ศึกษาดูงาน "กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านเกาะจาก"วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙


เมื่อวาน (9 พ.ค.49) เป็นโอกาสดี ที่ทางทีมวิจัยจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้พาคณะกรรมการเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชน ตำบลกะหรอ กิ่งอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปศึกษาดูงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านเกาะจาก ตำบลเกาะจาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
            ซึ่งมีผู้ร่วมเดินทางในครั้งนี้ จำนวน 33 คน โดยเราใช้รถมินิบัสในการเดินทาง โดยรถออกจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เวลา 09.00 น. จากนั้นก็ไปรับคณะกรรมการเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชน ตำบลกะหรอ ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลกะหรอ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้รอกันโดยพร้อมเพียง เมื่อทุกคนขึ้นรถเสร็จเรียบร้อยแล้วเราก็มุ่งหน้าตรงไปที่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านเกาะจาก
            เมื่อรถแล่นมาได้สักประมาณ 30 นาที ก็มีท่านคณะกรรมการหนึ่งคนถามขึ้นว่า “วันนี้เราจะไปไหน เราจะไปทำอะไร” เมื่อได้ยินคำถามอย่างนั้น หนูเคเอ็ม งงมากมองหน้ากันเป็นเครื่องหมาย ?  (นึกในใจว่าทีมวิจัยไม่แจ้งให้คณะกรรมทราบก่อนหรือว่าเราไปทำอะไร) จากนั้นคุณ ภูวนาถ ประธานหมู่ที่ 4 ก็ได้ลุกขึ้นตอบคำถามเพื่อคล้ายข้อสงสัย ว่าวันนี้เราจะไปศึกษาดูงานกลุ่มเกาะจาก ว่าเขามีการบริหารจัดการอย่างไรทำไหมกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งและสามารถอยู่มาได้ตั้ง 26 ปี เมื่อคลายข้อสงสัยกันแล้ว ทุกคนก็นั่งเงียบเพื่อดูบรรยากาศสองข้างทาง

            จากนั้น คุณพัชรี วารีพัฒน์ เหรัญญิกหมู่ที่ 8 ก็ได้ลุกขึ้นชี้แจงวัตถุประสงค์ของการไปศึกษาดูงานให้ทราบว่าพวกเราจะไปที่ไหน ไปทำไม ก็ได้คำตอบที่ว่า เราจะไปดูกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านเกาะจาก เพราะเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง ซึ่งคนที่มีความรู้แค่ชั้น ป.4 สามารถที่บริหารจัดการให้กลุ่มมีความเจริญเติบโต มีเงินทุนหมุนเวียนหลายล้านบาท และสามารถอยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน เราไปเพื่อที่จะศึกษาเขาเพื่อที่จะเอาความรู้ที่ได้รับในวันนี้มาประยุกต์ในกับกลุ่มของเรา

            แล้ว อ.ไพโรจน์ นวลนุ่ม นักวิจัย มวล. ก็ได้ลุกขึ้น และบอกว่าตนเองที่ไปวันนี้ ก็จะไปเป็นนักสังเกตการณ์ จะดูว่าคณะกรรมการเครือข่ายตำบลกะหรอเขาจะไปเอาอะไรกลับมาได้บ้าง (ความรู้)
            เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง เวลา 10.30 น. ทุกคนก็ตกตลึงตาค้างกับที่ทำการของกลุ่มเพราะเป็นสถานที่ที่เพิ่งสร้างเสร็จใหญ่โต สวยงาม และสะดวกสบายมาก เป็นอาคาร 2 ชั้น และชั้นล่างก็จะมีสินค้าของกลุ่มแม่บ้าน และสินค้าชุมชน จากนั้นทางคณะกรรมการตำบลเกาะจากให้เข้ามาต้อนรับเมื่อทำการทักทายกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้รับการเชื้อเชิญให้นั่งและก็มีการบริการน้ำดื่มให้ถึงที่ เมื่อนักพักหายเหนื่อยกันแล้วก็เข้าเริ่มกระบวนการ
            คุณสุไพ วงศ์เมฆ ประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านเกาะจาก ก็ได้กล่าวต้อนรับและบอกให้ทราบว่างานวันนี้ได้รับการติดต่อจากคุณประมวล วรานุศิษฎ์ พัฒนาการกิ่งอำเภอนบพิตำ และคุณอุบลรัตน์ นวลนุ่ม (น้องรัตน์) ผู้ช่วยผู้วิจัย ทีมนครศรีธรรมราช เป็นคนประสานงานให้
            จากนั้น คุณสุไพ ก็ได้เล่าประวัติความเป็นมาของกลุ่มบ้านเกาะจากว่า เมื่อก่อนชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา แต่การทำนาอย่างเดียวก็ไม่พอ ท่านผู้ว่าราชการแนะนำให้ทำไร่นาสวนผสม แต่ในการทำไร่นาส่วนผสมจะต้องใช้ทุนในการยกร่อง จึงคิดหาวิธีการว่าจะทำอย่างไร
            แล้วก็นัดประชุมลูกบ้านจำนวน 8 หมู่บ้าน ซึ่งในการประชุมครั้งแรกมีผู้เข้าร่วมประชุม 3 หมู่บ้าน จำนวน 80 คน จัดประชุมที่วัด และก็มีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนได้เสนอให้เปิดกลุ่มออมทรัพย์ขึ้น มีชาวบ้านเข้าใจจำนวน 32 คน ที่เหลือไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วยก็ไม่เลยสมัครเป็นสมาชิก และกลุ่มก็ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2523 มาถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 26 ปี ครั้งแรกเก็บเงินได้ 1,120 บาท ปัจจุบันมีเงิน จำนวน 30 ล้านบาท
            เมื่อปี 2544 ทุกคนก็อยากที่จะเปิดรับสมาชิกใหม่ คณะกรรมการคิดจะจัดตั้งกลุ่มใหม่ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ซึ่งสมาชิกที่เข้าร่วมในครั้งนี้มีจำนวน 8 คน ได้เงินจำนวน 2,400 บาท มาถึงวันนี้ มีเงินจำนวน 20 กว่าล้าน ใช้ระยะเวลา 5 ปี การที่กลุ่ม 2 กลุ่มนี้ประสบผลสำเร็จได้เนื่องมาจากการที่สมาชิกให้ความเชื่อถือท่านประธานคนเก่า และปัจจุบันกลุ่มทั้ง 2 กลุ่มก็ใช้ที่สถานตรงนี้เป็นที่ทำการ ซึ่งกรรมการทั้ง 2 กลุ่มก็เป็นคณะกรรมการชุดเดียวกัน และกลุ่มที่เกิดขึ้นก็มีดังนี้
1)      กลุ่มแม่บ้าน ทำดอกไม้จากใยบัว ทำพวงหรีด ทำดอกไม้จันทร์
2)      กลุ่มสวัสดิการให้สมาชิก ได้แก่ เมื่อสมาชิกคลอดลูกฝากบัญชีให้ลูก 500 บาท เด็กจบประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 ให้ทุนการศึกษา 500 บาท สมาชิกเสียชีวิตให้ค่าทำศพ 3,000 บาท ไม่สบายเข้าโรงพยาบาลสามารถเอาใบเสร็จมาเบิกได้ มอบทุนการศึกษาให้โรงเรียนทุกปี มอบของขวัญในวันสำคัญ เช่น วันเด็ก วันสงกรานต์ วันลอยกระทง เป็นต้น
3)      กลุ่มกองทุนฌาปณกิจ โดยเก็บคนละ 100 บาท/ปี แต่กลุ่มนี้ใครจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้แล้วแต่ความสมัครใจของสมาชิก

การที่สมาชิกจะกู้เงินของกลุ่มออมทรัพย์ได้นั้น จะต้องเอาเงินฝากบัญชีของกลุ่มออมทรัพย์มาค้ำประกัน ถ้าเกิดไม่พอก็สามารถยืมสมุดบัญชีท่านอื่นมาค้ำได้ เช่น นาย ก มีเงินฝากในบัญชี จำนวน 10,000 บาท แต่ต้องการที่จะกู้เงินจากลุ่มฯ จำนวน 20,000 บาท นาย ก. ก็จะต้องไปยืมสมุดของ นาย ข. (ต้องมีเงินฝากในบัญชี 10,000 บาทขึ้นไป) มาค้ำประกันให้ตนเอง แต่ถ้าไม่ยืมสมุดของคนอื่นมาค้ำก็สามารถที่จะเอาหลักทรัพย์ (โฉนดที่ดิน) มาค้ำได้ แต่ในกู้เงินจากกลุ่มไปสามารถที่จะเอาเงินกู้ไปทำอะไรได้ไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องเอาไปประกอบอาชีพเท่านั้น อาจจะเอาไปซื้อเฟอร์นิเจอร์เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้ตนเองก็ได้ ทางกลุ่มไม่จำกัดในข้อนี้

ตอนนี้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านเกาะจาก มีชื่อเสียงระดับประเทศ มีกลุ่มต่าง ๆ มาสนใจดูงานกันเยอะ ซึ่งการที่กลุ่มนี้เข้มแข็งได้ก็เพราะกรรมการกลุ่มมีความเสียสละเพื่อส่วนรวม ตั้งหน้าตั้งตาทำงานเพื่อหมู่บ้านของเรา ตอนนี้ทางกลุ่มของเราได้นำเงินมาจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก ทำให้สมาชิกของเรากินดีอยู่ดีและสิทธิ์ ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยก่อนเวลามีงานแต่งหรืองานศพ ชาวบ้านใกล้เรือนเคียงก็จะช่วยเหลือกัน ใครมีข้าวก็เอาข้าวมาให้ มีมะพร้าวก็เอามาให้ เป็นต้น การกระทำเช่นนี้เขาก็เรียกว่าเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งเหมือนกัน
ถ้าจะพูดถึงเงิน ถามว่าสำคัญไหม ก็ตอบได้ว่า “เงินเป็นเครื่องมือไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้เลย เพราะเมื่อเงินหมดก็จบ” แต่การที่จะทำให้กลุ่มนี่อยู่ได้ก็คือการเอาความรู้มาถ่ายทอดเข้าสู่องค์กร ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนต์จีน การฝึกวิทยายุทธ์ของวัดเส้าหลินเขาได้ถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลังทำให้วิทยายุทธ์นี้ยังอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน แต่ถ้าไม่มีการถ่ายทอดเอาไว้ก็คงจะสูญหายไปแล้ว หรือไม่เราก็ต้องสอนให้คนตกเบ็ดเป็นเมื่อตกเบ็ดเป็นแล้วก็จะต้องสอนให้รู้จักหาเหยื่อให้เป็นด้วย มันถึงจะอยู่ได้ แต่ที่สำคัญขอให้เราอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียง อยู่ให้พอประมาณ ถ้าเราปฏิบัติได้เราก็จะไม่เดือนร้อน
จากนั้นก็เปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้าร่วมซักถามข้อสงสัย คุณพัชรี วารีพัฒน์ ได้ลุกขึ้นซักถามเกี่ยวกับภาพกิจกรรมของกลุ่ม และการจัดสวัสดิการต่าง ๆ ว่าเอาเงินมาจากไหน
คุณสุไพ ก็ได้ชี้แจงให้ทราบว่า วันทำการของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านเกาะจากจะทำงานทุกวันที่ 2 ของเดือน ส่วนชมรมชาวลุ่มน้ำบางไทร วันทำงานกลุ่มจะเป็นวันที่ 6 ของทุกเดือน
ส่วนการบริหารจัดการเรื่องเงินฝากของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ท่านประธานคนเก่าได้เสนอไว้ว่าให้คณะกรรมการทุกหย่อมบ้าน (ทุกหมู่บ้าน) รวบรวมเงินจากสมาชิกเพื่อรับภาระเป็นคนฝากเงินให้สมาชิก โดยที่สมาชิกไม่ต้องมาที่กลุ่ม ซึ่งในแต่ละหย่อมบ้านก็จะมีหัวหน้าสาย 1 คน เพื่อรับภาระตรงจุดนี้ ก็ได้แบ่งออกเป็น 9 สายด้วยกัน เมื่อถึงวันทำการหัวหน้าสายก็จะไปเก็บเงินสมาชิกของทุกคนเพื่อนำมาฝากให้ที่กลุ่ม ส่วนกลุ่มชมรมชาวลุ่มน้ำบางไทร สมาชิกทุกคนต้องมาฝากเงินกับกลุ่มเองจะฝากหัวหน้าสายไม่ได้ แต่ถ้าฝากสมาชิกด้วยกันได้
หมายเลขบันทึก: 27845เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2006 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท