รายงานการจัดประชุม KM ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี รุ่นที่ 1 (จาก 12 รุ่น)


รุ่นที่ 1 ระดับผู้บริหารและคณะกรรมการ KM

ผู้บันทึก    ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร. อารี  หลวงนา

        ระหว่างวันที่ 17 - 18 เมษายน 2549 ได้มีการลงมือปฏิบัติการจัดตลาดนัดความรู้รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จากกำหนดที่จะดำเนินการทั้งสิ้น 12 รุ่น  รุ่นแรกนี้ประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย  ข้าราชการพลเรือนมหาวิทยาลัย จำนวนทั้งสิ้น    45 คน โดยผู้บันทึกทำหน้าที่ร่วมเป็นวิทยากรกระบวนการในหัวข้อเรื่อง การจัดการความรู้สู่มหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้และองค์กรคุณภาพ  จัดขึ้นที่โรงแรมแก่งสะพือริเวอร์ไซด์  อำเภอพิบูลมังสาหาร  จังหวัดอุบลราชธานี  ซึ่งไกลจากที่ตั้งมหาวิทยาลัยประมาณ  42  กิโลเมตร  โดยตลาดนัดครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ  1) ประชุมเชิงปฏิบัติการการนำการจัดการความรู้เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้และองค์กรคุณภาพ  2) เพื่อให้เกิดกระบวนการการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรของมหาวิทยาลัย  3) เพื่อนำเทคนิคการจัดการความรู้สู่การจัดการเรียนการสอน  การพัฒนาระบบคุณภาพการปฏิบัติงาน และการบริหารจัดการภายในมหาวิทยาลัย โดยเป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ สามารถสร้างชุมชนนักปฏิบัติ (CoP) ผู้บริหารคุณภาพต่อไป

         การจัดตลาดนัดครั้งนี้  ใช้เครื่องมือด้านการจัดการความรู้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ คือ การเล่าเรื่อง  การสร้างขุมความรู้ การทำตารางแห่งอิสรภาพ การใช้ประโยชน์จากชุดเครื่องมือ    ธารปัญญาและบันไดแลกเปลี่ยนเรียนรู้  Peer  Assist  AAR  และ มีการแนะนำการใช้ Blog ให้กับผู้เข้าร่วมตลาดนัดความรู้     ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก อธิการบดี  รองอธิการบดี  คณบดี  รองคณบดี  ข้าราชการพลเรือน  รวมทั้งคณาจารย์ที่เข้าร่วมเป็นอย่างดียิ่ง เป็นบรรยากาศที่สบายและล้นด้วยความรู้ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  สามารถสรุป “แก่นความรู้” ของผู้บริหารคุณภาพ ได้ 5 แก่นความรู้ คือ  1. การมีผู้บริหาร  2. การมีผู้ปฏิบัติงาน  3. การมีการวางแผนงาน  4. การมีนวัตกรรมและการจัดการ  และ  5. การมีการประเมินผลการดำเนินงาน

         ผลจากการจัดตลาดนัดครั้งนี้ นับว่าเกิดผลประสบความสำเร็จพอควร มีเรื่องเล่า หรือความรู้ที่เป็นประสบการณ์ความสำเร็จของผู้บริหารแต่ละระดับในการบริหารงาน เช่น เรื่องการสอนงานให้กับผู้ปฏิบัติโดยไม่หวงความรู้ เพื่อให้เขาสามารถนำสิ่งนั้นมาดำเนินงานได้  การเลือก key  man  ก่อน เพื่อทำให้เกิดเครือข่ายในการทำงาน การที่ต้องเสนองานเพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงมองเห็นความสำคัญและเป็นผู้สนับสนุนการบริหารงานนั้น  การบริหารงานแบบมีส่วนร่วม  และแถมท้าย  ด้วยความรู้เรื่องการเตรียมรับประเมินภายนอกของ สมศ. และ ก.พ.ร.  ซึ่งคาดว่าผู้เข้าร่วมตลาดนัดความรู้ครั้งนี้  จะสามารถนำประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติจริงไปใช้ในการทำงานของตนเองได้

         ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการประสบความสำเร็จ คือ การที่มหาวิทยาลัยมีคุณเอื้อ (ผศ.ดร.เสทื้อน   เทพรงทอง) รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยที่ทำหน้าที่ขายหัวปลาให้กับ CEO (ผศ.เกษม  บุญรมย์)  ที่ได้มองเห็นความสำคัญว่าการจัดการความรู้ครั้งนี้จะทำให้เกิดชุมชนนักปฏิบัติหลายชุมชน โดยสนับสนุนงบประมาณการจัดกิจกรรมครั้งนี้ และนอกจากจะได้ความรู้แล้วยังทำให้เกิดความสามัคคี  ความผูกพันกันในชุมชน  นอกจากนั้น ทีมวิทยากรกระบวนการ อันประกอบด้วย รศ.อรชร   พรประเสริฐ    ดร.เสนอ  ภิรมจิตรผ่อง   อาจารย์สุวัฒน์  บรรลือ   อาจารย์ธีระ  สาธุพันธ์    ผศ.ดร.สุนทรีพร  ดวนใหญ่    ผศ.มารศรี  แนวจำปา   ผศ.ปิยกนิฏฐ์  โชติวนิช  คุณเพลินจิตต์  อุ่นเสรี  และ คุณศิรินันทน์ พรหมดำรง  ได้ทุ่มเทและเตรียมงาน เพื่อให้งานออกมาโดยสมบูรณ์   เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เตรียมงานเพื่อให้ออกมาโดยสมบูรณ์  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเป็นชุมชนนักปฏิบัติ (CoP) ร่วมกันต่อไป

         หลังจากจัดตลาดนัดในครั้งนี้แล้ว ได้มีการให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินการจัดการความรู้ในมหาวิทยาลัยต่อไปอีกว่า  เมื่อกลับไปแล้วจะนำความรู้ในกระบวนการ  KM ไปใช้ในการจัด   การเรียนการสอน ใช้ในการดำเนินการขององค์กร อยากให้มหาวิทยาลัยมีหน่วยจัดการความรู้เพื่อกระตุ้นให้กระทำจนเป็นวัฒนธรรม ควรเอา KM มาแก้ปัญหาการทำงาน เช่น ระดมความคิดเห็นในการลดขั้นตอนการลงทะเบียนของนักศึกษา บูรณาการกับภาระงานให้ได้
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 27633เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2006 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท