คลังสูบรัฐวิสาหกิจอุดถังแตก โกยปันผลปีละเฉียดแสนล.


คลังสูบรัฐวิสาหกิจอุดถังแตก โกยปันผลปีละเฉียดแสนล.
     รัฐถังแตก บี้รายได้รัฐวิสาหกิจ โกยเงินปันผลอุดเงินสดขาดมือ ปี"48 กวาดไปแล้ว กว่า 8 หมื่นล้านบาท ส่วนปี"49 ตัวเลขเบื้องต้นคาดว่ากว่า 60,000 ล้านบาท โดยมีรัฐวิสาหกิจดีเด่นที่โดนสูบเยอะสุดได้แก่ กฟผ.-  กองสลากฯ-ทีโอที-ปตท.-โรงงานยาสูบ-ออมสิน   ขณะที่ "วราเทพ" จี้ราชการเกลี่ยงบฯ ชดเชยน้ำมันแพง
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาล ตั้งแต่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่างออกมาให้ความมั่นใจต่อกรณีการจัดทำงบประมาณปี 2550 ที่อาจจะมีการล่าช้าออกไปว่า ไม่ต้องเป็นห่วงเพราะยังมีรายจ่ายประจำ และมีงบฯ ผูกพันอีกแสนกว่าล้านบาท ซึ่งจะไม่ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐเกิดการสะดุด ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ดำเนินการโครงการต่าง ๆ ที่มีความพร้อมได้เลย โดยนายทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทางกระทรวงการคลังจะผลักดันโครงการของส่วนราชการที่มีความพร้อมเข้าคณะรัฐมนตรีให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจเกิดการสะดุด โดยจะเร่งรัดให้มีการเบิกใช้งบฯ ผูกพันปี 2549 ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2550 ก่อน และย้ำว่าไม่ต้องห่วงเรื่องขาดดุลเงินสด เพราะว่าในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม จะมีเงินปันผลจากบริษัทต่าง ๆ ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ และภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณแสนล้านบาท เพราะฉะนั้นในช่วง มิ.ย. ถึง ก.ย. ไม่มีการขาดดุลเงินสดแน่นอน
ต่อประเด็นเรื่องเงินปันผลนั้น "ประชาชาติธุรกิจ" ได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา รัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ได้นำรายได้ส่งรัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งรายได้นำส่งรัฐนี้กว่า 70% เป็นรายได้ที่มาจากเงินปันผล      ที่น่าสังเกตในปี 2547 รัฐวิสาหกิจมีกำไรสุทธิรวม 167,466.95 ล้านบาท รายได้นำส่งรัฐ 91,295.20 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้มาจากเงินปันผล 57,516.76 ล้านบาท มาพอปี 2548 มีกำไรสุทธิ 135,729.27 ล้านบาท รายได้นำส่งรัฐ 116,364.43 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินปันผล 81,374.40 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าแม้กำไรสุทธิจะลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อนแต่เงินปันผลที่นำส่งรัฐมากขึ้นมาก
นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ในเดือนเมษายน 2549 กระทรวงการคลังได้รับเงินปันผลจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แล้วจำนวน 13,000 ล้านบาท หลังจากนี้จะมีเงินปันผลจากบริษัทต่าง ๆ ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่และเงินนำส่งจากรัฐวิสาหกิจทยอยส่งเข้ามารวมแล้วประมาณ 60,000 ล้านบาท   สำหรับรัฐวิสาหกิจที่นำรายได้ส่งรัฐสูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2548 ได้แก่ 1.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 16,931.35 ล้านบาท    2.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 10,358.49 ล้านบาท 3.บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 10,116 ล้านบาท    4.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 9,907.32 ล้านบาท         5.โรงงานยาสูบ 5,985.50 ล้านบาท   6.ธนาคารออมสิน 5,334 ล้านบาท   7.บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 4,583 ล้านบาท   8.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 2,800.78 ล้านบาท   9.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม 2,705 ล้านบาท   10.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 2,002 ล้านบาท
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบกับส่วนราชการหลายแห่งจนกลายเป็นปัญหางบประมาณที่ตั้งไว้มีไม่เพียงพอ ขณะนี้ตนได้สั่งการให้ทางสำนักงบประมาณไปผ่อนคลายระเบียบการใช้จ่าย โดยให้ส่วนราชการที่มีปัญหานำงบประมาณในหมวดใช้สอยอื่น ๆ มาเกลี่ยใช้ได้    ส่วนกรณีที่มีลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการบางแห่งเงินเดือนไม่ออกนั้น ตนได้รับรายงานจากกรมบัญชีกลาง ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (GFMIS)  ที่จะมีการบันทึกข้อมูลการเบิกจ่ายเงินโดยใช้รหัส หากเป็นการเบิกจ่ายเงินในหมวดของโครงการรหัสหนึ่ง แต่ถ้าเป็นการเบิกจ่ายในหมวดของเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างจะใช้อีกรหัสหนึ่ง ซึ่งปกติการเบิกจ่ายเงินในหมวดของเงินเดือนจะไม่มีปัญหา   แต่ถ้าเป็นกรณีของการเบิกจ่ายเงินที่ใช้ในโครงการ ในช่วงนี้จะมีส่วนราชการวางฎีกาขอเบิกจ่ายเงินเข้ามาเป็นจำนวนมาก และมีบางโครงการยังไม่ได้เงิน จึงไม่มีเงินไปจ่ายให้กับลูกจ้างที่ใช้เงิน จากโครงการจ้าง อย่างเช่น โครงการจ้างคนถางถนนของกรมทางหลวง
นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ในสถานการณ์ราคาน้ำมันสูง ส่วนราชการต่าง ๆ ที่รับงบประมาณไปต้องบริหารค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เอง เพราะทุกหน่วยงานต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน หากหน่วยงานใดใช้งบประมาณหมดก่อนระยะเวลาที่กำหนดและมีความเดือดร้อน ให้ทำเรื่องส่งขึ้นมาตามต้นสังกัดเพื่อให้มีการนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหา     นอกจากนั้น นายบุญศักดิ์ยังยอมรับว่า ในเดือนเมษายนมีเงินเดือนลูกจ้างประจำในหน่วยงานราชการบางแห่งไม่ออกตามกำหนด เพราะรหัสที่ส่งมานั้นระบุว่าเป็นงบฯ ลงทุน ไม่ใช่งบฯ ประจำ ทำให้อนุมัติไม่ทัน แต่หลังจากนี้กรมบัญชีกลางได้กำหนดวิธีการเบิกจ่ายเงินเดือนลูกจ้างให้เป็นช่องทางพิเศษ ด้วยการจ่ายเงินเดือนลูกจ้างประจำเป็นเงินก้อนเดียวให้แก่แต่ละหน่วยงาน จากนั้นให้หน่วยงานจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้าง
อนึ่งก่อนหน้านี้นายวราเทพ รัตนากร รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวว่า หลังจาก ที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จะหารือกับคณะกรรมาธิการงบประมาณ เพื่อปรับรูปแบบการพิจารณาอนุมัติงบประมาณให้เร็วขึ้น จากเดิมใช้เวลาประมาณ 8-12 สัปดาห์ ให้เหลือเพียง 6-8 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการเบิกใช้งบประมาณ นอกจากนั้นยังช่วยให้การผ่านพระราชบัญญัติและกฎหมายต่าง ๆ เร็วขึ้น

ประชาชาติธุรกิจ  8  พ.ค.  49
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 27881เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2006 12:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท