ประชุมกระบวนการจัดการความรู้สร้างเศรษฐกิจพอเพียงแก้จนอย่างยั่งยืน นครศรีธรรมราช 4 พ.ค.49


ทุกครั้งที่มีโอกาสรับฟังการบรรยายของท่านผู้ว่าวิชมในเรื่องใดทำให้หายงง คงเพราะแรงศรัทธาในงานของท่านที่ท่านศึกษางานอย่างละเอียดและลึกซึ้งบรรยายแม่นเหมือนจับวาง(ขอยืมประโยคที่เขาเปรียบเทียบกันบ่อย เช่นยิงแม่นเหมือนจับวาง)

           วันที่ 7 พ.ค. 49 ตื่นเช้า   เข้าคิวกิจกรรมที่ต้องทำว่ายังไงต้องเรียนรู้เรื่องการสร้างบล็อกให้เข้าใจและสมัครให้สำเร็จให้ได้  หลังจากที่ได้พูดคุยในที่ประชุม เมื่อวันที่ 4 พ.ค.49 ในเรื่องนี้    จริง ๆ ผมเคยเปิด web นี้พบเจอโดยไม่ตั้งใจ  และได้อ่านบันทึกของบางท่านในหลายเรื่องทั่ว ๆ ไปบ้างแล้ว  แต่ก็ห่างเหินไป  เมื่อมาระยะหลัง ๆ ที่มี KM  ซึมซาบเข้าไปในหน่วยงานต่าง ๆ ก็นึกออกว่าเคยเห็นweb นี้ ก็เลยเข้า web อีกครั้งและอ่านคำแนะนำอย่างจริงจัง  และลองสมัครก็ได้ผลสำเร็จ  เรียนรู้ในหัวข้อต่าง ๆ ตามที่อาจารย์ภีม บอกเมื่อวันที่ 4 พ.ค.49 ที่ห้องประชุมศาลากลางนครศรีธรรมราช ว่าเขาแนะนำไว้อย่างละเอียดแล้ว  สมัครเสร็จแล้วก็หลงท่องเที่ยวไปกับบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ของหลาย ๆ ท่านที่นำความรู้มาเผยแพร่กัน เลยลืมการบันทึกของตนเองไปว่าสมัครไว้เฉย ๆ ยังไม่ได้บันทึกอะไรเลย

           ย้อนกลับไปในบรรยากาศของการประชุมกระบวนการการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร ฯ เมื่อวันที่ 4 พ.ค.49  ช่วงลงทะเบียนได้รับเอกสารประกอบการประชุม  ที่น่าสนใจได้รับหนังสือ "การจัดการความรู้ " ที่เขียนโดย : ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด  ผมเริ่มอิจฉานามสกุลท่านจริง ๆ ครับ

          จำได้ว่าทาง กศน. จะจัดหาหนังสือเล่มนี้มาให้คณะทำงานทุกคนในช่วงการประชุมทีม "อำนวยกลาง"  และก็เป็นจริงแล้ว  ในส่วนตัวผม ผมคิดว่าตื่นเต้นกับหนังสือน่ะ  เพราะคงได้ทำความรู้จัก คุณ "ปลาทู" ได้ดีขึ้น  ก็พลิกดูหนังสือผ่าน ๆ ไปก่อน  และเข้าช่วงที่ท่านผู้ว่าวิชมพบปะและบรรยาย  (ซึ่งเมื่อผมเข้าห้องประชุมมา  ท่านนั่งอยู่ก่อนแล้ว) 

          ท่านผู้ว่าวิชม บรรยายให้พวกเราทีมงานฟังที่มาที่ไปของโครงการเป็นการทบทวน และก็เข้าสู้ "การจัดการความรู้ " ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าได้ฟังได้ศึกษามาหลายครั้งก็ยังไม่เข้าใจดีนักเพราะพอทำท่าจะเข้าใจแล้วน่ะ  ไปสัมมนาเรื่อย ๆ ไปเจอวิทยากรท่านใหม่  ท่านก็ถ่ายทอดของท่านไปเราหวนกลับไปเจอ งองู  2 ตัววิ่งตามหลังกันอีก

          แต่เชื่อตัวเองว่าตอนนี้หายอาการดังกล่าวแล้ว เมื่อฟังผู้ว่าวิชมบรรยายแบบพูดคุยกับพวกเรา  เช่นท่านบอกว่า  KM  ไม่ใช่เป้าหมาย  แต่เป็นเครื่องมือ  การจัดการความรู้เรื่องใดต้องมีเป้าหมายชัดเจน  ในหลาย ๆ ประโยคที่ท่านพูดผมว่าผมถึงบางอ้อแล้วน่ะ

          ท่านผู้ว่าวิชม  เคยเป็นประธานเปิดการสัมมนานักวิชาการส่งเสริมการเกษตร  ที่ โรงแรมทวินโลตัส นคร ฯ ในช่วงที่ท่านพูดคุยพบปะท่านก็พูดถึงเรื่อง "วิสาหกิจชุมชน"  จนทะลุปรุโปร่งวิทยากรแทบไม่ต้องบรรยายอีกเลย  ผู้เข้ารับการสัมมนาต่างก็พูดว่าเข้าใจแล้ว

          ทุกครั้งที่มีโอกาสรับฟังการบรรยายของท่านผู้ว่าวิชมในเรื่องใดทำให้หายงง  คงเพราะแรงศรัทธาในงานของท่านที่ท่านศึกษางานอย่างละเอียดและลึกซึ้งบรรยายแม่นเหมือนจับวาง(ขอยืมประโยคที่เขาเปรียบเทียบกันบ่อย เช่นยิงแม่นเหมือนจับวางมาใช้หน่อย)  ก็เป็นความโชคดีของพวกเราทีมงานนะครับ

          ผมได้นำแนว "การเรียนรู้ "ของวันที่ 4 พ.ค.49  ไปสานต่อเรื่อง "การจัดการความรู้ในองค์กร"ของหน่วยงานผม  ซึ่งบังเอิญว่าในวาระการประชุมมีเรื่อง "การจัดการความรู้ " ด้วย  และระบุชื่อผมเป็นผู้ชี้แจง   ซึ่งผมก็นำความรู้ที่ได้จากวันที่ 4 พ.ค.49 และอ่านหนังสือที่ ท่าน ดร.ประพนธ์เขียนอ่านทบทวนหลาย ๆ เที่ยว  และบอกเพื่อนร่วมงานที่คาดว่าน่างงที่เหมือนผมเคยงงและเห็นเขาพยักหน้ากันน่ะ แล้วบอกว่า "อย่างนี้เองหรือ  งงอยู่ตั้งนาน"

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 27769เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2006 23:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ได้คุยกับท่านผู้ว่าเรื่องพื้นที่ปฏิบัติการลงลึกในโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร 3 อำเภอ ท่านเสนออำเภอสิชล ลานสกาและพระพรหม(ลงลึกคือ ทีมผมจะลงไปร่วมเรียนรู้กับวงเรียนรู้ต่างๆในอำเภอด้วย โดยที่อำเภออื่นๆจะผ่านทางทีมคุณอำนวยอำเภอเท่านั้น ซึ่งจะมาเรียนรู้ร่วมกันในเวทีจังหวัดเดือนละ1ครั้ง)

เป้าหมายของโครงการนี้

1)64ครัวเรือนในหมู่บ้านเป้าหมายเกิดการเรียนรู้และมีวิถีชีวิตแบบพอเพียง ส่งผลให้หมู่บ้านน่าอยู่ ยั่งยืน(ตามคำหลักสำคัญคือ เรียนรู้ พอเพียง น่าอยู่ ยั่งยืน)

2)แกนนำธรรมชาติและทางการหมู่บ้านละประมาณ8คนมีการทำงานร่วมกันเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับ64ครัวเรือน

3)หน่วยงานสนับสนุนทั้งภูมิภาคและท้องถิ่นบูรณาการแผนงาน กิจกรรมโดยมีหมู่บ้านเป็นแกนกลางของการพัฒนา มีทีมงาน เริ่มต้นตำบลละ3คนเป็นนักจัดการความรู้เพื่อทำงานสนับสนุนแกนนำหมู่บ้าน8คนและ64ครัวเรือนเป้าหมาย โดยแบ่งเป็นคุณอำนวยอำเภอคือหัวหน้าส่วนอำเภอที่ช่วยสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ให้กับคุณอำนวยตำบลทุกตำบลในอำเภอ และคุณอำนวยตำบลที่จับตัววางตายสนับสนุนการเรียนรู้ในหมู่บ้านเป้าหมายของตำบล

ผมดีใจมากที่ได้อ่านบันทึกของคุณชาญวิทย์ และหวังว่าจะได้เรียนรู้ร่วมกันในอำเภอพระพรหมซึ่งเป็นอำเภอเป้าหมายที่ท่านผู้ว่ากำหนดไว้อย่างเข้มข้นต่อไปครับ

 

     ขอแสดงความยินดีกับบันทึกแรกของคุณชาญวิทย์ด้วยนะครับ  และยินดีต้อนรับสู่ชุมชน "นักส่งเสริมการเกษตร" ครับ
ดีใจที่ได้อ่านบันทึกแรกของคุณชาญวิทย์ มีประโยชน์มากคะและจะติดตามต่อๆไปนะคะ
ขอบคุณ อาจารย์ภีม คุณวีรยุทธ คุณธุวนันท์ มากครับที่เข้ามาให้ข้อมูลและทักทาย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท