ตัวอย่างบทความประชาสัมพันธ์


ทุกคนต้องเคยได้รับคำปรึกษา จากพ่อแม่ของเด็กที่คุณหมอดูแลอยู่เสมอว่า คุณหมอจะแนะนำให้ลูกกินนมอะไรดี หมอทุกคนย่อมตอบว่านมแม่ คำถามต่อไปคือ หากนมแม่ไม่มีหรือต้องกลับไปทำงานแล้ว คุณหมอจะแนะนำให้กินนมยี่ห้อไหนดี บางคนอาจตอบว่า “เอานมผงยี่ห้อที่ใกล้เคียงนมแม่มากที่สุด”

ตัวอย่างบทความประชาสัมพันธ์ เช่น

 

โฆษณา กับ นมผง

 

  ทุกคนต้องเคยได้รับคำปรึกษา จากพ่อแม่ของเด็กที่คุณหมอดูแลอยู่เสมอว่า คุณหมอจะแนะนำให้ลูกกินนมอะไรดี หมอทุกคนย่อมตอบว่านมแม่ คำถามต่อไปคือ หากนมแม่ไม่มีหรือต้องกลับไปทำงานแล้ว คุณหมอจะแนะนำให้กินนมยี่ห้อไหนดี บางคนอาจตอบว่า เอานมผงยี่ห้อที่ใกล้เคียงนมแม่มากที่สุด

นี่เป็นผลของกระแสที่โหมแรงอย่างมากของโฆษณานมผงในสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในนิตยสารแม่และเด็ก ทีวี วิทยุ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่แฝงอยู่ในงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ๆ การส่งตัวแทนจากบริษัทเข้าพบแพทย์ พยาบาลและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการให้คำแนะนำในการดูแลเด็ก เพื่อให้ข้อมูลจากการวิจัยของบริษัท ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่มีการยืนยันในความน่าเชื่อถือได้ของผลการวิจัย ยกตัวอย่างเช่น การอ้างว่านมผงที่มี DHA, ARA, กรดไซอาลิก และโคลีน จะช่วยให้เด็กที่กินนมผงดังกล่าวฉลาดและสายตาดีกว่านมผงที่ไม่ได้ใส่ หรือการอ้างว่าการใส่จุลินทรีย์แลคโตบาซิลัสลงในนมผงจะช่วยให้เด็กสุขภาพแข็งแรงกว่านมผงที่ไม่ได้ใส่

เหล่านี้ล้วนเป็นการวิจัยที่ดำเนินงานโดยบริษัทจึงทำให้ผลการวิจัยออกมาเป็นอย่างที่บริษัทต้องการ แต่หากเป็นการวิจัยที่ดำเนินการโดยผู้ไม่มีส่วนได้ผลประโยชน์ ล้วนแต่พบว่านมผงที่ใส่สารเหล่านี้ไม่ได้มีข้อดีเด่นแตกต่างจากนมผงที่ไม่ได้ใส่ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถดูดซึมสารดังกล่าวไปใช้ได้เลย เพราะในนมผงยังขาดสารที่สำคัญอีกมากมายที่จำเป็นต้องใช้ในการออกฤทธิ์ร่วม ซึ่งสารดังกล่าวมีอยู่แต่ในนมแม่เท่านั้น

เราคงต้องยอมรับว่า ยิ่งนมผงสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์ของตัวเองมากขึ้นเท่าไร ยิ่งทำให้คนหันเหอยากใช้นมผงมากขึ้นเท่านั้น เพราะการให้นมแม่ให้สำเร็จไม่ใช่เรื่องง่ายในกระแสโลกปัจจุบัน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรเร่งรีบออกมาตรการเพื่อควบคุมการโฆษณานมผงให้เข้มงวดมากกว่านี้ เพราะการที่เด็กไม่ได้กินนมแม่ ไม่ได้มีเพียงผลกระทบต่อครอบครัว สังคม หรือประเทศชาติเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ต่อวิวัฒนาการของมนุษยชาติอีกด้วย

ด้วยความปรารถนาดีจากศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย (สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ, 2550, หน้า 38)

 

ลักษณะของบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์ที่ดี

 

บทความเพื่อการประชาสัมพันธ์ที่ดีควรมีลักษณะ 4 ประการ ดังนี้

 

1.  มีเอกภาพ

 

การมีเอกภาพ คือ การที่เนื้อหาของบทความมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีทิศทางของเนื้อหาเป็นไปในทางเดียวกันกับนโยบายของหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน เนื่องจากการเขียนบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอประเด็นหลักที่หน่วยงาน องค์กร และสถาบันต้องการนำเสนอ ไม่ใช่การนำเสนอความคิดเห็นของผู้เขียนเป็นหลัก แต่เป็นการนำเสนอความคิดเห็นที่เป็นตัวแทนของหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน ซึ่งความคิดเห็นดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพลักษณ์ของหน่วยงาน องค์กร และสถาบัน  

 

2.  มีสารัตถภาพ

 

การมีสารัตถภาพ คือ การที่ผู้เขียนต้องเน้นย้ำประเด็นสำคัญให้ชัดเจนว่าต้องการประชาสัมพันธ์และนำเสนอแนวคิดสำคัญอะไร ด้วยประโยคใจความสำคัญ หรือสาระสำคัญที่โดดเด่น เนื้อความตลอดเรื่องควรกล่าวย้ำประเด็นหลักของเรื่องเสมอ ๆ

 

3.  มีสัมพันธภาพ

 

การมีสัมพันธภาพ คือ การที่เนื้อหาของบทความมีความต่อเนื่องสัมพันธ์กันโดยตลอด ทั้งในด้านการเรียบเรียงถ้อยคำ ข้อความ และการจัดลำดับเรื่อง ทุกประโยคในแต่ละย่อหน้า และทุกย่อหน้าในแต่ละเรื่องต้องเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ด้วยการใช้คำเชื่อมข้อความ ได้แก่ คำบุพบท เช่น กับ แต่ แด่ เพื่อ คำสันธาน เช่น และ รวมทั้ง ตลอดจน นอกจากนี้ คำประพันธสรรพนาม เช่น ที่ ซึ่ง อัน เป็นต้น

 

4.  มีความสมบูรณ์ 

 

       การมีความสมบูรณ์ หมายถึง มีความสมบูรณ์ในด้านเนื้อหา มีเนื้อความชัดเจนกระจ่างแจ้ง อธิบายได้ครอบคลุมความคิดหลักที่ต้องการประชาสัมพันธ์ ข้อมูลที่นำเสนอเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง หากเป็นความคิดเห็นต้องมีความสมเหตุสมผล นอกจากนี้ต้องมีความสมบูรณ์ด้านการใช้ภาษา คือ ต้องเลือกใช้ภาษาให้เหมาะสมกับจุดมุ่งหมายการเขียน  ประเภทของบทความ เนื้อหาบทความ และกลุ่มผู้อ่าน นั่นเอง

  นอกจากนี้ ยังมีลักษณะของบทความที่ดีอื่น ๆ อีก เช่น มีเนื้อหาหรือเหตุการณ์ใหม่กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วไป มีสาระแก่นสาร มีหลักฐานอ้างอิง พิสูจน์ได้  ใช้ภาษาง่าย ๆ แต่ถูกต้องตามหลักภาษา และมีวิธีการเขียนน่าสนใจ น่าติดตาม ไม่หนักเชิงวิชาการหรือเบาจนไร้สาระจนเกินไป

คำสำคัญ (Tags): #การเขียน
หมายเลขบันทึก: 276411เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2009 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากดูที่ทำเป็นแบบกรอบในเอกสาร word

การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธืงงมากๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท