จะเรียนจะสอนภาษาไทยอย่างไรดี


การเรียนภาษาไทย ที่โรงเรียน ถ้ามีครูดี สอนถูกต้อง มีสื่อที่เหมาะสม เด็กก็จะมีความสนใจและชอบภาษาไทย

จะเรียนจะสอนภาษาไทยอย่างไรดี

 

ผู้เขียนเคยอ่านบทความ  เรื่อง  จะเรียนจะสอนภาษาไทยอย่างไรดี  ของ  ดร.ประพัฒน์พงศ์  เสนาฤทธิ์  จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม  พ.ศ.2546  ท่านได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า  คนไทยมีปัญหาเรื่องภาษาไทย   ทั้งปัญหาด้านการพูด คือ พูดไม่ถูก  พูดไม่เป็น  พูดไม่ชัด              มีปัญหาด้านการอ่าน  คือ  อ่านไม่ออก  อ่านไม่คล่อง  อ่านไม่เข้าใจ  และไม่รู้เรื่อง หมายถึง  สื่อสารกับผู้อื่นไม่ได้    มีปัญหาด้านการเขียน  คือ  เขียนไม่ได้  เขียนไม่ถูก  และเขียนไม่เป็น  

มีนักวิชาการเคยทำการศึกษาวิจัยถึงสาเหตุและแนวทางแก้ไขมากมาย  และก็มีนักวิจารณ์   ให้ข้อคิดเห็นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายคนมีข้อสรุปว่า เป็นเพราะการศึกษามีจุดบกพร่อง คือ การเรียนการสอนภาษาไทยขาดคุณภาพ   ขาดประสิทธิภาพ    บางครั้งขาดความสนใจทั้งผู้เรียน  ผู้สอน  และผู้บริหาร  จึงทำให้ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กไทยไม่สูงพอ  ซึ่งดูได้จากผลการประเมินระดับชาติของกรมวิชาการ  กระทรวงศึกษาธิการ   จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า  ยิ่งเรียนสูงขึ้นความรู้ภาษาไทยที่วัดโดยแบบทดสอบมาตรฐานกลับยิ่งลดลง   ซึ่งผลกระทบสามารถมองเห็นและพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน        ในแทบทุกวงการ  อาทิ  เด็กไทยเขียนภาษาไทยไม่เป็นตามมาตรฐาน  แต่เป็นลายมือถั่วงอก   คนไทยอ่านภาษาไทยไม่ถูกต้อง  คนไทยเขียนเรียงความ  ย่อความ  และสรุปความไม่เป็น  และคนไทยไม่มีนิสัยรักการอ่าน   (อ่านเฉลี่ยประมาณ  2.9  นาทีต่อวัน)  แล้วเราจะแก้ไขอย่างไรดี ?

การที่จะเรียนรู้ภาษาไทย ให้ได้ดีและถูกต้องนั้น  ต้องอาศัยปัจจัยและสภาพแวดล้อม ที่เหมาะสม  เริ่มตั้งแต่ที่บ้านเลยทีเดียว  เพราะเด็กเริ่มฟังภาษาไทยและหัดพูดภาษาไทยจากที่บ้าน  ถ้าผู้ใหญ่ หรือพ่อแม่ที่อยู่ใกล้ชิดพูดและใช้ภาษาไทยได้  ถูกต้อง  เด็กก็จะเรียนรู้อย่างถูกต้อง  การเรียนภาษาจากช่วงวัยที่เป็นเด็กจึงมีความสำคัญยิ่ง  ไม่ว่าจะเป็นภาษาใดก็ตาม  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ เด็ก ๆ จะเรียนภาษาต่างประเทศได้เร็ว และถูกต้องกว่าผู้ใหญ่        ช่วงที่สอง คือ การเรียนภาษาไทย ที่โรงเรียน  ถ้ามีครูดี  สอนถูกต้อง  มีสื่อที่เหมาะสม  เด็กก็จะมีความสนใจและชอบภาษาไทย  สามารถเรียนรู้ภาษาไทยได้อย่างแตกฉาน  มีคุณภาพ  ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญ      ต่อเรื่องนี้อย่างมาก  เพราะได้เริ่มดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเรียนการสอน  และการใช้ภาษาไทยมาเป็นลำดับ  โดยได้มีการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและการใช้ภาษาไทยขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2545  เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทให้สถานศึกษา  และเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง          ได้ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย  และมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามแผนดังกล่าวร่วมกัน 

นอกจากนี้ยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทย ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ทั้งยังริเริ่มดำเนินการโครงการส่งเสริมการอ่านเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ  ครั้งล่าสุด

มีการกำหนดมาตรการการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยในระดับประถมศึกษาเป็นการเฉพาะ         โดยกำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งคัดเลือกครูเก่งภาษาไทย  สอนภาษาไทยตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1  และสอนต่อเนื่องในชั้นประถมศึกษาปีที่ 2  โดยกำชับให้ครูผู้สอนภาษาไทยเน้นการฝึกทักษะภาษาไทย  ทั้งการอ่าน  การเขียน  การฟัง  การดู   การพูด  โดยเฉพาะการแจกลูก  สะกดคำ  และผันวรรณยุกต์    ซึ่งเมื่อเด็กจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2   แล้วต้องอ่านออกเขียนได้   และเมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  จะต้องอ่านคล่องเขียนคล่อง  รวมทั้งให้เน้นการวัดผลประเมินผลโดยการออกข้อสอบแบบอัตนัย       ไม่น้อยกว่า  70  %   เพื่อให้เด็กมีโอกาสเขียนภาษาไทยมากขึ้น  และให้มีการสอนซ่อมเสริมและจัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้กว้างขวางโดยประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายอย่างจริงจัง         ดร.ประพัฒน์พงศ์  เสนาฤทธิ์  สรุปในตอนท้ายว่า เมื่อการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยตามหลักสูตรใหม่  มุ่งให้เด็กไทยมีโอกาสได้รับบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ตามลำดับขั้นตอน  ดังที่กล่าวมาแล้ว  ปัญหาต่าง ๆ ทั้งปัญหาการพูด  การอ่าน  และการเขียน  ก็น่าจะลดลง  และหมดไปในที่สุด

                ครั้งแรกที่ได้อ่านบทความนี้  ผู้เขียนรู้สึกยินดีมากที่การเรียนการสอนภาษาไทยจะได้รับการพัฒนา  เพราะท่าน  ดร. ประพัฒน์พงศ์  เสนาฤทธิ์   ท่านเป็นอธิบดีกรมวิชาการในสมัยนั้น   จึงเห็นว่าแนวความคิด และคำพูดของท่านน่าจะได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี  อีกทั้งหลักสูตรใหม่ก็เอื้ออำนวยทุกอย่าง  คราวนี้แหละเด็กไทยจะได้อ่านคล่อง เขียนคล่องเสียที   แต่นี่เวลาก็ล่วงเลยมาหลายปีแล้ว   ผู้เขียนซึ่งเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยของนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5   ก็ยังพบเด็กนักเรียนที่มีปัญหา อ่านไม่คล่อง  เขียนไม่คล่อง  เป็นจำนวนมาก   จึงเกิดคำถามขึ้นในใจว่าปัญหาอยู่ที่ไหนกันแน่  ระหว่างระบบระเบียบของทางราชการ    กับตัวบุคคลผู้ปฏิบัติ  แต่ถ้าทำตามขั้นตอนและวิธีการในหลักสูตรดังที่ท่าน  ดร. ประพัฒน์พงศ์  เสนาฤทธิ์  ได้กล่าวไว้        ในตอนแรก   ถึงวันนี้นักเรียนก็น่าจะเขียนคล่อง  อ่านคล่อง  มิใช่หรือ

คำสำคัญ (Tags): #เรื่องทั่วไป
หมายเลขบันทึก: 274734เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2009 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 11:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

บทความมีสาระดีมากครับและนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนดีมากครับ

ปัญหาการศึกษาไทยเด็กประถมส่วนหนึ่งที่เด็กอ่อนหลายวิชา เช่น คณิตศาสตร์ สังคม วิทยาศาสตร์ สาเหตุมาจากอ่านหนังสือไม่ออกค่ะ

ตูเห็นด้วยเพราะสอน ม.3 ม.5เช่นเดียวกันแต่เขาเหล่านั้นก็ยังอ่านไม่คล่องเขียนสะกดคำไม่ถูก.. ช่วยด้วย

เป็นบทความที่ดีมากเลยจ๊ะพี่เพราะภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย เราต้องภูมิใจและใช้ให้ถูกต้อง

เอาแค่อ่านออก เขียนได้ ไม่ต้องคล่อง บางคนยังทำไม่ได้เลยคะ ทำให้ครูวิทย์อย่างหนูทำใจลำบากมากเลยคะ เพราะปัจจุบันการเรียนการสอนมันต้องบูรณาการกันทุกๆวิชา ถ้าอ่านไม่ได้ เขียนไม่ได้แล้วเฮ้อ......หนูควรพิจารณาตัวเองหรือเด็กก่อนดีค่ะหรือจะหันไปที่ครูวิชาภาษาไทยดีคะคุณพี่ จากครูวิทย์มัธยมค่ะ

ขอบคุณคุณวิรัช คุณเสงี่ยม คุณรัชดาวรรณ คุณรัตติยา และคุณอำนวยพร มากค่ะ ที่เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น ปัญหาเกี่ยวกับการสอนให้คนเกิดทักษะฟัง พูด อ่าน เขียน ยังมีอีกมากค่ะ ก็ต้องช่วยกันหลาย ๆ ฝ่าย

คนจะเก่งได้พี่ว่าต้องมีความรู้และพรสวรรค์ที่มีติดตัวมา น้องเทืองมีพร้อมจ้ะ

ดิฉันเป็นผู้ปกครองของเด็กคนหนึ่งซึ้งทุกข์กับการอ่านหนังสือไม่ออกของลูก ลูกดิฉันเรียนป.1 เนื้อหาที่เรียนมันมาเป็นประโยคอ่านโจทย์ยังไม่ออกเลย คนออกหลักสูตรมันไม่ดูว่าเด็กแต่ละวัยทำได้แค่ไหน กลายเป็นว่าผู้ปกครองต้องมาทำการบ้านให้ลูกแทนและต้องพาลูกไปเรียนพิเศษวิชาภาษาไทย ทำไมเด็กต้องมาเครียดกับการเรียนมากมายขนาดนี้ อยากให้กลับไปใช้หลักสูตรเก่าที่เน้นอ่าน สะกดคำ ผสมคำ ในป.1ก่อน พื้นฐานเด็กจะได้แน่นๆโตขึ้นจะได้ไม่อ่อนภาษาไทย ส่วนวิชาอื่นก็ได้ไปเอง

เห็นด้วยกับคุณฐาปนีค่ะ การสอนอ่านเขียนภาษาไทยต้องสอนแบบแจกลูกสะกดคำ ผันวรรณยุกต์ ไม่เช่นนั้นเด็กอ่านหนังสือไม่คล่อง จะเรียนแบบอ่านเป็นคำ ๆ อย่างภาษาอังกฤษไม่ได้ เพราะภาษาไทยมีวรรณยุกต์ เมื่อวรรณยุกต์เปลี่ยนความหมายของคำก็เปลี่ยน การแจกลูกสะกดคำ และผันวรรณยุกต์ จะทำให้เด็กรู้และเข้าใจที่มาและองค์ประกอบของคำ เมื่อไปได้ยินคำอื่นที่ไม่รู้จักก็สามารถผันรูป และอ่านเขียนได้ถูกต้อง คุณแม่ของดิฉันจบแค่ ป.4 ปัจจุบันอายุ 80 ปี อ่านหนังสือคล่องกว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 บางคนเสียอีก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท