“เมื่อกรรมการเอาเงินกลุ่ม ...ไปเป็นเงินกู” บทเรียนของคนทำงานองค์กรการเงินชุมชน


มาถึงขั้นนี้แล้ว ไม่ใช่เวลามาโทษกันว่าใครผิดใครถูก แต่จะต้องมีสติที่แจ่มชัดที่ต้องการแก้ไข
            ปัญหาความซื่อสัตย์ของชุมชนเป็นเรื่องใหญ่ในการจัดตั้งกลุ่มการเงินชุมชน โดยเฉพาะเมื่อกรรมการ เอาเงินของกลุ่มไปเป็นเงินของกู เป็นเรื่องใหญ่ กระทบต่อความรู้สึกของทุกคนที่ทราบข่าว ดังที่มีการกล่าวว่า กลุ่มจะเข้มแข็งหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่กรรมการ 80 เปอร์เซ็นต์ (หากกรรมการร่วมมือกันโกงกับสมาชิก ก็ยิ่งไปกันใหญ่) ส่วนสมาชิก มีปัญหามากก็เพียงกู้เงินกลุ่มไปแล้วไม่ส่งคืน ส่วนปลีกย่อย เช่น ไม่ส่งเงินสัจจะ ไม่ค่อยเอาใจใส่ต่อกลุ่ม หรือชอบว่ากล่าวแรงๆ กับกรรมการทำให้เกิดความเบื่อหน่าย สิ่งเหล่านี้ หากกรรมการเข้มแข็ง ยึดมั่นในอุดมการณ์กลุ่ม ใช้กฎกติกาอย่างเคร่งครัด ก็จะนำพาให้กลุ่มเข้มแข็ง เป็นกลุ่มที่ใช้เงินพัฒนาคุณธรรมได้จริง (แต่ถ้ากรรมการร่วมมือกับสมาชิกบางคนก็ล่มจมไปเลย)
            กล่าวสำหรับกรรมการแล้วปัญหาที่พบมักเป็นปัญหาเรื่องการไม่เอาใจใส่ การไม่มีความรู้ ขาดทักษะเชื่องช้าและเห็นแก่ประโยชน์พรรคพวกแล้ว ที่กล่าวมาก็มีทั้งรุนแรงไม่รุนแรง แต่หากเกิดปัจจัยเหล่านี้ ก็อาจทำให้กรรมการถึงจุดที่ตนเองจะยักยอกเงินไป ได้แก่
            หนึ่ง เป็นกรรมการที่มีนิสัยโกงมาก่อน จึงหาเรื่องที่จะโกงถ้ามีโอกาส
            สอง เป็นกรรมการที่เงินขาดมือ และกลุ่มเปิดช่องทางให้โกง โดยขาดการตรวจสอบ
            สาม กลุ่มเปิดช่องทางให้โกง ด้วยความที่อยากได้จึงเอาสักหน่อย เช่น ให้ผัวเมียทำงานอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ทำงานกันไป คุยกันไป จึงทำการตบตาบัญชี เพราะไม่มีใครมาตรวจบัญชี ยักยอกเงินไป
            จะทั้งสามอย่างนั้น ผลที่เกิดขึ้นเหมือนกัน คือ เงินหายไปจากกลุ่ม ซึ่งไม่ได้หายไปจากสมาชิก แต่หายไปจากกรรมการที่เรายกมือรับรองให้เขามาเป็นกรรมการในวันเลือกตั้งนั้นเอง

สาเหตุที่เกิดการยักยอก และวิธีการยักยอกเงิน
            สาเหตุที่กรรมการจะยักยอกเงินไปได้นั้น โดยส่วนใหญ่เกิดจาก  คนนั้นทำบัญชีอยู่คนเดียว หรือ เป็นเครือญาติกันคุยกันได้ เป็นสามีภรรยากัน คนอื่นเก็บเงินหุ้น เก็บเงินกู้ แล้วกลับบ้าน ประธานก็ไม่เอาใจใส่ ไม่มีการเก็บตัวเลขตรวจสอบ หรือไม่มีการเชิญกรรมการประชุม ปล่อยให้ทำบัญชีสรุป และปล่อยเงินกู้กันไป  เช่นนี้ เปิดช่องทางให้คนนั้น ตบแต่งบัญชีโดยไม่มีใครรู้ สมาชิกก็ไม่เคยสนใจที่จะขอดูสมุดบัญชีที่กรรมการทำงาน เมื่อมาส่งเงินแล้วก็รีบจะกลับ (หากกรรมการทำงานช้าก็ด่ากรรมการ)
เมื่อได้ช่องทางแล้วจึงวิธีการยักยอก เช่น มีสมาชิกมาส่งเงิน 1,000 บาทพร้อมค่าบำรุง เขาก็ลงให้ว่าส่งคืน 300 บาท ลงในบัญชีเงินกู้ เอาเงิน 700 บาท กลับไปใช้เสียเอง ทำอย่างนี้เป็นประจำ นอกจากนี้ เพราะไม่มีใครสนใจดูบัญชี เขาก็ทำเรื่องขอกู้เงินเอง อนุมัติเอง เอาเงินไปใช้เป็นแสนๆ ได้สบาย ถ้าจะแนบเนียนกว่านั้น ก็ใช้วิธีหว่านล้อมให้สมาชิกคนอื่นทำเรื่องกู้เงินให้ตนเองโดยตนเองก็เอาความเป็นกรรมการไปเป็นข้อแลกเปลี่ยน เช่น ช่วยจ่ายเงินกู้ ส่งสัจจะให้  สมาชิกที่ยอมกู้ให้ก็พอใจเพราะมีคนอำนวยความสะดวก ต่างก็แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน แต่เท่าที่สังเกต คนที่ตั้งใจจะโกง มักมีความโลภ ต้องการได้เงินมาก เมื่อกู้มากๆ จึงเกิดการหมุนหนี้ไม่ทัน เรื่องจึงแตก หรืออาจจะหนีไปก่อนโดยคนอื่นไม่รู้ตัว
มีอยู่รายล่าสุด กรรมการทำได้พิสดารกว่านั้น โดยการยักยอกครั้งนี้ มีสาเหตุมาจาก กรรมการและสมาชิกกลุ่มนี้ไม่เคยใส่ใจการทำงาน มาเป็นเวลานาน จนเป็นที่รู้กันว่า กลุ่มออมทรัพย์ฯ ก็แค่กลุ่มที่กู้เงินได้ง่ายเท่านั้น ต่างคนต่างก็ไม่ใส่ใจในกลุ่ม และปล่อยให้กรรมการชื่อ นางกลับใจ (นามสมมุติ) ทำบัญชีเงินกู้ บัญชีรับจ่าย และบัญชีสรุป อยู่คนเดียว ประธานก็ไม่ใส่ใจเชิญประชุม เรียกประชุม หรือตรวจสอบกิจการใดๆ เรื่องมันมีเค้ามาแต่ปีก่อนที่ นางกลับใจ ไม่สามารถอธิบายได้ว่า เงินคงเหลือในมือ 3,000 บาท นั้นเวลานี้อยู่หรือไม่ แต่เนื่องจากเงินมันน้อยจึงไม่มีใครสนใจ
ต่อมาเมื่อสิ้นปี นางกลับใจ มาบอกกับกรรมการคนอื่นว่า ตนเองเอาเงินกลุ่มไปใช้ โดยไม่มีใครรู้ สร้างความตกใจแก่กรรมการ (ที่เหตุว่าใช้ชื่อสมมุติว่า นางกลับใจ เพราะเขาคิดจะหนีแล้วแต่กลับมาบอกความจริง แสดงว่ายังมีความดีอยู่) จากการสอบถามพบว่า นางกลับใจไปพูดจาให้สมาชิกคนอื่นกู้เงินให้ตนเอง โดยเขาเหล่านั้น ยินยอมที่จะมาเซ็นต์ชื่อต่อหน้ากรรมการทำสัญญากู้จริงๆ (ต้องยอมรับว่าเธอเป็นคนที่พูดกล่อมคนได้เก่งจริงๆ น่าศึกษาว่า ทำไมคนจึงยอมเชื่อเธอ มีใครที่ไม่เชื่อเธอ คนที่เชื่อมักเป็นคนแบบไหน เธอมีการเลือกคนที่จะพูดหรือไม่.. ทำวิจัยได้เลย) ส่วนอีกทางหนึ่ง เธอใช้วิธีการลงบัญชีกู้ไม่เต็มจำนวนที่สมาชิกมาส่ง แล้วเอาเงินส่วนที่เหลือนั้น ไปใช้เอง สิ่งที่เธอทำนั้นซับซ้อน จนไม่กล้าที่จะเขียนต่อไปได้ เพราะเกรงว่าผู้อ่านที่ตั้งใจจะโกงเอาไปเป็นแบบอย่าง ควรป้องกันไว้ก่อน

กรณีนี้เป็นกรณีศึกษาให้แก่เรา ซึ่งพอจะจำแนกแยกแยะ ดังนี้
1.      เหตุที่เกิดเรื่อง คือ ประธาน กรรมการ และสมาชิก ไม่เอาใจใส่กลุ่ม แม้จะมีการวางระบบให้ดูแลกันแล้ว มีการพูดให้สมาชิกทราบว่าต้องมาดูแลกลุ่ม มีน้อยมากที่จะมีใครสนใจ สาเหตุที่ไม่ค่อยมีใครสนใจก็น่าศึกษาเรียนรู้ดูว่า ทำไมหมู่บ้านนี้จึงไม่สนใจ มีหมู่บ้านอื่นที่ใกล้เขาสนใจหรือไม่
2.      ตัวคนที่เอาไป เป็นคนเก่ง พูดจาดี คนก็รักใคร่ชอบพอ มาก แต่ก็มาเสียเพราะการพนัน สรุปได้ว่า การพนันเป็นสิ่งเลวร้ายมาก ทำให้คนดี กลายเป็นเลวได้
3.      วิธีการโกงนั้น แยบยลมากขึ้น หากคนรู้ไม่ทันจะมองไม่ออก และหากเขาไม่มีความดีเหลืออยู่ พาหนี้ไป ก็ตามกลับมาได้ยาก

การแก้ไข
การแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า
            มาถึงขั้นนี้แล้ว ไม่ใช่เวลามาโทษกันว่าใครผิดใครถูก แต่จะต้องมีสติที่แจ่มชัดที่ต้องการแก้ไข ซึ่งในภาวะนั้น ไม่ว่าใครก็ไม่มีสติพอจะแก้ไข จึงเป็นบทบาทของคนภายนอกที่จะเข้าไปแก้ไข โดยที่คนที่กรรมการเคารพนับถือ หรือผู้ที่ไปก่อตั้งให้ จะเป็นคนที่พวกเขาจะไว้วางใจ
ก่อนอื่นเราในฐานะคนนอกจะต้องตั้งหลัก โดยการตรวจสอบปัญหาทั้งหมดให้ชัดเจน ตัวเลขที่เขายักยอกไปเป็นจำนวนเท่าไหร่ วิธีการเอาไป ใครบ้างที่เกี่ยวข้อง  โดยต้องเอากรรมการทั้งหมดมาประชุมกัน ขั้นตอนนี้ยังไม่ต้องนำสมาชิกมา หรืออาจจะมีสมาชิกที่เขาสนใจจริงๆ มาร่วมด้วยก็ได้ แต่ต้องไม่มากคน เพราะต้องหารือกันในรายละเอียด ถ้าคนมาก ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจะทำให้คุยไม่ได้ผล การคุยครั้งนี้ จึงต้องการหวังผลว่าจะได้แนวทางการแก้ไขปัญหา
จากนั้นให้ตั้งคำถามกรรมการก่อนว่า เกิดปัญหาขึ้นแล้วในหมู่กรรมการด้วยกันนี้ จะเลิกกลุ่มหรือไม่ โดยต้องบอกที่มาด้วยว่า เริ่มตั้งกลุ่มครั้งแรกเป็นอย่างไร ทำมากี่ปี มีการเติบโตของกลุ่มอย่างไร โดยส่วนใหญ่มักจะไม่เลิกเพราะเห็นแก่สิ่งที่ได้ลงแรงกันไป แต่พวกเขาโดยส่วนมากจะหมดกำลังใจ ก็ต้องคอยปลอบใจ เช่น การทำกลุ่มก็เหมือนการทำงานทุกอย่าง ต้องเจอปัญหาทั้งนั้น แม้แต่กินข้าวยังเจอปัญหา วันนี้กับข้าวไม่ถูกปากบ้าง ก้างตำเหงือกบ้าง ดังนั้น การทำกลุ่มครั้งนี้เราก็เจอปัญหา อาจยกเอาปัญหาจากกลุ่มอื่นๆ มาประกอบด้วยว่าพวกเขาก็เจอปัญหา และสามารถต่อสู้ฝ่าฟันมาได้ อีกทั้ง ต้องความผิดของกรรมการด้วยว่า ตนเองนั้นเป็นผู้รักษากฎเกณฑ์ เช่น กฎบอกว่าให้วิ่งช่องซ้าย แต่คนรักษากฎบอกว่า วิ่งช่องขวาก็ได้  กฎบอกว่า ห้ามจอดแดงขาว เราบอกว่าจอดได้  เป็นอย่างนี้ก็ต้องเจอปัญหา  นอกจากนี้ ทุกคนในกลุ่มทำเฉยกันทั้งหมด ไม่เอาใจใส่ ไม่เอาธุระ ก็ต้องรับผิดร่วมกัน
ทีนี้ก็มาเริ่มต่อที่ว่า กรรมการที่ยักยอกเงินไปนั้น เรายกมือเลือกหรือไม่ แน่นอนว่ามีการยกมือเลือก หรืออาจมีคนคัดค้าน เราก็ต้องตามทันว่า เสียงส่วนใหญ่เขาเลือกกัน ก็แสดงว่าเรายอมรับเขา เราก็มีส่วนที่รับผิดชอบด้วยที่บอกแล้วว่า ให้เลือกคนที่ไม่เล่นการพนัน ขั้นนี้ คือให้เขารู้สึกตนเองด้วยว่า เขาก็มีส่วนที่ทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นมา และให้แง่คิดว่า ดังนั้น จึงไม่ใช่เวลาที่หาว่าใครผิด พระเอกกับผู้ร้ายต้องหาทางแก้ไขปัญหาแล้ว
จากนั้น มาดูตัวเลขเงินที่หายไป เพื่อประกอบว่า แสดงว่า หุ้นของกลุ่มจะได้ไม่ครบเต็มหุ้น ก็แบบเดียวกับธนาคารที่เมื่อขาดทุนเขาก็ลดหุ้น จากเดิมที่ราคา 10 บาท เมื่อเงินหายไป ก็ต้องลดหุ้นลง การรู้ว่ามูลค่าหุ้นลดลงไปเท่าไหร่มีความสำคัญมาก ตรงที่ว่า เมื่อสมาชิกบางคนรู้ข่าวว่าเงินหาย ซึ่งเขาอาจเป็นคนขี้ระแวง หรือมีเรื่องไม่พอใจกลุ่มอยู่แล้ว ก็จะพามาถอนหุ้น ข้อนี้เรามีการหาทางออกไว้เลยว่า ยังให้ออกตอนนี้ไม่ได้ ต้องรอมติที่ประชุมใหญ่เพื่อประกาศว่า หากใครจะขอลาออกจากสมาชิกช่วงนี้ จะออกได้แต่จะถอนหุ้นได้ไม่เต็มจำนวนเงินหุ้นเดิม คือ หุ้นละ 10 บาท มีการประกาศลดหุ้น แต่ถ้าจะได้หุ้นเต็มตามเดิมก็ต้องรอให้กลุ่มบริหารใหม่แก้ไขของเก่า จึงจะได้หุ้นเต็มกลับคืน  เรื่องนี้ต้องถือเป็นแนวปฏิบัติสำคัญ คือ การลดหุ้นเมื่อรู้ว่าเงินหาย และหากดำเนินกิจการใหม่จึงจะได้คืนหุ้น ส่วนว่าจะลดจำนวนเท่าไหร่นั้น ก็ต้องดูว่า จำนวนหุ้นทั้งหมดมีเท่าไหร่  เงินเหลือในกลุ่มเป็นเท่าไหร่ หากเงินเหลือในกลุ่มต่ำกว่าจำนวนเงินหุ้น เช่น เงินหุ้น 100,000 บาท (10,000 หุ้น) แต่เงินเหลือในกลุ่ม 80,000 บาท แสดงว่า เมื่อสมาชิกทั้งหมดต้องการถอนหุ้นต้องเตรียมเงินให้ 100,000 บาท แต่เงินจริงมีเหลือ 80,000 บาท ดังนั้น คนถอนหุ้นจะได้ไปจริงเพียง 8 บาท ไม่ได้เต็ม 10 บาท หายไป 2 บาท ดังนั้น คนไหนจะถอนก็ได้หุ้นละ 8 บาท
ขั้นต่อไป คือ ดูสิว่า มีใครบ้างที่เกี่ยวข้อง แต่ละคนจะต้องแก้อย่างไร ได้แก่
คนเอาเงินไป  จะต้องมารับผิดชอบ หากเขายังอยู่ ก็อาจต้องให้เขาเซ็นต์สัญญากู้เงินกลุ่มไว้ใหม่ทิ้งไว้ก่อนเป็นการแน่ใจว่า มีสัญญาเอาไปฟ้องร้องได้  กำหนดให้เขาต้องใช้คืนว่าจะส่งคืนแก่กลุ่มเป็นเงินเท่าไหร่ ด้วยวิธีใด  ข้อระวัง คือ ต้องเจริญเมตตาด้วยคุณธรรมด้วย
คนที่เป็นคนค้ำ หรือคนที่ร่วมด้วย ก็ต้องเอามาให้รับรู้และร่วมรับผิดชอบด้วย
สมาชิก ต้องทำความเข้าใจ
กรรมการคนอื่น ต้องรับผิดด้วยในฐานที่ตนเองปล่อย  ส่วนจะรับแบบไหนนั้นก็ค่อยว่ากันไป แต่ไม่ควรให้ใครลาออกช่วงนี้ เพราะถือว่า ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา หรือ หากไม่ไหวจริงๆ ก็อาจเปลี่ยนตัวกัน
กรณีนางกลับใจนั้น คนที่ยอมกู้เงินให้ต้องเข้ามารับผิดชอบเงินที่ตนเองกู้ แม้ว่าตนเองจะไม่ใช้เงิน ก็ต้องยอมรับผิดชอบด้วย ส่วนเขาจะยอมหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องยึดหลักการว่าใครกู้เงิน คนนั้นต้องรับผิดด้วย ไม่ใช่อ้างว่าตนเองกู้จริงแต่ไม่ใช้เงิน ก็ไม่รับผิดชอบ เท่ากับว่า ไม่รักษากฎเกณฑ์ เมื่อไม่มีกฎกติกา ก็บรรลัย
            นี่ก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ให้เกิดการยอมรับในผลเสียที่เกิดขึ้น และต้องย้ำแนวคิดกันว่า เราทำกลุ่มเพื่อการพัฒนาคุณธรรม และนี่คือกำลังจะพัฒนาคุณธรรมของเราแล้ว
การแก้ปัญหาระยะยาว
เรื่องนี้ มีบทสรุป คือ ให้ถือว่านี่คือบทเรียน สิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไข คือ
1.      ปรับปรุงระบบการจัดการใหม่หมด ดังนี้
1.1  วางระบบบัญชีให้ทำบัญชีคู่กันหลายคน ไม่ให้ทำคนเดียว
1.2  มีการประชุมสรุปงานทุกเดือน หลังวันทำการกลุ่ม
1.3  ทำบัญชีให้เป็นปัจจุบัน ให้เสร็จ ห้ามเอาไปทำที่บ้าน
1.4  ประธานต้องมีการตรวจสอบตัวเลข และการพิจารณาปล่อยกู้
1.5  มีการจัดทำป้ายผลการดำเนินงานกลุ่มทุกเดือน
2.      ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิก
2.1  วันครบรอบปี มีการทำบุญกลุ่ม ต้องวางเงื่อนไขว่าครอบครัวใดไม่ส่งคนมาฟังกฎกติกา ไม่จ่ายปันผล
2.2  จัดการอบรมเสริมอุดมการณ์ทุกปี 1-2 ครั้ง
2.3  วันทำการกลุ่ม ให้สมาชิกเข้ามาตรวจสอบกิจการด้วย
3.      การเข้าโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน พี่สอนน้อง
โดยการเข้าร่วมการประชุมเวทีตำบล และสร้างสรรค์ให้เวทีตำบลเป็นเวทีที่สามารถพัฒนากระบวนการแลกเปลี่ยนแนวคิด คนที่เก่งก็ถือว่าเป็นพี่ คนที่อ่อนก็ถือว่า น้อง บางทีน้องไม่เข้าร่วมเวที พี่ต้องเข้าไปช่วยดูแลด้วย ไม่ใช่ปล่อยปะละเลย แล้วปล่อยเป็นปัญหา
4.      การเข้าร่วมประชุมเครือข่ายจังหวัด
การส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมเครือข่ายจังหวัดทุกเดือน จะช่วยให้เกิดความรู้ หรือได้รับทราบแนวทางการพัฒนาใหม่ๆ สามารถนำไปกระตุ้นกลุ่มตนเองได้
            จากแนวทางที่วางไว้จะทำไม่สำเร็จเลย หากกรรมการเหล่านั้น ไม่ปรับตัว กระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเองโดยใช้ปัญหาเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเอง ไม่จมเก็บตัวกับปัญหา และหวังว่า กลุ่มอื่นๆ จะได้ใช้เป็นบทเรียนว่าจะพัฒนากลุ่มตนเองให้ดีขึ้น ไม่ตกอยู่ในโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการโกงขึ้นมาได้ และหากจะยิ่งดี คือ ทำให้เกิดผลตามเจตนารมณ์ของกลุ่มสัจจะฯ คือ เป็นกลุ่มที่มุ่งพัฒนาคน ทำให้คนอยู่อย่างพอดี มีความสุข นั่นเอง
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 28075เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2006 18:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เป็นบันทึกที่มีคุณค่าครับ.. ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านนี้  น่าจะมีโอกาสได้อ่านกัน นะครับ..
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท