ระบำ


ระบำ

ระบำ

ระบำ หมายถึงศิลปะการร่ายรำที่แสดงพร้อมกันเป็นหมู่เป็นชุดมุ่งความสวยงามและความบันเทิงเป็นสำคัญ ไม่เป็นเรื่องราว มีทั้งเนื้อร้องและไม่มีเนื้อร้องอาจจะใช้เพียงดนตรีประกอบการร่ายรำ ท่ารำบางครั้งก็มีความหมายเข้ากับเนื้อเรื่อง บางครั้งก็ไม่มีความหมายนอกจากความสวยงาม ผู้แสดงจะมีจำนวนเท่าใดก็ได้   จำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
 ก. ระบำแบบดั้งเดิมหรือระบำมาตรฐาน
ข. ระบำแบบปรับปรุง

ก. ระบำแบบดั้งเดิมหรือระบำมาตรฐาน

หมายถึง การแสดงระบำที่ปรมาจารย์ได้กำหนดเนื้อร้องและทำนองเพลงตลอดจนท่าร่ายรำและการแต่งกายที่เรียกว่าแบบยืนเครื่องไว้อย่างถูกแบบแผนกระบวนการรำเป็นที่ยอมรับมาช้านานแล้ว ผู้ศึกษาต้องจดจำตามแบบที่กำหนดไว้ จะดัดแปลง แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไม่บังควร เช่นระบำดาวดึงส์ ในเรื่องสังข์ทองตอนตีคลี หรือระบำกฤษฎาภินิหาร ซึ่งนิยมนำมาแสดงกันเป็นส่วนมาก เพราะเป็นลีลาที่งดงาม เป็นศิลปะระดับฝีมือ โดยจะยกตัวอย่างระบำมาตรฐาน 3 ชนิดดังนี้

ระบำดาวดึงส์

ระบำดาวดึงส์ เป็นระบำมาตรฐานที่สร้างรูปแบบท่ารำขึ้นใหม่ แตกต่างจากระบำมาตรฐานแบบดั้งเดิม เช่น ระบำสี่บทที่ท่ารำตีบทความหมายของคำร้อง ระบำดาวดึงส์เป็นระบำประกอบในการแสดงละครดึกดำบรรพ์เรื่องสังข์ทองตอนตีคลี ซึ่งจัดแสดงที่โรงละครดึกดำบรรพ์ วังบ้านหม้อ ปลายสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 แห่งกรุง
รัตนโกสินทร์ บทร้องเป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พรรณนาถึงความงดงามโอฬารของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และทิพยสมบัติของ
พระอินทร์ หม่อมเข็ม กุญชร ณ อยุธยา ได้ปรับปรุงท่ารำเลียนแบบท่าเต้นในพิธีแขกเจ้าเซ็น ซึ่งเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ทรงประดิษฐ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ดนตรีที่ใช้ในการประกอบการแสดงชุดนี้ ใช้วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงปรับปรุงแตกต่างจากวงปี่พาทย์เครื่องคู่และเครื่องใหญ่คือ ลดเครื่องดนตรีบางชิ้น ให้มีเสียงทุ้มนุ่มนวลไม่แข็งกร้าว เสียงแหลมสูง เครื่องบรรเลงได้แก่ ระนาดเอกตีด้วยไม้นวม ระนาดทุ้ม ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยอู้ ซออู้ ตะโพน กลองตะโพนคู่ (ถอดเท้าตั้งขึ้น ตีแทน กลองทัด) ฉิ่ง ฆ้องหุ่ยเจ็ดลูก (7 เสียงเรียงลำดับ) กลองแขก ทำนองเพลงประกอบลีลาท่ารำ คือ เพลงเหาะ เพลงตะเขิ่ง เพลงเจ้าเซ็น

เพลงรัวเนื้อเพลง ระบำดาวดึงส์
(ปี่พาทย์ทำเพลงเหาะ -รัว)
- ร้องเพลงตะเขิ่ง -
 ดาวดึงส์เทวโลกมโหฬาร             เป็นที่อยู่สำราญฤทัยหรรษ์
สารพัดงามจริงทุกสิ่งอัน                        สารพันอุดมสมใจปอง
เทพบุตรผุดผ่องพรรณโฉมยง                 งามทรงอาภรณ์ไม่มีหมอง
นางอัปสรงอนสงวนนวลละออง        งามทรงเครื่องทองและเพชรนิล
- ร้องเพลงเจ้าเซ็น -
สมเด็จพระอมรินทร์ปิ่นมงกุฎ        ทรงวชิราวุธธนูศิลป์
รักษาเทวสีมาเป็นอาจิณ               อสุรินทร์อสุรีไม่บีฑา
อันอินทรปราสาททั้งสาม               ทรงงามสูงเงื้อมกลางเวหา
สี่มุขหุ้มมาศสะอาดตา                ใบระกาแกมแก้วประกอบกัน
ช่อฟ้าช้อยเฟ้อยเฉื่อยชด                      บราลีที่ลดมุขกระสัน
มุขเด็จทองดาดกนกพัน                     บุษบกสุวรรณชมพูนุท
ราชยานเวชยนต์รถแก้ว                  เพริศแพร้วกำกงอลงกต
แอกงอนอ่อนสลวยชวยชด                เครือขดช่อตั้งบัลลังก์ลอย
 รายรูปสิงห์อัดหยัดยืน                     สุบรรณจับนาคหิ้วเศียรห้อย
ดุมพราววาววับประดับพลอย            แปรกแก้วกาบช้อยสะบัดบัง
เทียมด้วยสินธพเทพบุตร                         ทั้งสี่บริสุทธิ์ดั่งสีสังข์
       มาตลีอาจขี่ขับประดัง              ให้รีบรุดสุดกำลังดังลมพา
- ปี่พาทย์ทำเพลงรัว -
การแต่งกาย ในส่วนของการแต่งกาย ตัวพระคือเทพบุตร แต่งกายยืนเครื่องเต็มตัว นุ่งผ้ายกตีปีกจีบโยงไว้หางหงส์ทับบนสนับเพลาเชิงมอญ สวมเสื้อรัดรูปปักดิ้นเลื่อมลายกนกแขนสั้นเหนือศอก ติดกนกปลายแขนสวมเครื่องประดับถนิมพิมพาภรณ์ครบชุด ศิลาภรณ์ชฎายอดชัย

ตัวนางอัปสร แต่งกายยืนเครื่องนางเต็มตัว นุ่งผ้ายกจีบหน้านางทิ้งชายพก สวมเสื้อในนางรัดรูป ห่มผ้าห่มนางเต็มผืนปักดิ้นเลื่อมลายกนก สวมเรื่องประดับถนิมพิมพาภรณ์ครบชุด ศิลาภรณ์มงกุฎกษัตริย์

ลีลาท่ารำจะผสมผสานนาฏศิลป์ไทยกับท่าเต้นทุบอกในพิธีแขกเจ้าเซ็น ท่ารำเข้าคู่พระ-นาง ในรูปแบบรำหมู่ เพลงเหาะ - รัว ใ ช้แม่ท่านาฏศิลป์ไทย ต่อจากนั้นเป็นการผสมผสานท่ารำไทยกับท่าเต้นในพิธีเจ้าเซ็น ซึ่งดูสง่างาม

ระบำกฤดาภินิหาร

เป็นชุดการแสดงที่สร้างสรรค์รูปแบบใหม่ อยู่ในละครประวัติศาสตร์ เรื่อง เกียรติศักดิ์ไทยซึ่งกรมศิลปากรจัดแสดง ณ โรงละครศิลปากร เมื่อพ.ศ. 2486 ผู้แต่งบทร้องคือ นางสุดา บุษปฤกษ์ผู้ประดิษฐ์ท่ารำคือ นางลมุล ยมะคุปต์ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป์ไทย กรมศิลปากร และนางศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก(หม่อมครูต่วน) เรียบเรียงประสานดุริยางค์สากลโดยพระเจนดุริยางค์

การแต่งกาย ผู้แสดงนั้น แต่งยืนเครื่องตัวพระและตัวนาง ตัวพระสวมศิลาภรณ์ชฎา ตัวนางสวมศิลาภรณ์มงกุฎกษัตริย์ มีลักษณะท่ารำเป็นระบำหมู่คู่พระ - นาง ออกรำในเพลงรัวดึกดำบรรพ์ ตีบทตามคำร้องเพลงครวญหา แล้วรำท่าจีนรัวโปรยดอกไม้ สามารถแสดงได้สองรูปแบบ คือ รำตามบทร้องสี่คำกลอน แล้วตัดไปโปรยดอกไม้ในเพลงจีนรัว ซึ่ง ใช้เวลาประมาณ 5 นาที และอีกแบบหนึ่งรำเต็มบทร้องหกคำกลอน โปรยดอกไม้ตามบทร้องและเพลงจีนรัว

เนื้อเพลงระบำกฤษดาภินิหาร
- ปี่พาทย์ทำเพลงรัวดึกดำบรรพ์ -

- เพลงครวญหา -

ปราโมทย์แสน                        องค์อัปสรอมรแมนแดนสวรรค์
ยินกฤดาภินิหารมหัศจรรย์                           เกียรติไทยลั่นลือเลื่องเรืองรูจี
ต่างเต็มตื้นชื่นชมโสมนัส         โอษฐ์เอื้อนอรรถอวยพรสุนทรศรี
แจ้วจำเรียงเสียงเพลงสดุดี                         ดนตรีรี่เรื่อยประโคมประโลมลาน
แล้วลีลาศเริงรำระบำร่าย           กรกรีดกรายโปรยมาลีสีประสาน
พรมน้ำทิพย์ปรุงปนสุคนธาร                               จักรวาลฉ่ำชื่นรื่นรมย์ครัน
- ปี่พาทย์ทำเพลงจีนรัว -

ระบำเทพบันเทิง

ระบำเทพบันเทิงเป็นระบำที่นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์ไทย กรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติ แต่งบทร้องและบรรจุทำนองเพลงประกอบการแสดงละครใน เรื่องอิเหนา ตอนลมหอบ กล่าวถึงเทพบุตรนางฟ้าฟ้อนรำบำเรอองค์ปะตาระกาหลา กรม
ศิลปากรจัดการแสดงให้ประชาชนชม ณ โรงละครศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ ผู้ประดิษฐ์ลีลาท่ารำคือ นางลมุล ยมะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฎศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร
นางมัลลี คงประภัศร์ และนางศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก(หม่อมต่วน) โดยการรำเข้าคู่พระ- นาง ตีบทตามคำร้อง แปรแถวโดยผู้แสดงแต่งยืนเครื่องเทพบุตร - นางฟ้า

ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง เป็นวงปี่พาทย์ไม้นวมเครื่องห้า หรือเครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ทำนองเพลงแขกเชิญเจ้า เพลงยะวาเร็ว เข้าปี่พาทย์ มีบทร้องดังนี้

- เพลงแขกเชิญเจ้า -
เหล่าข้าพระบาท ขอวโรกาสเทวฤทธิ์อดิศร
ขอฟ้อนกราย รำร่ายถวายกร
บำเรอปิ่นอมร ปะตาระกาหลา
ผู้ทรงพระคุณ ยิ่งบุญบารมี
เพื่อเทวบดี สุขสมรมยา
เถลิงเทพสิมา พิมานสำราญฤทัย
- สร้อย -
สุรศักดิ์ประสิทธิ์ สุรฤทธิ์กำจาย
ทรงสราญพระกาย ทรงสบายพระทัย
ถวายอินทรีย์ ต่างมาลีบูชา
ถวายดวงตา ต่างประทีปจำรัสไข
ถ้อยคำอำไพ ต่างธูปหอมจุณจันทร์
ถวายดวงจิต อันชลิตวรคุณ
ที่ทรงการุณย์ ของข้ามาแต่บรรพ์
ถวายชีวัน รองบาทจนบรรลัย
- สร้อย -
- เพลงยะวาเร็ว -
ร่วมกันร้องทำนองลำนำ มาฟ้อนมารำให้รื่นเริงใจ(ซ้ำ)
ให้พร้อมให้เพรียงเรียงระดับ เปลี่ยนสับท่วงทีหนีไล่
เวียนไปได้จังหวะกัน
อัปสรฟ้อนส่าย กรีดกรายออกมา
ฝ่ายฟ้อนเทวา ทำท่ากางกั้น
เข้าทอดสนิท ไม่บิดไม่ขัน(ซ้ำ)
ผูกพันสุขเกษม ปลื้มเปรมปรีดา
(ปี่พาทย์ทำนองเพลงยะวาเร็ว)

คำสำคัญ (Tags): #ระบำ
หมายเลขบันทึก: 277631เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2009 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แวะเข้ามาอ่านเพราะอยากเป็นนางระบำ แต่ในชีวิตจริงระบำไม่ออก ได้แต่หมอลำอย่างเดียว

ดีมากเลย ! ค๊ๆ ต้องการพอดี ! :")))))

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท