ไร่หมุนเวียน ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เปลี่ยนไป (ตอนที่ 1)


- กลุ่มที่อธิบายว่าการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนไม่ได้มีผลกระทบเชิงลบต่อสภาพแวดล้อมอย่างที่เข้าใจกัน กลุ่มนี้จะประกอบไปด้วย ชุมชนที่ทำการเกษตรแบบนี้ นักพัฒนาชุมชน เอ็นจีโอ นักวิจัย และ นักวิชาการ... - อีกกลุ่มเป็นกลุ่มคนที่ถูกทำให้เชื่อว่าไร่เลื่อนลอยเป็นระบบการเกษตรที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมส่วนรวม เป็นสิ่งต้องห้ามในพื้นที่ป่า คนในกลุ่มนี้มีใครบ้าง ก็รู้ๆ กันอยู่ครับ

ผมเป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาเรื่องสภาพด้านการผลิตของดินในพื้นที่ไร่เลื่อนลอย หรือที่บางท่านเรียกว่าไร่หมุนเวียน    พื้นที่ที่ผมเลือกศึกษา ก็เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (อุทยาแห่งชาติแห่งหนึ่ง)  ที่มีการถือครองที่ดินเพื่อทำการเกษตรในพื้นที่อนุรักษ์แห่งนั้น

ส่วนทำไมผมต้องมาเลือกพื้นที่ตรงนี้ ผมจะบันทึกเรื่องนี้ในโอกาสต่อไปครับ เขียนไว้กันลืมครับ  เพราะผมมีนิสัยไม่ค่อยจะจำอะไรมากนัก

ผมไม่ได้เรียนทางดินมาตั้งแต่ปริญญาตรีครับ  พื้นฐานการศึกษาของผม ก็คือ การจัดการป่าไม้ และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

ผมแปลกใจปนตลกว่า  ทำไมเนื้อที่ผืนป่าธรรมชาติมันถึงได้มีความสัมพันธ์ในเชิงผกผันกับ จำนวนนักวิชาการป่าไม้ที่ถูกผลิตออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัยทุกปี-ทุกปี  แถมมีลักษณะแบบ strongly negative correlation ซะด้วย

[นี่ถ้าเป็นในฝัน ผมคงถามออกไปว่า…..ใครไม่เห็นด้วย ยกมือขึ้นนั่น เพียบเลย พวกเรียนจบวนศาสตร์ทั้งนั้น….และแล้วหนึ่งในรุ่นพี่ เพื่อน และรุ่นน้องที่รักของผม…..ก็คงตะโกนสวนกลับมาว่า เอ็งไปอยู่ที่ไหนมา ตอนนี้พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นมากแล้วนะ ถึงจะเป็นป่าปลูกก็เถอะ แต่ก็ยังดีกว่าที่มันลดหลงใช่ไหม เห็นไหมว่าพวกเราน่ะ ต้องเหน็ดเหนื่อยกันมากแค่ไหน] 

กลับสู่ความจริงครับ 

ในอดีต พื้นที่แห่งนี้มีความขัดแย้งกันในเรื่องของการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกัน ระหว่างพื้นที่อนุรักษ์ของรัฐ  กับ ชุมชนท้องถิ่น [ชุมชนได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เนื่องจากปัญหาความมั่นคงด้านระบบการปกครองในช่วงเวลานั้น]

จากที่ผมไปเก็บตัวอย่างดินและข้อมูลช่วงสองปี (2547 ถึง ปี48) ก็ได้รับฟังคำบอกเล่าเกี่ยวกับความขัดแย้งในอดีตของชุมชนและเจ้าหน้าที่ฯ ในการใช้ที่ดิน

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ทางรัฐฯ ได้แก้ไขปัญหานี้แล้วเป็นแบบประณีประนอมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย และลดความรู้สึกที่ขัดแย้งกัน จนทุกฝ่ายต่างหันมาช่วยกันดูแลพื้นที่แห่งนี้

[แต่เรื่องการตัดไม้และถางป่านี่ มันเป็นสิ่งเกิดขึ้นคู่กับพื้นที่ป่าอนุรักษ์มาเสมอ  อย่างกรณีเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องพอมีให้เห็นกันบ้าง โดยส่วนตัวของผม คิดว่า การที่ชาวบ้านตัดไม้เพื่อนำมาใช้สอยประโยชน์ในครัวเรือน และการหาของป่ามาขาย (ไม่รวมการลักลอบยิงสัตว์ป่านะครับ) เป็นสิ่งที่พอจะอนุโลมกันได้   ซึ่งต่างจากการถางป่าและเผา เพื่อการถือครองพื้นที่  เพราะการกระทำอย่างหลังนี้ ถือว่าเป็นการทำลายสภาพแวดล้อมของป่าที่รุนแรงกว่ามาก และยังยึดกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นไปเป็นของส่วนตัวอีก] 

หลักเกณฑ์กว้างๆ สำหรับจัดสรรพื้นที่ก็คือ

1. พื้นที่การเกษตรที่อยู่ในเขตอุทยานฯ ที่ทำมาก่อนจะมีการจัดสรร ก็ยกให้ชาวบ้านไปในลักษณะที่ใช้เพื่อการเกษตรอย่างเดียว ไม่สามารถขายต่อได้ แต่สามารถยกให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้ (ผมไม่แน่ใจว่าเขาเรียก นส 3 หรือว่า สปก กันแน่ครับ)

2. ถ้าพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านที่ถูกทิ้งร้าง และไม่ได้ทำการเกษตรต่อเนื่องจะ ต้องส่งกลับคืนมาเป็นพื้นที่ของอุทยานฯ เพื่อฟื้นฟูสภาพป่า (เขาตรวจสอบโดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ และการรังวัดสำรวจพื้นที่แต่ละหมู่บ้านน่ะครับ ส่วนรายละเอียดลึกๆ ผมเกรงใจเจ้าหน้าที่ฯ ก็เลยไม่กล้าซักถามมากนัก)

จากวิธีการจัดสรรที่ดินของรัฐฯ นั้น….

ข้อที่ 1 ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะค่อนข้างชัดเจนสำหรับชาวบ้านที่เปลี่ยนมาทำสวนผลไม้ เช่น ลำไย มะม่วง มะขาม ก็จะได้รับสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินผืนต่อนั้นไป

แต่ข้อที่ 2 โดยเฉพาะกับพื้นที่ไร่หมุนเวียน หรือไร่เลื่อนลอย จะมีปัญหาในการกำหนดว่าใครจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น  เนื่องจากลักษณะเฉพาะของการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ต้องมีการทิ้งร้างให้สภาพแวดล้อมฟื้นตัวเองในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่เหมาะสม  แล้วจึงกลับมาทำการเกษตรอีกครั้ง

ซึ่งก็มีที่ดินหลายแปลงที่อยู่ในระยะของการทิ้งร้างมาหลายปี ทำให้ถูกมองว่า ที่ดินเหล่านั้น เกษตรกรไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์เท่าที่ควร แต่เก็บเอาไว้เพื่อเพาะปลูกในอนาคต ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่.

[นี่เป็นความจริงครับ เพราะระบบไร่หมุนเวียนที่นั่นมีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งการตัดสินใจเพาะปลูกในแต่ละปีขึ้นอยู่กับ แรงงาน และสภาพเศรษฐกิจของครัวเรือน  ลักษณะแบบนี้จะต่างกับ ระบบไร่หมุนเวียนของชาวไทยภูเขาทางภาคเหนือตอนบน ที่เป็นแบบ traditional system กำหนดระยะเวลาในการทิ้งร้างค่อนข้างจะยึดตายตัว เช่น ห้าปี สิบปี หรือ ยี่สิบปี เป็นต้น]

สุดท้ายแล้ว    เขาก็ยกผลประโยชน์ให้แก่ชาวบ้าน  โดยที่มีการกำหนดขอบเขตที่ดินของอุทยานฯ และพื้นที่ที่ให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์  ส่วนไร่หมุนเวียนที่ชาวบ้านคิดว่ายังจะทำอีกในอนาคต ก็ยังคงมีสิทธิใช้ประโยชน์อยู่เหมือนเดิม     แต่มีข้อตกลงกันว่า ชาวบ้านที่นั้นต้องสัญญาว่าจะไม่บุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าไม้เพิ่มเติมอีก เป็นอันว่าทุกฝ่ายก็เห็นด้วย และความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้และชุมชนก็ค่อยๆ ลดลงไป
-------------------------------------------------------------------------------------------------------

ผมได้กล่าวถึงพื้นที่ศึกษาของผมไปพอสมควรแล้ว  ผมเองได้อ่านบทความ งานวิจัย และการศึกษาเรื่องไร่หมุนเวียนจากหลายแห่ง ผมพอที่จะแบ่งได้ความรู้สึกของคนที่มีต่อคำว่า ไร่หมุนเวียน ได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ

- กลุ่มที่อธิบายว่าการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนไม่ได้มีผลกระทบเชิงลบต่อสภาพแวดล้อมอย่างที่เข้าใจกัน กลุ่มนี้จะประกอบไปด้วย ชุมชนที่ทำการเกษตรแบบนี้ นักพัฒนาชุมชน เอ็นจีโอ นักวิจัย และ นักวิชาการ

- อีกกลุ่มเป็นกลุ่มคนที่ถูกทำให้เชื่อว่าไร่เลื่อนลอยเป็นระบบการเกษตรที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมส่วนรวม เป็นสิ่งต้องห้ามในพื้นที่ป่า คนในกลุ่มนี้มีใครบ้าง ก็รู้ๆ กันอยู่ครับ

[หมายเหตุ 1: ผมคงต้องใช้คำว่าไร่เลื่อนลอยไปด้วยครับ เพราะในพื้นที่ศึกษา มันเป็นแบบนั้นจริงๆ ทุกวันนี้ก็ทิ้งร้างไม่เพาะปลูก แต่ก็ไม่ได้ส่งคืนให้อุทยานฯ เพื่อนำไปปลูกป่าฟื้นฟูสภาพ]

[หมายเหตุ 2: ผมพยายามคิดให้เป็นกลางไม่เอียงไปด้านใด  เพราะทุกฝ่ายก็ทำหน้าที่หรือจำเป็นต้องดำรงชีวิตด้วยกันทั้งนั้น เราควรจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่มันเกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากปัญหาแบบนี้ ไม่มีประโยชน์อันใดจะไปกล่าวหาว่าใครถูกใครผิด]

ไร่หมุนเวียน  ไม่ได้มีผลกระทบในเชิงลบต่อสภาพแวดล้อมตามที่เข้าใจกันหรือไม่นั้น คงยังต้องใช้เวลาในการศึกษาหาความจริงกันอีกระยะหนึ่ง

ทั้งๆ ที่มีนักวิชาการ ได้ทำการวิจัยระยะยาวเกี่ยวกับเรื่องนี้มาหลายสิบปีแล้ว  นอกจากนี้ไร่หมุนเวียนที่ทำอยู่โดยชุมชนชาวไทยบนภูเขาทางภาคเหนือ ก็ได้พิสูจน์ตัวเองไประดับหนึ่ง ว่าสามารถเป็นระบบการเกษตรแบบยั่งยืนได้  "ถ้าดำเนินไปตามภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดกันมา"

ในสภาพปัจจุบันผมคิดว่าลักษณะกิจกรรมต่างๆ ของไร่หมุนเวียนได้เปลี่ยนแปลงไปมาก  ถ้าเรายังพยายามอธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ ของระบบไร่หมุนเวียนในแบบเดิมๆ อยู่  หรือมีการปิดบังผลการวิจัยบางส่วน หรือไม่พูดถึงผลวิจัยทั้งหมด 

ผมคิดว่าเราจะมองระบบการเกษตรแบบนี้ได้อย่างไม่ลึกซึ้งแท้จริง

เป้าหมายในการศึกษาของผมครั้งนี้ก็คงจะมีแนวทางคล้ายกับนักวิจัยท่านอื่นๆ  ก็เพื่อช่วยให้เกษตรกรที่ยังคงทำการเกษตรแบบไร่เลื่อนลอยมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้นครับ

---------------------------------------------------------------------------------------------------

ตัวผมเอง ถือได้ว่ายังใหม่มากสำหรับงานด้านการเกษตรและดิน ทำให้บางครั้งทรรศนคติของผมแตกต่างจากคนอื่นไปบ้าง  ผมดีใจครับที่ได้อยู่ในชุมชนของ gotoknow.org เพราะทำให้ผมได้แบ่งปันและแลกเปลี่ยนความนึกคิดของผมกับท่านผู้อื่นบ้าง

หมายเลขบันทึก: 28341เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2006 18:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

รู้สึกว่าจะบันทึกยาวเกินไปครับ

รู้สึกว่าจะบันทึกยาวเกินไปครับ

24-27 พฤษภาคม เกิดน้ำท่วมและโคลนถล่ม ที่อำเภอลับแล โดยเฉพาะบ้านผามูบ  สาหัสมาก

และน้ำได้ไหลบ่าท่วมเขตตัวเมือง อุตรดิตถ์

น้ำท่ามที่ถนนเจษฎาบดินทร์ และเข้าไปในซอยในบ้าน ท่วมจนถึงระดับอก

โดยท่วมที่บ้านด้วย น้ำท่วมถึงชั้นล่าง เข้ามาในตัวบ้าน

รถกระบะท่วมเกือบถึงหลังคา (Big M)

ส่วนรถของพ่อ ท่วมมิดหลังคา (Honda Civic)

ระบบ โทรศัพท์มือถือ ไฟฟ้าและน้ำประปาถูกตัดขาด ยังดีที่โทรศัทพ์บ้านใช้ได้

เป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดมา สามสิบสี่ปี แล้วที่เคยมีปรากฎการณ์แบบนี้เกิดขึ้น

สำหรับลับแล คงเป็นร้อยปี ที่ไม่เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ขนาดนี้

จะด้วยเหตุผลอันใดก็แล้วแต่ ไม่ว่าการเกษตรแบบสวนดั้งเดิมของคนลับแลเปลี่ยนแปลงไป หรือการตัดไม้ทำลายป่า

  • เหตุการณ์อุทกภัยครั้งนี้ เป็นสัญญาญเตือนให้ชาวลับแล แลคนอุตรดิตถ์ต้องเตรียมรับมือกับน้ำท่วมในครั้งต่อไป อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป 
  • ทำให้เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เสื่อมโทรม และหาทางแก้ไขป้องกันไม่ให้ ภัยพิบัติทางธรรมชาติทำลายทรัพย์สินให้เสียหายอย่างที่เกิดขึ้นมาอย่างนี้อีกในอนาต

เรียน อาจารย์จรัณธร

  • ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจย้อนหลังกรณีน้ำท่วมบ้านอาจารย์นะครับ
  • ผมเคยมีประสบการเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำไร่เลื่อนลอยหรือจะเรียกว่าไร่หมุนเวียนน่าจะตรงกว่า (ของชาวเขาทางภาคเหนือ) เขามีองค์ความรู้เรื่องการฟื้นฟูดินโดยกระบวนการทางธรรมชาติที่ลึกซึ้งมาก
  • ที่บังเอิญมีประสบการณ์ตรง ก็เพราะขณะสำรวจหมู่บ้าน พ่อบ้านจำว่าลูกตัวเองเกิดปี พ.ศ.อะไร แต่จำได้ว่าเกิดตอนทำข้าวไร่อยู่แปลงใหน เพราะมีตั้ง 5-6 แปลง ไล่เรียงไปมาจึงรู้ปีพ.ศ. เกิดของลูก และขณะเดียวกันผมก็ได้เรียนรู้ว่า "ไร่เลื่อนลอยนั้น แท้ที่จริงก็คือระบบเกษตรหมุนเวียน"นั่นเอง (อาจสรุปผิดก็ได้)
  • หากการทำไร่หมุนเวียนไม่หนาแน่นจนเกินไป คงไม่เป็นสาเหตุหลักของการทำลายป่าอย่างที่เราเคยได้ยินกัน (ยกเว้นเกินกว่าที่ธรรมชาติจะรับไหว)
  • ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม คิดว่าการตัดไม้ทำลายป่าหรือการทำการเกษตรถาวร(อยู่กับที่)  ในที่ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต่างหาก ที่ทำให้เกิดปัญหาอย่างที่เราพบกันอยู่ทุกวันนี้
  • ยินดีที่ได้ ลปรร.ครับ
  • ผมประทับใจมากครับ  อย่างที่พี่สิงห์ป่าสักกล่าวไว้  เรื่องการจดจำปี พศ. ต่างๆ ของผู้คนในท้องถิ่นนั้น มักจะเชื่อมโยงเห็นการณ์ที่สำคัญกับสมาชิกในครอบครัว  โดยเฉพาะแม่บ้าน  เขาจะจดจำเหตุการณ์ต่างๆ และปีพศ. ได้แม่นยำทีเดียวเลยครับ 

ผมสนใจเรื่องไร่หมุนเวียน เนื่องจากในเขตจังหวัดพิษณุโลกยังพบเห็นการทำไร่ลักษณะนี้ เป็นบริเวณกว้าง และถือได้ว่าเป็นการเกษตรหลักของครอบครัวที่ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ป่าไม้   มีรายได้น้อย ทำให้ไม่มีทุนสำหรับทำการเกษตรแบบอื่น เช่น สวนผล 

การเกษตรแบบนี้ถือได้ว่าเป็นระบบเกษตรที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ครับ  ปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีอยู่ทั่วโลก เพียงแต่กระบวนการต่างๆ ย่อมเปลี่ยนไปจากการเกษตรแบบดั้งเดิม เช่น มีการใช้สารเคมี และเครื่องจักรกล เพิ่มขึ้น

  • ผมเอง เพิ่งจะศึกษาเรื่องไร่หมุนเวียนมาเพียงแค่สองปีเองครับ  แต่ผมคิดว่า ระบบการเกษตรแบบแหละครับ ยังถือว่ามีจำเป็นสำหรับชุมชนท้องถิ่นในบางพื้นที่  แม้จะมีการเกษตรแบบอื่นเป็นทางเลือกอีกมากมาย แต่เราคงต้องคำนึงถึง สภาพเศรษฐกิจของครัวเรือน และสภาพทางกายภาพของพื้นที่ด้วยเช่นกัน 
  • การถางและเผาพื้นที่ มักจะเป็นกิจกรรมที่พบเห็นทั่วๆ ไปสำหรับการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน (แต่บางแห่งก็ไม่เผาเตรียมพื้นที่)  ถึงแม้จะเป็นการทำลายสภาพแวดล้อม แต่ถ้ามีการจัดการควบคุมที่ดีก็สามารถลดผลกระทบได้ใช่ไหมครับ
  • ผมเองก็เชื่อว่า การทำไร่หมุนเวียนสามารถเป็นไปได้ในหลายๆ พื้นที่  ในกรณีที่การจัดการมีแนวทาง เพื่อใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน

ซึ่งที่จริงการใช้ที่ดินในไร่หมุนเวียนอย่างยั่งยืน สำหรับพื้นที่แต่ละแห่ง ผมเองก็ยังไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรครับในตอนนี้ 

คงต้องใช้เวลาศึกษาหาความรู้อีกมากมาย ก่อนที่จะสามารถสรุปผลการศึกษาออกมาได้

ผมดีใจมากครับที่พี่สิงห์ป่าสัก ได้ให้มุมมองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ผมยินดีที่ได้เรียนรู้จากพี่ โดยเฉพาะความรู้เรื่องระบบการเกษตรของเกษตรกรในชุมชนท้องถิ่นครับ 

น่าน น่าจะเข้าข่ายที่อาจารย์ศึกษา เรื่องไร่หมุนเวียน เพราะมีหลายครอบครัวในชุมชนที่ผมรู้รัก มีที่สำหรับการทำไร่หลายแปลง จะมีการหมุนเวียนการแพ้วถางและเผาทุก3-4ปี
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท