วิถีชุมชนหรือการกดขี่ : เด็กดีต้องบริการผู้ใหญ่ในงานเลี้ยง


การแยกพื้นที่ (space) ระหว่างหญิงและชาย โดยให้หญิงมีบทบาทเป็นผู้บริการผู้ชาย สำหรับผม มีความหมายซ่อนเร้นคล้ายคลึงกับการแยกพื้นที่ (space) ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ที่ให้เด็กมีบทบาทเป็นผู้บริการผู้ใหญ่ นั่นก็คือ ความสัมพันธ์ดังกล่าวสะท้อนภาพ ความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่ ผู้น้อย หรือระบบวัยวุฒิ รวมถึงคุณวุฒิในสังคมไทย ซึ่งฝังรากอยู่ลึกมาก และมีทั้งส่วนดี และส่วนเสีย โดยที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า มันเป็นลักษณะร่วมของผู้คนในภูมิภาคนี้ ถ้าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ วิจัย เรียนรู้และพัฒนาอย่างสันติในภูมิภาคนี้ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับตัว ปรับหัวคิด ให้กลมกลืนกับอารยธรรมพื้นฐานเช่นนี้ และรู้จักมองมันอย่างสวยงาม อย่างค้นหาความหมายและอย่างเคารพในคุณค่ามากขึ้น

                บ่ายวันนี้ (7 พ.ค. 49)ผมมีโอกาสไปร่วมงานกิจกรรมยาวชนมัคคุเทศก์น้อยในหมู่บ้านหนึ่งของอำเภอปางมะผ้า  พอพักเที่ยง ชาวบ้านก็นำอาหารมาแจกจ่ายให้กับเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่มาร่วมงาน ซึ่งมีทั้ง นักวิจัย นักพัฒนาเอกชน  ผู้นำชุมชน 

                 รุ่นน้องผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำงานองค์กรเอกชนก็ตั้งคำถามกับผมว่า ทำไม ผู้ใหญ่ต้องกินก่อนเด็ก เธอว่าที่ถูกต้องคือเด็กควรได้รับการดูแลจากผู้ใหญ่ ผู้นำกิจกรรมที่เป็นผู้ใหญ่ ควรต้องดูแลความเรียบร้อยให้เด็กๆได้รับประทานอาหารก่อน แล้วตัวเองค่อยกินทีหลัง จึงจะมีสปิริต

                  ณ  เวลานั้น ผมคิดอะไรไม่ออก ตามประสาคนคิดช้า ก็เออออห่อหมกไปกับเขา แต่ผมว่าการตั้งคำถามของน้องผู้หญิงคนนี้มีนัยยะที่น่าสนใจ กับมาบ้าน ก็เลยมาทบทวนต่อ คิดเอาคนเดียว เพราะขี้เกียจไปเถียงกับใคร

                   ผมคิดว่า ถ้าเป็นตะวันตกล่ะก็  สปิริตอย่างที่เธอว่าก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้  แต่ในโซนเอเซีย อารยธรรมซีกโลกตะวันออกนี้ ความอาวุโส เป็น Social Order หรือหลักเกณฑ์ทางสังคมที่แข็งแกร่งมาก ซึ่งผมเห็นว่านักวิจัยและพัฒนาจะมองข้ามเงื่อนไขนี้ไปไม่ได้เลย

                     เรียกได้ว่า ถ้าจะลงไปทำงานชุมชน ลอง ข้ามหน้าข้ามตาผู้หลักผู้ใหญ่ ไม่มีสัมมาคาราวะต่อผู้สูงอายุ  หรือทำอะไรผิดฮีตฮอยในชุมชนล่ะก็ แม้ว่าเหตุผลของเราจะถูกต้องตามหลักสากล  แต่นี่มันคนละพื้นที่ คนละบริบท  ถ้าไปแย้งกับหลักของชุมชนมากๆ ก็เตรียมม้วนเสื่อกลับบ้านได้เลย

                       ไม่ใช่ว่าชาวบ้านไร้เหตุผล หรือป่าเถื่อน กดขี่ผู้หญิงและเด็ก แต่ผมว่า เพียงแค่เราเห็นกิจกรรมบางกิจกรรมเช่นนี้ แล้วเราจะนำมาด่วนสรุปไม่ได้ เพราะจะบิดเบือนได้ง่ายมาก

                      ผมเห็นว่า ที่ชาวบ้านเขาทำ เขาก็มีเหตุผลในแบบของเขา  ในบริบทที่มีมิติทางสังคมวัฒนธรรมประวัติศาสตร์เฉพาะตัวของเขา อย่างผมเคยไปถามชาวเมี่ยน (เย้า) ทั้งหญิงและชาย ว่าเวลามีแขกมาบ้าน  ถ้าผู้นำครอบครัว (ชาย) อยู่บ้าน ทำไมไม่ให้ผู้หญิงมานั่งคุยกับแขก หรือร่วมกินร่วมดื่มในวงเดียวกัน ทำไมต้องแยกวงหญิงชาย ผู้ใหญ่เด็กด้วย

                          คำตอบจากผู้หญิงเมี่ยนว่า มันเป็นหน้าที่ของผู้หญิง และเธอก็มีความสุขมากกว่าที่ได้อยู่ในครัว กับเด็กๆอย่างเป็นกันเอง มากกว่าต้องออกไปนั่งคุยเรื่องการงานกับแขกผู้ชายซึ่งพวกเธอไม่ค่อยถนัด ยิ่งผู้ชายต่างบ้านมาถึงเรือน ไม่รู้หัวนอนปลายเท้าดีพอ ก็อาจจะล่อลวงหญิงสาวไปในทางไม่ดีได้

                         หลักเกณฑ์ดังกล่าวคลอนแคลนไปบ้าง เพราะผู้หญิงเมี่ยนมีการศึกษาและมีทักษะในการติดต่อกับคนแปลกหน้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในพิธีกรรมทางศาสนาหรือพิธีของชุมชน เช่น งานเลี้ยง  ผู้หญิงผู้ชายก็ยังจัดวางตัวเองอยู่คนละวงโดยอัตโนมัติ รวมถึงผู้ใหญ่กับเด็กด้วย

                              การแยกพื้นที่ (space) ระหว่างหญิงและชาย โดยให้หญิงมีบทบาทเป็นผู้บริการผู้ชาย สำหรับผม มีความหมายซ่อนเร้นคล้ายคลึงกับการแยกพื้นที่ (space) ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ที่ให้เด็กมีบทบาทเป็นผู้บริการผู้ใหญ่


                               นั่นก็คือ ความสัมพันธ์ดังกล่าวสะท้อนภาพ ความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่ ผู้น้อย หรือระบบวัยวุฒิ รวมถึงคุณวุฒิในสังคมไทย ซึ่งฝังรากอยู่ลึกมาก


                                 และมีทั้งส่วนดี และส่วนเสีย โดยที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า มันเป็นลักษณะร่วมของผู้คนในภูมิภาคนี้  ถ้าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ วิจัย เรียนรู้และพัฒนาอย่างสันติในภูมิภาคนี้ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับตัว ปรับหัวคิด ให้กลมกลืนกับอารยธรรมพื้นฐานเช่นนี้ และรู้จักมองมันอย่างสวยงาม อย่างค้นหาความหมายและอย่างเคารพในคุณค่ามากขึ้น

                                 อย่างไรก็ตาม ในทางสากล (ซึ่งก็คืออเมริกา และสหภาพยุโรป) ซึ่งมีแนวคิดเสรีนิยมแบบปัจเจกเป็นหลัก มักจะมอง หลักผู้ใหญ่ ผู้น้อย ของสังคมโซนนี้อย่างขวางหูขวางตา  เข้าทำนองว่า ถ้าเอ็งไม่เป็นอย่างข้า เอ็งก็ล้าหลัง ป่าเถื่อน

                          เมื่อย้อนกลับไปถึงคำถามของน้องสาวคนนั้น จะสะท้อนสงครามความคิดที่มาจากอารยธรรมสองกระแส คือ กระแสเสรีนิยมจากตะวันตก กับกระแสชุมชนท้องถิ่นนิยมแบบเอเซีย ซึ่งดูเธอจะไม่เข้าใจวิถีปฏิบัติของชุมชนนัก ถ้าเธอเปลี่ยนได้ เธอก็อาจจะให้ผู้ใหญ่ที่เป็นแขกของชุมชน มาคอยดูแลเด็กๆระหว่างทานอาหาร เป็นความคิดแบบเสรีนิยมสุดขั้ว
                         

                        ซึ่งผมฟันธงได้เลยว่า ชาวบ้านทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ ผู้ชาย ผู้หญิง ไม่เอาด้วยแน่ๆ ที่ไม่เอาด้วย ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่ขี้เกียจหรือจะเอาเปรียบเด็กแต่อย่างไร แต่ในกาลเทศะเช่นนั้น เด็กถูกคาดหวังโดยสังคมให้แสดงบทบาทความเป็นผู้น้อยที่ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ และผู้ใหญ่ก็ถูกคาดหวังไปอีกแบบหนึ่ง ที่ต้องทำอะไรตอบแทนเด็กด้วย อาขจะเรียกได้ว่าเป็นรูปแบบของระบบอุปถัมป์ ซึ่งระบบเช่นนี้เป็น Social Order  เป็นฐานรากของความสัมพันธ์ทุกๆแบบในสังคมที่นี่  และผมคิดว่าภูมิภาคเอเชียของเรา ไม่ว่าจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญของโลกตะวันออก ก็ยังคงเอกลักษณ์ในเรื่องนี้ แน่นอนว่าต้องมีทั้งด้านดีและด้านเสีย แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของเรา ที่แยกจากชุมชน และแยกจากตัวเราไม่ได้

                                   การไปเขย่าฐานรากของต้นไม้ใหญ่เก่าแก่ รวมทั้งชี้บอกว่ากิ่งใดควรตัดไม่ควรตัด จึงเป็นเรื่องอันตรายและละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง  ทั้งต่อผู้กล้าและต่อต้นไม้ ตลอดจนสรรพสัตว์ที่อาศัยกินอยู่หลับนอนสร้างรวงรังอยู่บนต้นไม้

                                    ผมออกจะเป็นห่วงอยู่ลึกๆ กับน้องๆนักพัฒนารุ่นใหม่ไฟแรง ผู้เชิดชูเสรีนิยม โดยไม่เข้าใจรากฐานที่มาที่ไปของสิ่งที่ตนเองเชื่อ และกระตือรือร้นอย่างแรงกล้าที่จะเป็นผู้กล้าตามแนวทางเสรีนิยมดังกล่าว  ได้แต่ภาวนาว่าพวกเขาจะไม่บาดเจ็บหัวใจจนท้อจะที่จะทำงานอย่างผู้ที่มีอุดมการณ์ต่อไป

                                   และสามารถปรับตัวให้เข้ากับ Social Order ของชุมชนท้องถิ่นอย่างมีความเข้าใจและรู้เท่าทันได้มากขึ้น 
                                         
                                 
หมายเลขบันทึก: 27529เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2006 16:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 21:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

                   ผมคิดว่า ทำงานพัฒนา จำเป็นต้องเข้าใจในทุกมิติ บางอย่างก็คงต้องยอมรับว่า ตรงนี้เป็นวิถี เป็นหลักเกณฑ์ทางสังคม ผมไม่สบายใจเลยที่ มีนักพัฒนามาบอกว่าต้องเป็นแบบนี้ ต้องเป็นแบบนั้น อาจจะต้องทำความเข้าใจบริบทตรงที่ทำงานให้มาก อย่าแปลกไป...จริงอยู่ ตะวันตก แตกต่างจาก ตะวันออก แต่ควรจะมองว่าที่ ต่างไป เพราะอะไร และ พิจารณาดูว่า จริงๆแล้วตรงนั้นมีความสุขมั้ย ลงตัวมั้ย เรื่องสิทธิที่จะเรียกร้องอะไร คงต้องพิจารณากันทีหลัง...(ก็ไม่ละเลย...เรื่อง สิทธิ์)

สิทธิ - - - > ความชอบธรรม

ผมขอเลือก "ความชอบธรรม"  ก่อนนะ  

มีอะไรอีกมากมายที่จะต้อง เรียนในวิถีการพัฒนา - วิถีชุมชน - วิถีคิด

ให้กำลังใจ คนทำงาน คนทำทาง ครับ

ขอ ลปรร.อีกครั้ง ครับ

ผมชอบถ้อยคำนี้ ของพี่ยอดดอยครับ   

              "...ผมออกจะเป็นห่วงอยู่ลึกๆ กับน้องๆนักพัฒนารุ่นใหม่ไฟแรง ผู้เชิดชูเสรีนิยม โดยไม่เข้าใจรากฐานที่มาที่ไปของสิ่งที่ตนเองเชื่อ และกระตือรือร้นอย่างแรงกล้าที่จะเป็นผู้กล้าตามแนวทางเสรีนิยมดังกล่าว  ได้แต่ภาวนาว่าพวกเขาจะไม่บาดเจ็บหัวใจจนท้อจะที่จะทำงานอย่างผู้ที่มีอุดมการณ์ต่อไป"

ขอคารวะด้วยความศรัทธา

เคยมีประสบการณ์และความรู้สึกคล้ายคลึงกัน แต่ไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นนักพัฒนา เลยไม่ทุกข์ใจอะไร

แน่นอนว่าคนที่มาจากต่างวัฒนธรรมต้องรู้สึกมาก เคยพาเพื่อนต่างชาติไปต่างจังหวัด มีงานเลี้ยง เด็กๆคอยบริการเสิร์ฟน้ำเสิร์ฟอาหาร รอกินทีหลังสุด อาหารบางอย่างไม่เหลือก็ไม่ได้กิน เพื่อนโวยวายว่าผู้ใหญ่ทำแบบนี้น่าเกลียดมาก ก็ต้องอธิบายว่าเป็นวิถีของท้องถิ่นนั้นๆ เมื่อก่อนเราก็รู้สึก เดี๋ยวนี้ชินแล้ว แต่ถ้าเราเป็นคนจัดก็จะไม่ทำแบบนี้

แต่ก็จะหาโอกาสเล่าให้คนท้องถิ่นฟังเรื่องวิถีและความคิดของผู้มาเยือนด้วยทุกครั้ง คิดว่าการที่คนสองคน(หรือมากกว่า) มีโอกาสมาพบปะกัน ก็น่าจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน จะทำให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับการกระทำ(ที่คิดว่าแปลก) ของอีกฝ่ายได้ดีขึ้น (แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะไม่ยอมเปลี่ยนง่ายๆก็เถอะ)

แต่มีบางเรื่อง ที่ไม่ว่าอย่างไรก็ทำใจไม่ได้ เช่น ครูใช้เด็กนักเรียนไปซื้อเบียร์ ทั้งๆที่สอนอยู่ปาวๆว่าสุราเป็นสิ่งเสพติด ไม่ดีต่อร่างกาย

การตั้งคำถามด้วยความสงสัยในความแตกต่างทางความคิด ไม่ใช่ถามด้วยอารมณ์หรือต้องการเปลี่ยนโลกใบนี้ให้เป็นอย่างที่หวัง น่าจะดีแล้ว ดีกว่าทำใจยอมรับไปเฉยๆโดยไม่คิดวิเคราะห์อะไรเลย

สุดท้าย เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการทำงานโดยใช้สันติวิธีค่ะ

ขอบคุณสำหรับทั้งสองความคิดเห็นนะครับ

และเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการเปิดประเด็นให้มีการตั้งคำถามกันเยอะๆ ในสิ่งที่เรากำลังกระทำกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น การที่ครูใช้เด็กไปซื้อเบียร์ (อันนี้ ผิดแน่นอนทั้งในเชิงกฏหมายและกฏศีลธรรมหรือกฏจารีต) และการที่ผู้ใหญ่ให้เด็ก(ลูกหลาน) คอยบริการแขกเหรื่อ ซึ่งก็มีขอบเขตอยู่ว่าถ้ามากเกินไป เด็กเหนื่อยมาก มัวแต่บริการจนตัวเด็กเองไม่ได้กินอะไรเลย ก็จะเป็นการกดขี่เด็กไป อันนี้ก็คงต้องมาว่าเป็นราย case ไป แต่ส่วนใหญ่ ที่ผมพบเห็นในชนบท เด็กก็จะมาช่วยตามสมควรครับ แล้วก็จะแยกไปกินกันอีกกลุ่มในวงของเขา กินกับสมาชิกคนอื่นๆในบ้านโดยที่ไม่มีสุราเข้ามาเกี่ยวข้อง

มองอีกนัยหนึ่ง การแยกวงให้เด็กไปกินเช่นนั้น ก็เป็นการสอนสั่งอยู่ในเชิงว่า เด็กไม่พึงเกี่ยวข้องกับสุรายาเมา และในอีกด้านหนึ่ง โดยวิสัยเด็กแล้ว มักจะกินอย่างเอร็ดอร่อย คือเสียงดัง บางทีก็ไม่เรียบร้อย ถ้าไปนั่งรวมกับแขก ก็อาจจะสร้างความรำคาญใจต่อผู้ใหญ่ผู้มาเยือนได้ ธุรกิจการงานที่ผู้ใหญ่เจรจากันก็อาจพลอยติดขัดไปด้วย ก็น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ต้องมีการแยกพื้นที่ของเด็กและผู้ใหญ่ในวงอาหารเช่นนี้ครับ 

ผมเห็นว่า ที่ชาวบ้านเขาทำ เขาก็มีเหตุผลในแบบของเขา  ในบริบทที่มีมิติทางสังคมวัฒนธรรมประวัติศาสตร์เฉพาะตัวของเขา อย่างผมเคยไปถามชาวเมี่ยน (เย้า) ทั้งหญิงและชาย ว่าเวลามีแขกมาบ้าน  ถ้าผู้นำครอบครัว (ชาย) อยู่บ้าน ทำไมไม่ให้ผู้หญิงมานั่งคุยกับแขก หรือร่วมกินร่วมดื่มในวงเดียวกัน ทำไมต้องแยกวงหญิงชาย ผู้ใหญ่เด็กด้วย                          คำตอบจากผู้หญิงเมี่ยนว่า มันเป็นหน้าที่ของผู้หญิง และเธอก็มีความสุขมากกว่าที่ได้อยู่ในครัว กับเด็กๆอย่างเป็นกันเอง มากกว่าต้องออกไปนั่งคุยเรื่องการงานกับแขกผู้ชายซึ่งพวกเธอไม่ค่อยถนัด ยิ่งผู้ชายต่างบ้านมาถึงเรือน ไม่รู้หัวนอนปลายเท้าดีพอ ก็อาจจะล่อลวงหญิงสาวไปในทางไม่ดีได้

                         หลักเกณฑ์ดังกล่าวคลอนแคลนไปบ้าง เพราะผู้หญิงเมี่ยนมีการศึกษาและมีทักษะในการติดต่อกับคนแปลกหน้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในพิธีกรรมทางศาสนาหรือพิธีของชุมชน เช่น งานเลี้ยง  ผู้หญิงผู้ชายก็ยังจัดวางตัวเองอยู่คนละวงโดยอัตโนมัติ รวมถึงผู้ใหญ่กับเด็กด้วย

มีความหมายระหว่างบรรทัดที่มากกว่าน้นหรือไม่อย่างไร

ความหมายระหว่างบรรทัด ก็น่าจะมีหลายความหมาย อยากให้ตีความกันได้อย่างอิสระนะครับ

สำหรับที่คุณ Kapook แรเงามานี้

ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงชาวเขา เธอมีความคิดเห็น มีอัตลักษณ์หรือความเป็นตัวตนที่หลากหลาย ผู้หญิงชาวเขาที่เป็นแม่บ้านอาจจะพอใจที่อยู่หลังฉากในครัว คอยบริการสามีและแขก ในขณะที่ผู้หญิงชาวเขาวัยรุ่น ต้องการอยากร่วมวงสนทนากับคนต่างบ้านเพื่อเปิดโลกทัศน์หรือขยายเครือข่ายทางสังคมใหม่ๆของพวกเธอ ผมจึงเห็นว่า ในกลุ่มผู้หญิงชาวเขาเอง ก็มีความหลากหลายไปตามวัย ตามชนชั้น พื้นฐานทางการศึกษา ศาสนา ประสบการณ์ที่พวกเธอผ่านมา

แต่ถึงจะมีความหลากหลายเช่นนั้น โครงสร้างสังคมที่ยอมรับให้ผู้ชายเป็นผู้นำก็ยังฝังรากลึกอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ถูกสร้างให้ "ศักดิ์สิทธิ์" เช่นพื้นที่ศาสนสถาน พิธีกรรมทางศาสนา และผู้หญิงส่วนใหญ่ก็คล้อยตามโดยดุษฎี โดยไม่สนใจที่จะตั้งคำถาม

อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่อยากให้ใคร ด่วนสรุปว่าการคล้อยตามเช่นนี้เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจกว่าก็คือ เหตุผลและเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลัง ทั้งในเงื่อนไขระดับจุลภาค และเงื่อนไขระดับมหภาค เช่น การเมืองของรัฐ และกระแสโลก

หลังจากนั้นถ้าเราใครครวญศึกษาถ่องแท้แล้วว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัย เป็นสิ่งที่บั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงค่อยหากุศโลบายที่จะปรับเปลี่ยน

สิ่งเหล่านี้ ต้องใช้เวลาในการศึกษา ซึมซับ ตกผลึก ความกล้าหาญที่จะทวนกระแส และความแน่วแน่ที่จะรอคอยอย่างอดทน

รวมถึง บ่อยครั้ง ที่ต้องทนอด.....

ปัญหาก็คือ นักพัฒนาจำนวนมากอาจไม่รู้ตัวว่าตัวเอง "ใจร้อน" กันเหลือเกิน 

ที่ผมเขียนนี่ก็เสมือนเตือนใจตัวผมเองด้วย เพราะบ่อยครั้งที่ผมก็ไปเกี่ยวข้องกับ "งานพัฒนากึ่งสำเร็จรูป" ชนิดฉีกซองชงน้ำร้อนแล้วกระแทกปากได้เลย

มารู้อีกทีว่าเป็น "junk food" กระเพาะก็เริ่มย่อยแล้ว

ผมไม่รู้ว่า ที่เขียนนี่เป็นความหมายระหว่างบรรทัดหรือเปล่านะครับ (หวังว่าคงจะใช่)

ขอบคุณอีกครั้ง สำหรับการแลกเปลี่ยนนะครับ

 

ผมว่าสิ่งที่ควรกระตุ้นในทุกๆ ภาคส่วน คือ การให้เกียรติกันและกัน เท่านี้ก็สงบสุขแล้วครับ เพราะขณะที่คิดถึงสิ่งนี้เราก็จะลดการเบียดเบียนลงไปทันที..
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท