ชีวิตที่พอเพียง : 18. ฝึกสมาธิ


• ผมฝึกสมาธิโดยวิธีการที่ไม่เหมือนใคร    จริงๆ แล้วเป็นการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดมากกว่า 
• หลังแต่งงานเราอยู่ที่บ้านบางขุนนนท์    เป็นบ้านไม้เล็กๆ ในเนื้อที่ ๕๓ ตารางวาที่แม่ซื้อไว้ตอนเราจบแพทย์ใหม่ๆ     สมัยปี ๒๕๑๒ นั้น ขับรถจากบ้าน (ซอยตำรวจดับเพลิง หรือซอยนฤมิต) ไปทำงานที่ศิริราชใช้เวลาเพียง ๑๐ นาที เพราะรถไม่ติด
• อยู่ไประยะหนึ่งสามารถซื้อเครื่องปรับอากาศมาติดห้องนอนเล็กๆ ได้ในราคาถูก    ผมเป็นคนชอบความเย็น จึงสามารถนั่งทำงานบนโต๊ะเล็กๆ ในห้องนอนได้อย่างมีความสุข
• ภรรยาก็อยากมีความสุขเหมือนกัน    เขาเอาทีวีมาตั้งบนโต๊ะหนังสือ กินพื้นที่ไปครึ่งหนึ่ง แล้วนอนดูบนเตียงสบายใจเฉิบ   ส่วนใหญ่ดูละคร
• ภรรยาถามว่าทำอย่างนี้ได้ไหม    ผมไม่มีทางเซย์โน    ก็ต้องบอกว่าลองดู
• ผมถูกรุกรานทั้งทางพื้นที่ (บนโต๊ะทำงาน) และทางเสียง     โต๊ะทำงานซึ่งเล็กอยู่แล้ว เวลานี้เอาแฟ้มมาเปิดบนพื้นที่ที่เหลือก็จะเต็มพอดี    วางอะไรอีกไม่ได้   แต่ก็ไม่เป็นไร เอาวางบนพื้นห้องใกล้ๆ ก็ได้     เพื่อความสุขของเมียเรายืดหยุ่นได้เสมอ
• แต่มลภาวะทางเสียงนี่สิ เหลือทน ผมอ่านบทความวิจัย หรือเขียนรายงานผลการวิจัยเพื่อตีพิมพ์ไม่ได้ เพราะเสียงมันดังอยู่ตรงหน้า     แม้จะไม่เห็นภาพ เพราะทีวีด้านหลังให้ผม    เดือดร้อนอยู่หลายวัน
• ในที่สุดเทพยดาก็มาดลใจผม ว่าให้ถือสภาพนี้เป็นโอกาสในการฝึกสมาธิ    ผมบอกตัวเองว่า เราจะต้องฝึกตัวเองให้สามารถมีสมาธิอ่านหนังสือหรือวารสาร  หรือเขียนบทความได้แม้ในสภาพเช่นนี้     แล้วต่อไปในอนาคตไม่ว่าในสภาพไหนผมก็จะทำงานได้หมด
• ในเวลาเพียงเดือนเดียวผมก็สามารถโม้กับใครต่อใคร (รวมทั้งภรรยา) ว่าผมทำสำเร็จแล้ว    ผมสามารถทำงานได้โดยมีทีวีเปิดส่งเสียงอยู่ตรงหน้า    ผมสามารถฝึกตัวเองให้ “หูได้รับเสียง แต่สมองไม่ได้ยิน” ได้ 
• เวลาผ่านมา ๓๗ ปี ภรรยาเขาเข้าใจผมมาก    ไม่ถือสาความไม่สมประกอบบางประการของผม    หลายครั้งผมนั่งทำงานอยู่ เขาเดินมาพูดอะไรด้วย ผมก็ตอบเขาไป แล้วผมก็ลืม   ภรรยาเขาจะไม่ถือสาว่าผมไม่เอาใจใส่เรื่องของเขา    เขายอมรับว่าเป็นธรรมชาติของสมองของผมที่เมื่อจดจ่อเรื่องใดแล้ว แม้จะมีการ “เว้นวรรค” ไปครู่หนึ่ง เรื่องราวตอนเว้นวรรคก็จะไม่ขวางกระแสการเลื่อนไหลของความคิดภายในสมองของผม     ไม่ทราบว่านี่คือสิ่งที่เรียกว่ามีใจจดจ่อ (จิตตะ) หรือเปล่า    เรียกว่ามีสมาธิสูงหรือเปล่า  

วิจารณ์ พานิช
๔ พค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 27811เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2006 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ศึกษาสมาธิภาวนาวิชชาธรรมกายทุกแง่มุมได้ที่เวป http://khunsamatha.com/

ห้องสนทนาสมาธิภาวนาวิชชาธรรมกาย มีวิทยากรให้คำแนะนำวิธีการฝึกสมาธิมากมาย http://forums.212cafe.com/samatha/

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท