โพล"สกศ." สำรวจมุมมอง"การศึกษา"วันนี้ "ต้องการครูที่รับฟังความคิดเห็นของเด็ก"


สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกกลุ่มอาชีพทั่วประเทศ เกี่ยวกับการศึกษาไทยในปัจจุบัน ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์-13 มีนาคมที่ผ่านมา โดยวิธีออกแบบสอบถามทั้งสิ้น 20,000 ฉบับ และได้รับการตอบกลับ 14,230 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 71.2 โดยเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ใน กทม. ร้อยละ 11.3 และส่วนภูมิภาค ร้อยละ 88.7 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 46-55 ปี และอายุระหว่าง 36-45 ปี คิดเป็นร้อยละ 35.4 และ 26.4 ตามลำดับ

ผู้ตอบแบบสอบถามมาจากผู้มีอาชีพต่างๆ ได้แก่ ข้าราชการ นักธุรกิจ รัฐวิสาหกิจ รับจ้าง รวมทั้งกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา ครูอาจารย์ ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา โดยได้ผลสรุปวิเคราะห์ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

*1.ความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพการจัดการศึกษาโดยรวม*

พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 84.5 มีความพอใจต่อสภาพการจัดการศึกษาในปัจจุบัน และเมื่อถามถึงระดับความพอใจ พบว่า ส่วนใหญ่พอใจในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 56.3 สำหรับที่พอใจมากมีร้อยละ 19.9 และร้อยละ 8.4 มีความพอใจในระดับน้อย ที่เหลือจะเป็นผู้ที่แสดงความคิดเห็นว่าไม่พอใจ

*2.ความคิดเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการพัฒนาการศึกษาโดยรวม*

มีความคิดเห็นว่า การดำเนินการพัฒนาการศึกษาที่ผ่านมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาด้านต่างๆ ไปในทิศทางที่ดีขึ้น กล่าวคือ

*ด้านครู* มีผู้ให้ความเห็นว่า การพัฒนาการศึกษาทำให้คุณภาพของครูมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น จำนวนร้อยละ 70.4 โดยส่วนใหญ่เห็นว่าครูมีความรู้และวุฒิการศึกษาสูงขึ้น มีการพัฒนาตนเอง เพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ ในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น นำสื่อต่างๆ มาใช้อย่างเหมาะสม และส่งเสริมนักเรียนหาความรู้ด้วยตนเอง ส่วนที่เห็นว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเหมือนเดิม มีร้อยละ 23.6 ที่เหลือคือไม่ตอบและเห็นว่าแย่ลงกว่าเดิม

*ด้านนักเรียน* มีผู้ให้ความคิดเห็นว่า การพัฒนาการศึกษามีผลทำให้นักเรียนมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 51.8 มีความเห็นว่านักเรียนมีความรู้ในเนื้อหาวิชาการมากขึ้น รู้จักใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการทำกิจกรรมร่วมกัน กล้าแสดงออก กล้าตอบคำถามและแสดงความคิดเห็น ใฝ่หาความรู้และค้นคว้าด้วยตนเอง และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

ที่เห็นว่าเหมือนเดิม มีร้อยละ 36.1 เกี่ยวกับเรื่องความกระตือรือร้น ขยันตั้งใจเรียน ระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ และที่เห็นว่าแย่กว่าเดิม มีร้อยละ 10.6 เกี่ยวกับเรื่องคุณธรรม จริยธรรม วินัย ความรับผิดชอบ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

*ด้านสถานศึกษา* มีผู้เห็นว่าการพัฒนาการศึกษาส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของสถานศึกษาในทางที่ดีขึ้น จำนวนร้อยละ 68.7 โดยเห็นว่ามีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการภายในสถานศึกษา เปิดโอกาสการเข้าเรียนและเมื่อเรียนสำเร็จแล้วสามารถเรียนต่อในระดับสูงขึ้น มีการพัฒนามาตรฐานทางวิชาการ ส่งเสริมสนับสนุนนักเรียนให้เข้าแข่งขัน และทำกิจกรรมเสริมสร้างองค์ความรู้ ส่วนที่เห็นว่าเหมือนเดิม มีร้อยละ 26.8 และเห็นแย่ลงกว่าเดิม มีร้อยละ 2.6

*ด้านสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอน* มีผู้เห็นว่า การพัฒนาการศึกษาทำให้มีการพัฒนาคุณภาพสื่อการเรียนการสอนในทางที่ดีขึ้น จำนวนร้อยละ 63.4 โดยเห็นว่ามีคอมพิวเตอร์ใช้ในการเรียนการสอนที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพเพียงพอทั่วถึง มีแบบเรียนและหนังสืออ่านประกอบพอเพียง เนื้อหาน่าสนใจกว่าเดิมและเหมาะสมกับวัยนักเรียน

ส่วนที่เห็นว่าเหมือนเดิมมีจำนวนร้อยละ 31.9 และที่เห็นว่าแย่ลงกว่าเดิมมีร้อยละ 2.9 โดยเห็นว่าการกระจายสื่อและอุปกณ์ยังไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอ แบบเรียนและหนังสืออ่านประกอบมีผู้ผลิตมาก แต่หาซื้อได้ยาก

*3.ความคาดหวังต่อการปฏิรูปการศึกษา*

จากการสอบถามถึงความต้องการหรือความคาดหวังของประชาชนในการพัฒนาการศึกษาด้านต่างๆ พบว่า มีความคาดหวังดังนี้

*ด้านครู* ให้ครูได้รับการอบรมมีเทคนิคการสอนที่หลากหลาย สอนเข้าใจง่าย น่าเรียน อยากให้ดูแลเอาใจใส่นักเรียนอย่างทั่วถึงทั้งนักเรียนเก่งและไม่เก่ง สอนสอดแทรกคุณธรรมในวิชาที่สอน ฝึกฝนนักเรียนให้กล้าคิด กล้าตอบคำถาม กล้าแสดงออก ควรพัฒนาครูให้มีจรรยาบรรณในวิชาชีพและมีจิตวิญญาณของความเป็นครู และยอมรับฟังความคิดเห็นของเด็ก

*ด้านนักเรียน* อยากให้เด็กได้รับการปลูกฝังจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรม มีการจัดระเบียบเข้มงวดกวดขันในเรื่องความประพฤติ ให้นักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ เรียนรู้และค้นคว้าหาความรู้ได้ด้วยตนเองจากแหล่งเรียนรู้และประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน จัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้นักเรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง และให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

*ด้านสถานศึกษา* ให้โรงเรียนมีมาตรฐานการเรียนการสอนที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันทุกโรงเรียน มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดี สะอาด มีสิ่งอำนวยความสะดวก และมีความปลอดภัย มีระเบียบควบคุมความประพฤติและการลงโทษครูและนักเรียนให้เข้มงวดกว่าเดิม และให้มีการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างบ้าน โรงเรียน และชุมชน ตลอดจนจัดให้มีคอมพิวเตอร์มากขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนในชนบทห่างไกล

*ด้านสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอน* จัดให้มีหนังสือและอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย เนื้อหาดี น่าสนใจ จัดทำสื่อ/เทคโนโลยีทางการศึกษาให้มากขึ้น รวมทั้งจัดหนังสือและอุปกรณ์การเรียนการสอนให้มีอย่างเพียงพอ โดยเน้นให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน

*4.การมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา*

จากการถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีส่วนในการปฏิรูปการศึกษา พบว่า ส่วนใหญ่ต้องการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 72.5 โดยผู้ที่อาศัยใน กทม.ที่ต้องการมีส่วนร่วมถึงร้อยละ 63.2 สำหรับในส่วนภูมิภาคต้องการมีส่วนร่วมร้อยละ 74.2 โดยที่ทั้งใน กทม.และภูมิภาคมีผู้ไม่ต้องการมีส่วนร่วมร้อยละ 25.3 และ 14.4 (ตามลำดับ) และไม่ตอบร้อยละ 11.5 และ 11.3 (ตามลำดับ) ซึ่งจะเห็นว่ามีผู้ไม่ตอบเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เนื่องจากความไม่เข้าใจเกี่ยวกับการศึกษา

เมื่อถามถึงการมีส่วนร่วมในปฏิรูปการศึกษาด้านต่างๆ พบว่า

*ด้านงบประมาณ* ประเด็นที่มีผู้ให้ความสนใจและต้องการมีส่วนร่วม เรียงตามลำดับคือ

-บริจาคเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอน สร้างอาคารเรียน จัดกิจกรรมต่างๆ จัดฝึกอบรมสร้างความรู้ให้กับครู และใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ตามความจำเป็น -บริจาคสิ่งของ เช่น หนังสือ สมุด ปากกา ดินสอ ฯลฯ -จัดหาอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน เช่น คอมพิวเตอร์ -ให้ทุนการศึกษาและบริจาคที่ดินเพื่อสร้างสถานศึกษา

*ด้านการเรียนรู้* ประเด็นที่มีผู้ให้ความสนใจและต้องการมีส่วนร่วม เรียงตามลำดับคือ

-สนับสนุนให้บุตรหลานได้เรียนรู้เทคโนโลยีและนำสื่อที่ทันสมัยมาใช้ในการเรียน -การพัฒนาการสอนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน -ส่งเสริมบุตรหลานให้เรียนหนังสือตามนโยบายรัฐบาล -ให้ความรู้แก่บุตรหลานเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่เรียนในโรงเรียน และเน้นภาษาต่างประเทศ -สนับสนุนให้บุตรหลานศึกษาค้นคว้าความรู้ด้วยตนเองและเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว

*การมีส่วนร่วมกับสังคมและชุมชนในการจัดการศึกษา* มีประเด็นที่มีผู้ให้ความสนใจและต้องการมีส่วนร่วม เรียงตามลำดับคือ -มีส่วนร่วมในการจัดและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของชุมชน -การเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการศึกษาให้แก่ชุมชน -ร่วมพัฒนา ร่วมกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน และจัดแหล่งเรียนรู้ในชุมชน -ศึกษาเอกสาร รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและให้ความร่วมมือกับหน่วยราชการ

*การมีส่วนร่วมกับสถานศึกษาในการจัดการศึกษา* ประเด็นที่มีผู้ให้ความสนใจและต้องการมีส่วนร่วม เรียงตามลำดับคือ

-แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงสถานศึกษา -ให้คำแนะนำ นิเทศเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา -ปลูกจิตสำนึกให้บุตรหลานในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และการมีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น -เป็นวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น -ร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

ที่มา: http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01edu01130549&day=2006/05/13หน้า 22

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 28241เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2006 10:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท