Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

มาเรียและแดง ...คนต่างด้าวเทียมที่ศาลปกครองไทยเคยพยายามให้ความยุติธรรมทางปกครอง


อันนี้ เข้าใจยาก ความไร้สัญชาติแบบชัดเจน (explicite nationalityless) คือคุณแดง กล่าวคือ ประเทศเวียดนามมิได้รู้จักคุณแดงเลย แต่ประเทศฟิลิปปินส์รู้จักและยอมรับคุณมาเรีย เพียงแต่สำหรับคุณมาเรีย สัญชาติฟิลิปปินส์ไม่ใช่ effective nationality ความไร้สัญชาติของคุณมาเรียเป็นแบบแอบแฝง (implicite nationalityless) ผลที่ทั้งสองได้รับก็คือ ขาดไปซึ่งสุขภาวะพื้นฐานที่คนปกติที่เกาะเกี่ยวกับแผ่นดินไทยควรจะได้ ผลที่ชัดต่อไป ก็คือ ทั้งสองต่างก็ได้รับความไม่เป็นธรรมจากสังคมไทย

กรณีนางมาเรีย วิลม่า อี อุดรพงศ์ และกรณีนายแดง เหงียนวัน

: กรณีศึกษาคดีในศาลปกครองเกี่ยวกับการจัดการปัญหาสัญชาติของบุคคลธรรมดาในประเทศไทย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เขียนเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙ เวลา ๑๕.๔๔ น.

ปรับปรุงเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔ เวลา ๒๓.๔๙ น.

http://www.gotoknow.org/blog/people-management/28165

--------------------------------------------------------------

วันนี้ รื้อบ้านต่อ เพราะเป็นวันหยุด ต้องถือโอกาสจัดแจงความสงบภายในบ้าน โดยเฉพาะห้องทำงาน

พบเอกสารอีก ๒ ชิ้นที่น่าจะเอามาใส่ซองพลาสติก และเขียนความตั้งใจปะไว้ว่า จะต้องเอามาเขียนเป็นบทความเรื่อง "ศาลปกครองและการจัดการปัญหาสัญชาติของบุคคลในประเทศไทย" หรืออาจเอามาใช้สอนในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ก็คงได้นะ คงต้องเป็นในห้องเรียนปริญญาโท น่าจะดี

คำพิพากษาฉบับแรกเป็นคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ ๑๒๙๕/๒๕๔๕ ระหว่าง นางมาเรีย วิลม่า อี อุดรพงศ์ ผู้ฟ้องคดี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดี เรื่องเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการพิจารณาให้สัญชาติไทย ซึ่งผู้ฟ้องคดีเป็นหญิงสัญชาติฟิลิปปินส์ที่ได้สมรสกับชายไทย ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ในปี ๒๕๓๕ และเดินทางมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่นั้น มายื่นขอสัญชาติไทยตามสามีในปี พ.ศ.๒๕๓๙ และก็ไม่ได้คำตอบ จึงมาฟ้องศาลปกครองในปี ๒๕๔๕ ศาลเห็นว่า การกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็น "การปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ภายในระยะเวลาที่ศาลจะกำหนดได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๒) แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ศาลจึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่พิจารณาคำร้องของผู้ฟ้องคดีให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีทราบ

ฉบับที่สอง เป็นคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเช่นกัน เป็นคำพิพากษาที่ ๑๒๔๔/๒๕๔๗ ระหว่างนายแดง เหงียนวัน ผู้ฟ้องคดี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งในคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีมีบิดามารดาเป็นญวนอพยพซึ่งเดินทางมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ฟ้องคดีเกิดที่นครพนมเมื่อ ๒๕๑๓ มีภริยาเป็นคนสัญชาติไทย มีบุตร ๒ คนซึ่งก็มีสัญชาติไทย ผู้ฟ้องคดียื่นขอสัญชาติไทยใน พ.ศ.๒๕๓๗ ครั้งแรก และครั้งที่สอง ใน พ.ศ.๒๕๔๔ แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบ ใน พ.ศ.๒๕๔๕ จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ใน พ.ศ.๒๕๔๗ ศาลปกครองจึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการพิจารณาคำร้องขอมีสัญชาติไทยของผู้ฟ้องคดีและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีทราบภายใน ๖๐ วันนับแต่คดีนี้ถึงที่สุด

ทั้งสองเรื่องมีประเด็นที่จะชี้ชวนให้นักศึกษาเห็นหลักกฎหมายและประสิทธิผลของกฎหมายไทยว่าด้วยสถานะบุคคลมากมาย

โดยเฉพาะกรณีของคุณแดงนั้น เธอมีสัญชาติไทยโดยการเกิด และเสียสัญชาติไทยโดย ปว.๓๓๗ ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ซึ่งควรจะแก้ปัญหาได้ตั้งแต่วันนั้น คือ ตอนท่านผู้นี้ มีอายุ ๒ ขวบ แต่ความไม่มีองค์ความรู้ด้านกฎหมายของสังคมไทยในการจัดการประชากรนี้เองที่เป็นเหตุ

ทั้งสองกรณีชี้ให้เห็นภาพที่เหมือนกัน ก็คือ คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีความเป็นไทยทางสังคมและวัฒนธรรม ทุกลมหายใจเพื่อประโยชน์ของรัฐไทย แต่ไม่มีสัญชาติไทย

ความต่างของเรื่อง ก็คือ คุณแดงเป็นคนเชื้อสายเวียดนามที่ไม่ชื่อในทะเบียนาราษฎรเวียดนาม จึงตกเป็นคนไร้สัญชาติ แต่ยังดีที่รัฐไทยยอมรับให้มีชื่อใน ทร.๑๓ ซึ่งเป็นทะเบียราษฎรไทยประเภทคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

ส่วนคุณมาเรียเป็นคนสัญชาติฟิลิปปินส์ มีชื่อในทะเบียนราษฎรของประเทศฟิลิปปินส์ แต่มาตั้งรกรากกับสามีในประเทศไทย จนสัญชาติฟิลิปปินส์ไม่อาจนำมาซึ่ง “สุขภาวะ” ดังที่ควรจะเป็น ในทางกลับกัน รัฐไทยที่มีจุดเกาะเกี่ยวใกล้ชิดกับคุณมาเรียที่สุด และส่ง “สุขภาวะ” ให้คุณมาเรียมากที่สุด กลับไม่แยแสที่จะให้สัญชาติไทยแก่คุณมาเรีย ซึ่งสุขภาวะของคุณมาเรีย ย่อมหมายถึงสุขภาวะของครอบครัวทั้งครอบครัว ซึ่งสมาชิกข้างมากคือคนสัญชาติไทย ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์เกิดขึ้นทีเดียว ดังนั้น คุณมาเรียก็ประสบความไร้รัฐเจ้าของสัญชาติเอาดื้อๆ อันนี้ เข้าใจยาก ความไร้สัญชาติแบบชัดเจน (explicite nationalityless) คือคุณแดง กล่าวคือ ประเทศเวียดนามมิได้รู้จักคุณแดงเลย แต่ประเทศฟิลิปปินส์รู้จักและยอมรับคุณมาเรีย เพียงแต่สำหรับคุณมาเรีย สัญชาติฟิลิปปินส์ไม่ใช่ effective nationality ความไร้สัญชาติของคุณมาเรียเป็นแบบแอบแฝง (implicite nationalityless) ผลที่ทั้งสองได้รับก็คือ ขาดไปซึ่งสุขภาวะพื้นฐานที่คนปกติที่เกาะเกี่ยวกับแผ่นดินไทยควรจะได้ ผลที่ชัดต่อไป ก็คือ ทั้งสองต่างก็ได้รับความไม่เป็นธรรมจากสังคมไทย (บ่นแบบนี้ ท่านอาจารย์ประเวศเข้าใจล่ะค่ะ แต่คนที่ควรจะเข้าใจ ไม่เข้าใจ ทำไงดีคะ)

กฎหมายไทยก็มีคำตอบสำหรับคุณมาเรียหรือคุณแดงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ แต่แนวคิดที่จะให้สัญชาติที่มีประสิทธิผลแก่บุคคลในทั้งสองสถานการณ์ไม่บังเกิดในฝ่ายของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งไม่เห็นหรือไม่เข้าใจปัญหา “ความมั่นคงของรัฐ” ที่เกี่ยวกับ “ความมั่นคงแห่งมนุษย์”

ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือตัวอย่างของผลลัพธ์ของความไม่แยแสปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งวันนี้ ส่งผลต่อไปยังความมั่นคงแห่งดินแดน

ขอบ่นหน่อยค่ะ มันอัดอั้นตันใจ

หมายเลขบันทึก: 28165เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2006 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2016 14:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เขียนได้สุดยอดไปเลยค่ะท่าน หนูขอสมัครเป็นแฟนพันธ์แท้ของท่านอาจารย์นะค่ะ หนูเป็นคนไทยโดยการเกิดค่ะ และมีบิดาที่เป็นต่างด้าว(สัญชาติอินเดีย) บิดาของหนูแต่งงานกับมารดาของหนูซึ่งมีสัญชาติไทย แล้วมีบุตรชายและสาว 5 คน สัญชาติไทยหมดยกเว้นเพียงบิดา ตอนนี้บิดาของหนูตกเป็นบุคคลต้องห้ามเข้าราชอาณาจักร เพราะเคยมีคดีอาญาเรื่องทำร้ายร่างกาย ตอนนี้ครอบครัวหนูลำบากมาก เพราะพวกหนูกำลังศึกษากันอยู่ทุกคน ปกติบิดาจะเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆและเลี้ยงดูคอยอบรมสั่งสอนข้าพเจ้าและน้องๆมาตลอดเป็นเวลา18ปีแล้วที่บิดาข้าพเจ้าอยู่ในประเทศไทย หนูจะทำยังไงดีค่ะท่านอาจารย์ ไม่มีใครที่ให้คำแนะนำที่ดีแกหนุได้เลยค่ะ หนูคิดถึงพ่อของหนูมาก หนูขอปรึกษาท่านอาจารย์ได้ไหมค่ะ รบกวนท่านอาจารย์ตอบกลับมาทาง E-mail ด้วยนะค่ะ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

กรีรัน ยาโด

เขียนได้สุดยอดไปเลยค่ะท่าน หนูขอสมัครเป็นแฟนพันธ์แท้ของท่านอาจารย์นะค่ะ หนูเป็นคนไทยโดยการเกิดค่ะ และมีบิดาที่เป็นต่างด้าว(สัญชาติอินเดีย) บิดาของหนูแต่งงานกับมารดาของหนูซึ่งมีสัญชาติไทย แล้วมีบุตรชายและสาว 5 คน สัญชาติไทยหมดยกเว้นเพียงบิดา ตอนนี้บิดาของหนูตกเป็นบุคคลต้องห้ามเข้าราชอาณาจักร เพราะเคยมีคดีอาญาเรื่องทำร้ายร่างกาย ตอนนี้ครอบครัวหนูลำบากมาก เพราะพวกหนูกำลังศึกษากันอยู่ทุกคน ปกติบิดาจะเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆและเลี้ยงดูคอยอบรมสั่งสอนข้าพเจ้าและน้องๆมาตลอดเป็นเวลา18ปีแล้วที่บิดาข้าพเจ้าอยู่ในประเทศไทย หนูจะทำยังไงดีค่ะท่านอาจารย์ ไม่มีใครที่ให้คำแนะนำที่ดีแกหนุได้เลยค่ะ หนูคิดถึงพ่อของหนูมาก หนูขอปรึกษาท่านอาจารย์ได้ไหมค่ะ รบกวนท่านอาจารย์ตอบกลับมาทาง E-mail ด้วยนะค่ะ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

กรีรัน

ก็หารือตรงนี้ล่ะค่ะ จะได้เป็นประโยชน์ต่อท่านอื่นที่มีปัญหาคล้ายกัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเคยมีคำสั่งเนรเทศคุณพ่อของคุณออกจากประเทศไทยหรือคะ

ช่วยเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด โดยไม่ต้องระบุชื่อจริงของทุกคนที่เกี่ยวข้องก็ได้ค่ะ เอาแต่ลักษณะของเรื่องจริงที่เกิดขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท