บันทึกจากประกายรังสี "รวมใจก้าวต่อไปสู่สภาวิชาชีพ"


มันจะเร็วไปหรือไม่ที่เราจะก้าวไปสู่การมีสภาวิชาชีพฯ ทั้งที่ในขณะนี้เรามีคณะกรรมการวิชาชีพฯยังไม่ครบถ้วนเลย

     การประชุมวิชาการรังสีเทคนิคประจำปี 2549 ที่พัทยา เมื่อวันที่ 26-28 เมษายน 2549 เป็นการประชุมครังที่ 14 หรือเรียกว่า 14th TSRT จบลงไปแล้ว แต่จะมีภาระกิจต่อเนื่องตามมาอีกมากมาย ทั้งวิธีคิดและวิธีปฏิบัติ ซึ่งถ้าจะไม่พูดถึงเลยก็ดูจะผิดธรรมเนียม การประชุมปีนึ้มีเรื่องที่อยากบันทึกให้ชาวเราได้ทราบหลายเรื่อง และขอแสดงมุมมองเกี่ยวกับก้าวเดินต่อไป ของการรวมใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อจุดหมายสำคัญ คือการบริการและดูแลชาวประชา ให้ดี ให้ครบถ้วน ตามภาระหน้าที่ของเรา

.....เรื่องแรกคือ เกิดปรากฏการณ์ที่ชาวเรามาร่วมประชุมจำนวนมากกว่าทุกครั้งของการประชุมระดับประเทศ ที่ไม่ใช่ระดับนานาชาติ คือมีชาวเรามาร่วมประชุมเกินกว่า 350 คน โรงแรมเวลคัม จอมเทียน ซึ่งเป็นสถานที่ประชุม มีห้องพักให้ไม่พอสำหรับชาวเราที่เข้าประชุมทั้งหมด ต้องแยกบางส่วนไปพักที่เนเชอรัล ปาร์ครีสอร์ต ซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 1.5 กิโลเมตร ทำเอาสมาคมฯต้องวุ่นวายในการจัดเตรียมการประชุมกันแบบคาดไม่ถึง ฝ่ายเลขาธิการบอกว่า อีกสองวันจะถึงวันประชุมแล้ว ยังมีชาวเราติดต่อขอลงทะเบียนและจองที่พัก เล่นเอาปวดหัวเลย จะปฏิเสธไม่รับเพราะเลยเวลามาแล้วก็ไม่กล้าเพราะเห็นใจ นี่แหละครับ คนไทยก็จะเป็นแบบนี้ อะลุ่มอล่วย เอื้อเฟื้อกัน เป็นลักษณะพิเศษที่คนชาติอื่นไม่มี

.....เรื่องที่สอง เป็นเรื่องที่ประวัติศาสตร์ชาวรังสีต้องจารึกไว้ว่า วันที่ 26 เมษายน 2549 เวลาเช้า เป็นครั้งแรกที่นายกสมาคมฯ 5 สมาคมฯที่เกี่ยวกับรังสีเทคนิค คือ 1.สมาคมรังสีเทคนิดแห่งประเทศไทย 2.สมาคมรังสีการแพทย์แห่งประเทศไทย 3.สมาคมศิษย์เก่ารังสีเทคนิครามาธิบดี 4.สมาคมศิษย์เก่ารังสีเทคนิค รพ.จุฬาลงกรณ์ 5.สมาคมศิษย์เก่ารังสีเทคนิค ม.สงขลานครินทร์ มาร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์ด้วยการแสดงมุมมองเกี่ยวกับอนาคตของรังสีเทคนิคไทย ต่อหน้าชาวเราที่เข้าร่วมประชุมกว่า 350 คน ซึ่งวันนั้นสมาคมฯเชิญผมให้ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย คณะกรรมการผู้คิดโปรแกรมนี้บอกผมว่า สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยอยากเห็นความมีเอกภาพในวิชาชีพ อยากเห็นว่า "รังสีเทคนิคไทย รวมใจเป็นหนึ่งเดียว เหลียวแลชาวประชา" จึงขอเริ่มต้นก้าวเดินไปสู่จุดหมายของการรวมหัวใจด้วยการเชิญทุกสมาคมฯมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ก่อนหน้าจะถึงวันนี้ เมื่อสมาคมฯเชิญผมให้เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย ผมรับเชิญทั้งที่รู้สึกกังวลใจมาก ว่าผลมันจะออกมาอย่างไร เพราะก่อนหน้านั้น บอกตามตรงว่า มีกระแสความหวาดระแวงซึ่งกันและกันแว่วมาให้ผมและชาวเราได้รับรู้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อมีการตอบรับร่วมอภิปรายของนายกสมาคมฯทุกท่าน ผมก็รู้สึกใจชื้นขึ้นมาขั้นหนึ่ง และการปรากฏตัวของนายกสมาคมฯทุกท่าน (ยกเว้น นายกสมาคมรังสีการแพทย์แห่งประเทศไทยซึ่งได้ส่งผู้แทนเข้าร่วม เพราะติดภาระกิจสำคัญจริงๆ) ยิ่งทำให้รู้สึกดีขึ้นมาก และที่สุด เมื่อการอภิปรายเริ่มขึ้นผมและชาวเราที่ร่วมประชุมวันนั้น ก็รู้สึกได้ว่ามีรังสีแห่งความสมานฉันท์แผ่อบอวลห้องประชุม ทำให้ผมโล่งอก และคิดว่าต้องเกิดการก้าวเดินไปข้างหน้าสู่การหลอมรวมหัวใจให้เป็นหนึ่งเดียวอีกอย่างแน่นอน

          

.....เรื่องที่สาม เป็นเรื่องต่อเนื่องจากเรื่องที่สอง คือก้าวเดินต่อไปนั้น คืออะไร? วันนั้นไม่ได้มีการฟันธง แต่เป็นการแสดงความเห็นในลักษณะของการมองอดีตสู่อนาคตว่าจะเจออะไร จุดที่สำคัญที่สุดคือ เริ่มมีการพูดถึงสภาวิชาชีพฯ โดยส่วนตัวผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก และน่าจะเป็นทิศทางหลักที่เราควรก้าวเดินไปให้ถึง เพราะอะไรหรือครับ ก็เพราะว่า วิชาชีพรังสีเทคนิคจะก้าวสู่การเป็นวิชาชีพที่กฎหมายเปิดโอกาสให้คนในวิชาชีพดูแลกันเอง ได้มากกว่าการที่เป็นอยู่ในขณะนี้ มีหลายคนถามผมว่า มันจะเร็วไปหรือไม่ที่เราจะก้าวไปสู่การมีสภาวิชาชีพฯ ทั้งที่ในขณะนี้เรามีคณะกรรมการวิชาชีพฯยังไม่ครบถ้วนเลย ผมคิดว่าไม่เร็วเกินไปนะครับ คือการมองอนาคต (futurism) วันนี้เราต้องมองไว้เลยว่า อนาคต 10-20 ปีข้างหน้าเราจะเป็นอะไร แล้วต้องทำวันนี้เพื่อให้อนาคตเป็นอย่างที่เราวาดฝันไว้ หากวันนี้เราไม่เตรียมการวางรากฐานอะไรไว้เลย วันข้างหน้าชาวเรารุ่นหลังๆต่อมาจะคิดทำก็ยากเย็นแสนเข็ญ คงไม่ง่ายนักที่จะไปให้ถึงการมีสภาวิชาชีพฯภายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะมันมีเหตุและปัจจัยหลายอย่างที่เป็นอุปสรรค คงไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเพียงลำพัง ที่จะสามารถสร้างเส้นทางหลัก (high way) มุ่งไปสู่จุดหมายนั้นได้ มันขึ้นกับชาวเราทุกคนครับ ต้องมีการเตรียมการเตรียมความพร้อมหลายอย่าง มันขึ้นกับว่า ชาวเราทุกคนหรือส่วนใหญ่ มีศัทราในวิชาชีพและทำงานด้วยความทุ่มเทเสียสละมากน้อยแค่ไหน ชาวเราทุกคนหรือส่วนใหญ่ได้ช่วยกันแสดงศักยภาพความสามารถที่เป็นรูปธรรม (ไม่ใช่การสร้างภาพ) ออกมาให้สังคมได้ยอมรับมากยิ่งๆขึ้นไปอย่างต่อเนื่องหรือไม่ นั่นคือคำถามที่ว่ามุมมองของสังคมหรือความคาดหวังของสังคมต่อวิชาชีพของชาวเราเป็นอย่างไร สังคมสงสัยหรือไม่ไว้ใจหรือไม่เชื่อมั่นในวิชาชีพชองชาวเราหรือไม่ สังคมอยากเห็นวิชาชีพของชาวเรามมีบทบาทอย่างไรนอกจากที่เป็นอยู่ และที่สำคัญคือชาวเราทุกคนมีหัวใจผนึกหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้จริงหรือไม่ .....ถึงแม้จะมีอุปสรรคอย่างไรเราก็ต้องเริ่มต้นก้าวเดินไปครับ เพราะการเริ่มก้าวเดินโดยเฉพาะไปในทิศที่ควรจะเป็นที่ชาวเราเห็นพ้องต้องกัน ในที่สุดมันก็จะถึงจุดหมายได้ในเวลาที่ไม่นานนัก

.....ดังนั้น ก้าวต่อไปของการรวมใจเป็นหนึ่งเดียวจึงน่าจะมีผลกระทบโดยตรง และมีความหมายอย่างยิ่งต่ออนาคตของรังสีเทคนิคไทย ต่อชาวเราทุกคน อย่าให้การมาร่วมพูดคุยกันของนายกฯทั้ง 5 สมาคมฯต้องสูญเปล่า เมื่อมีการเริ่มต้นแล้วก็ภาวนาขอให้มีการผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่นและต่อเนื่อง เพื่อช่วยกันถักทอสานต่อให้เกิดรูปร่างแห่งอนาคตที่ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ

มานัส มงคลสุข
พฤษภาคม 2549


  เรื่องที่เกี่ยวข้อง
 1.อนาคตรังสีเทคนิคไทยในมุมมองของผู้ประกอบวิชาชีพ
 2.บันทึกจากประกายรังสี “มองอนาคตรังสีเทคนิคไทยแบบ SWOT”
<hr>

หมายเลขบันทึก: 28201เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2006 22:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะว่า ไม่เร็วเกินไปที่จะคิดถึงเรื่องสภาวิชาชีพ

วิชาชีพที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกเรา เช่น เทคนิคการแพทย์ และกายภาพบำบัด ต่างล้วนจัดตั้งสภาวิชาชีพของตนขึ้นมาแล้ว

สาขารังสีเทคนิค เมื่อเทียบกับสาขาใกล้เคียงนับว่ามีขนาดเล็กกว่า มีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนน้อยกว่า ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดี ที่จะรวมตัวกัน และคุยกันได้ง่าย

นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่งานนี้เปิดเวทีแก่ผู้นำของแต่ละสมาคมวิชาชีพให้ได้มาพบปะพูดคุยกัน สร้างความคุ้นเคยเป็นชุมชนที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น

ดิฉันขอเสนอว่าในกลุ่มที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนสาขาวิชารังสีเทคนิคระดับต่างๆ  เช่น คณบดี หรือ หัวหน้าภาค ที่เกี่ยวข้องกับสาขารังสีเทคนิค ก็ควรมีเวทีให้พบปะเช่นนี้ด้วย

และเมื่อสบโอกาส ก็หาเวทีที่กลุ่มตัวแทนสมาคม และกลุ่มตัวแทนสถาบันผู้ผลิต ได้มาพบปะรวมเป็นกลุ่มเดียว ความเชื่อมโยงก็จะเกิดขึ้นได้ในที่สุด

พี่ใหญ่ที่สุดของสถาบันผู้ผลิต ก็คือ ม.มหิดล พอจะเป็นเจ้าภาพเหมือนอย่างที่สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทยทำได้หรือไม่คะ?  ในอันที่จะรวมตัวกลุ่มสถาบันผู้ผลิตรังสีเทคนิคทั้งหมด

ดิฉันขอเรียนเสนอแนวทางดำเนินการ และผู้นำในการดำเนินการในเบื้องต้นมาเท่านี้ก่อนนะคะ

ขอขอบคุณอาจารย์มานัส เป็นอย่างสูงอีกครั้งหนึ่ง ที่ช่วยจุดประกายความคิด และชี้ทิศทางในอนาคตอันสดใสแก่ชาวรังสี

   

 

ณัฐพงษ์ แสงเพชร รพ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา

22/05/2549

          ผมขอแสดงความคิดเห็นว่า วิชาชีพรังสีเทคนิคควรพัฒนาเข้าสู่เป็นสภาวิชาชีพโดยเร็ว เพราะตอนนี้ทุกคนเบื่อหน่ายกับอนาคตของตนเองว่ามันไม่ก้าวหน้า  มีการพัฒนาไปช้ามาก ๆๆๆ  มีหลายคนมากที่กำลังจะออกจากอาชีพนี้ ซึ่งรวมถึงผมอีกคนในไม่ช้านี้และ ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ คงจะไม่แนะนำให้ลูกหลาน ญาติพี่น้อง ฯลฯ มาเรียนวิชาชีพนี้อย่างเด็ดขาด  ไม่ได้ต่อต้านแต่เป็นความรู้สึกส่วนบุคคล  ถามว่ารังสีเทคนิคมีคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคมไหม ตอบว่ามีเหลือล้น แต่ความก้าวหน้าและอนาคตล่ะ  ที่ผ่านมาเราก็มัวแต่แบ่งแยกแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น  กดดันไม่ให้เรียนต่อบ้าง , สร้างความกดดันในหน่วยงานบ้าง , แบ่งระดับชนชั้นบ้าง  ฯลฯ  ผลออกมาเป็นอย่างไรบ้างครับ  แต่ตอนนี้ทุกคนคงจะได้รับบทเรียนกันทุกคน ผมขอสนับสนุนให้มีการพัฒนาให้วิชาชีพรังสีเทคนิคประจักษ์แก่ชุมชน ถ้ามีอะไรให้สมาชิกร่วมมือขอให้บอกยินดีให้ความร่วมมือทุกเรื่อง

                             ณัฐพงษ์  แสงเพชร

                        แผนกรังสี   รพ.ดอกคำใต้

                             

เห็นด้วยครับอาจารย์ เราควรมีการพัฒนาไปสู่สภาวิชาชีพ เช่นเดียวกับสภาวิชาชีพอื่น พวกเราต้องรวมตัวกัน ดูแลกัน ช่วยเหลือกัน พัฒนาขีดความสามารถยกระดับฐานะวิชาชีพที่เลี้ยงดูให้พวกเรามีอยู่มีกินเช่นทุกวันนี้ ให้สาขาวิชาชีพอื่นยอมรัมว่าสาขาวิชาชีพนี้มีขีดความสามารถ มีความสำคัญ สามารถรวมตัวกันได้ มีพลังมากพอที่ผู้ใหญ่ในกระทรวง ยอมรับฟัง และเห็นความสำคัญ เพื่อดึงดูดให้คนที่มีความรู้ความสามารถตัดสินใจเลือกเรียนสาขารังสีเทคนิคได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่ถึงขนาดคนที่ทำงานทางรังสีเทคนิคเองยังห้ามญาติพี่น้องลูกหลานไม่ให้มาเรียน เพราะสาขารังสีเทคนิคทำงานแล้วไม่มีความก้าวหน้า จึงดีใจมากที่ท่านอาจารย์ได้จุดประกายขึ้นมาและขอบคุณในความเสียสละทุ่มเทตลอดมา รักษาสุขภาพด้วยครับ

คุณณัฐพงษ์ ติดต่อกลับมาหน่อยมีคนคิดถึงนะ

จาก  RT4

อยากขอเรียนถามคุณณัฐพงษ์ว่าที่รพ.ดอกคำใต้มีตำแหน่งให้โอนย้ายไปหรือไม่ อยากกลับไปอยู่ใกล้ๆบ้านค่ะ

เห็นด้วยกับคุณณัฐพงษ์ค่ะ..อยากให้มีการพัฒนาความก้าวหน้าวิชาชีพมากกว่านี้

สัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมเพื่อจัดทำมาตรฐานรังสีเทคนิค รู้สึกถึงความรักและความผูกพันธ์ต่อวิชาชีพรังสีมากขึ้นที่เห็นทุกคนต่างออกความคิดเห็นช่วยกันทำงานจนเกือบบรรลุความตั้งใจไว้แต่ด้วยเวลาจำกัดเราต้องยุติและน่าจะมีการสานต่ออย่างรวดเร็วในขณะที่เครื่องยังร้อนๆอยู่ กล้วไฟใหม้ฟาง(เส้นสุดท้าย)และขอแสดงความยินดีกับรังสีเทคนิคทุกคนที่ต่อไปเราจะมีมาตรฐานการปฏิบัติงานมาเป็นกรอบในการดำเนินงานโดยไม่ต้องให้มาตรฐานอื่นๆ(ปกส. สปสช. ฯลฯ )เข้ามาเป็นตัวชี้นำ แต่เรื่องต่างๆยังคงดำเนินต่อไปเพราะอยากให้วิชาชีพของเรานี้เติบโตเคียงบ่าเคียงใหล่วิชาชีพอื่นๆให้โตเร็วๆเหมือนเทคโนโลยีที่เราใช้กันจังเลย

พวกราเป็นคนเก่งมากไม่ว่าเครื่องมือจะพัฒนาไปถึงใหนเราก็ชนะใช้มันได้ทุกรูปแบบแต่เราเองกลับโตช้าแบบหัวโตตัวลีบ

มาช่วยกันนะ

จากวันที่เข้าสัมนามาตรฐานแล้วเห็นความตั้งใจของทุกคนทั้งอาจารย์ ทุกท่าน คณะกรรมการ กช.แล้วรู้สึกดีใจ ทุกคนรักสามัคคีกันดี

พอมองเห็นอนาคตได้แน่นอน

เรียน ชาวรังสีฯ ทุกท่าน

ผมดีใจที่ได้ทราบความเคลื่อนไหวในทางที่ดี และสร้างสรรค์ของวิชาชีพรังสีฯ  เชื่อว่าหากเราไม่หยุดคิดและพัฒนา  สักวันหนึ่งวิชาชีพของเราก็คงก้าวหน้าครับ

คิดถึงทุกท่านครับ

เรียนอ.มานัส

บังเอิญผมได้เช้าร่วมประชุม....... เมื่อเดือนมีนาคม 50 มีการแจ้งว่า กระทรวงวิทย์ฯ ได้ออก พรบ.สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผ่านมติ ครม.แล้ว ซึ่งแบ่งเป็น 45 กลุ่มใหญ่ๆ รอเข้าสภาฯผ่านมติ 2-3 ก็จะปะกาศใช้ ขณะนี้สภาวิชาชีพ 9 วิชาชีพ กำลังทักท้วงอยู่ แต่ข่าวแจ้งว่าคงไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นการตั้งสภาฯคงได้แค่ฝันแล้วครับ

อีกประการการตั้งสภาฯไม่ใช่เรื่องง่าย ลองคุยกับสภาเทคนิคการแพทย์ดู เพราะเกิดก่อนสมาคมรังสีฯไม่กี่ปี

พลาเดช

 

เรียน คุณพลาเดช

ดูเหมือนท่านจะมีข้อมูลดี  กรุณาขยายความด้วยค่ะ   เท่าที่บอกมามันทำให้เฉา  

เรื่องยาก ถ้าคนอื่นทำได้  เราจะทำไม่ได้เชียวหรือ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท