เก็บมาเล่าจากเวทีเสวนา “คุณเอื้อ” ณ บ้านผู้หว่าน 6) เก็บตกความประทับใจ


การจัดการความรู้ จะเป็นเครื่องมือ ที่ค้นหา “ช้างเผือก”

สองบันทึกก่อน (เก็บมาเล่าฯ 4 และ 5) ได้เล่าเรื่องประสบการณ์ของอ.วิบูลย์ และ คุณอ้อย ค่อนข้างละเอียด เพราะอยู่กลุ่มเดียวกัน และด้วยเวลาอันจำกัดกับเรื่องเล่ามากมายที่มีอยู่ในใจคุณเอื้อ ทำให้เรื่องเล่าจากบางท่านน้อยไปนิด และไม่ค่อยประติดประต่อ จึงเก็บความมาเล่าให้ฟังลำบาก  บันทึกนี้ จึงขอเก็บตกความประทับใจจากเรื่องเล่าเป็นบันทึกสุดท้าย

ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์จุฬาฯ และอดีตคนทำงานให้องค์การยูนิเซฟยาวนานกว่า 18 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิชาการอิสระ รับทุกสกว.เพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับการจัดการความรู้ของเขตพื้นที่การศึกษา อ.เลขา บอกว่าเป็นหน้าใหม่ของวงการ และเข้ามามาเรียนรู้ KM ในเวทีนี้เป็นเวทีที่สอง หลังจากครั้งแรกคือเวทีคุณอำนวยเมื่อเดือนก่อน

ผู้เขียนประทับใจอาจารย์เลขา ในการเก็บประเด็นเล็กๆ แต่แหลมคม

อาจารย์เลขาให้ความเห็นว่า สิ่งที่เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น คุณเอื้อ คุณอำนวย หรือคุณกิจ คือ “การมีส่วนร่วม”   Share and learn มีอยู่แล้วหากมีฐานของ “การมีส่วนร่วม”   การมีส่วนร่วมจะผ่าทางตันของ structural constrain (อุปสรรคด้านโครงสร้างอำนาจ)  คิดว่า KM สะท้อนเรื่องการมีส่วนร่วมจริงๆ

สิ่งนี้ ยืนยันได้จากผลการวิจัยจากเขตพื้นที่การศึกษา พบว่า เขตพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ มีปัจจัยสำคัญคือ การมีส่วนร่วม และ การกระจายอำนาจ  นอกจากนี้ จะสังเกตพบว่าโรงเรียนเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกลจากฐานอำนาจ ทำ share and learn กับชุมชนได้มาก

อ.เลขา เห็นว่า คนไทย ต้องการ recognition สูง  มองว่า การจัดการความรู้ จะเป็นเครื่องมือ ที่ค้นหา “ช้างเผือก” ซึ่งสะท้อนสิ่งที่อาจารย์ประเวศพูดว่า “เรามีคนดีเต็มแผ่นดิน  แต่เราไม่ยกย่องกันเอง”

นพ.ประเทือง  ตียะไพบูลย์สิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตาคลี จ.นครสวรรค์
ท่านบอกว่า ทำ KM ไม่เครียด เพราะว่าไม่มีการประเมิน  ก่อนทำ อ่านหนังสือที่เกี่ยวข้อง 63 เล่ม แล้วย่อยเป็น 3 เล่ม ให้เจ้าหน้าที่ได้อ่าน  สร้างบรรยากาศโดยติดภาพโมเดลปลา แต่ใช้ปลาเสือตอ แล้วก็มีช้าง นก ฯลฯ ติดไปทั่วทุกพื้นที่ในโรงพยาบาล แม้กระทั่งในห้องเก็บศพ  ทำทุกอย่างให้เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น HA, HPH, clinical tracer มองว่าทำเป็นการจัดการความรู้ได้หมด และ อยากให้ทำ KM เหมือน KM เป็นโปรตีน ไม่ใช่แค่เป็นวิตามิน

อ. มาลินี ธนารุน จาก ม.นเรศวร
ผู้เขียนไม่ได้อยู่ในกลุ่มเดียวกับอ.มาลินี เลยไม่ได้ฟังเรื่องเล่าดีๆ  แต่ประทับใจในในความเห็นของอาจารย์ ต่อโจทย์ที่สคส.โยนให้คิดว่า “จะช่วยขับเคลื่อน KM อย่างไรหากไม่มีสคส.?”  อ.มาลินีได้ให้ความเห็นโดยเปรียบเทียบเหมือน พวกเรา “คน KM” กับ สคส. เป็นครอบครัวเดียวกัน ว่า..

สคส.เปรียบเสมือน พ่อแม่ ที่มีลูกที่ยังไม่โตพอ จะให้ออกไปสู่โลกภายนอกคงจะลำบาก  ในระหว่างนี้ สคส. คงต้องดูแลไปก่อน ในบรรดาลูกๆ ลูกบางคนก็แข็งแรงกว่าบางคน มีความสามารถ ความสำเร็จไม่เท่ากัน ตรงนี้พี่ ก็ต้องช่วยน้อง และเมื่อถึงวันสำคัญ เช่นวันสงกรานต์ พี่ๆ น้องก็มาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน พ่อแม่ ก็จะเหนื่อยน้อยลง  แต่ลูกๆ ก็ยังต้องการได้กำลังใจจากพ่อแม่อยู่ ” (คลิกอ่านฉบับ original จากบันทึกของอ.มาลินี)

เจอลูกอ้อนของอ.มาลินี คิดว่า สคส. (อ.วิจารณ์) คงใจอ่อนนะคะ  อยู่เป็นพ่อเป็นแม่ คอยสนับสนุนและให้กำลังใจพวกเราชาว KM ต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 28350เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2006 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ได้อ่านที่ท่านเอื้อเล่าถึง"คุณเอื้อ" ท่านอื่น ๆ อยากให้ท่านเอื้อ เล่าถึงสิ่งที่ท่านเอื้อเองได้ไปพูด ณ บ้านผู้หว่านบ้างจังค่ะ

ติดตามอ่านทุกตอนเลยค่ะ  อาจารย์เก็บรายละเอียดและเล่าได้สนุกเพลิดเพลินจริงๆ ขนาดคนที่ไปด้วยยังเหมือนเรื่องใหม่ที่เพิ่งเคยทราบ

อ้อ! ขออนุญาต (ทำไปแล้ว) Link ทั้ง 6 ตอน ไปรวมไว้ใน Blog ของดิฉันเองด้วยนะค่ะ  เผื่อพรรคพวก มน. ที่ตกข่าวค่ะ

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ

 

ถึงคุณศิริ กำลังนึกอยู่ว่าตัวเองพูดอะไรไปบ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท