยุคสมัยปัจจุบัน
ถึงเวลาที่จะยอมรับกันว่า สื่อทางเพศในเชิงสร้างสรรค์ที่สังคมยอมรับให้มีการเผยแพร่ได้อย่างเสรี เป็นอย่างไรหรือยัง
      สื่อทางเพศที่เป็นสื่อลามกอนาจารที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์สามารถเผยแพร่ได้อย่างมีเงื่อนไข เข้าทำนองว่า ผู้ใหญ่ดูได้ เด็กห้ามดู มีอะไรบ้างหรือไม่
แต่ ณ วันนี้ สื่อทางเพศแบบวิตถาร เช่น 1) ภาพหรือข้อความที่เป็นการร่วมเพศระหว่างคนกับสัตว์ 2) แบบหมู่ หรือสวิงกิ้ง 3) กับคนในครอบครัว 4) สื่อลามกอนาจารเด็ก และ 5) สื่อที่ขายวัตถุลามกอนาจารบางชนิด เป็นกลุ่มที่สังคมไม่อาจยอมรับให้มีการปรากฏตัวได้เลย ต้องมีมาตรการจัดการอย่างจริงจัง และเด็ดขาด
      เมื่อเนื้อหาบนอินเตอร์เน็ตมีจำนวนมากมาย หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ทั้งหมด หน่วยสอดส่องดูแลความเรียบร้อยบนอินเตอร์เน็ตหรือ ตำรวจอินเตอร์เน็ตที่เป็นภาคประชาชนสมควรที่จะเกิดขึ้น เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ติดตาม และดูแล
วันนี้หน่วยงานดังกล่าวมีการจัดตั้งหรือยัง?
      เมื่อพบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือยังลังเลว่า เหมาะสมหรือไม่ คณะกรรมการที่ทำหน้าที่ในการกลั่นกรองเนื้อหามีกฎเกณฑ์ในการตัดสินที่แน่นอนหรือยัง องค์กรเช่นเดียวกับ ESRB หรือ ICRA มีในประเทศไทยแล้วหรือยัง
      คณะทำงานเฉพาะกิจ CIT (Cyber Inspector Team) ทำงานได้แล้วจริงหรือ
      ทำงานได้สอดคล้องกับสภาพสังคมจริงหรือ ???
      การสร้างหลักการเรื่องความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจให้ช่วยกันดูแลสังคมการคืนกำไรสู่สังคมในรูปของความรับผิดชอบ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการไอเอสพีประเทศไทยมีคำตอบแล้วหรือยัง
      ภูมิต้านทานกับปัญหาเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อการจัดการต่อปัญหาที่ต้นเหตุ ณ วันนี้ วัคซีน สำหรับสังคม ที่จะช่วยให้สังคมเข้าใจและมีความรู้เกี่ยวกับสื่อทางเพศถูกสร้างขึ้นหรือยัง มีการฉีดวัคซีนดังกล่าวให้กับสังคมแล้วหรือยัง?
     เว็บไซต์สื่อทางเพศในเชิงสร้างสรรค์เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ใช้ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนน้อยมาก มีการส่งเสริมให้มีจำนวนมากขึ้น และปรับปรุงเนื้อหาให้น่าสนใจหรือยัง
การให้ความรู้ในการป้องกันตนเองและเด็กแก่ผู้ปกครอง และหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับเด็กวันนี้เพียงพอหรือยัง
      การรอคอยแต่เพียงกฎหมายเพื่อเป็นคำตอบในเรื่องนี้ เป็นเพียงการแค่การรอคอย กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือของสังคม การจัดทำแนวนโยบายบางอย่างสามารถกระทำได้เลยไม่ต้องรอคอยกฎหมาย
      อย่ารอคอยให้รัฐสภายกร่างกฎหมายลายลักษณ์อักษรใหม่มาแก้ปัญหานี้กฎหมายเก่าที่มีก็พอใช้ได้ ไม่ว่าจะมีกฎหมายพิเศษสำหรับเรื่องนี้หรือไม่ กฎหมายก็เป็นเพียงเครื่องมือในการแก้ปัญหาสังคม ปัญหาที่ตรงประเด็น ก็คือ ถ้าไม่มี "ผู้ใช้กฎหมายอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ" ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข ค้างคา เรื้อรัง ลุกลาม และเลวร้ายลงไปทุกวัน
      หากวันนี้แนวทางในการจัดการปัญหายังคงเป็นเพียงแค่ "คำถาม" หรือ "ความตั้งใจ" ที่อยู่เพียงใน "ใจ" ของหลายๆ ฝ่าย ไม่ถูกจัดทำให้เป็นรูปธรรม ปัญหาเรื่องของเว็บไซต์ลามกอนาจารก็จะเป็นปัญหาอีกปัญหาของประเทศไทย "ที่มีทางออกสำ หรับปัญหา" แต่ไม่มีการจัดการอย่างจริงจังจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำสังคมไทยไปสู่ทางออกของปัญหา
       แม้จะมีความพยายามของหลายหน่วยงานเพื่อออกมาปกป้อง คุ้มครอง และแก้ไขปัญหาสังคม มาตรการเหล่านั้นกลับถูกจัดทำเพื่อการโฆษณาผลงาน (ที่มักแก้ไขปัญหาไม่ได้) หรือ ถูกจัดทำเพราะห่วงใยสังคมจริงๆ และหวังให้แก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       หยุดเสียทีที่จะแสดงเพียงแค่ความพยายามที่จะปกป้อง คุ้มครอง และแก้ไขปัญหาสังคมด้วย "มาตรการที่ดูดีแต่ไม่ทำอย่างจริงจัง" เพียงเพื่อการโฆษณาผลงานหรือด้วย "มาตรการที่สวยงามแต่เห็นตั้งแต่ต้นว่า ทำไม่ได้" ปัญหามันใหญ่และยากคงต้องยอมรับความเป็นจริงที่ฝ่ายรัฐฝ่ายเดียวจะผูกขาดความสามารถในการแก้ไขปัญหาไม่ได้หรอก
        วันนี้ ถึงเวลาแล้วที่ ฝ่ายที่แม้มิใช่รัฐ กล่าวคือ เอกชน ต้องเข้าร่วมมือกับฝ่ายรัฐ ที่จะต้องเข้ามาร่วมกันคิดและจัดการปัญหาอย่างเป็น "องค์รวม" การรอคอยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็น "เจ้าภาพ" คงจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ยิ่งช้าไป ปัญหาก็ยิ่งเติบโต และฝังรากลึกในสังคมไทย ในที่สุดก็จะไม่แตกต่างจากปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่นในประเทศไทย
และในที่สุดจะกลายเป็น "แผลเป็น" อีกแผลสำหรับสังคมไทย
                   ----------------------------------------------------------------
                                     โดย อิทธิพล ปรีติประสงค์/พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร/สมพงษ์ จิตระดับ 
   โครงการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมไทยบนอินเตอร์เน็ต กอง   ทุน ศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



[1] หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2546 หน้า 14

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 28532เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2006 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท