"หนังสือประวัติครู"เป็นหนังสือที่มีคุณค่าที่คนเรียนครูและคนเป็นครูทุกคนควรอ่าน


          ในฐานะที่ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งในการเขียนหนังสือประวัติครู ของคุรุสภา ตั้งแต่ พ.ศ.2539 ซึ่งมีท่านอาจารย์จรูญ มิลินทร์ เป็นประธานจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง เพราะหนังสือนี้ถือเป็นหนังสือที่มีคุณค่า เป็นแบบอย่างทางจริยธรรมของบุคคลที่เป็นครู ซึ่งคนเรียนครูและคนเป็นครูทุกคนควรอ่านอย่างยิ่ง แต่ละปีผมได้รับมอบหมายให้เขียนประวัติครูประมาณ 3- 4 คน จนถึงปัจจุบันได้เขียนมาหลายคนแล้ว

         เพื่อให้ทราบถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลมาเขียนประวัติครูแต่ละปีซึ่งมีไม่ถึง 30 คนจึงขอบอกรายละเอียดไว้ดังนี้

          การจัดทำหนังสือประวัติครูได้บันทึกประวัติของครูผู้สอน ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดรัฐบาลและเอกชน ซึ่งทำคุณประโยชน์ต่อการศึกษาทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศนับแต่เริ่มดำเนินการในพ.ศ. 2500 จนถึงปัจจุบันเป็นเล่มที่ 49 ได้บันทึกประวัติแล้วจำนวนทั้งสิ้น 748 คน ซึ่งคณะทำงานได้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกและแนวทางการเรียบเรียงประวัติดังนี้

         หลักเกณฑ์การคัดเลือกประวัติครู

       1. เป็นครูที่ถึงแก่กรรมและประกอบพิธีปลงศพตามลัทธิศาสนาแล้ว หรือได้อุทิศร่างให้แก่โรงพยาบาลเพื่อการศึกษาทางการแพทย์ หรือเป็นครูที่ถึงแก่กรรมที่มีข้อมูลประวัติและผลงานมาก หรือสมบูรณ์พอที่จะเรียบเรียงได้โดยมิต้องรอให้ประกอบพิธีปลงศพตามลัทธิศาสนา(ที่เขียนประว้ติคนที่เสียชีวิตแล้วมีเหตุผลว่า ได้ตรวจสอบประวัติตลอดชีวิตแล้วว่าดีจริง เพราะถ้ายังมีชีวิตอยู่หากเขียนไปแล้วอาจมีเวลาทำความไม่ดีได้อีก)

       2. เคยเป็นสมาชิกคุรุสภา หรือครูซึ่งเป็นภิกษุ หรือนักบวชในลัทธิศาสนาต่าง ๆ หรือเป็นครูที่สาธารณชนยกย่องอย่างสูง

      3. เป็นครูที่ไม่มีประวัติด่างพร้อยทั้งทางราชการ ส่วนตัว และสังคม โดยพิจารณาตัดสินจากคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้ว หรือความรู้สึกของสังคม

      4. เป็นครูที่มีจรรยามรรยาทดีและมีวิญญาณแห่งความเป็นครู เมื่อเกษียณอายุแล้วก็ได้อุทิศตนทำคุณประโยชน์แก่การศึกษาในท้องถิ่นหรือประเทศชาติ

      5. เป็นครูที่ได้ประกอบคุณงามความดี ได้รับการยกย่องสรรเสริญทั้งในระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศ เช่น สอนดี หรือบริหารดี มีคุณธรรมและความรู้เป็นที่เคารพศรัทธานับถือของศิษย์ผู้ปกครอง สังคม และหน่วยงานทั่วไป

        ขอบข่ายการเรียบเรียงประวัติ ประกอบด้วย

      1.ประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา และประวัติการทำงาน

      2.การดำเนินงานและผลงาน่าง ๆ ที่มีคุณค่าต่อการศึกษา เน้นความเพียรพยายาม ความคิด ริเริ่มสร้างสรรค์ ความเสียสละ ความสามารถในการปฎิบัติหน้าที่ ความเป็นแม่แบบหรือผู้บุกเบิกด้านการศึกษาและเกร็ดประวัติชีวิต ซึ่งแสดงให้เห็นภูมิปัญญาความสามารถของครู

      3.เกียรติคุณที่ได้รับ การสมรสและบุตร การดำรงตนภายหลังเกษียณอายุ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและสังคม

         จำนวนประวัติครูทึ่คัดเลือกและจัดพิมพ์ในแต่ละปีในระยะหลังเฉลี่ยประมาณ 23 – 29 ท่าน หนังสือประวัติครู 16 มกราคม 2549 ได้จัดทำชนิด ปกแข็งหุ้มผ้าไหมสีเหลืองจำนวน 10 เล่ม เพื่อทูลเกล้าฯ ในโอกาสนำครูอาวุโสเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเข็มเชิดชูเกียรติจำนวน 5 เล่มและทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 5 เล่ม นอกนั้นจัดพิมพ์เป็นชนิดปกแข็งและปกอ่อนพิมพ์สี่สี ซึ่งได้มอบให้แก่ผู้มีเกียรติ ผู้ร่วมงานในวันครู และเผยแพร่ห้องสมุดประชาชนประจำจังหวัด/อำเภอ ห้องสมุดสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา หอสมุดแห่งชาติสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ทายาทเจ้าของประวัติ ผู้เสนอข้อมูลเพิ่มเติมและผู้สนใจทั่วไป(ซึ่งทำเช่นนี้ทุกปี)

         หากใครมีญาติหรือผู้ที่เคารพนับถือมีคุณสมบัติตามเกณฑ์นี้ก็สามารถส่งประวัติตามตัวอย่างในหนังสือประวัติครู และหนังสือพระราชทานเพลิงศพ ส่งให้กรรมการพิจารณา อาจส่งผ่านมาที่ผมก็ได้จะได้เสนอพิจารณาแต่ละปีไป

หมายเลขบันทึก: 28071เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2006 18:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 19:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท