ถึงนิสิต ป.โท สาขาการประกันคุณภาพการศึกษา


กิจกรรมหลักของการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาใน UK คือ “การประเมิน” ในระดับต่างๆ เพื่อนำผลมาพิจารณาว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานและคุณภาพขั้นต่ำหรือไม่ (Quality Assurance, QA) และจะทำการพัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้นได้อย่างไร (Quality Enhancement, QE) ซึ่งขณะนี้รอบของการประเมินเข้าสู่ปลายรอบที่สามแล้ว และกำลังเตรียมการสำหรับรอบที่สี่ที่เรียก a six - year cycle ซึ่งจะเริ่มในปี ค.ศ.2006
         วันเสาร์ที่ 27 ส.ค.48 ผมจะต้องไปสอนนิสิตปริญญาโท สาขาการประกันคุณภาพการศึกษา ที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในหัวข้อ “การประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา” จึงอยากจะมอบหมายงานให้นิสิตอ่านบทความนี้ และบทความที่เกี่ยวกับ QA, NUQA และ กพร. ที่ผมเคยเขียนลง blog ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ก่อนถึงวันเรียนด้วยครับ

(รายงานการศึกษาดูงานที่อังกฤษและเยอรมันกับ QA Forum (ทปอ.) ระหว่างวันที่ 17-26 พ.ค. 47)
QAA กับการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาในสหราชอาณาจักร

ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร
(ฉบับแก้ไขเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 47)

ความเป็นมาของระบบประกันคุณภาพการศึกษาในสหราชอาณาจักร :

         สหราชอาณาจักร (United Kingdom, UK) ได้เริ่มใช้ระบบประกันคุณภาพ (quality assurance, QA) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 นับถึงเวลานี้ (ค.ศ. 2004) ก็เป็นเวลาประมาณ 13 ปี กิจกรรมหลักที่ดำเนินการในระยะแรกมี 2 กิจกรรม โดยมี 2 องค์กรการประกันคุณภาพแยกกันดำเนินการประกันคุณภาพภายนอก คือ 

         (1) การตรวจสอบคุณภาพ (quality audit) อยู่ในความรับผิดชอบของสภาคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา (Higher Education Quality Council : HEQC, ซึ่งก่อนหน้านี้เรียก Academic Audit Unit : AAU) ซึ่งถูกก่อตั้งโดยที่ประชุมอธิการบดีของสหราชอาณาจักร (Vice Chancellors and Principals Committee : VCPC, ซึ่งในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Universities UK : UUK) รับผิดชอบในการตรวจสอบโดยภายนอกทั่วทั้งสหราชอาณาจักรเพื่อประกันว่า สถาบันอุดมศึกษาจะมีระบบและกลไกที่เหมาะสมในการควบคุมคุณภาพ เป็นการตรวจสอบเพื่อดูภาพรวมของทั้งสถาบัน พร้อมรายงานเสนอแนะโดยไม่มีการจัดระดับของคุณภาพ 

         (2) การประเมินคุณภาพ (quality assessment) อยู่ในความรับผิดชอบของสภาการจัดสรรงบประมาณ (Funding Councils) ซึ่งมีหน่วยงาน 4 หน่วย แยกกันดำเนินงานตามพื้นที่ที่รับผิดชอบ คือ 

         ก.สภาการจัดสรรงบประมาณของสกอตแลนด์ (Scottish Higher Education Funding Council – SHEFC) 

         ข.สภาจัดสรรงบประมาณของอังกฤษ (Higher Education Funding Council for England – HEFCE) 

         ค.สภาจัดสรรงบประมาณของเวลส์ (Higher Education Funding Council for wales – HEFCW) 

         ง.กระทรวงการศึกษาของไอร์แลนด์เหนือ (Department of Education for Northern Ireland – DENI) 

         การประเมินคุณภาพนี้เน้นที่การทบทวนและตัดสินผลโดยภายนอกเกี่ยวกับคุณภาพของการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาเป็นหลัก ดำเนินการโดยหน่วยงานอิสระซึ่งเรียกว่า Quality Assessment Divisions (QADs) (ถูกจัดตั้งโดย Funding Councils) ซึ่งจะมีการประเมินคุณภาพของสาขาวิชา / กลุ่มวิชาต่าง ๆ ในแต่ละสถาบันพร้อมรายงานผลและมีการจัดระดับของคุณภาพ (รายละเอียดจะมีอยู่ในช่วงหลัง)

การก่อตั้ง QAA : 

         The Quality Assurance Agency for Higher Education (QAA) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1997 (สมศ. ของประเทศไทยถูกก่อตั้งในปี ค.ศ.2000) เพื่อเป็นการรวมงานจาก HEQC และ QADs มาดำเนินการภายใต้องค์กรเดียวกันเพื่อความเป็นเอกภาพในการดำเนินงาน QAA เป็นองค์กรอิสระที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักร (ประมาณ 30 % ของรายได้ทั้งหมด) จากองค์กรจัดสรรงบประมาณสำหรับการอุดมศึกษาต่าง ๆ (ประมาณ 60%) และจากแหล่งอื่น ๆ (ประมาณ 10%) ปัจจุบันมีสำนักงานอยู่ 2 ที่คือ ที่เมือง Gloucester (สำนักงานใหญ่) และที่เมือง Glasgow (สำนักงานที่สกอตแลนด์) มีพนักงานทั้งหมดประมาณ 100 คน งบประมาณในปี ค.ศ. 2003 ประมาณ 600 – 700 ล้านบาท (£9M) ซึ่งแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับพนักงาน (ประมาณ 40% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด) สำหรับผู้ประเมิน (ประมาณ 20%) สำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการประเมิน (ประมาณ 15%) และค่าใช้จ่ายจิปาถะ (ประมาณ 25%) สามารถศึกษารายละเอียดได้ใน Annual Report 2002 – 2003 (
http://www.qaa.ac.uk)


พันธกิจของ QAA : 

         พันธกิจของ QAA คือ (1) ปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะเพื่อให้มีหลักประกันว่าคุณวุฒิต่าง ๆ จากสถาบันอุดมศึกษาจะได้ “มาตรฐาน” ที่ดี และ(2) กระตุ้นให้เกิดการพัฒนา “คุณภาพ” ของการบริหารจัดการ (โดยเน้นด้านการจัดการเรียนการสอน) ภายในสถาบันอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง 

         กล่าวคือ เน้นที่คุณวุฒิต่าง ๆ ต้องได้มาตรฐานที่เท่าเทียมกันทั้งสหราชอาณาจักร และกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ให้กับนักศึกาต้องมีคุณภาพและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเพื่อให้บรรลุซึ่งพันธกิจนี้ QAA ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ผู้จัดสรรงบประมาณ คณาจารย์และนักศึกษา นายจ้างและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดได้ใน Strategic plan 2003 – 2005 (
http://www.gaa.ac.uk)


กิจกรรมสำคัญของ QAA :

กิจกรรมสำคัญของ QAA คือ 

         (1)ตรวจสอบและประเมินคุณภาพภายนอกระดับสถาบัน (Academic Quality Audit) และระดับสาขาวิชา (Subject level review) (รวมทั้งหลักสูตรต่าง ๆ ที่เปิดสอนหรือร่วมมือกับสถาบันอื่นเปิดสอนในต่างประเทศด้วย) 

         (2)พัฒนาและรักษา academic infrastructure 

         (3)ให้คำแนะนำรัฐบาลเกี่ยวกับการขอเป็นมหาวิทยาลัยและการมีอำนาจในการมอบปริญญาบัตรของสถาบันอุดมศึกษา 

         (4)ให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา


ตัวอย่างกิจกรรมการประเมินภายนอกของ QAA : 

         การประเมินภายนอกของ QAA ในอังกฤษ ในสกอตแลนด์ ในเวลส์ และในไอร์แลนด์เหนือ จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างเฉพาะการประเมินภายนอกของ QAA ในอังกฤษ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตให้พอเห็นพัฒนาการ ดังนี้


การประเมินภายนอกที่ผ่านมา : 

         1.การตรวจสอบคุณภาพทางวิชาการ (Academic quality audit) เป็นการตรวจสอบระดับสถาบัน (ดังได้กล่าวครั้งหนึ่งแล้วในตอนต้น) ในช่วงปี ค.ศ.1991-1997 นั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ HEQC รับผิดชอบในการตรวจสอบ นับเป็นการตรวจสอบรอบแรก (the first round of audits) จากนั้นในปี ค.ศ.1998-2002 เป็นการตรวจสอบในรอบที่สอง (a second round) ซึ่งใช้ชื่อการตรวจสอบว่า continuation audit รอบสองนี้ QAA รับผิดชอบในการตรวจสอบ โดยเน้นที่ quality strategy, academic standards, learning infrastructure และ communications 

         2.การประเมินคุณภาพการเรียนการสอน (Teaching quality assessment and subject review) การประเมินชนิดนี้เริ่มต้นในปี ค.ศ.1993 (ก่อนที่จะมีการจัดตั้ง QAA) ดำเนินการโดยสภาจัดสรรงบประมาณต่าง ๆ (รายละเอียดดังกล่าวแล้วในตอนต้น) ซึ่งวิธีการจะแตกต่างกันแล้วแต่พื้นที่ (สกอตแลนด์ อังกฤษ เวลส์ ไอแลนด์เหนือ) และช่วงเวลาที่ทำการประเมิน เช่น กรณีของอังกฤษ จากปี ค.ศ.1993-1995 การประเมินชนิดนี้จะเน้นที่ student learning experience และ student achievement ซึ่งแต่ละสาขาวิชาที่ถูกประเมินจะได้รับผลประเมินเป็น excellent, satisfactory หรือ unsatisfactory ต่อมา จากปี ค.ศ.1995-2001 การประเมินชนิดนี้จะเน้นไปที่ความพร้อมสำหรับการจัดการเรียนการสอนรวม 6 ด้าน แต่ละด้านจะได้รับผลการประเมิน 1-4 รวมคะแนนเต็มที่แต่ละสาขาวิชาจะได้รับคือ 24 คะแนน เป็นต้น คะแนนที่แต่ละสาขาวิชาได้รับจากการประเมินนี้สามารถนำมาเทียบเคียงและจัดระดับของคุณภาพได้


การประเมินภายนอกในปัจจุบันและอนาคต : 

         การประเมินภายนอกของอังกฤษในปัจจุบันที่ดำเนินการโดย QAA แบ่งเป็น 4 กิจกรรมที่สำคัญ คือ 

         1. Institutional audit เป็นกิจกรรมหลักที่สำคัญที่สุด เริ่มในปี ค.ศ.2003 เพื่อทดแทนระบบเดิมที่เรียก continuation audit, universal subject review และ institutional-level review นับเป็นการตรวจสอบแบบใหม่รอบแรก (the first round of new-style audit) สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต้องได้รับการประเมินประเภทนี้ภายในระหว่างปี ค.ศ.2003-2005 ซึ่งนับเป็นช่วงที่มีการปรับเปลี่ยน (initial 3 year transition period) และตั้งแต่ ค.ศ.2006 เป็นต้นไปก็จะมีการปรับใหม่เป็นให้มีการประเมินทุก 6 ปี (a six-year cycle) 

         สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่ที่จะต้องจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายใน มีการประเมินภายในโดยใช้ผู้ประเมินจากบุคคลภายนอก มีการผลิตเอกสารที่เกี่ยวกับมาตรฐานและคุณภาพของสถาบันที่ชัดเจนและเผยแพร่ให้กับนักเรียนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ (มิใช่เพียงแค่เอกสาร prospectus ที่ใช้สำหรับการประชาสัมพันธ์) ซึ่ง QAA จะมาตรวจสอบระหว่างการประเมินว่าข้อความต่าง ๆ เป็นจริงหรือว่ามีการบิดเบือน นอกจากนี้สถาบันยังจะต้องจัดให้มีการสำรวจความคิดเห็นจากนักศึกษา โดยสรุปแล้วการวางระบบประกันคุณภาพภายในนี้ถือว่ามีความสำคัญยิ่ง QAA จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยมากน้อยขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการดำเนินการประกันคุณภาพภายในของแต่ละสถาบัน (ถ้าประสบความสำเร็จดี QAA ก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวมาก) 

         ก่อนการประเมินภายนอกแต่ละครั้ง สถาบันอุดมศึกษายังจะต้องจัดทำเอกสารประเมินตนเอง (self-evaluation documents, SEDs) ฉบับหนึ่งสำหรับระดับสถาบัน (institutional level) และอีกฉบับหนึ่งเป็นตัวอย่างของระดับสาขาวิชา (disciplines) (เพื่อใช้ประกอบการทดสอบที่เรียก Discipline Audit Trails, DATs) ตัวแทนนักศึกษาจะเข้ามามีส่วนร่วมสำคัญในการประเมิน มีการให้ตัวแทนนักศึกษาเขียน “Student written submission” ส่งให้ผู้ประเมินภายนอกด้วย นอกจากเอกสารเหล่านี้ ยังมีเอกสารที่ทั้งสถาบันและผู้ประเมินจะต้องใช้ร่วมกันในการอ้างอิงระดับชาติ (common national reference points) คือ Framework for HE Qualifications, Code of Practice, Subject benchmark statements และ Published programme specifications 

         ผลการประเมินโดยรวมจะได้ รับเป็น “broad confidence”, “limited confidence”, หรือ “no confidence” และมีการจัดทำรายงานสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้สนใจโดยทั่วไปแตกต่างกันตามความเหมาะสมของแต่ละที่ 

         2. Developmental engagements เป็นกิจกรรมสำหรับเตรียมความพร้อมในช่วงปรับเปลี่ยนระหว่างปี ค.ศ.2003-2005 ก่อนที่ระบบประเมินภายนอกที่เรียก the six-year cycle จะเริ่มต้นในปี ค.ศ.2006 เป็นกิจกรรมความร่วมมือระหว่างสถาบันกับ QAA เพื่อที่จะทดสอบความเข้มแข็งของกระบวนการการประเมินภายในในระดับ discipline (เช่นทุกสาขาวิชาของวิศวกรรมศาสตร์) และในระดับ programme (เช่นเฉพาะสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า) เน้นการมีส่วนร่วมจากนักศึกษาเช่นกัน ผลการประเมินอาจเป็น “confidence” หรืออย่างอื่น ๆ แต่การจัดทำรายงานผลการประเมินประเภทนี้สามารถเก็บเป็นความลับภายในสถาบันอุดมศึกษา QAA และ HEFCE (ไม่จำเป็นต้องมีการเผยแพร่โดยทั่วไป) 

         3. Academic review of subjects ในช่วงปรับเปลี่ยนระหว่างปี ค.ศ.2003-2005 สถาบันอาจได้รับการประเมินประเภทนี้ด้วยเช่นกัน โดยเน้นไปที่มาตรฐานทางวิชาการ และคุณภาพของการจัดการเรียนการสอนในระดับ subject areas ประเมินโดยการเทียบเคียงสภาพจริงกับที่ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ มีการจัดทำ SED และเน้นการมีส่วนร่วมของนักศึกษา ผลการประเมินแยกเป็น “Confidence” “Limited confidence” หรือ “No Confidence” และมีการจัดทำรายงานเพื่อเผยแพร่ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้สนใจโดยทั่วไป 

         4. Major review of NHS - funded healthcare programmes การประเมินนี้เน้นความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนทั้งที่อยู่ภายในแหล่งฝึก (a practice setting) และที่อยู่ภายในสถาบัน เป็นความร่วมมือระหว่าง QAA กับ The department of health (England) เพื่อประเมินทุกสาขาวิชาที่ได้รับการจัดสรรทุนสนับสนุนจาก National Health Service (NHS) ในช่วงปี ค.ศ. 2003 – 2006 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสาขาทางการพยาบาล มีการจัดทำ SED ด้วยเช่นกัน ผลการประเมินแยกเป็น “Confidence” หรือ “No Confidence” มีการจัดทำรายงานให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และเน้นการนำผลการประเมินมาปรับปรุงแผนการดำเนินงานและสนับสนุนให้มีการจัดทำ best practice


การประกันคุณภาพภายนอกอื่นๆ : 

         1. การประเมินด้านวิจัย (The Research Assessment Exercise, RAE) เป็นการประเมินคุณภาพของงานวิจัยของแต่ละมหาวิทยาลัย จุดประสงค์หลักของการประเมินก็คือ ต้องการนำผลการประเมินมาพิจารณาจัดสรรเงินทุนสำหรับสนับสนุนการวิจัยโดยจัดสรรให้มากน้อยตามคุณภาพของผลงานวิจัย องค์กรที่รับผิดชอบ คือ UK funding councils ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนกระบวนการที่ใช้ในการดำเนินงาน ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดและติดตามความก้าวหน้าต่อไปที่ได้ที่ http://www.hero.ac.uk และ www.hefce.uk 

         2. การให้การรับรองโดยองค์กรวิชาชีพ (Accreditation by professional, regulatory and statutory bodies) หลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณวุฒิทางด้านวิชาชีพ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ กฎหมาย หรือแพทย์ จะต้องได้รับการรับรองโดยองค์กรวิชาชีพในสาขานั้นๆ เพิ่มเติมด้วย


ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ :

         1. ระบบประกันคุณภาพการศึกษาของ UK เริ่มต้นในปี ค.ศ.1991 ก่อนประเทศไทยประมาณ 5 ปี (ทบวงมหาวิทยาลัย ได้ประกาศนโยบายและแนวทาง QA ในปี ค.ศ. 1996; มีพ.ร.บ. การศึกษา 2542 ในปี ค.ศ.1999 และ สมศ.ในปี ค.ศ.2000) กิจกรรมหลักของการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาใน UK คือ “การประเมิน” ในระดับต่างๆ เพื่อนำผลมาพิจารณาว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานและคุณภาพขั้นต่ำหรือไม่ (Quality Assurance, QA) และจะทำการพัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้นได้อย่างไร (Quality Enhancement, QE) ซึ่งขณะนี้รอบของการประเมินเข้าสู่ปลายรอบที่สามแล้ว และกำลังเตรียมการสำหรับรอบที่สี่ที่เรียก a six - year cycle ซึ่งจะเริ่มในปี ค.ศ.2006 จะเห็นว่าตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนวิธีการและหน่วยงานที่รับผิดชอบในการประเมินในแต่ละรอบค่อนข้างมาก แต่ทุกฝ่ายก็ต้องให้ความร่วมมือด้วยดี เพราะนอกจากจะมีการเผยแพร่ผลการประเมินอย่างจริงจังและตรงไปตรงมาแล้วยังจะมีผลต่อการจัดสรรงบประมาณด้วย ในประเด็นนี้ ของประเทศไทยแม้จะมีสภาพบังคับตามกฎหมายก็จริงแต่ว่าบทลงโทษหรือผลของการทำดียังมีความชัดเจนน้อยกว่าของ UK 

         2. การประเมินที่ UK ทำกันอย่างจริงจังมาก มีทั้งการประเมินเพื่อดูระบบและกลไกการประกันคุณภาพในระดับสถาบัน ดูมาตรฐานและคุณภาพของการจัดการเรียนการสอนในระดับสาขาวิชา ดูคุณภาพของงานวิจัย ดูว่าควรจะรับรองคุณภาพตามมาตรฐานขององค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งการประเมินต่างๆ เหล่านี้จะมีทีมผู้ประเมินต่างๆ แยกกันมาประเมินโดยมีวัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมายของการประเมินที่ชัดเจนและแตกต่างกันไปในแต่ละทีมผู้ประเมิน ในประเด็นนี้ ผู้ประเมินของประเทศไทยทีมเดียวต้องประเมินทุกด้าน (9 องค์ประกอบ และ/หรือ 8 มาตรฐานของทบวงมหาวิทยาลัยและ สมศ. ตามลำดับ) 

         3. การสื่อสารเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย ขั้นตอนและวิธีการประเมิน common national reference points คำนิยามต่างๆ รวมทั้งการจัดทำรายงานผลการประเมินในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดทำเอกสารและ Website ที่ช่วยทำให้เกิดคามเข้าใจที่ตรงกันได้ดีมาก มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อทั้งผู้ประเมิน ผู้รับการประเมิน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ และผู้สนใจโดยทั่วไป ที่จะได้ทำความเข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินได้อย่างถูกต้อง (สังเกตจากเอกสารต่างๆ ที่แจกระหว่างการศึกษาดูงานและ Website ของ QAA) ในประเด็นนี้ ของประเทศไทยเรายังมีโอกาสได้ช่วยกันพัฒนาอีกมาก 

         4. สภาการจัดสรรงบประมาณเพื่อการอุดมศึกษา (Higher Education Funding Councils) ต่าง ๆ ของ UK เข้ามามีทั้งอิทธิพลและบทบาทสำคัญอย่างมากในการประเมินภายนอกระดับสาขาวิชาโดยเน้นที่ (ก.) มาตรฐานของคุณวุฒิต่างๆ ต้องเท่าเทียมกันทั้งสหราชอาณาจักร (รวมทั้งที่ไปเปิดสอนที่ต่างประเทศด้วย) และ (ข.) คุณภาพของการจัดการเรียนการสอนรวมทั้ง academic intrastructure ต้องอยู่ในขั้นดีที่เป็นที่ยอมรับได้และต้องมีระบบและกลไกที่จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องนี้สภาการจัดสรรงบประมาณจับติดมาโดยตลอดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 ทำให้มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตเป็นอย่างมาก ในปัจจุบัน (เริ่มปี ค.ศ.2000) นอกจากจะยังคงให้มีการประเมินระดับนี้ (แต่ลดความเข้มข้นลงสำหรับหน่วยงานที่มีผลการประเมินที่ดีอยู่แล้ว) แล้วยังมีการจัดสรรงบประมาณให้มีการจัดตั้งเครือข่ายสนับสนุนการเรียนการสอน (Learning & Teaching Support Network, LTSN) และจัดให้มีศูนย์ความเป็นเลิศของการเรียนการสอน (Centres for excellence in Teaching and Learning, CETL) ในแต่ละด้านกระจายกันไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ รวม 24 ศูนย์ เพื่อสร้างความเป็นเลิศและสนับสนุนให้มีการจัดการเรียนการสอนตามปฎิบัติการที่ดี (good practice) ตัวอย่างเช่น ทางด้านเศรษฐศาสตร์ สามารถติดตามความก้าวหน้าของศูนย์ได้ที่ www.econmics.ltsn.ac.uk ในประเด็นนี้ในประเทศไทยเรายังไม่มีหน่วยงานใดจับติดอย่างจริงจัง สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องรีบดำเนินการทั้งในระดับประเทศ และในระดับภายในแต่ละมหาวิทยาลัยเอง 

         5. การประเมินภายนอกด้านการวิจัยที่จัดโดย The Research Assessment Exercise (RAE) เป็นเรื่องที่น่าสนใจเช่นกัน โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะต้องคัดเลือกและส่งผลงานวิจัยของคณาจารย์ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งแบ่งได้เป็น 68 สาขาไป เพื่อได้รับการประเมินจาก academic peers ซึ่งผลการประเมินจะแบ่งออกเป็น 7 ระดับ คือ1, 2, 3b, 3a, 4, 5, 5* ผลการประเมินที่ได้จะถูกนำไปใช้ในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการวิจัย (£ 940 M หรือประมาณ 70,000 ล้านบาท) ตามอัตราส่วนดังนี้ 0, 0, 0, 0, 1.00, 2.79, 3.36 (ได้มากน้อยตามผลการประเมิน และอาจไม่ได้รับการสนับสนุนเลยก็ได้ถ้าผลงานไม่ดี) นอกจากนี้ยังมีการกำหนดมาตรฐานของการให้เงินทุนสนับสนุนนักศึกษาระดับปริญญาเอกเพื่อทำการวิจัยด้วย ในประเด็นต่างๆ เรื่องการวิจัยนี้จะต่างกับที่ปฏิบัติอยู่ในประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง ข้อเสนอแนะในที่นี้คือการจัดทำกรอบนโยบายการวิจัยทั้งในระดับชาติและระดับมหาวิทยาลัย การให้การสนับสนุนด้านการเงิน และการติดตามเพื่อประเมินผลการดำเนินงานด้านการวิจัยของประเทศไทยสมควรได้รับการทบทวนอย่างเร่งด่วน เพื่อพลิกทำให้การวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาตัวมหาวิทยาลัยเองและประเทศชาติให้ได้ 

         6. มีงานในหน่วยงานหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความสำคัญมากใน UK แต่ยังมองไม่เห็นในประเทศไทย คือหน่วยงานที่ทำหน้าที่แจกแจงประเภทของสาขาวิชา และรวบรวมสถิติที่สำคัญด้านอุดมศึกษา ที่เห็นว่า สำคัญมากเพราะจะมีส่วนสนับสนุนให้การประเมินต่างๆ เป็น evidence based มากกว่าที่เป็นไปโดยใช้วิจารณญาณของผู้ประเมินแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งจะมีผลทำให้การเทียบเคียงเพื่อจัดสรรงบประมาณและการจัดลำดับต่าง ๆ ก็น่าจะมีความยุติธรรมและน่าเชื่อถือมากขึ้น ใน UK จะมีการให้นิยามและแบ่งกลุ่มสาขาวิชาตามระบบที่เรียก Joint Academic Coding System (JACS) สถิติต่างๆ ที่เกี่ยวกับอุดมศึกษา ก็จะถูกรวบรวมอย่างเป็นระบบโดยหน่วยงานที่ชื่อ Higher Education Statistics Agency (HESA) ซึ่งผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ได้ที่ http://www.hesa.ac.uk 

         7. นอกจากนี้ยังมีข้อที่น่าสังเกตและน่าสนใจที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยได้อีกมาก เช่น ประเด็นเกี่ยวกับกำหนดการและขั้นตอนการประเมินภายนอกโดย QAA การคัดเลือกและคุณสมบัติของผู้ประเมิน การเขียน SED การจัดทำ Written submissions โดยนักศึกษา การจัดเตรียมข้อมูลที่สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต้องจัดให้มี เกณฑ์การตัดสินต่างๆ เอกสารต่างๆ ที่ใช้เป็น External reference points เป็นต้น รายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาดูได้จาก Handbook for institutional audit : England ซึ่งพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มตั้งแต่ปี ค.ศ.2002 และมีอยู่ใน website http://www.qaa.ac.uk ด้วยเช่นกัน 

         วิบูลย์ วัฒนาธร 

คำสำคัญ (Tags): #qaa#uk#qa
หมายเลขบันทึก: 2754เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2005 09:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอโทษนะครับ...คือพอจะมีข้อมูล รายละเอียดเกี่ยวกับการประกันคุณภาพทางการศึกษาของประเทศสกอตแลนด์มั๊ยครับ พอดีว่าตอนนี้กำลังหาข้อมูลทางด้านนี้อยู่เพื่อทำรายงาน แต่ไม่ค่อยมีข้อมูลเลย รบกวนด้วยนะครับ ขอบคุณครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท