สู่ชีวิตอันอุดม...การสร้างคุณค่าในตนเอง คือ ศิลปะแห่งการเยียวยา


เมื่อวันที่ 5-6 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมานั้น ข้าพเจ้าได้ร่วมในการทำค่ายสำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า และเคยอยู่สภาวะความคุกคามที่ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ และพยายามฆ่าตัวตาย...การทำงานครั้งนี้เป็นการทำงานที่เชื่อมโยงและเนียนเข้าไปสู่วิถีแห่งพุทธะ ... ที่นำไปสู่การเยียวยาที่ลงรากไปถึง "จิตวิญญาณ" การให้ผู้คนได้ลิ้มรสและซึมซับแห่งพระธรรมนั้น เป็นความดีงามที่น้อมนำผู้คนไปสู่ความอิ่มของจิตใจ ทำให้สภาวะแห่งหลุมดำตื้นขึ้น...

ในการเข้าค่ายครั้งนี้...

มีทั้งผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า และผู้ที่อยู่ในช่วงระหว่างกำลังบำบัดยาเสพติด

  • กลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าถึงว่าตนเองมีโอกาสแห่งการได้มีชีวิตแต่พยายามตัดโอกาสนั้นของตนเอง ด้วยการคิดว่าการฆ่าตัวตายคือ ทางออก...
  • อีกกลุ่มหนึ่งนั้น เป็นความพยายามที่จะขอโอกาสแห่งการได้ดำรงอยู่ จากความผิดพลาดที่เคยทำ แต่การที่ไม่ด้รับโอกาสอาจน้อมนำไปสู่การตัดสินใจทำร้ายตนเองได้อีกครั้ง

แม้ทั้งสองกลุ่มจะแตกต่างกันของเหตุที่มา แต่ทั้งสองกลุ่มก็มีลักษณะร่วมคือ การไร้ซึ่งความรู้สึกของการดำรงอยู่และความมีคุณค่าในตนเอง

ดังนั้นเป้าหมายในการทำงานครั้งนี้ สำหรับข้าพเจ้าเองมองว่า คืนการฟื้นฟูความรู้สึกที่มีคุณค่าในตนเองสำหรับคนทั้งสองกลุ่ม...

เราเริ่มกิจกรรมครั้งแรก...

ด้วยให้ทุกคนได้วาดภาพสะท้อนความดีของตนเอง โดยให้จับคู่กันและบอกเล่าความดีให้กันฟัง แรกๆบรรยากาศเป็นเขิลๆ เพราะรู้สึกว่าแต่ละคนต่างไม่คุ้นชินกับการได้มองหรือค้นหาความดี ของตนเอง...แต่ถึงแม้จะไม่คุ้น แต่นั่นก็ทำให้พวกเขาเหล่านี้ได้เริ่มซึมซับแห่งความดีความงามทางจิตใจเข้าไปแล้ว

จากนั้นก็สานต่อ...นำไปสู่การมองหาเป้าหมายของชีวิต

เป็นการที่ชวนให้ทุกคนได้มองว่า ชีวิตที่ดำรงอยู่นี้น่าจะมีเป้าหมายอย่างไรบ้าง

กิจกรรมนี้เราได้ทั้งการฝึกให้คิดอย่างใคร่ครวญ และมีหลักยึดแห่งเป้าหมายของวิถีชีวิตที่พึงดำรง การมีเป้าหมายในชีวิตคือ การทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตเราในแต่ละวันนั้นเราทำอะไรบ้าง และสิ่งไหนที่เราต้องทำ ทำไปเพื่ออะไร ... ทำให้การมีชีวิตอนู่นั้น มีความหมายมากขึ้น...

จากนั้น...เมื่อเสร็จกิจกรรมกลุ่มกันแล้ว...

เราต่างแบ่งกันทำงาน โดยล้างห้องน้ำบ้าง ทำความสะอาดลานวัดบ้าง และเตรียมงานสำหรับกิจกรรมที่จะมีขึ้นของวัดในวันที่ 8 สิงหาคม เป็นการทำงานที่เราเน้นในเรื่อง "จิตอาสา" อันเป็นการบ่มเพาะคุณลักษณะของเมล็ดพันธุ์ของความเป็นผู้มีจิตสาธารณะ...

เมื่อแล้วเสร็จ...ประมาณหนึ่งทุ่ม ทุกคนเตรียมทำวัตรเย็นร่วมกัน

การนำในการทำวัตรเย็นนั้น นำโดยเยาวชนที่ถูกตีตราว่าตนคือ ผู้มีความผิดพลาดในชีวิต คือผู้ใช้สารเสพติด...คือ...อะไรก็แล้วแต่ที่สื่อไปในแนวทางว่า เป็นคนไม่ดีในสายตาของสังคม

แต่สำหรับภาพวันนี้ เขาคือ เด็กหนุ่มเยาวชนที่สวมชุดสีขาว และนำพาการสวดมนต์ทำวัตรเย็น เสียงประสานแห่งการสวนมนต์นิ่งเย็นชุ่มชื่นซึมซับเข้าไปในหัวใจ เป็นพลังแห่งความดีงามยังคงมีอยู่ในทุกคน ต่างเป็นพลังที่สะท้อนออกมาว่า "พวกเรายังเป็นคนดีและมีคุณค่านะ"...

เมื่อแล้วเสร็จกิจกรรมการทำวัตรเย็นแล้ว...

พระอาจารย์พิทยา ได้นำในการฝึกนั่งสมาธิ...ในโบสถ์ ผู้ป่วยที่เคยผ่านทั้งความคิดฆ่าตัวตาย และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมานั้น ต่างได้เคลื่อนเข้าไปสู่สภาวะแห่งความร่มเย็น เป็นการเติมเต็มและรดน้ำแก่เมล็ดพันธุ์แห่งความชุ่มชื่นใจ เพื่อให้ใจนี้ได้มีพลังให้เขารู้สึกว่าเขาอยากมีชีวิตอยู่...และดำเนินชีวิตต่อไปตามกาลเวลาที่มีและเหลืออยู่

เช้าวันที่สอง

ตั้งแต่เช้ามืดทุกคนตื่น...ด้วยความสดใส สำหรับผู้หญิงก็เข้าครัวช่วยแม่ครัวเตรียมอาหาร ผู้ชายก็ทำภารกิจร่วมกับทางวัด ทำความสะอาดลานวัด ตามพระภิกษุออกบิณฑบาตร

จากนั้นก็มาร่วมกันทำวัตรเช้า...

และฟังเทศน์จากหลวงปู่ประสาน สุมโน หรือพระครูสุมนสารคุณ

"การตั้งมั่นในศีล และการดำรงอยู่เพื่อมีชีวิต และสร้างคุณค่าในตนเองผ่านการทำงาน" เป็นเป้าหมายของการมีชีวิต

สองวันของการเริ่มเปิดประตูไปสู่คุณค่าและโอกาส...ของการชีวิต

สำหรับข้าพเจ้ามองว่า...เป็นความงดงามและช่องทางที่นำพาผู้คนเคลื่อนไปสู่สภาวะแห่งการได้เยียวยาตนเองต่อความหมายของคำว่า ได้เกิดมาเป็น "มนุษย์"

การเรียนรู้ที่จะชื่นชมความดีต่อกัน

เป็นการค้นหาและมองความดีที่มีอยู่ซึ่งกันและกัน

มันเป็นพลังแห่งความสุขและความงดงามที่เติมเต็มเมล็ดพันธุ์แห่งความดีความงามที่มีอยู่ในจิตใจผู้คนทุกคนโดยที่ไม่ได้เลือกว่า สิ่งภายนอกนั้นเขาคือใคร และเป็นใคร

หลังทำวัตรเย็น ทุกคนเข้าสู่สภาวะ "เปิดใจ"...

เหมือนกับว่าค่ำคืนนี้ก่อนเข้าสู่สภาวะการนอนที่จำลองสภาพการตายนั้น

ทุกคนได้ร่วมรดน้ำความสุข ความดี ความงามต่อจิตใจและชีวิตตนเอง

เมื่อตื่นเช้า ทุกคนต่างมีภารกิจ คือ การงานที่ต้องทำและพึงทำด้วยใจที่เบิกบาน

ฟังเทศน์จากหลวงปู่ คือ ความเป็นมงคลของชีวิตที่ได้ฟัง

พระอาจารย์พิทยาเคยบอกว่า "พระเทศน์" ก็คือ องค์ความรู้จากพระรูปนั้นที่ผ่านการปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ ตามที่ท่านเทศน์สอน

หมายเลขบันทึก: 284097เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2009 08:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ น้องกะปุ้ม

  • เข้ามาอ่านบันทึกนี้แล้ว
  • น่าสนใจมากค่ะ

 

ขอบคุณค่ะพี่ ครูอรวรรณ

ดีใจค่ะที่สนใจ...การได้ทำสิ่งนี้ทำให้ใจนี้อิ่มเอมค่ะ

การได้ทำแม้เพียงบุคคลเดียวก็ทำให้ใจเราเป็นสุขได้...เพราะเราได้เห็นใจที่เป็นสุขของเขาค่ะ

 

ในบทบาทของครูที่เป็นอยู่..จะสอนบ่อยๆให้นักเรียนภูมิใจและเห็นถึงคุณค่าของตัวเอง..เมื่อใดที่เราเห็นถึงคุณค่าของตัวเอง..เมื่อนั้นเราจะไม่นำพาชีวิตของเราไปในทางเสื่อม..มีแต่จะพัฒนาตนเองยิ่งๆขึ้นไป..

อบบทความนี้มากค่ะ..ตรงใจจริงๆ..^^

ขอบคุณค่ะ คุณครูแอ๊ว

เราทุกคนๆ ต่างร่วมด้วยช่วยกันบ่มเพาะและรดน้ำแก่เมล็ดพันธุ์แห่งความสุข ความดี และความงามของการมีชีวิตนะคะ เพื่อให้เขาได้เกิดหน่อของความมีคุณค่า...

ความมีคุณค่าทำให้ผู้คนดำรงอยู่ได้ในท่ามกลางสภาวะปัญหาอันมากมาย...

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท