นางฟ้าจรจัด


น้ำใจที่เสกความหิวโหยให้หมดไป

          ท่ามกลางความวุ่นวายของยวดยาน ที่โลดแล่นขวักไขว่ไปมาบนท้องถนน ชีวิตหนึ่งสอดแทรกลงในช่องว่างของความสับสนนั้นอย่างกลมกลืน แหวกว่ายอยู่ในม่านฝุ่นควัน และไอเสีย ไม่มีอะไรโดดเด่น สะดุดตา...

          คล้อยบ่ายของทุกวันริมถนนวงศ์สว่าง  .....

           ภาพของหญิงวัยกลางคนรูปร่างท้วมกับรถเข็นคันเล็กๆ  ซึ่งบรรทุกข้าวของพะรุงพะรัง ค่อยๆ คืบคลานไปข้างหน้าอย่างช้าๆ ด้วยเรี่ยวแรงของ 2 ขา ที่โรคภัยเริ่มรุมเร้าเข้ามาบั่นทอนกำลัง   เพื่อจัดการกับภาระหน้าที่ที่ไม่มีใครมอบหมาย หรือสั่งให้เธอต้องทำ แต่เธอก็ทำของเธอเองมาแล้วเป็นเวลากว่า 10 ปี   เป็นสิ่งที่คนในละแวกนี้เห็นกันจนชินตา หรือหากใครที่ผ่านไปมาแถวนี้เป็นประจำจะลองเหลียวมาดู ภาพชีวิตเล็กๆ ของเธอคนนี้ก็คงจะผ่านมาในสายตาเข้าสักวัน อย่างไม่ยากเย็น .....

          ‘พี่แอน’   หญิงวัย 49 ปี    ที่ผมมีโอกาสพบกับเธอเป็นครั้งแรกเมื่อซัก  1  ปีก่อนหน้านี้ จากเสียงร้องขออย่างสุภาพของเธอ …..

           “พี่ช่วยบริจาคเงินเป็นค่าอาหารหมาจรจัดหน่อยมั้ยคะ”

           เงิน 20 บาท กับคำขอบคุณในวันนั้น คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้รับรู้ถึงการมีตัวตนของเธอในละแวกที่พักอาศัย  ก่อนที่หลังจากนั้นจะมีโอกาสได้พบกับเธอบ่อยขึ้น จากการยืนขอรับบริจาคเงินบริเวณปากซอยทางเข้าบ้านของผม อาทิตย์ละครั้งบ้าง 2 ครั้งบ้าง     ตอนนั้นผมเองก็ไม่ได้อยากเจอกับเธอซักเท่าไหร่หรอกครับ  เพราะการเจอกันแต่ละครั้งมันหมายถึง  เงิน 20  บาทในกระเป๋าของผม   จะต้องถูกถ่ายโอนไปอยู่ในมือของเธออย่างไม่รู้จะปฏิเสธยังงัย

            แกเอาเงินไปเลี้ยงหมาจรจัดจริงหรือเปล่าวะเนี่ย .. ??? ’

           ผมมีสิทธิที่จะสงสัยอย่างนั้นไม่ใช่หรือ   กับสังคมทุกวันนี้ที่ลักษณะการหากินแปลกๆ ของคนบางจำพวกเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ง่ายจะตายไป    แต่ข้อสงสัยนั้นของผมก็ได้รับคำตอบในเวลาต่อมาไม่นานนัก   เมื่อสายตาบังเอิญเหลือบไปเห็นภาพของเธอกำลังให้อาหารสุนัขจรจัดอยู่ริมถนน  ขณะที่ผมกำลังนั่งรถกลับบ้านในบ่ายวันหนึ่ง และค่อยๆ บ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ  จากการมองอย่างสังเกตเพื่อค้นหาเธอในวันต่อๆ มา

          ‘ คนใจบุญคนหนึ่งในสังคมเฮงซวย ’

          ความรู้สึกที่ผมคิดว่าเธอเป็นหนึ่งในคนเหล่านั้นทำให้เงิน 20 บาทต่อๆ มาของผมที่หยิบยื่นไปให้ ดูมีคุณค่าเพิ่มขึ้นมากว่าแต่ก่อนอย่างมากมาย  จนกระทั่งในการพบกันครั้งหนึ่ง .....

 

          ขอบคุณค่ะพี่ แต่พี่ไม่ต้องให้หนูแล้วเมื่อกี้แฟนพี่ให้หนูมาแล้วคะ”

 

          “ ..................... ”

 

          คำปฏิเสธที่ทำให้ผมสัมผัสได้ถึงตัวตนอีกด้านหนึ่งในตัวพี่แอน ที่ผมไม่เคยรับรู้มาก่อน ซึ่งเป็นอะไรที่มากกว่า  ‘คนใจบุญ’  อย่างที่เคยคิดไว้ตอนแรก

          ‘ผู้รับ’  ที่รู้จักคำว่า  ‘พอ’    โดยไม่ปรารถนาที่จะเบียดเบียนผู้อื่นมากไปกว่าที่เคยได้รับมา ในชีวิตหนึ่งจะมีซักกี่ครั้ง ที่จะมีโอกาสได้พบกับ   ‘น้ำใจของผู้รับ’   เช่นนี้ตกหล่นข้างทางกลางเมืองหลวง   เมืองแห่งการแก่งแย่งดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด เมืองที่คำว่า  ‘พอ’  ดูจะหายไปจากใจผู้คนมานานแสนนาน .....

         “หนูสงสารพวกมันเลยเริ่มเก็บเอามาเลี้ยง       แต่ที่บ้านพื้นที่น้อยเลยเลี้ยงได้แค่ 25 ตัว ที่เหลือหนูก็ก็ได้แต่คอยหาข้าวให้มันกิน   ก็ทำได้แค่ที่ตัวเองมีแรงทำแหล่ะคะพี่”

          เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต  ‘นางฟ้าจรจัด’  ของพี่แอน อดีตแม่ค้าขายขนมหวานที่ตัดสินใจยุติอาชีพของตนเพราะความสงสารและรักสุนัข   แล้วหันมาคอยช่วยเหลือจุนเจือชีวิตจรจัดแถวถนนวงศ์สว่างทั้งเส้น     โดยได้รับความเห็นชอบจากทางบ้าน ซึ่งยังมีพี่น้องอีกหลายคนที่สามารถทำงานจุนเจือครอบครัวได้

          ถึงพี่แอนจะโชคดีที่คนในครอบครัวเข้าใจในสิ่งที่ทำ     แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะเข้าใจอย่างนั้นด้วยทุกคน     เพราะด้วยความที่สุนัขจรจัดมีมากกว่าที่คิดเอาไว้    จนเกินกำลังที่พี่แอนจะช่วยเหลือพวกมันได้โดยลำพังอีกต่อไป การขอรับบริจาคจึงเป็นหนทางในการแก้ปัญหาของพี่แอน    เพื่อให้ทุกชีวิตที่เธอไปพบเห็นพวกมันถูกทิ้งขว้างอยู่ข้างทางได้อิ่มท้อง   แม้ว่านั่นมันจะทำให้เธอถูกมองว่าทำตัวไม่ต่างไปจาก  ‘ขอทาน’   เลยก็ตาม

          "ก็มีบ้างที่โดนว่านะพี่ แขนขาก็ยังดีมาเที่ยวขอทานคนอื่นไม่อายบ้างหรืองัย บางคนก็หาว่าหนูเอาหมามาหากิน แต่หนูก็ไม่ได้โกรธพวกเค้านะพี่ หนูเข้าใจพวกเค้า ใครจะคิดยังงัยก็ปล่อยเค้าคิดไป แต่บางครั้งมันก็น้อยใจนะพี่  แต่ก็ต้องทนเพราะหนูทำเองคนเดียวไม่ไหว”          การถูกเข้าใจผิด หรือโดนดูถูก    อาจจะทำให้พี่แอนรู้สึกน้อยใจบ้างในบางครั้ง แต่มันก็ไม่ได้ทำร้ายจิตใจของเธอมากไปกว่าความช่วยเหลือที่เธอคาดว่าจะได้รับ แต่สุดท้ายกลับถูกปฏิเสธออกมาอย่างไม่ใยดี

  

           ‘วัด’  (บางแห่ง)     ที่ซึ่งพี่แอนคิดว่าน่าจะมีข้าวเหลือพอสำหรับสัตว์ยากไร้ แต่ความจริงที่ต้องรับรู้ก็คือ  นั่นเป็นอาหารสำหรับญาติโยมที่จะมารับเอากลับไปกินกันตอนเย็น (หมาในวัดนั้นพี่แอนต้องเอาข้าวไปให้ด้วย)

         ‘มูลนิธิสงเคราะห์สัตว์’   (บางแห่ง)   ที่ซึ่งพี่แอนคิดว่าน่าจะได้รับความช่วยเหลืออะไรบ้างแต่ทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นไปดังหวัง  แม้แต่ใบอนุญาตการขอเรี่ยรายเงินบริจาค   (ผมเองก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วมันเรียกว่าใบอนุญาติอะไรกันแน่)  ที่สามารถช่วยเหลือเธอให้หมดปัญหากับตำรวจและเทศกิจ ก็เป็นความช่วยเหลือที่พ่วงมาด้วยข้อแม้ .. ‘ ทุกอย่างต้อง 50-50 ’

          "ถ้าหนูต้องเอาเงินไปแบ่งให้เค้าครึ่งหนึ่ง แล้วหนูจะเหลือพอให้หนูไปเลี้ยงหมาที่ไหนละพี่  หนูต้องซื้อข้าวกระสอบละ 1,250 บาท   กระสอบนึงก็อยู่ได้ 3-4 วันเอง ไหนจะตับที่ต้องเอามาบดคลุกให้พวกมันอีกล่ะ   ไหนยังจะต้องซื้อนมให้ไอ้ตัวที่ป่วยอีก นี่ยังดีนะพี่ที่มีคนใจดีคอยซื้ออาหารเม็ดมาให้หนู   (เธอเข้าใจว่าหมาป่วยถ้าได้กินอาหารเม็ดจะหายเร็วขึ้น)  ม่งั้นหนูก็ไม่มีปัญญาหาให้มันกินหรอก”

            ทุกวันนี้พี่แอนจึงทำได้แค่เพียงนั่งขอรับบริจาคอยู่ตามป้ายรถเมล์บ้าง หรือจากผู้คนที่เข็นรถผ่านไปบ้าง    และในบางครั้งถ้าอาหารที่มีอยู่ใกล้จะหมดแต่เงินยังไม่พอที่จะไปซื้อ พี่แอนก็ต้องยอมเสี่ยงกับการถูกตำรวจหรือเทศกิจเรียกตรวจใบอนุญาตขอเรี่ยรายเงินบริจาค ซึ่งเธอไม่เคยมี ยอมเสี่ยงกับการถูกจับ   หรือขับไล่ว่าเป็น  ‘คนเรี่ยรายเงินเถื่อน’     ถือกล่องรับบริจาคไปยืนตามแหล่งที่ผู้คนพลุกพล่านอย่างแถวท่าน้ำศิริราช และที่อื่นๆ เพื่อให้วันต่อไป  ‘ชีวิตเถื่อน’   ที่ไม่มีใครต้องการอีกหลายชีวิตจะได้มีข้าวกินอิ่มท้อง

          ที่เล่ามาคงเป็นแค่เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของชีวิตเล็กๆ   ในสังคม ...  

          'ผู้รับ’   ในสายตาคนทั่วไป แต่เป็น  ‘ผู้ให้’   สำหรับเหล่าสุนัขจรจัดแถววงศ์สว่าง  ซึ่งในสายตาของพวกมัน  พี่แอนคงไม่ต่างจาก  ‘นางฟ้า’   ที่สวรรค์ส่งลงมาเพื่อดลบันดาลความหิวโหยในแต่ละวันของพวกให้มันหมดไป

          ผมลองถามคนคนในละแวกในละแวกใกล้เคียงถึงเรื่องของพี่แอน    ทุกคนพูดตรงกันว่าเธอนำอาหารมาให้สุนัขแถวนั้นทุกวัน    แต่ก็มีบ้างกับบางอคติที่เกิดขึ้นในใจใครบางคน

          คนเลี้ยงหมา หมาก็เลี้ยงคนเหมือนกันแหล่ะ’

          ผมคงไม่อาจปฏิเสธว่ามันอาจเป็นอย่างคำพูดนั้นจริงๆ ก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง .. ก็แล้วจะเป็นอะไรไปล่ะ 

        มููลนิธิสงเคราะห์สัตว์ต่างๆ     ไม่ได้นำเงินบริจาคมาใช้จ่ายเป็นค่าบุคลากรรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เลยหรือ ???

          ‘การให้’   ต้องหมายถึง การห้ามรับสิ่งใดๆ ตอบแทนกลับมาเลยหรือ ???

        รือเพราะใครหลายคนไม่คุ้นเคยกับการเป็น  ‘ผู้ให้’   จึงทำให้นิยามของมันถึงคับแคบได้มากขนาดนั้น .....

          โดยส่วนตัวผมเอง มอง  ‘การให้’   กับ  ‘การรับ’   ว่าเป็นของคู่กันเสมอ จะมีที่แตกต่างกันก็แต่เพียง สิ่งที่จะได้รับกลับมานั้นคืออะไรก็เท่านั้นเอง แต่นั่นก็คงไม่ได้สำคัญมากไปกว่า  ‘ความปรารถนาดี’   ที่ใครคนหนึ่งตั้งใจมอบมันออกไป ซึ่งในบางครั้งหรือบางอย่าง อาจจะมีแต่เพียงผู้รับเท่านั้นที่รู้ซึ้งถึง ‘คุณค่า’   ของความปรารถนาดีที่ได้รับมา .....

บทความโดย

พรายพิลาศ

๗ สิงหาคม ๒๕๕๒

โพสต์ครั้งแรก Mblog/Manager Online
http://mblog.manager.co.th/prypilas/th-71538/
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ astv ผู้จัดการฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2552

 

         

หมายเลขบันทึก: 284098เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2009 08:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 03:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่นำมาโพสต์ไว้นะคะ คุณทำให้ทานที่เราทำไปเมื่อวันเสาร์ที่สวนจัตุจักรมีความปีติมากๆๆๆ เรามีความสุขใจมากๆๆๆ และขอให้ท่านผู้นำบทความนี้มาลงมีความสุข และปีติในบุญที่บอกมาด้วยเช่นกันนะคะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท