การฝึกอบรม


บทความเชิงวิเคราะห์เรื่องการฝึกอบรม

บทความเชิงวิเคราะห์เรื่องการฝึกอบรม

                 การเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้พวกเราเหล่ามนุษย์ทั้งหลายที่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ ต้องก้าวให้ทันยุคแห่งการเจริญเติบโตของเทคโนโลยีต่างๆมากมาย ประเทศไทยเองก็ต้องการพัฒนาประเทศ เราในฐานะทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) ของประเทศไทยจึงเป็นกำลังสำคัญหนึ่งในการพัฒนาประเทศ กระบวนการที่จะทำให้เราเป็นกำลังสำคัญอย่างสมบูรณ์ได้คือ การฝึกอบรม เพราะ เป็นการเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์ และทัศนคติของบุคลากร เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์การฝึกอบรม

                   การฝึกอบรม    คือกระบวนการที่ผู้เข้ารับการอบรมเกิดการเรียนรู้   การฝึกอบรมที่ดีจะต้องอาศัยกระบวนการหรือวิธีการ มากระตุ้นส่งเสริมการเรียนรู้ของบุคลากร ทำให้มีขวัญและกำลังใจในการทำงาน และมีความคิดริเริ่มที่จะปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น

           

               ประโยชน์ของการฝึกอบรมมีมากมายหลายประการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สามารถนำเทคนิคใหม่ๆมาปรับใช้ให้เข้ากับงาน  ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลาและกระตุ้นบุคลากรให้ปฎิบัติงานเพื่อความก้าวหน้าของตน

 

               ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ต้องมีปัญหาและอุปสรรค การฝึกอบรมก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่พบเป็นประจำคือ กำลังเจ้าหน้าที่ งบประมาณ อุปกรณ์ต่างๆ สถานที่จัด  เวลา วิทยากร ผู้บังคับบัญชา ผู้รับผิดชอบโครงการ ความร่วมมือในหน่วยงาน การประสานงาน และสุดท้ายคือ ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งเป็นบุคคลที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดต้องเป็นผู้ที่พร้อมจะเรียนรู้ ให้ความร่วมมือในกระบวนการฝึกอบรมเป็นอย่างดี

 

     กระบวนการจัดการฝึกอบรม เรียงลำดับขั้นตอนได้ดังนี้

            1.การวิเคราะห์ความต้องการในการฝึกอบรม(Needs Analysis) ต้องทำการศึกษาและวิเคราะห์ถึงความต้องการในการฝึกอบรมกลุ่มเป้าหมาย หาสาเหตุข้อบกพร่องและปัญหา สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความจำเป็นในการฝึกอบรม

            2.การตรวจสอบความต้องการ(Examine each Needs) เพราะการจัดการอบรมที่ไม่จำเป็น หรือเหมาะสม ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองงบประมาณ กำลังคน เวลา และอุปกรณ์

            3.การออกแบบโครงการฝึกอบรม(Design Training Program) ต้องคำนึงถึงลักษณะและประเภทของการจัดฝึกอบรม หัวข้อการฝึกอบรม จำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรม วิทยากรตลอดจนงบประมาณต่างๆที่ใช้ในการฝึกอบรม

            4.การนำเสนอโครงการต่อผู้บริหาร (Propose Program to Upper Management) หลังจากการทำการสำรวจ และวางแผนการฝึกอบรมแล้วต้องเสนอโครงการเพื่อรับความเห็นชอบจากผู้บริหารระดับสูงก่อนเพื่อปรับปรุงโครงการให้เหมาะสม

            5.การจัดวางระเบียบในการดำเนินงาน (Issue Regultions on Training) ต้องจัดวางระเบียบต่างๆให้เหมาะสมกับบุคคลทั้งด้านความรู้และความสามารถ

            6.การฝึกอบรม (Training) เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจหรือคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย ติดต่อวิชาการ สถานที่และเตรียมพร้อมการเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น การปรับเปลี่ยนเวลา สถานที่ และวิทยากรให้เป็นไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์

            7.การประเมินผล (Evalation) ผู้ฝึกอบรมจะทำการเก็บข้อมูลและประเมินผลเพื่อตรวจสอบดูว่าการฝึกอบรมบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือว่ามีปัญหาและอุปสรรค์ขึ้น ระหว่างการดำเนินการ เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น

            8.การติดตามผล (Follow up) การติดตามผลของการฝึกอบรมว่าประสมความสำเร็จหรือไม่เพียงใด ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยใช้วิธีต่างๆในการประเมิน

 

               วิธีการฝึกอบรม มีให้เลือกตามความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

            1.  การบรรยาย (Lecture) การบรรยายที่มีประสิทธิภาพ ผู้บรรยายต้องมีความรู้และมีทักษะในการพูด ประการสำคัญที่สุด ผู้บรรยายต้องมีความสามารถในการสร้างบรรยากาศ จูงใจผู้ฟังตลอดเวลา เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจได้มากที่สุด

            2.  การประชุม (Conterence) นิยมใช้ในการฝึกอบรมบุคลากรที่มีความรู้ และผู้บริหารตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และความคิดเห็นระหว่างกันเพื่อแก้ไขปัญหา ตลอดจนการซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติงานที่ดำเนินไปแล้ว

            3.   การแสดงบทบาทสมมติ (Role Playing) จัดให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมแสดงบทบาทสมมติให้เหมือนอยู่ในสถานการณ์จริง เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน ดึงดูดความสนใจ เกิดความคุ้นเคยและสนิทสนมระหว่างผู้เข้ารับการอบรมเป็นอย่างดี การอบรมแบบนี้เป็นการเรียนรู้โดยลงมือปฏิบัติ

            4.   การใช้กรณีศึกษา (Case Study) การนำเอาปัญหาซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงหรือสมมติขึ้น พร้อมทั้งข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญ ให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทำการศึกษา และวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา

            5.  การสาธิต ( Demonstration ) เป็นการฝึกอบรมโดยแสดงตัวอย่างจริงพร้อมทั้งอธิบาย และให้ผู้เข้ารับการอบรมฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและจดจำ สามารถนำไปใช้ได้จริงในการปฏิบัติงาน

6. การสัมมนา ( Seminar ) มีการกำหนดประเด็นที่จะพิจารณา และเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างเสรีโดยผู้ดำเนินการอภิปรายทำหน้าที่ดูแลให้การแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนาอยู่ในขอบเขตและแนวทางที่วางไว้การฝึกงานในสถานการณ์จริง(On the job Training ; OJT)

ใช้กับบุคลากรใหม่หรือบุคลากรในระดับปฏิบัติงาน มีการสอนงานและทดลองปฏิบัติในสถานที่จริง เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย เช่นการฝึกอบรมทางเทคนิคการฝึกความชำนาญ การสอนงาน

 

     การประเมินการฝึกอบรม นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะเราจะทราบว่าผลการดำเนินงานการฝึกอบรมว่าประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์เพียงใดและต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไรในอนาคต การฝึกอบรมจะทำการประเมินผลโครงการฝึกอบรมประเด็นต่างๆ ดังนี้

1.      โครงการมีประสิทธิภาพอย่างไร สมควรปรับปรุงอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุก

ฝ่าย

2.      ผู้ร่วมโครงการ มีพัฒนาการตามความต้องหรือไม่ โดยทำการประเมินผลก่อนหน้าระหว่าง

และหลังโครงการ

3.      วัตถุประสงค์ ผู้จัดโครงการประเมินผลลัพธ์ที่ได้ตรงกับเป้าหมายว่าสอดคล้องกับความ

ต้องการหรือไม่ ต้องปรับปรุงหรือพัฒนาอย่างไร เพื่อให้การฝึกอบรมสอดคล้องกับความต้องการที่ตั้งไว้

4.      หน่วยงาน สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพียงใดเพื่อนำ

ข้อมูลที่ได้มาพัฒนาหน่วยงานให้มีศักยภาพและตอบสนองความต้องการด้านการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรขององค์การให้สูงขึ้น

                  ขอฝากความคิดเห็นส่วนตัวที่เคยเป็น ผู้เข้ารับการฝึกอบรม มาหลากหลายโครงการ ทำให้เห็นความศูนย์เปล่าของงบประมาณที่ทางราชการทุ่มลงไป เพราะ การที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับความรู้ ได้รับการพัฒนา  เพิ่มพูนประสบการณ์ต่างๆ  แต่ไม่นำไปปรับใช้ก็ย่อมไม่มีประโยชน์อะไรเลยเป็นการ ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เสียมากกว่า จึงของฝากคนไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ช่วยทำตนให้สมกับเงินที่ประชาชนจ่ายให้เราในโครงการต่างๆที่จัดขึ้นเพื่อฝึกอบรม

หมายเลขบันทึก: 275406เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009 13:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 00:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ก็น่าทำตามอีกนั่นแหละ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท