ชีวิตที่พอเพียง : 19. ปรับตัว


• ผมชอบสอนตัวเองให้ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้    หากไม่สามารถเปลี่ยนสภาพแวดล้อมได้    ถือเป็นการเรียนรู้ หรือแบบฝึกหัดในการดำรงชีวิต    คือเมื่อเปลี่ยนคนอื่น สิ่งอื่นไม่ได้ หรือได้ยาก    ก็หาทางเปลี่ยนที่ตัวเราเอง     ที่จริงเรื่องฝึกสมาธิที่เล่าไปแล้ว ก็เป็นการปรับตัวอย่างหนึ่ง
• สมัยมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพสามสี่ปีแรกผมมาอาศัยอยู่ที่คลินิกของอาที่เจริญผล    ลักษณะของคลินิกเป็นห้องแถวสองชั้นหนึ่งคูหา   ชั้นบนเป็นไม้    เสียงวิทยุของห้องข้างๆ จึงดังเข้ามาในห้องที่พวกเรานั่งอ่านหนังสืออยู่
• สภาพการนั่งอ่านหนังสือก็คือเด็กหนุ่ม ๔ คน นั่งล้อมโต๊ะ ๒ ตัวที่ตั้งชิดกัน    มีไฟฟ้าห้อยจากเพดานหนึ่งดวง     ทุกคนนั่งอ่านหนังสือหรือทำการบ้านอย่างเงียบๆ     ผมเป็นเด็กที่สุด อายุ ๑๕ ปี เรียนอยู่ชั้น ม. ๖ (เทียบเท่ากับ ม. ๔ สมัยนี้)     เรานั่งอ่านหนังสือกันเงียบๆ เป็นเวลา ๒ – ๓ ชั่วโมงตอนหัวค่ำ     คนไหนง่วงก็นอนก่อน    ที่พื้นห้องข้างๆ นั่นเอง    คือห้องที่เราอยู่กัน ๕ คน เป็นทั้งห้องนอนและห้องอ่านหนังสือไปในตัว     ที่จริงเป็นห้องอเนกประสงค์ เรารีดผ้า รับแขก (เพื่อน) คุยโม้กัน ฯลฯ ก็ที่ห้องนี้แหละ เพราะชั้นบนของคลินิกมีอยู่ห้องเดียวโล่งๆ 
• อยู่ไประยะหนึ่ง ผมรู้สึกเหลือทนกับห้องข้างๆ ซึ่งเป็นร้านตัดเสื้อกางเกง     ที่เปิดวิทยุเสียงดัง และมีอยู่รายการหนึ่งส่งเสียงกวนประสาทมาก    เข้าใจว่าเป็นเรื่องขำขันโดยหลวงเมือง    รายการมีลักษณะเล่าเรื่องตลกสั้นๆ ตามด้วยดนตรีทำเสียงเลียนเสียงหัวเราะ (ฮ้า ฮ่ะ ฮ่ะ ฮ่ะ    ฮ้า ฮ่ะ ฮ่ะ ฮ่ะ ซ้ำ ๕ – ๖ ครั้ง)    ถ้าเป็นตอนนี้ผมคงจะนิยมรายการนั้นมาก    แต่ตอนนั้นผมต้องการความสงบเพื่อดูหนังสือ    เสียงดนตรีดังกล่าวจึงก่อกวนสมาธิผมมากจนต้องหาทางแก้
• รุ่นพี่ที่อยู่ด้วยกันเคยใช้วิธีทุบฝาผนังห้อง เพื่อบอกให้เขาลดเสียงลงหน่อย    ก็ได้ผลเฉพาะคืนนั้น    วันรุ่งขึ้นก็ดังอย่างเดิม    ผมมาคิดตอนนี้ว่าทำไม่เราไม่ไปกราบขอร้องเขาในตอนกลางวันตอนเขาอารมณ์ดีๆ ว่าเราขอให้เบาเสียงลงไปหน่อย เพราะเราเป็นเด็กนักเรียน ต้องการความสงบเพื่อดูหนังสือ    แต่ตอนนั้นเราคิดแบบนี้ไม่เป็น
• ผมหาทางแก้ปัญหาโดยการนอนครับ    พอกินข้าวเย็นเสร็จเวลาประมาณหนึ่งทุ่ม ผมเข้านอนเลย     และตั้งนาฬิกาปลุกให้ปลุกตอนตี ๑    ลุกขึ้นมาอ่านหนังสือ   โอ้โฮ เงียบสงบดีจริงๆ    อ่านไปจนตีสี่ตีห้าก็นอนต่ออีก ๑ – ๒ ชม. หรือบางทีก็ไม่นอนอีกเลย    ผมทำอย่างนี้อยู่นาน ๒ – ๓ ปี    เป็นการปรับตัวที่ได้ผลมากครับ    แต่ก็เป็นวิธีที่คนอื่นดูว่าจะเพี้ยนๆ อยู่สักหน่อย     ตอนนั้นลูกอาที่เป็นรุ่นพี่ชื่อวิชา พยัคฆพันธุ์  เรียนอยู่ที่คณะวิศว จุฬา    วันหนึ่งมีเพื่อนมาเยี่ยม    ขณะนั่งคุยกันกับพี่วิชาเขาหยิบนาฬิกาปลุกขึ้นดูและร้องว่า “ใครตั้งนาฬิกาปลุกตีหนึ่งวะ   มึงหรือ ไอ้ชา”   
• การที่เด็กวัยรุ่นกำลังนอนสบายแล้วจะให้ตื่นโดยนาฬิกาปลุกตอนตีหนึ่งนั้นไม่ง่ายนะครับ    ผมไม่ตื่นอยู่หลายคืน ทั้งๆ ที่นาฬิกาปลุกจนหมดลาน (นาฬิกาปลุกสมัยก่อนเป็นนาฬิกาไขลาน  มีทั้งลานนาฬิกา และลานปลุก)     จึงต้องมีวิธีบังคับให้ตื่นจนได้   โดยผมเรียนวิธีนี้มาจากพี่วิรัช น้องของพี่วิชา    พี่วิรัชตอนนั้นเรียนอยู่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่นก่อนผม ๑ ปี    เป็นคนมีหัวด้านเครื่องยนต์กลไก    ได้ประดิษฐ์นาฬิกาปลุกที่ไม่ปลุกด้วยเสียง แต่ปลุกด้วยแสง    เอาหลอดไฟมาแขวนไว้หัวนอนให้ส่องตรงกับหน้าเราพอดี    พอถึงตี ๑ นาฬิกาปลุกจะเปิดไฟส่องหน้า ไม่มีทางไม่ตื่นครับ เพราะมันจ้าจนเราต้องตื่น    กลไกที่ใช้เปิดสวิตช์ไฟคือปรอท    เราเอาปรอทใส่หลอดแก้วเล็กๆ     ที่จุกยางของหลอดแก้วเอาสายไฟ ๒ สายใส่ไว้     เอาหลอดแก้วผูกติดกับแผ่นโลหะที่ใช้ไขลานปลุก     ตอนนาฬิกายังไม่ปลุกหลอดแก้วจะหันขึ้น ปรอท อยู่ที่ก้นหลอด สายไฟทั้งสองเส้นไม่ต่อกัน ไฟไม่ครบวงจร    พอนาฬิกาปลุก หลอดแก้วจะหมุนตามแผ่นโลหะไขลาน ทำให้หลอดแก้วคว่ำ ปรอทไหลไปเชื่อมวงจรไฟฟ้า ทำให้เหมือนเปิดสวิตช์ไฟ  
• โชคดี ที่ผมสอนตัวเองให้รู้จักปรับตัวตั้งแต่เด็ก   เป้าหมายตอนนั้นคือเรียนหนังสือให้ได้ดี    เพื่อให้สอบเข้าจุฬา ให้ได้ และเข้าเรียนหมอให้ได้    รางวัลในชีวิตที่ได้จากการปรับตัวนี้คือ พอเทอมที่ ๒ ผมก็สอบได้ที่ ๑ ของชั้น ม. ๖ ข. (มี ๓ ห้อง ก  ข  ค) และสอบได้ที่ ๑ ทุกครั้งในการสอบครั้งต่อๆ มา     จนเมื่อเรียนจบ ม. ๖ ทางโรงเรียนบอกว่าถ้าเรียน ม. ๗ – ๘ ที่ รร. ปานะพันธุ์วิทยา ต่อ (เขาเปิดเป็นรุ่นแรก) จะให้เรียนฟรี    แต่ผมตัดสินใจมาสอบเข้า รร. เตรียมอุดมศึกษา และโชคดี ได้อยู่ห้องคิง    เพื่อนนักเรียนร่วมห้องสมัยนั้นที่มีชื่อเสียงเช่น คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม    ดร. โชคชัย อักษรนันท์ (อดีตประธานสภาอุตสาหกรรม)    ศ. นพ. สิน อนุราษฎร์ (ผอ. รพ. บำรุงราษฎร์)    ศ. ดร. อารันต์ พัฒโนทัย (ม. ขอนแก่น)    รศ. นพ. วีรวิทย์ บุญญพิสิฏฏ์ (ศิริราช) เป็นต้น

วิจารณ์ พานิช
๗ พค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 28000เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2006 08:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
จักรีสิทธิ์ จินดาวงศ์

ได้อ่านแล้วเป็นประโยชน์มากเลยครับอาจารย์ จะได้เอาไปเป็นแนวทางในการปรับตัว เพื่อเป้าหมายในการเรียนหนังสือให้ได้ดีและทำหน้าที่ให้ได้ดีด้วยครับ

ขอบคุณครับ

อ่านแล้วชอบมากเลยค่ะมีประโยชน์ จะทำไปใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อปรับตัวได้อย่างอาจารย์บ้างค่ะ จะติดตามอ่านต่อไปเป็นประจำค่ะ

ขอบคุณคะ สำหรับข้อคิด ดีดี ที่นำเสนอ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท