บันทึกจากประกายรังสี "มองอนาคตรังสีเทคนิคไทยแบบ SWOT"


เราจะไม่ยอมเป็นไม้ที่ตายแล้ว (dead-wood) ซึ่งล่องลอยไปในกระแสน้ำ สุดแต่ว่ากระแสน้ำจะพัดพาไปทางไหน แต่เราจะเป็นอย่างน้อยก็เรือที่มีหางเสือคอยบังคับทิศทาง และมีใบเรือคอยรับลมเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ต้องการได้

(อ่านบทความพร้อมภาพประกอบ http://www.tsrt.or.th/note/RTnote15.htm)

     ถ้าเหลียวหลังมองอดีตที่ผ่านมาประมาณ 43 ปีมาแล้ว วิชาชีพของชาวเราได้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2506 นับจากที่มีการตั้งโรงเรียนรังสีเทคนิคขึ้นในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล) ต่อมาก็มีการจัดตั้งสถาบันผลิตรังสีเทคนิคขึ้นในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้งระดับปริญญาตรีและระดับอนุปริญญา ซึ่งระดับอนุปริญญาที่ทำงานอยู่นั้น ในปัจจุบันนี้แต่ละคน ได้เพิ่มวุฒิทางการศึกษาของตัวเองเป็นปริญญาตรีแล้วเป็นส่วนใหญ่ จำนวนชาวเราที่ทำงานอยู่ในตอนนี้มีมากกว่า 2000 คน มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาคมวิชาชีพ ได้แก่ สมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2516 และยังมีการจัดตั้งสมาคมขึ้นอีกหลายสมาคม เช่น สมาคมรังสีการแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมศิษย์เก่ารังสีเทคนิครามาธิบดี สมาคมรังสีเทคนิคโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สมาคมศิษย์เก่ารังสีเทคนิคมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น ช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น มีทั้งสุขและทุกข์คลุกเคล้ากัน มีความเห็นแตกแยกกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดาของคน โดยเฉพาะกับคนหมู่มาก สังคมของชาวเราได้ผ่านประสบการณ์ต่างๆและมีสิ่งต่างๆเกิดขึ้นมากมาย เราได้เรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้นทำให้ชุมชนของเราเจริญและเติบโตขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น อาจจะมองดูเชื่องช้าบ้างในสายตาของหลายคน แต่มันก็มีพัฒนาการของตัวมันเองอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดที่มีเรื่องของใบประกอบโรคศิลปะฯเกิดขึ้น ซึ่งชาวเราส่วนใหญ่ก็คงได้รับเรียบร้อยไปแล้ว ส่วนน้อยที่ยังมีปัญหาอยู่บ้าง ทั้งเรื่องการสอบไม่ผ่านเกณฑ์เสียที หรือแม้กระทั่งการตีความเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครสอบก็ยังเป็นปัญหาอยู่บ้าง มีการร้องเรียนว่าบางคนทำไมไม่มีสิทธิ์สอบ ยิ่งไปกว่านั้น ชาวเราที่สอบได้แล้ว ยังคงลุ้นอยู่ว่าตำแหน่งจะได้ไหม จะมีการปรับตำแหน่งหรือไม่เมื่อไหร่ เพราะมันไปเกี่ยวข้องกับค่าตอบแทน สมาคมรังสีเทคนิคฯทำอะไรเพื่อเรื่องนี้บ้าง คือมีคำถามเยอะมาก แล้วถึงที่สุดจะเป็นอย่างไร คงตอบอยาก แต่ที่ทราบคือทุกภาคส่วน ทั้งสมาคมรังสีเทคนิคฯ คณะกรรมการวิชาชีพฯ และรวมถึงบุคคลหลายคนที่พอจะทำอะไรได้ ก็กำลังดำเนินการกันอยู่ เพียงแต่มันไม่เป็นข่าวหรือช่องทางที่จะบอกถึงชาวเราว่าเป็นอย่างไรแล้วนั้นมันตีบเต็มที
     ขอวกเข้าเรื่องที่ตั้งใจจะเขียนในบันทึกจากประกายรังสีครับ ชาวเราคงได้ยินบ่อยและนานแล้วกับคำว่า "ไม่มีพรมแดน" เช่น รักไม่มีพรมแดน โลกไม่มีพรมแดน หรือโลกไร้พรมแดน (globalization) เป็นต้น เพราะอะไร คำว่าไม่มีพรมแดนโดยเฉพาะโลกไร้พรมแดนจึงเกิดขึ้น เหตุผลสำคัญยิ่งอันหนึ่งคือ เทคโนโลยีทางการสื่อสารพัฒนาเร็วมาก จนอาจกล่าวได้ว่าครองโลกไปแล้ว ชาวเราจะเห็นว่า เราสามารถชมภาพข่าวสดๆร้อนๆขณะที่เครื่องบินชนตึกเวิร์ดเทรดที่อเมริกาเมื่อปี 2544 เราสามารถรับรู้ข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เราทั้งได้ใช้ประโยชน์และเครียดจากการรับรู้ได้เร็วขึ้น หรือถ้าเราเปิดช่องรับข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นเอาไว้เรียกว่าบริโภคแบบไม่เลือก ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ โทรศัพท์ Internet ฯลฯ เราอาจรู้สึกว่าข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นไหลทะลักเข้ามาท่วมท้นจนทำให้เราบางครั้งเอียนอยากจะอวก ซึ่งกินความรวมไปหมด ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ทั้งหมดนี้ได้สะท้อนภาพสังคมโลกที่มีการเคลื่อนตัวและเปลี่ยนแปลงไป ในท่ามกลางภาวะการณ์แบบนี้ ชาวเราจะต้องเตรียมรับมืออย่างไรเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้อย่างมีความสุขและสมภาคภูมิ โดยไม่ถูกเย้ยหยันจากสังคมรอบข้าง หรือตกโลก (หลุดโลก) ไปเลย
     ชาวเราหลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า แผนกลยุทธ์ (strategic planning) ขอเล่าอีกครั้งนะครับ ขอตั้งข้อสังเกตว่า ชุมชนของชาวเรา จะถึงขั้นต้องมารวมหัวกัน ระดมสมอง (brain storm) ร่วมกัน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์หรือแผนกลยุทธ์หรือไม่??? หมายความว่า การร่วมกันคิดวางแผนให้ชัดเจน เพื่อกำหนดว่า ชุมชนของเราจะวางตำแหน่งหรือกำหนดบทบาทของเราอย่างไรให้เหมาะสมในช่วงระยะเวลา 5-20 ปีจากนี้ไป ภายใต้สภาพสังคมไร้พรมแดนที่ว่าไว้ข้างต้น แม้จะเป็นสิ่งที่หลายคนบอกว่ายากและเป็นไปไม่ได้ที่ชาวเราจะมาร่วมกันทำสิ่งนี้ แต่ผมก็ยังอยากจะคิดว่าควรอย่างยิ่ง โดยที่ชุมชนของเราควรมาร่วมกันวิเคราะห์ปัจจัยทั้งภายในชุมชนของชาวเราและภายนอก ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวเรามองเห็นภาพของสิ่งต่างๆได้ชัดเจนขึ้น และจะสามารถร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์หรือวางแผนกลยุทธ์ ได้อย่างมีประสิทธิผลไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมากเกินไป เพื่อให้การวางตัวของชุมชนของเราในอนาคตทั้งใกล้และไกลเป็นไปอย่างรอบครอบและอย่างที่ควรจะเป็น เฉกเช่นคำพูดที่ว่า "รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย"
    
การกำหนดยุทธศาสตร์นั้น อาจเริ่มด้วยวิธีการวิเคราะห์ที่เรียกว่า SWOT analysis คำว่า SWOT (สะว็อต) เป็นการนำอักษรตัวแรกของคำว่า strength (จุดแข็ง) weakness (จุดอ่อน) opportunity (โอกาส) และ threat (ภัยคุกคาม) มารวมกัน ดังนั้น SWOT analysis จึงเป็นวิธีการวิเคราะห์ที่พิจารณาถึงสิ่งแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในของชุมชนรังสีของชาวเรา โดยการดูว่า สิ่งแวดล้อมภายนอกนั้นมีอะไรบ้างที่เป็นโอกาส เช่น เทคโนโลยีการสร้างภาพทางการแพทย์และการรักษาด้วยรังสีพัฒนาไปอย่างมากนั้นเป็นโอกาสหรือไม่ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวเราได้แสดงบทบาทในหน้าที่รับผิดชอบที่สูงขึ้น เวลาเดียวกันสังคมเริ่มมองเห็นความสำคัญ ด้วยการให้ผู้ประกอบอาชีพรังสีเทคนิคต้องมีใบประกอบโรคศิลปะฯ ซึ่งเป็นสิ่งรับรองหรือยืนยันว่าสังคมจะได้รับบริการทางรังสีที่ดีและปลอดภัย เป็นต้น และมีอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคหรือเป็นภัยคุกคาม ตัวอย่างเช่น การเปิดโอกาสให้มีการจ้างงานรังสีเทคนิคจากต่างประเทศเป็นอุปสรรคหรือไม่??? แรงเสียดทานจากภายนอกที่เกิดจากความไม่เข้าใจในวิชาชีพรังสีเทคนิค เป็นแรงต้านที่ทำให้ความก้าวหน้าในวิชาชีพเป็นไปอย่างเชื่องช้า ประชาชนโดยทั่วไปยังไม่ค่อยรู้จักวิชาชีพรังสีเทคนิค ว่าเป็นอย่างไร ทำงานกันอย่างไร ความก้าวหน้าเป็นอย่างไร ประชาชนรู้แต่เพียงว่าถ้าเป็นรังสีละก็มันอันตรายไม่อยากจะเข้าใกล้ (ไม่รวมถึงชาวเราบางคนนะครับ)??? นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นโอกาสก็อาจเป็นภัยคุกคามได้เช่นกัน คือเทคโนโลยีทางรังสีที่พัฒนาไปมากนั้นเป็นภัยคุกคามเราใช่หรือไม่??? หมายความว่า หลายคนอาจมีปัญหากับการต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆที่เกิดขึ้น ใครที่ปรับตัวไม่ทันในส่วนนี้ก็จะทำงานลำบากและอาจถึงขั้นไม่มีความสุขหรือไม่สนุกกับการทำงานไปเลย เป็นต้น
     สำหรับสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนเราจะพิจารณาดูว่า มีอะไรบ้างที่เป็นจุดแข็ง อะไรบ้างที่เป็นจุดอ่อน กรณีจุดแข็งของชุมชนเรา หลายคนอาจมองว่า การวินิจฉัยโรคและการบำบัดโรคด้วยรังสี เป็นจุดแข็ง เพราะถึงอย่างไรวิธีการเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ตลอดไปในทางการแพทย์ (ของตาย) ยิ่งทันสมัยยิ่งใช้ไม่มีทางสูญพันธ์??? จนชั่วนิจนิรันด์ (หรือที่คนลาวพูดว่า อสงไขย (infinitely) ) หลายคนอาจมองว่า จุดแข็งของเราคือ ชาวเราทุกคนมีคุณภาพสูงอยู่ในระดับ super RT เป็นที่ยอมรับของสังคม???..ชาวเราตื่นตัวในการทำงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น??? ชุมชนของชาวเรามีการรวมกลุ่มเป็นองค์กร (สมาคมฯ) หลายองค์กรและแต่ละองค์กรก็มีพัฒนาการที่ดี??? กรณีจุดอ่อนของชุมชนเรา สิ่งที่เป็นจุดแข็งก็อาจเป็นจุดอ่อนได้เหมือนกัน เช่น การที่ชุมชนของชาวเรามีการรวมกลุ่มเป็นองค์กรหลายองค์กร ทำให้ขาดพลังถ้าแต่ละองค์กรต่างไปกันคนละทิศละทาง นำไปสู่ความหย่อนความสามัคคีในชาวเราที่เป็นรังสีด้วยกัน จนขาดพลังในการขับเคลื่อนชุมชนรังสีเทคนิคให้ไปในทิศทางเดียวกัน??? เป็นต้น และอาจมีการมองจุดอ่อนในเรื่องอื่นๆอีกเช่น การไม่ใส่ใจในการพัฒนางานร่วมกันจนถึงการละเลยงานวิจัยที่สามารถแก้ปัญหาของสังคมและประเทศชาติในส่วนที่เราเกี่ยวข้อง มีแต่การวิจัยเฉพาะกิจเป็นส่วนใหญ่ ??? การไม่ยอมรับซึ่งกันและกันโดยพยายามมองแต่สิ่งที่ไม่ดีของกันและกันรวมถึงการยกตนข่มท่าน ซึ่งนำไปสู่การไม่ช่วยกันสร้างผู้นำ (ซึ่งหายากอยู่แล้ว) ที่เป็นที่ยอมรับของชุมชนของชาวเรา???ี การขาดแกนนำที่ทำให้เกิดกระบวนการคิดในเชิงสร้างสรรร่วมกัน (หรือมีแกนนำแต่ไม่ลงรอยกัน ไม่ยอมกัน) คือต่างคนต่างคิดต่างคนต่างเก่งแล้วคุยกันไม่รู้เรื่อง ทำให้ชุมชนรังสีขาดความต่อเนื่องในการพัฒนา เหมือนเครื่องยนต์เดินไม่เรียบ??? (สองประการหลังนี้ดูเหมือนจะเป็นทุกที่) ไม่มีแผนพัฒนาแม่บทที่เกิดขึ้นโดยความเห็นพ้องร่วมกันของชาวเราทั้งหลาย???..................ฯลฯ
     ทุกประเด็นจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และวิกฤติ ที่กล่าวมานั้น เป็นแค่เพียงการยกตัวอย่างเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจวิธีคิดแบบ SWOT เมื่อชาวเราร่วมกันวิเคราะห์โดยปราศจากอคติใดๆจนถี่ถ้วนแล้ว สิ่งที่ควรมองร่วมกันต่อไปคือ สิ่งที่เป็นโอกาสก็ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ส่วนสิ่งที่เป็นอุปสรรคหรือภัยคุกคาม ต้องร่วมกันพิจารณาและพยายามหาหนทางเปลี่ยนให้เป็นโอกาสให้ได้ ทำนองเดียวกัน สิ่งที่เป็นจุดแข็งต้องพยายามรักษาไว้ ส่วนสิ่งที่เป็นจุดอ่อนต้องช่วยกันหาทางแก้ไข ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดแผนงานและมาตรการที่จะเป็นแนวปฏิบัติร่วมกัน และก่อให้เกิดพลังสร้างสรรอย่างมหาศาล นำพาชุมชนของชาวเราให้อยู่รอดอย่างสง่างาม และสามารถทำงานให้สังคมอย่างมีประสิทธิภาพตลอดไป ให้สมกับที่เขาไว้วางใจเรา ขณะที่สภาวะโลกไร้พรมแดนยังคงดำเนินและพัฒนาตัวเองต่อไป เราจะไม่ยอมเป็นไม้ที่ตายแล้ว (dead-wood) ซึ่งล่องลอยไปในกระแสน้ำ สุดแต่ว่ากระแสน้ำจะพัดพาไปทางไหน แต่เราจะเป็นอย่างน้อยก็เรือที่มีหางเสือคอยบังคับทิศทาง และมีใบเรือคอยรับลมเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ต้องการได้ และทั้งหมดนี้ไม่ได้ขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ขึ้นอยู่กับชาวเราทุกคนครับ

มานัส มงคลสุข
มีนาคม 2549


   เรื่องที่เกี่ยวข้อง
   1.อนาคตรังสีเทคนิคไทยในมุมมองของผู้ประกอบวิชาชีพ
   2.บันทึกจากประกายรังสี "รวมใจก้าวต่อไปสู่สภาวิชาชีพ"



หมายเลขบันทึก: 28155เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2006 14:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หากท่านใดไม่ทราบ ดิฉันขอเรียนให้ทราบว่า สาขาวิชาที่อาจารย์มานัสเชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่ง คือ เอกซเรย์คอมพิวเตดโทโมกราฟฟี

ไม่ทราบด้วยเหตุนี้หรือปล่าว ที่ทำให้อาจารย์มานัส วิเคราะห์ได้ถึงแก่นจริงๆ ยังกับใช้จิตวิญญาณของรังสีเอกซ์ทะลวงไส้วิชาชีพรังสีเทคนิค แล้วเฉือนออกมาเป็นแว่นๆ  ฉายภาพให้เห็นโรคร้ายที่แฝงอยู่ได้อย่างชัดเจน

ดิฉันคิดว่า ไม่ใช่เป็นแค่ตัวอย่าง แต่เป็นของจริงเลยทีเดียว  เมื่อท่านหมอใหญ่อาจารย์มานัสวินิจฉัยโรคได้ดังนี้แล้ว  ดิฉันอยากขอร้องเชิญทุกๆ ท่าน ได้ช่วยกันเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา หรือแนวทางเสริมจุดแข็ง เพื่อพัฒนาวิชาชีพรังสีเทคนิคให้ยั่งยืน ให้พัฒนาสังคมและชาติบ้านเมืองของเราได้เจริญรุดหน้าสืบต่อไป  

 

วิทยา แว่นประโคน (B.sc.:RT, MBA)

        ต้องขอขอบคุณอาจารย์มนัสที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาด้าน แผนกลยุทธ์ (strategic planning) และด้าน SWOT analysis ซึ่งต้องขอบอกว่าในปัจจุบันการพัฒนาที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างไม่หยุดยั้ง เราจึงต้องเดินและวิ่งไปตามโลกที่เปลี่ยนไป ไม่ควรหยุดนิ่งอยู่กับที่  ต้องขอเปิดโลกทัศน์ในมุมด้านภายนอกบ้างเพราะว่าต้องยอมรับว่าวิชาชีพเราเป็นวิชาชีพเฉพาะทาง มองมุมแบบวิทยาศาสตร์แต่การมองมุมด้านธุรกิจและการบริหารมีน้อยมาก ถือเป็นโอกาสที่ดีที่มีอาจารย์คอยมองมุมนี้ซึ่งคงต้องค่อยเป็นค่อยไปเพราะว่าเราจะเน้นแต่วิชาชีพ เรายังไม่เคยมีใครนำด้านการพัฒนาโดยองค์รวมแบบภาพใหญ่ให้เดินโดยมีการพัฒนาทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก,มีทิศทางการพัฒนาวิชาชีพอย่างยั่งยืนและมีแผนที่แน่นอน  แต่ปัญหาแรกที่เราต้องแก้ไขคือเราต้องพยาบามรวมกลุ่มวิชาชีพให้มีความเป็นกลุ่มก้อนและสมานสามัคคีกันให้มากขึ้น  แยกมุมมองในการทำSWOT เป็นสองกลุ่ม คือแบบรพ.เอกชนและรพ.รัฐบาลเพราะว่าทั้งสองมีปัจจัยภายในที่แตกต่างกัน...........สิ่งที่เหลือคือเราต้องช่วยกันมองในมุมต้องๆเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงมากที่สุดเพื่อกำหนดแผน...........หวังเป็นอย่างยิ่งว่าวิชาชีพของเราจะก้าวเดนไปโดยพัฒนาไม่สิ่นสุดทั้งด้านวิชาการและด้านการบริหาร.......ขอบคุณครับ

                                วิทยา..........RT 32.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท