เด็ก : ไม่อยากเรียน (ในระบบ)


"การศึกษา" หมายความว่า กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้ อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

     มีคนบอกว่า "ชีวิตของคนเราให้คิดในแง่บวกเข้าใว้... ชีวิตเราก็จะมีแต่ด้านบวก" ตื่นเช้ามาวันนี้ อากาศดีมาก เลยยืนยิ้มให้ตัวเองในกระจกตั้งแต่เช้า... (ถ้าคนอื่นเห็นคงว่า...ระยะแรกเริ่มอาการหลงตัวเอง ฮา) หลังจากนั้นก็เตรียมตัวมาทำงานตามปกติ...

     เช้านี้ก็เลยสดชื่น กระปี้กระเปร่า สงสัยเพราะกิจกรรมที่ทำแต่เช้า (มองตัวเองด้านบวก+) จนถึงชั่วโมงแรก ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ ชั่วโมงนี้ว่าง...ตั้งใจเคลียงานที่ทำรายการไว้ยาวเหยียดตั้งแต่เมื่อวาน ก็พอดีก็ไปเจอเหตุการณ์ อันเป็นที่มาเรื่องเล่าของวันนี้ขึ้น

     มีเด็กนักเรียนคนหนึ่งพร้อมด้วยผู้ปกครอง(แม่) ได้มาพบครูฝ่ายวิชาการ เพื่อปรึกษาหารือ เรื่อง เด็กอยากลาออกไปเรียนการศึกษานอกระบบ คุยกันอยู่นานแล้ว พอผู้เขียนเข้าไป ครูวิชาการจึงโยนคำบอกเล่าเชิงกล่าวชวนให้ผู้เขียนเข้าร่วมวงสนทนา โดยบอกว่า "คุณครูช่วยพูดหน่อย เด็กอยากออกไปเรียน กศน."

     จริงๆ เรื่องแบบนี้น่าจะเป็นเรื่องปกติ ที่การศึกษาไม่จำเป็นต้องเรียนเฉพาะในระบบโรงเรียนเท่านั้น ตามพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 มาตรา 4 กล่าวว่า "การศึกษาตลอดชีวิต" หมายความว่า การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต นั่นคือ การศึกษาทั้งนอกระบบและในระบบต่างก็มีมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคน...แต่ปัญหา คือ เด็กนักเรียนกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.1 อายุประมาณ 13 ปี

     ไม่รู้ว่าผู้เขียนเข้าใจผิดหรือไม่ ว่าคุ้นๆ มีหลักเกณฑ์ว่าเด็กจะต้องเรียนอยู่ในระบบ หรือจบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี อีกนัยหนึ่งคือ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องเรียนอยู่ในระบบโรงเรียน "นี่คือความเข้าใจของผู้เขียน" ดังนั้น จึงต้องทำความเข้าใจกับนักเรียนและผู้ปกครอง ตามหลักบัญญัติกฎหมาย เช่น มาตรา 11 บิดา มารดา หรือผู้ปกครองมีหน้าที่จัดให้บุตรหรือบุคคลซึ่งอยู่ในความดูแล ได้รับการศึกษาภาคบังคับ ตามมาตรา 17 และตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตลอดจนให้ได้รับการศึกษานอกเหนือจากการศึกษาภาคบังคับ ตามความพร้อมของครอบครัว และถามถึงสาเหตุที่อยากจะลาออก

     - ผู้ปกครอง บอกว่า ...ตอนนี้อายุตัวเองก็มากแล้ว มีลูกหลายคน ลูกคนนี้เป็นลูกคนสุดท้องที่ยังเด็กและอายุน้อยที่สุด ที่บ้านพ่อไม่สามารถทำงานได้ เพราะมีโรคประจำตัว มีแม่ทำงานหารายได้คนเดียว จากการรับจ้างทั่วไป ในบ้านมีสมาชิก 6 คน ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูกชายคนเล็ก และหลาน อีก 3 คน ที่ต้องดูแล โดยพ่อแม่ของพกเขาไม่ได้ส่งเงินมาช่วยเหลือ ครอบครัวจึงลำบากมาก ความรู้สึกใจจริง ก็อยากให้ลูกเรียน เพื่อจะได้มีความรู้ติดตัว แต่ลูกไม่อยากเรียน และก็รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย(ค่ารถรับ-ส่ง ค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ) เพื่อส่งลูกเรียน...

     - นักเรียน บอกว่า ไม่อยากเรียน เพราะสงสารแม่ที่ต้องหารายได้มาส่งให้ตัวเองเรียน พ่อก็ทำงานไม่ได้ มีน้อง(หลาน) อีกสามคน ถ้าเขาไม่เรียนก็จะลดภาระค่าใช้จ่าย อยากออกไปเรียน กศน. เพราะเรียนแค่วันเสาร์-อาทิตย์ จะได้มีเวลาเหลือเพื่อหารายได้ช่วยแม่...

      ผู้เขียน ฟังแล้วก็ให้ข้อมูลย้อนกลับกับผู้ปกครอง ถึงความจำเป็นที่เด็กต้องเรียนอยู่ในระบบ พร้อมทั้งแนะนำวิธีแก้ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ทั้งเรื่องค่ารถรับ-ส่ง ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าอาหารบางส่วน ซึ่งก็จะแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองได้บ้าง และให้โอกาสผู้ปกครองและนักเรียนกลับบ้านเพื่อไปตัดสินใจใหม่อีกครั้ง "การตัดสินใจทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับตัวนักเรียนและผู้ปกครองเป็นสำคัญ" 

      จริงๆ ในปัญหานี้ ในเรื่องการเรียนในระบบ ผู้เขียนจำได้ว่า เคยอ่าน Blog ของคนทำงานการศึกษานอกระบบ ถึงข้อจำกัดของการรับนักเรียนเข้าเรียน โดยเฉพาะกรณี ที่เด็กต้องอยู่ในระบบโรงเรียน จนกว่าจะจบการศึกษาภาคบังคับ...นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย... แต่ก็จำไม่ได้ว่าเป็น Blog ของใคร...

     โดยส่วนตัวของผู้เขียน มีความคิดเห็นกับหลัก "การศึกษาตลอดชีวิต" ที่กล่าวไว้ในตอนต้น โดยเฉพาะการสนับสนุนการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้หลากหลาย กว้างขวาง เป็นที่ยอมรับ และเป็นหลักวิชาที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ปัจจุบันการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของไทยยังมีข้อจำกัดมาก ทำให้การจัดการศึกษาในรูปแบบดังกล่าวไม่ขยายผล และไม่เป็นที่ยอมรับ เช่น หลักสูตร Home School เป็นต้น ทั้งที่ การจัดหลักสูตรของบางแห่งดีมากๆๆ สามารถทำให้เด็กที่รับการศึกษาในระบบนี้ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้

     ผู้เขียน เคยรู้จักกับครอบครัวหนึ่ง ที่ทำหลักสูตร Home school ให้กับลูกของตัวเอง โดยเป็นหลักสูตรด้านเกษตรกรรม ที่จังหวัดระนอง แต่กว่าจะได้รับการยอมรับว่าเป็นหลักสูตรตามอัธยาศัย ต้องใช้เวลายาวนานมาก และวุฒิที่ได้รับก็ใช้เวลาในการผ่านการอนุมัติโดยการรับรองของการศึกษานอกระบบ (กศน. ในขณะนั้น) นี่คือ ปัญหาการจัดการศึกษาไทย อีกเรื่องหนึ่งหรือเปล่า?

     เล่ามาซะยาว... จากปัญหาของเด็ก สู่ปัญหาการจัดการศึกษาไทย ...ซึ่งหากมีการตัดสินใจของเด็กและผู้ปกครองอย่างไร ผู้เขียนจะกลับมาเล่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกครั้ง...ใครมีข้อคิดเห็นอย่างไร เล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ...

หมายเลขบันทึก: 276441เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2009 15:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ก็น่าเห็นใจทั้งสองฝ่ายนะครับ ผมมีมุมมองส่วนตัวอยากแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับการศึกษา เป็นไปได้ไหม๊่ที่การศักษาจะแทรกเอาความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่นเข้าไปด้วย เพื่อที่จะอนุรักษ์พฤติกรรมทางสังคมของท้องถิ่นเอาไ้ว้ ไม่ให้หายไป ยกตัวอย่างเ่ช่น ถ้าชุมชนใหนมีการปลูกยางพาราขายเป็นส่วนมาก ก็เพิ่มการเรียนการสอนเกี่ยวกับการปลูกยางให้เด็กเค้าได้เรียนรู้ในเชิงวิชาการ แล้วเมื่อจบไปแล้วเค้าจะได้มีความรู้สามารถที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้ในชุมชน โดยที่ไม่ต้องไปเร่ขายแรงงานในเมืองอุตสาหกรรมต่างๆ แล้วคนก็จะได้อยู่ักับบ้าน แล้วปัญหาเกี่ยวกับครอบครัวก็น่าจะลดน้อยลง แล้วก็จะส่งผลไปถึงการแก้ปัญหาสังคมต่างๆตามมาด้วย แล้วก็ยังเป็นการอนุรักษ์วิถีชีวิตของชุมชนอีกด้วย ผมรู้สึกว่าการศึกษาตอนนี้ทำให้วิถีชีวิตทางชุมชนมันเปลี่ยนไป ทุกคนเรียนหนังสือกันหมด แต่บางคนจบออกมาไม่รู้จะไปทำอะไร ขอยกตัวอย่างอีกเช่น มีหมู่บ้านในชนบทแห่งหนึ่ง 80 ครัวเรือน อาชีพดั้งเดิม ส่วนมากเป็นชาวนา ปลูกข้าวเพื่อกินและขาย แล้วแต่ละครอบครัวก็ส่งลูกเรียนจบกันหมด แล้วลูกๆก็ไปทำงานกันต่างถิ่นแล้วแต่สาขาอาชีพ ลองคิดดูว่าใครจะมารับช่วงต่อในการทำนา อาชีพนี้ก็จะหายไปจากชุมชนเลยหรอ พูดมาซะยาวเลย แต่มันเป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ ถ้ามีความคิดเห็นยังไงก็แชร์กันได้นะครับ การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญครับ ผู้ใหญ่ต้องฉลาดที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ในสิงที่ถูกที่ควร แล้วผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็จะได้อนาคตของชาติ ที่เข้มแข็ง เก่ง ฉลาด และมีคุณธรรม

  • ขอบคุณ คุณPK ที่เข้ามารวมแลกเปลี่ยนเรียนรู้คะ
  • เห็นด้วยกับสิ่งที่เขียนคะ ทั้งนี้บางครั้ง ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนคนในสังคมไทยปรับตัวไม่ทัน
  • การจัดการศึกษาเพื่อให้คนมีความรู้ และไปทำงาน...แตกต่าง ที่ไม่ใช่งานสร้างสรรค์หรือพัฒนาจากรากเหง้าหรือภูมิหลังของตนเอง
  • ก็อาจเสียดายอาชีพบางอาชีพ ที่สงวนไว้เฉพาะคนไทย แต่ไม่มีใครสนใจทำหรือสานต่อเพราะองค์ประกอบทางสังคมและค่านิยมที่เปลี่ยนไป
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท