ความสามารถในการทำนิติกรรม


มาตรา 153 บัญญัติว่า การใดมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคล การนั้นเป็นโมฆียะ

            โดยหลักทั่วไป บุคคลย่อมมีความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญาได้แต่มีข้อยกเว้น  คือ บุคคลบางประเภทกฎหมายถือว่าหย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา เช่น ผู้เยาว์  คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ  และบุคคลล้มละลาย  สำหรับผู้เยาว์จะทำนิติกรรมได้ต้องรับความยินยอมจาก  ผู้แทนโดยชอบธรรม (มาตรา 21) เว้นแต่นิติกรรมที่ได้มาซึ่งสิทธิโดยสิ้นเชิงหรือเพื่อให้หลุดพ้นหน้าที่  หรือการที่ต้องทำเองเฉพาะตัวหรือกิจกรรมที่เหมาะสมแก่ฐานานุรูป  และจำเป็นในการเลี้ยงชีพเหล่านี้ผู้เยาว์ทำด้วยตนเองได้ (มาตรา 22,23,24)  ส่วนคนไร้ความสามารถต้องอยู่ในความอนุบาลของผู้อนุบาลซึ่งแต่งตั้งโดยศาล  สำหรับคนเสมือนไร้ความสามารถทำกิจการเองได้ทุกอย่างเว้นแต่กิจกรรมบางอย่างตาม มาตรา 34  จะทำได้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์  เช่น  สัญญา  ซื้อขายที่ดิน  เป็นต้น  ขณะที่บุคคลล้มละลายจะทำนิติกรรมใดไม่ได้  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามคำสั่งศาลเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทน

            ผู้มีสิทธิในการทำนิติกรรมสัญญา  ปกติแล้วบุคคลทุกคนต่างมีสิทธิในการนิติกรรมสัญญาแต่ยังมีบุคคลบางประเภทที่เป็นผู้หย่อนความสามารถ  กฎหมายจึงต้องเข้าดูแลคุ้มครองบุคคลเหล่านี้  ไม่ให้ได้รับความเสียหายในการกำหนดเงื่อนไขในการเข้าทำนิติกรรมของผู้นั้น               

            ผู้หย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญาแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

            (1)  ผู้เยาว์  คือ  บุคคลที่ยังมีอายุไม่ครบ  20  ปีบริบูรณ์  การทำนิติกรรมสัญญาใด ๆ ของผู้เยาว์  กฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม  คือ บิดามารดาหรือผู้ปกครองแล้วแต่กรณีเสียก่อนการทำนิติกรรมสัญญาใดที่ปราศจากความยินยอมกฎหมายเรียกว่าเป็นโมฆียะ ซึ่งอาจถูกบอกล้างภายหลังได้ต่อเมื่ออายุ  20  ปีบริบูรณ์  หรือได้สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงพ้นจากภาวะเป็นผู้เยาว์และเป็นผู้บรรลุนิติภาวะจึงมีความสามารถใช้สิทธิในการทำนิติกรรมสัญญาเองได้

            มาตรา 21 บัญญัติว่า ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

            มาตรา 22 บัญญัติว่า ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง

            มาตรา 23 บัญญัติว่า ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว

            มาตรา 24 บัญญัติว่า ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตนและเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร

มาตรา 26 บัญญัติว่า ถ้าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ผู้เยาว์จำหน่ายทรัพย์สินเพื่อการอันใดอันหนึ่งอันได้ระบุไว้ ผู้เยาว์จะจำหน่ายทรัพย์สินนั้นเป็นประการใดภายในขอบของการที่ระบุไว้นั้นก็ทำได้ตามใจสมัคร อนึ่ง ถ้าได้รับอนุญาตให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยมิได้ระบุว่าเพื่อการอันใดผู้เยาว์ก็จำหน่ายได้ตามใจสมัคร

            มาตรา 27 บัญญัติว่า ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการประกอบธุรกิจทางการค้าหรือธุรกิจอื่น หรือในการทำสัญญาเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงานได้ ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้เยาว์อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตได้

            ในความเกี่ยวพันกับการประกอบธุรกิจหรือการจ้างแรงงานตามวรรคหนึ่งให้ผู้เยาว์มีฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว

            ถ้าการประกอบธุรกิจหรือการทำงานที่ได้รับความยินยอมหรือที่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ก่อให้เกิดความเสียหายถึงขนาดหรือเสื่อมเสียแก่ผู้เยาว์ ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจบอกเลิกความยินยอมที่ได้ให้แก่ผู้เยาว์เสียได้หรือในกรณีที่ศาลอนุญาต ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจร้องขอต่อศาลให้ เพิกถอนการอนุญาตที่ได้ให้แก่ผู้เยาว์นั้นเสียได้

            ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรมบอกเลิกความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควรผู้เยาว์อาจร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการบอกเลิกความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมได้

            การบอกเลิกความยินยอมโดยผู้แทนโดยชอบธรรมหรือการเพิกถอนการอนุญาตโดยศาล ย่อมทำให้ฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วของผู้เยาว์สิ้นสุดลง แต่ไม่กระทบกระเทือนการใดๆ ที่ผู้เยาว์ได้กระทำไปแล้วก่อนมีการบอกเลิกความยินยอมหรือเพิกถอนการอนุญาต

คำพิพากษาฎีกาตัวอย่าง

คำพิพากษาฎีกาที่ 3169/2524 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรายพิพาทของจำเลยซึ่งเป็นผู้เยาว์ ที่มารดาทำกับโจทก์ ไม่มีเงื่อนไขว่าจะไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินนั้นต่อเมื่อศาลอนุญาตแล้ว เห็นได้ว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนาที่จะขออนุญาตต่อศาล จึงไม่สมบูรณ์ผูกพันจำเลย แม้ต่อมามารดาจะยื่นคำร้องต่อศาลขออนุญาตทำนิติกรรมขายที่ดินรายพิพาทแทนจำเลย และศาลมีคำสั่งอนุญาตก็หาทำให้นิติกรรมซึ่งไม่สมบูรณ์อยู่ก่อนแล้วกลับสมบูรณ์ขึ้นได้ไม่

            คำพิพากษาฎีกาที่ 560/2510โจทก์จำเลยทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายต่อกันโดยระบุว่าจำเลย ซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมขายแทน ส.  ผู้เยาว์ได้กำหนดไว้ว่า ผู้ขายจะดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอขายความหมายของสัญญาจะขายที่ดินรายนี้ของเด็กก็ต่อเมื่อศาลอนุญาตให้ขาย เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอขายที่ดินของเด็กแล้ว ศาลสั่งไม่อนุญาต ก็ย่อมเป็นอันไม่ซื้อขายกันตามข้อสัญญา การที่ศาลไม่อนุญาตให้ขาย มิใช่เป็นการที่จำเลยขัดขวางมิให้เงื่อนไขสำเร็จแต่อย่างไร

คำพิพากษาฎีกาที่ 291/2491บิดามารดาซึ่งเป็นผู้ปกครองเด็กทำหนังสือสัญญาให้ผู้อื่นเช่านาของเด็กมีกำหนดเวลากว่า 3 ปี การเช่านั้นย่อมสมบูรณ์ที่จะฟ้องร้องบังคับกันได้เพียง 3 ปี แม้การทำสัญญานั้นไม่ได้รับอนุญาตจากศาลสัญญานั้นก็ย่อมผูกพันเด็ก

คำพิพากษาฎีกาที่ 2170/2516 บิดาทำสัญญาต่างตอบแทนให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ของบุตรผู้เยาว์ตลอดชีวิตผู้เช่า โดยมิได้รับอนุญาตจากศาล เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546   การให้เช่ามีผลผูกพันบุตรผู้เยาว์เพียง  3 ปี

มาตรา 1575 บัญญัติว่า ถ้าในกิจการใด ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองหรือประโยชน์ของคู่สมรส หรือบุตรของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องได้รับอนุญาต จากศาลก่อนจึงทำกิจการนั้นได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ 

คำพิพากษาฎีกาตัวอย่าง

คำพิพากษาฎีกาที่ 1686/2506 การที่บุตรผู้เยาว์เข้าทำสัญญาเป็นลูกหนี้แทนบิดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลนั้นย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์อย่างชัดแจ้งสัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ จะบังคับเอาแก่ผู้เยาว์นั้นไม่ได้

            คำพิพากษาฎีกาที่ 2081-2087/2514บิดาผู้ใช้อำนาจปกครองมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินอันเป็นสังหาริมทรัพย์ของบุตรผู้เยาว์ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของบุตร  เว้นแต่ใน กิจการใดประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์ จะต้องได้รับอนุญาตของ ศาลก่อน มิฉะนั้นเป็นโมฆะ

            บิดานำหุ้นของบุตรผู้เยาว์ไปโอนตีใช้หนี้ส่วนตัวของบิดาประโยชน์ของบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมขัดกับประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์หากทำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล  แม้บุตรผู้เยาว์จะทำหนังสือให้ความยินยอมด้วย ก็เป็นโมฆะ

คำพิพากษาฎีกาที่ 3094/2528 . เป็นบิดาและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลย ธ.ซื้อที่ดินพิพาทมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง แต่ใส่ชื่อจำเลยผู้เยาว์ไว้ในโฉนดแทนแล้วได้ขายที่ดินและตึกพิพาทให้โจทก์ แม้ ธ.จะขายให้โจทก์โดยมิได้รับอนุญาตจากศาล ก็ไม่ทำให้สิทธิการได้มาของโจทก์เสียไป เพราะจำเลยเพียงแต่มีชื่อในโฉนดเป็นการถือกรรมสิทธิ์แทน ธ.เท่านั้นหาใช่ทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยผู้เยาว์ไม่

            (2)  บุคคลวิกลจริต

บุคคลวิกลจริตแยกออกได้ เป็น 2 ประเภทคือ บุคคลวิกลจริตซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ และบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังไม่สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

ก. บุคคลวิกลจริตซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

มาตรา 28 บัญญัติว่า บุคคลวิกลจริตผู้ใด ถ้าคู่สมรสก็ดี ผู้บุพการีกล่าวคือ บิดา มารดา ปู่ย่าตายาย ทวดก็ดี ผู้สืบสันดานกล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อก็ดี ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ก็ดี ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้ 

คำพิพากษาฎีกาตัวอย่าง

คำพิพากษาฎีกาที่ 490/2509 (ประชุมใหญ่) คำว่า บุคคลวิกลจริต ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 นั้น มิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติหรือตามที่เข้าใจกันทั่วๆ ไปว่าเป็นบ้าเท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลที่มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรู้สึกผิดชอบด้วยเพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการงาน ของตน หรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ทีเดียว

           ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเนื้องอกในสมอง ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา มีอาการพูดไม่ได้ หูไม่ได้ยินตาทั้งสองข้างมองไม่เห็น มีอาการอย่างคนไม่มีสติสัมปชัญญะใดๆ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินกิจการทุกสิ่งทุกอย่าง ถือว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 แล้ว (ปัจจุบัน มาตรา ๒๘)

คำพิพากษาฎีกาที่ 74/2527 มารดาผู้ร้องและผู้คัดค้านมีอาการไม่รู้สึกตัวเอง ไม่รู้จักสถานที่ และเวลาพูดจารู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้างซึ่งนายแพทย์เรียกอาการเช่นนี้ว่า สมองเสื่อมหรือวิกลจริตและไม่มีโอกาสที่จะรักษาให้หายได้ทั้งเดินทางไปไหนไม่ได้อีกด้วย แสดงให้เห็นว่ามารดาผู้ร้องเป็นคนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินการทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเองได้ พอถือได้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 29 แล้ว

คำพิพากษาฎีกาที่ 5466/2537  คำ ว่าบุคคลวิกลจริตตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 เดิม (มาตรา 28 ใหม่) นั้นมิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติ หรือตามที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไปว่าเป็นบ้าเท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลผู้มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรับผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการของตนหรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จ. ซึ่งผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถนั้นไม่รู้สึกตัวเอง และพูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ซึ่งแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองฝ่อหรือสมองเสื่อมขั้นรุนแรงไม่สามารถรักษาให้หายได้ตลอดจนไม่อาจปฏิบัติภารกิจส่วนตัวได้ แสดงให้เห็นว่า จ. เป็นคนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินกิจการทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเองได้ พอถือได้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตาม บทบัญญัติดังกล่าวแล้ว และผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของ จ. ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน ย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิรับมรดกของ จ. ผู้ร้องจึงสมควรเป็นผู้อนุบาล จ.

มาตรา 28 วรรคสอง บัญญัติว่า บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล การแต่งตั้งผู้อนุบาล อำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาลและการสิ้นสุดของความเป็นผู้อนุบาล ให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 29 บัญญัติว่า การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลงการนั้นเป็นโมฆียะ

ข. บุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังไม่สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

มาตรา 30 บัญญัติว่า การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต

(3)  คนเสมือนไร้ความสามารถ  คือ  บุคคลผู้ใดไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้  หรือ  จัดการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว  เพราะการพิการหรือ จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ  ติดสุรายาเมา  มีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น

มาตรา 32 บัญญัติว่า บุคคลใดมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว เมื่อบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 28 ร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้

บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้อยู่ในความพิทักษ์ การแต่งตั้งผู้พิทักษ์ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 34 บัญญัติว่า คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(1) นำทรัพย์สินไปลงทุน

(2) รับคืนทรัพย์สินที่ไปลงทุน ต้นเงินหรือทุนอย่างอื่น

(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

(4) รับประกันโดยประการใด ๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้

(5) เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าหกเดือนหรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าสามปี

(6) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป เพื่อการกุศล การสังคมหรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

(7) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา

(8) ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะได้มาหรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือในสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

(9) ก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือซ่อมแซมอย่างใหญ่

(10) เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ เว้นแต่การร้องขอตามมาตรา 35 หรือการร้องขอถอนผู้พิทักษ์

(11) ประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

            ถ้ามีกรณีอื่นใดนอกจากที่กล่าวในวรรคหนึ่ง ซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถอาจจัดการไปในทางเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว ในการสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเมื่อผู้พิทักษ์ร้องขอในภายหลังศาลมีอำนาจสั่งให้คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะทำการนั้นได้

            ในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวมาในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม

 

 

หมายเลขบันทึก: 278828เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2009 18:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

มีเรื่องอยากจะถามค่ะ

คือว่า ยายได้ทำพินัยกรรมมอบที่ดินหนึ่งแปลงให้กับหลานอายุ 17 และให้แม่หนึ่งแปลง วันหนึ่งแม่บอกขายที่ดินทั้งสองแปลง

ให้แก่บุคคลภายนอก อยากจะถามว่าส่วนของผู้เยาว์ไม่มีผลผูกพันธ์ใช่ไหมคะ แล้วส่วนของแม่จะสมบูรณ์ไหม

ช่วยตอบทีนะคะอยากทราบมากๆ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์ดร.

มาเรียนความรู้ใหม่ค่ะ เริ่มทำนิติกรรมตั้งแต่อายุ ๒๒ ค่ะ แบบไม่ค่อยรู้เรื่องนะคะ

สงสัยข้อ ๖ ๕ การให้หรือการรับด้วยเสน่หา ถือเป็นนิติกรรมด้วยรึคะ

 

 

มาตรา 1574 นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนองหรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

(2) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

(3) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์

(4) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น

(5) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

(6) ก่อข้อผูกพันใดๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (1)(2)หรือ(3)

(7) ให้กู้ยืมเงิน

(8) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์

(9) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา

(10) ประกันโดยประการใดๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้ หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น

(11) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1598/4 (1)(2)หรือ(3)

(12) ประนีประนอมยอมความ

(13) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

จากมาตรา 1574 (4) ดังกล่างข้างต้นแม่ขายที่ดินของบุตรไม่ได้เว้นแต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์ ส่วนของแม่ที่ดินสามารถขายได้เพราะแม่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์แล้วจะขาย โอน หรือให้เช่าก็เป็นสิทธิของแม่

ส่วนผลหากแม่ขายที่ดินของบุตรโดยไม่ได้ขออนุญาตจากศาลผลเป็นโมฆะตามมาตรา 1575 ครับ

"มาตรา 1575 ถ้าในกิจการใด ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองหรือประโยชน์ของคู่สมรสหรือบุตรของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงทำกิจการนั้นได้มิฉะนั้นเป็นโมฆะ"

"มาตรา 149 นิติกรรม หมายความว่า การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ" ข้อ ๖ ๕ การให้หรือการรับด้วยเสน่หา ถือเป็นนิติกรรมด้วยรึคะ การให้หรือรับโดยเสน่หาเป็นนิติกรรมครับ เพราะเข้าองค์ประกอบตามมาตรา 149 ส่วนรายละเอียดดูได้ตามบทความเรื่องนิติกรรมครับ

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆค่ะ ที่ตอบให้

คือพอดีต้องวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ส่งอาจารย์ในวิชาหลักกฎหมายเอกชนว่าด้วยบุคคลค่ะ

แต่มาติดอยู่ตรงที่ผลของการทำสัญญาว่าของแม่จะเป็นผลสมบูรณ์หรือเปล่า

แต่พอมาอ่านแล้ว ก็เข้าใจแล้วค่ะ

ขอบคุณจริงๆค่ะ

ขอบคุณครับที่เข้ามาเรียนรู้และได้รับประโยชน์ ด้วยความยินดี

สวัสดี อาจารย์ ครับ

อยากทราว่าสังหาริมทรัพย์อันมีค่า ตามมาตรา34(3) หมายความว่าอย่างไร และมีอะไรบ้างครับ

รถยนต์ เครื่องบินเล็กเป็นสังหาฯอันมีค่าด้วยไหมครับ

ขอขอบคุณ อาจารย์ มากนะครับ

สวัสดีค่ะท่านอ.ดร. ทนายความ

สบายดีไหมคะ หายเงียบไปนานๆ มากๆ

มาทายทักวันพระ แบบสบายๆ มีความสุขนะคะ

สวัสดีครับ นักศึกษามือใหม่ [

สังหาริมทรัพย์อันมีค่า ได้มีนักกฎหมายให้ความเห็นไว้เป็น 2 ฝ่าย คือ

ฝ่ายแรกอธิบายว่า สังหาริมทรัพย์อันมีค่า คือ สังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการปฏิบัติเสมือนหนึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น เรื่องกำปั่นหรือเรื่อมีระวางตั้งแต่ 6 ตันขึ้นไป เรื่อกลไฟหรือเรือยนต์มีระวางตั้ง 5 ตันขึ้นไป แพ สัตว์พาหนะ ซึ่งการซื้อขายจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนเช่นเดียวกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งไม่ได้ถือตามราคาเงินเป็นสำคัญ

ฝ่ายที่สอง อธิบายว่า นาจะหมายรวมถึงสังหาริมทรัพย์อันมีค่าหรือราคาสูงด้วย เช่นเพชรพลอย เครื่องลายคราม เป็นต้น ถ้ากฎหมายต้องการเฉพาะสังหาริมทรัพย์ที่มีทะเบียนแล้ว ก็คงบัญญัติชัดแจ้งเช่นนั้นแล้ว

คำว่าสังหาริมทรัพย์อันมีค่า ตัวบทภาษาอังกฤษใช้คำว่า value movable ซึ่งใช้คำดังกล่าวเป็นคำที่สอดคล้องฝ่ายแรกกับหลักกฎหมายในเรื่องคนเสมือนไร้ความสามารถ ซึ่งมีความสามรถในการทำนิติกรรมเป็นหลัก ความไม่สามารถตามมาตรา 34 เป็นข้อยกเว้น การตีความข้อยกเว้นต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้าตีความขยายความจะกลายเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถไม่มีความสามารถเลย

ขอบคุณครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ครับ

สวัสดีครับ poo

สบายดี ขอบคุณมากครับ

ขอขอบพระคุณอาจารย์มากๆ ครับ

แล้วจะแวะมาบ่อยๆครับ

ขอบคุณครับที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมครับนักศึกษามือใหม่

สวัสดีค่ะ อาจารย์

ที่บ้านมีผู้พิการทางสมอง ปัจจุบัน อายุ ประมาณ 40 ปี แพทย์ ระบุว่า มีความพิการทางสมอง คือสมอง เท่ากับเด็ก อายุ 3 ขวบ

8 เดือน ค่ะ ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ควรทำอย่างไรบ้างค่ะ

ขอขอบคุณ อาจารย์ มากนะค่ะ

"ที่บ้านมีผู้พิการทางสมอง ปัจจุบัน อายุ ประมาณ 40 ปี แพทย์ ระบุว่า มีความพิการทางสมอง คือสมอง เท่ากับเด็ก อายุ 3 ขวบ

8 เดือน ค่ะ ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ควรทำอย่างไรบ้างค่ะ /คู่สมรสก็ดี ผู้บุพการีกล่าวคือบิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย ทวดก็ดี ผู้สืบสันดานกล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อก็ดี ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ก็ดี ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี สามารถร้องขอต่อศาลให้เป็นบุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว ต้องจัดให้อยู่ในความพิทักษ์ "ผู้พิทักษ์"

สวัสดีค่ะอาจารย์

มีข้อสงสัยอยากถามค่ะ คือที่บ้านมีผู้พิการทางกายค่ะ คือร่างกายผิดรูป แต่ก็ยังสามารถทำงานได้เหมือนคนปกติทั่วไป

แต่ก็มีความสามารถหาเลี้ยงชีพ และทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนคนปกติทั่วไป แล้วมีความประสงค์จะขอกู้เงินมาลงทุนค่ะ

ไม่ทราบว่าจะสามารถเป็นผู้มีสิทธิทำนิติกรรมเองได้หรือเปล่าคะอาจารย์

ขอบคุณล่วงหน้านะคะอาจารย์

ไอศูรย์ ตัณฑวิรุฬห์

เรียน อ.เมธา

กรณีการโอนที่ดินของผู้ไร้ความสามารถ(บิดา) ผู้อนุบาล( 3 คนพี่น้อง ในจำนวน 7 คน)

สามารถกระทำการโอนได้ทันทีโดยไม่ต้องร้องต่อศาลหรือไม่ครับ

กรณีนี้พี่น้อง หนึ่งในเจ็ดคนนี้ (ซึ่งไม่ใข่ผู้อนุบาล) เป็นผู้รับโอนครับ.

ไอศูรย์ ตัณฑวิรุฬห์

เรียน อ.เมธา

กรณีการโอนที่ดินของผู้ไร้ความสามารถ(บิดา) ผู้อนุบาล( 3 คนพี่น้อง ในจำนวน 7 คน)

สามารถกระทำการโอนได้ทันทีโดยไม่ต้องร้องต่อศาลหรือไม่ครับ

กรณีนี้พี่น้อง หนึ่งในเจ็ดคนนี้ (ซึ่งไม่ใข่ผู้อนุบาล) เป็นผู้รับโอนครับ.

พ่อนำโฉนดที่ดินลูกไปทำนิติกรรม แต่ลูกอายุไม่ครบ 20 ปี แต่ถ้าลูกอายุครบ 20 ปีแล้ว ลูกต้องการที่ดินคืน จากการทำนิติกรรมของพ่อได้ไหม


บุคคลใดไม่สามารถรับทรัพย์ ตามพินัยกรรมได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท