ดอกไม้ไหว้ครู


เสียงเพลงพระคุณที่สามแว่วมาให้ได้ยินจากหลายๆ โรงเรียน หลายๆ สถาบันการศึกษา ย้ำเตือนให้รู้ว่า กระบวนการทางการศึกษาได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

"...ครูบาอาจารย์ ที่ท่านประทาน ความรู้มาให้

อบรมจิตใจ ให้รู้ผิดชอบ ชั่วดี

ก่อนจะนอน สวดมนต์อ้อนวอน ทุกที

ขอกุศลบุญบารมี ส่งเสริมครูนี้ ให้ร่มเย็น

ครูมีบุญคุณ จะต้องเทิดทูน เอาไว้เหนือเกล้า

ท่านสั่งสอนเรา อบรมให้เรา ไม่เว้น

ท่านอุทิศ ไม่คิดถึงความยากเย็น

สอนให้รู้จัดเจน เฝ้าแนะเฝ้าเน้น มิได้อำพราง..." (1), (2)

       เสียงเพลงพระคุณที่สามแว่วมาให้ได้ยินจากหลายๆ โรงเรียน หลายๆ สถาบันการศึกษา ย้ำเตือนให้รู้ว่า กระบวนการทางการศึกษาได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว มีครูนับหมื่น มีศิษย์นับแสนเกิดขึ้นในเมืองไทย อันถือเป็นธรรมเนียมนิยม ที่จักจัดพิธีไหว้ครูในช่วงสัปดาห์ที่สองของการเปิดภาคเรียนแรกของปีการศึกษา

       "...ปาเจราจะริยา โหนติ คุณุตะรานะสาสกา" เสียงกล่าวนำของตัวแทนหมู่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้หวังมาฝากตัวเป็นศิษย์ ดังขึ้น เพื่อให้มวลหมู่ผู้หวังวิชาความรู้ หวังความเจริญก้าวหน้าในชีวิต กล่าวตามพร้อมกันโดยทำนองสวดสรภัญญะว่า "....

              ข้าขอประณตน้อมสักการ        บูรพคณาจารย์         ผู้กอปรเกิดประโยชน์ศึกษา

ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา                          อบรมจริยา              แก่ข้าในกาลปัจจุบัน

             ข้าขอเคารพอภิวันท์               ระลึกคุณอนันต์         ด้วยนิยมบูชา

ขอเดชกตเวทิตา                                อีกวิริยะพา               ปัญญาให้เกิดแตกฉาน

            ศึกษาสำเร็จทุกประการ            อายุยืนนาน              อยู่ในศีลธรรมอันดี

ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี                        ประโยชน์ทวี              แก่ข้าฯและประเทศไทยเทอญฯ"

จากนั้นตัวแทนผู้กล่าวนำ จะเปล่งคำสรุปว่า "ปัญญา วุฑิ กะเรเตเต ทินโนวาเท นะมามิหัง"

       เมื่อกล่าวคำบูชาครูเรียบร้อย เหล่าบรรดาศิษย์เก่าศิษย์ใหม่ ก็จะนำดอกไม้ธูปเทียนบูชาครูที่จัดเตรียมไว้ เข้ามากราบบูชาครู ในสถานศึกษาบ้างแห่งอาจจักจัดให้มีการผูกข้อต่อแขนรับขวัญศิษย์ หรืออาจจะเพียงแค่ส่งตัวแทนศิษย์ขึ้นนำพานธูปเทียน และพานดอกไม้ไหว้ครู สุดแล้วแต่ความเหมาะสมในบริบทของสถานศึกษานั้นๆ

       ดอกไม้ที่นิยมจัดไว้เพื่อบูชาครูนั้น ก็มีเพียงแค่ "หญ้าแพรก" "ดอกมะเขือ" "ดอกเข็ม" อาจมีบ้างที่เพิ่ม "ข้าวตอก" ไปด้วย แม้ว่าดูแล้วอาจจะดูไม่มีราคาค่างวดใดๆ นัก แต่หากมองถึงความหมายโดยนัยให้ไว้ จักรู้ว่าคุณค่าของดอกไม้ไหว้ครูนั้นสูงเพียงใด

ทำไมต้องหญ้าแพรก?

       หญ้าแพรกเป็นวัชพืชที่อดทน ตามธรรมชาติ เมื่อไม่ได้รับน้ำในฤดูแล้ง หรือโดนเหยียบย่ำก็จะแห้งเหี่ยวไปบ้างแต่ไม่ตาย เมื่อใดได้รับน้ำก็จะแตกต้นใหม่ และเจริญงอกงามอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเราอาจตีความได้ว่าความหมายแฝงในเชิงสัญลักษณ์ของหญ้าแพรกคือ [อดทน] [แตก] [งอกงาม] และ [รวดเร็ว] นักเรียนที่เหมือนหญ้าแพรกคือนักเรียนที่อดทน มีปัญญาแตกฉาน และสามารถพัฒนาความรู้ให้งอกงามได้อย่างรวดเร็ว

ทำไมต้องดอกมะเขือ?

       เช่นเดียวกับหญ้าแพรก มะเขือก็เป็นพืชพื้นบ้านที่พบได้ทั่วไป (ในสมัยก่อน) ตามธรรมชาติ ดอกมะเขือจะพัฒนาเป็นลูกมะเขือทุกดอก และลูกมะเขือแต่ละลูกมีเมล็ดมากนับไม่ถ้วน นับเป็นต้นไม้ที่ประสบผลสำเร็จสูงในการให้ผล และแพร่พันธุ์ได้มากมาย บางท่านให้ข้อคิดว่าดอกมะเขือที่จะให้ผลต้องโน้มลง เหมือนคนแสดงความคารวะบุคคลที่ตนเคารพยกย่อง ดังนั้นเราอาจสรุปความหมายแฝงในเชิงสัญลักษณ์ของดอกมะเขือได้ดังนี้ -- [สำเร็จ] [บังเกิดผล] [อุดมสมบูรณ์] [แพร่หลาย] และ [อ่อนน้อม ถ่อมตน] ศิษย์ที่เหมือนดอกมะเขือ คือผู้ที่มีความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน อุดมด้วยความรู้ในตนมากจนสามารถพัฒนาความรู้ ให้บังเกิดผลมากขึ้นไป โดยเผยแพร่ให้ผู้อื่นหรือใช้ประโยชน์ในสังคมต่อไปได้ และมีความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ (3)

        ส่วนดอกเข็มนั้นเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาที่แหลมคม และข้าวตอกเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาที่แตกฉาน (เหมือนข้าวตอกแตกเวลาคั่ว) สิ่งเหล่านี้มีความหมายลึกซึ้งและมีคุณค่าในวัฒนธรรมการศึกษาของไทย เป็นสิ่งเตือนใจให้ศิษย์รู้ว่าตนมีหน้าที่อะไร และอะไรคือเป้าหมายของความเป็นผู้เรียน (4)

        แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบัน หญ้าแพรกกับดอกมะเขือกำลังจะสูญหายไปจากวัฒนธรรมไทย เพราะนักเรียน นิสิต นักศึกษาไทยหันมาใช้ดอกไม้ราคาแพง โดยเฉพาะดอกไม้นำเข้าจากต่างประเทศในการไหว้ครู ความหมายของดอกไม้เหล่านั้นมีอย่างเดียวคือราคาแพง ไม่สามารถเทียบได้กับความหมายที่ลึกซึ้งของวัชพืชและผักพื้นบ้านอย่างหญ้าแพรกกับดอกมะเขือได้เลยแม้เพียงสักนิดเดียว (3)

       นอกจากดอกไม้ไหว้ครู จะถูกลบเลือนความหมายไปแล้ว วิชาชีพครูในปัจจุบันก็ถูกลดทอนคุณค่าลงอย่างมาก ครูผู้เหนื่อยยากในการประสิทธิประสาทสรรพวิชาให้บรรดาเหล่าศิษย์ กำลังถูกศิษย์ซึ่งบัดนี้เติบกล้า แข็งแกร่ง ลบเลือนคุณค่าไป โดยไม่ได้นึกย้อนด้วยซ้ำว่า ที่เติบใหญ่และเป็นอยู่ได้จนทุกวันนี้ ใครเล่าเป็นผู้ฟูมฟัก อุ้มชูต่อจากพ่อและแม่

        วันนี้เสียงเรียกขาน "ผู้รับจ้างสอน" "ลูกค้า" เริ่มดังขึ้น กลบคำว่า "ครูและลูกศิษย์" ที่นับวันจะเลือนหายไป จริงอยู่อาจมีครูหลายคนที่หลงทางเดินผิดไปบ้าง อย่าลืมสิว่าครูก็คือมนุษย์ปุถุชนธรรมดาคนหนึ่ง ที่ยังคงต้องดิ้นรน ท่ามกลางกระแสคลื่นลมในสังคม แต่หากเรา เหล่าบรรดาลูกศิษย์มีใจรัก และเคารพบูชาครูจริง มิได้ทำเพียงเพื่อผ่านๆ ไป จักมีครูคนไหนบ้างเล่า ที่จักยอมปล่อยตัวเองให้ตกลงจากแท่นบูชาที่เหล่าศิษย์ยกย่อง

       ขอถือโอกาสนี้ กล่าวคำบูชา "ครู" ทุกท่านของข้าพฯ ทั้งที่ล่วงลับไปแล้ว และยังอยู่ในปัจจุบันอีกครั้ง แม้ศิษย์คนนี้จะมิได้ไปกราบที่ตักท่านด้วยตนเอง แต่ก็ยังคงสำนึกในบุญคุณอยู่เสมอ ขอส่งท้ายด้วยบทเพลงพระคุณที่สาม ที่ดังขับกล่อมในพิธีไหว้ครู จงลอยไปขับกล่อมคุณครูของข้าพฯ ให้เจริญยิ่ง ๆ ด้วยอายุ วรรณ สุขะ พละ เทอญ

**.....พระคุณที่สาม งดงาม แจ่มใส

แต่ว่าใครหนอใคร เปรียบเปรยครูไว้ ว่าเป็นเรือจ้าง

ถ้าหากจะคิด ยิ่งคิดยิ่งเห็น ว่าผิดทาง

มีใครไหนบ้าง แนะนำแนวทาง อย่างครู

บุญเคยทำมา ตั้งแต่ปางใด เรายกให้ท่าน

ตั้งใจกราบกราน เคารพคุณท่าน กตัญญู

โรคและภัย อย่ามาแพ้วพาน คุณครู

ขอกุศลผลบุญค้ำชู ให้ครูมีสุข ชั่วนิรันดร

..........................

ให้ครูมีสุข ชั่วนิรันดร.........

 

********************************************************************************

1) เพลงพระคุณที่สาม คำร้อง / ทำนอง ครูอร่าม ขาวสะอาด

2) หนังสือไหว้ครู จัดพิมพ์โดยชมรมพุทธศาสตร์ 9 สถาบัน http://www.suareewittaya.ac.th /2550waicrue.html 

3) ความหมายของดอกไม้ไหว้ครู http://www.kratookfilm.com/wb/viewtopic.php?t=13350 &sid=

4) "หญ้าแพรกกับดอกมะเขือ" http://www.thaistudy.chula.ac.th/its_pinitthai/phpPickUp.php? qID=37

หมายเลขบันทึก: 281092เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2009 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แวะมาเยี่ยมค่ะ

อ. เอ๊ะ

ฟังเพลงนี้แล้วรู้สึกว่าให้ความรู้สึก ระลึกถึงครูจริงๆ อยากให้สถานศึกษาเปิดเพลงนี้ให้เด็กๆฟังหลังร้องเพลงชาติจริงๆ เคยไปงานเกษียนของครูและได้ฟังอยู่บ่อยๆรู้สึกว่าได้อารมณ์มากๆ ระลึกถึงความรักความหวังดีของครูจริงๆ ซึ้งมากครับ

ฟังเพลงแล้วซึ้งจริงๆค่ะ ดิฉันเป้นครูสอนเด็กระดับประถมของโรงเรียนขยายโอกาสแห่งหนึ่ง ครั้งหนึ่งเคยปฏิบัติการสอนระดับชั้นอนุบาลอยู่หลายปีเพราะทางโรงเรียนขาดครูอนุบาล ซึ่งทำให้รู้สึกเลยว่าเด็กเล็กๆนั้นน่ารักจริงๆ......แต่พอเติบโตไยความน่ารัก..ความเดียงสาของเขาเหล่านั้นจึงหายไปหมด ความนอบน้อมต่อครูบาอาจารย์...กริยามารยาทที่ปฏิบัติต่อครูบางครั้งก็ไม่เหมาะสม......รวมถึงกิริยามารยาททั่วๆไปด้วย.......ดิฉันว่าความเป็นไทยของเราคงจะเหลือน้อยเต็มทีหากไม่หันมาร่วมมือกันปลูกฝังสิ่งที่ดีให้กับเด็กๆเสียแต่วันนี้...... น่าเป็นห่วงอนาคตของชาติจริงๆนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท