งานมหกรรม R2R ครั้งที่ 2 ; หนึ่งปีที่ผ่านมาจากอดีตผู้ที่ได้รางวัล R2R-ขับเคลื่อนDM สู่การแพทย์ด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์


ครูผู้เป็นต้นแบบแห่งการพัฒนางานประจำด้วยการทำวิจัย พร้อมน้อมนำการสร้างหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ให้เกิดขึ้นต่อทั้งทีมและนักเรียนแพทย์

ในลานเสวนาที่มีการเริ่มเล่าเรื่องจากตั้งแต่คนหน้างานตัวเล็กๆ ณ งานปฐมภูมิ งานทุติยภูมิ งานตติยภูมิ…ต่อยอดส่งไม้มาจนถึงคนต้นแบบอีกท่านหนึ่งที่ทำงานประจำอยู่ในระดับโรงเรียนแพทย์

เป็นเส้นทางการพัฒนางานประจำด้วยระยะเวลาที่ยาวนานถึงสิบห้าปี นับตั้งแต่ยังไม่มีการเรียกชื่อว่าเป็น R2R ...

รศ.พญ.สุภาวดี  ลิขิตมาศกุล (คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล) อาจารย์สุภาวดีบอกเล่าว่า ไม่รู้หรอกว่าตัวเองกำลังทำวิจัย R2R ...แต่พอมามีกระตุ้นให้เกิดการเรียก R2R จึงได้ทราบว่างานของตนเองเข้าข่ายการทำ R2R

งานที่พัฒนาคือ การดูแลผู้ป่วยเบาหวานในเด็กแบบครบวงจร โดยแรงบันดาลใจในการทำ R2R คือ

“รู้สึกอยากทำงานของตนเองให้พัฒนาให้ดีขึ้น โดยนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์”

โดยมีวิธีการทำ R2R...

เริ่มต้นจากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยที่มารับการรักษาจะเป็นผู้ป่วยกลุ่มเดิม แม้จะได้รับคำแนะนำให้ดูแลตนเองแล้ว แต่ผู้ป่วยก็ยังมีพฤติกรรมการดูแลตนเองเหมือนเดิม จึงคิดวิธีการปรับพฤติกรรมในการดูแลตนเองของผู้ป่วยให้เหมาะกับบริบทความรุนแรงของโรค โดยจัดทีมงานให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในแต่ละกลุ่มอาการ จากนั้นจึงใช้วิธีการหารือร่วมกันระหว่างทีมแพทย์ พยาบาล และวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อค้นหากลวิธีในการแก้ปัญหา และร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การจัดค่ายเพื่อปรับพฤติกรรมของเด็กที่เป็นเบาหวาน การใช้ธรรมะในการบำบัด การปรับวิธีการสื่อสารในครอบครัวเพื่อให้กำลังใจเด็กที่เป็นเบาหวาน 

 

อาจารย์หมอสุภาวดียังได้ร่วมถอดบทเรียนในสิ่งที่ได้เรียนรู้อะไรจากการทำ R2R บ้าง...อาจารย์บอกกล่าวว่า...

ปัจจัยที่ทำให้การทำงานสำเร็จคือ ทีมงานที่ให้ความรู้ในการดูแลตนเองของผู้ป่วยในแต่ละกลุ่มอาการ และอุปกรณ์ที่เพียงพอ หนึ่งปีที่ผ่านมา R2R เชื่อมโยงสู่วิถีการทำงาน คือ “การทำวิจัยจากงานประจำสามารถพัฒนางานในองค์กรของตนเองได้ดีกว่าการนำงานวิจัยจากต่างประเทศมาปรับใช้เพื่อพัฒนางานประจำ”

 

สำหรับในการดำเนินงานครั้งต่อไป สิ่งที่จะปฏิบัติแตกต่างจากครั้งที่ผ่านมาคืออะไร

“เน้นการดำเนินงานโดยใช้หลักธรรมะ และตระหนักถึงการทำงานเพื่อเข้าถึงหัวใจของความเป็นมนุษย์มากขึ้น”

ในขณะที่ฟังเรื่องเล่าการถอดบทเรียนของอาจารย์นั้น ในฐานะที่ข้าพเจ้าทำหน้าที่เป็น Facilitator นั้นรู้สึกประทับใจในคำบอกกล่าวของอาจารย์ที่ว่า “แพทย์ต้องเปลี่ยน...เปลี่ยนมาเป็นผู้ฟังมากขึ้น เปลี่ยนมาเป็นครู เป็นโค้ช เป็นพี่เลี้ยง เกื้อหนุนให้ผู้ป่วยได้ดูแลตนเองด้วยตัวของเขาเอง เปลี่ยนทัศนะจากการคอยนำแต่ทฤษฎีมาใช้ มาเป็นการสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นจากการทำงานประจำ

ท้ายสุดอาจารย์ได้หยิบยก พระราชดำรัส สมเด็จพระราชบิดา...

         “ ความสำเร็จของการศึกษาที่แท้จริง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีความรู้มาก แต่ขึ้นอยู่กับการนำเอาความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้ ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมได้มากเพียงไร ”

         “ ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพ ไว้ให้บริสุทธิ์ ”

 

อ.หมอสุภาวดี นั่งตรงกลาง สวมเสื้อลายขาว-ดำ

 

หมายเลขบันทึก: 277851เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2009 18:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท