KM & วิชาการพัฒนาผู้ประเมิน : ขุมความรู้


เนื้อหาวิชาค่อนข้างน้อยซึ่งหากจะให้ผู้เรียนได้ประโยชน์ควรจะได้ออกไปฝึกปฏิบัติจริง นักศึกษามีส่วนร่วมในการกำหนดหัวข้อในการเรียนค่อนข้างมากเนื่องจากหากสนใจในเนื้อหาใดเพิ่มเติม หรือท่านอาจารย์เห็นว่าน่าจะนำส่วนไหนมาเสริมให้กับนักศึกษาก็จะมีการปรับแผนการสอนตามความเหมาะสมและสถานการณ์ในทันที (โดยแจ้งให้นักศึกษาได้ทราบและเตรียมตัวก่อนเรียน)


     ในการเรียนการสอน “รายวิชาการพัฒนาผู้ประเมิน”  ผู้สอนคือ “ท่านอาจารย์เทียมจันทร์”  ซึ่งท่านอาจารย์บอกกับเราตั้งแต่ในชม.แรกว่า  เนื้อหาวิชาค่อนข้างน้อยซึ่งหากจะให้ผู้เรียนได้ประโยชน์ควรจะได้ออกไปฝึกปฏิบัติจริง (ออกไปฝึกประเมินโรงเรียนในการศึกษาขั้นพื้นฐาน)  ซึ่งก็ค่อนข้างยากสำหรับนักศึกษาในแผน ข เนื่องจากจะเรียนเฉพาะวันเสาร์ – อาทิตย์  อาจารย์จึงมีกิจกรรมให้เราได้ทำกันเกือบทุกอาทิตย์  ซึ่งจะมีการบรรยายน้อยมาก  โดยมีกิจกรรมให้เราได้ฝึกปฏิบัติจาก SAR ของโรงเรียนต่างๆ และออกไปนำเสนอโดยจำลองเหตุการณ์ให้เหมือนสถานการณ์จริงมากที่สุดเท่าที่เวลาและสถานที่จะอำนวย  ซึ่งในการเรียนการสอนวิชานี้นักศึกษามีส่วนร่วมในการกำหนดหัวข้อในการเรียนค่อนข้างมากเนื่องจากหากสนใจในเนื้อหาใดเพิ่มเติม หรือท่านอาจารย์เห็นว่าน่าจะนำส่วนไหนมาเสริมให้กับนักศึกษาก็จะมีการปรับแผนการสอนตามความเหมาะสมและสถานการณ์ในทันที (โดยแจ้งให้นักศึกษาได้ทราบและเตรียมตัวก่อนเรียน)

     ในวันเสาร์ที่ 6 เม.ย. ท่านอาจารย์ได้นำ KM เข้ามาเพิ่มเติมให้กับนักศึกษาโดยท่านอาจารย์ได้เสนอแนะว่าผู้ประเมินควรมีคำแนะนำที่เฉียบๆ ให้กับโรงเรียน ซึ่ง KM ก็น่าจะเป็นองค์ความรู้หนึ่งที่ผู้ประเมินควรจะรู้และนำไปเสนอแนะให้กับโรงเรียนได้เนื่องจากครูในโรงเรียนมี Tacit Knowledge ค่อนข้างมาก  และควรมีเวทีให้เค้าได้ลปรร.กัน   โดยดิฉันได้เกริ่นนำ KM นิดหน่อย  (เนื่องจากท่านอาจารย์วิบูลย์เคยมาบรรยายให้พวกเราได้ฟังในหัวข้อ QA2KM ได้ฟังในรายวิชาการประกันคุณภาพขั้นพื้นฐานแล้วในช่วงต้นภาคเรียน)    หลังจากนั้นได้นำเข้าสู่กระบวนการ  เนื่องจากเป็นคุณอำนวยมือใหม่ (หัดขับ) จึงคิดว่า หัวปลากำหนดค่อนข้างยาก เนื่องจากสมาชิกมีหลากหลายบทบาทไม่ว่าจะเป็นผู้ประเมินของสมศ. (เจ้าของบริษัท) ครู  ผู้รับผิดชอบ QA ภายในโรงเรียน  ผู้รับผิดชอบ QA ภายคณะและมหาวิทยาลัย  และศึกษานิเทศเขตการศึกษา (คิดถึงพี่บอยขึ้นมาจับใจเพราะถ้าพี่บอยอยู่คงช่วยดิฉันได้มาก) แต่เนื่องจากเราต้องการให้นักศึกษาได้ทราบถึงเครื่องมือและกระบวนการ KM เพื่อนำไปใช้ต่อ  ดิฉันจึงได้ขอท่านอาจารย์เทียมจันทร์โดยกำหนดหัวปลา คือ “เทคนิคการเตรียมตัวสอบ”  เนื่องจากการเรียนในแผน ข นี้  ผู้เรียนจะค่อนข้างเหนื่อยเนื่องจากการทำงานวันจันทร์ – ศุกร์  และหลายคนที่จะต้องเดินทางมาเรียนจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัด  ไม่ค่อยได้มีเวลาพักผ่อน  ไหนจะงานประจำ+งานบ้าน  และสมาชิกมีตั้งแต่อายุน้อย  จนถึงผู้สูงอายุเล็กน้อย หลังจากที่เราลปรร. แล้วก็ได้ทำ AAR กิจกรรมที่เราได้ทำ  พร้อมทั้ง AAR การเรียนการสอนในรายวิชานี้ด้วย

     ขุมความรู้ ที่ได้จากการ ลปรร. คือ
     1.ตั้งใจเรียนในแต่ละคาบแล้ว short note ส่วนที่สำคัญไว้ในแบบที่เราเข้าใจ  แล้วเน้นอ่านเรื่องที่  short note ไว้ให้เข้าใจมากๆ
     2.ในวิชาที่เนื้อหาค่อนข้างมากไม่ต้องท่องจำ  แต่ให้พยายามฝึกเขียนบ่อยๆ เขียนจนเนื้อหามันซึมเข้าใจในใจ  โดยการเขียนให้เป็นในรูปแบบเรียงความ  คือให้มีคำขึ้นต้น เนื้อหา และสรุป
     3.อ่านหนังสือช่วงดึกเพราะมีสมาธิ  สมองโล่ง ไม่กังวลกับเรื่องอื่นๆ
     4.อ่านหนังสือช่วงเช้ามืด  โดยตื่นมาแล้วนั่งสมาธิก่อนแล้วค่อยเริ่มอ่าน  / ตื่นขึ้นมาแล้วกินอาหารบำรุงสมองให้กระปรี้กระเปร่า  ตาสว่างก่อนแล้วค่อยเริ่มอ่าน
     5.อ่านทบทวนเรื่องที่เราอยากรู้ทันทีที่มีเวลา  อ่านบ่อยๆ เพราะอายุค่อนข้างมากจำอะไรได้ยาก
     6.หาคนขับรถมาให้แล้วอ่านหนังสือช่วงเช้าที่นั่งรถมาเรียน 
     7.ทบทวนเมื่อเรียนเสร็จในแต่ละคาบ  ก่อนสอบค่อยมานั่งเก็บว่าข้อสอบจะออกตรงไหนแล้วอ่านเพิ่มเติม
     8.หาผู้รู้ที่เรากล้าที่จะถาม เช่น เพื่อน หรือรุ่นพี่  จากนั้นรายละเอียดเพิ่มเติมในประเด็นที่เราเห็นว่าสำคัญและหาหนังสืออ่านเพิ่ม
     9.ตั้งเป้าในรายวิชานั้นๆ แล้วพยายามทำให้ถึงเป้า
   10.ก่อนสอบอ่านกว้างๆ 1 รอบก่อน แล้วโน้ตย่อ  แล้วกลับมาอ่านทบทวนโน้ตที่เราย่อไว้อีกครั้ง
   11.หากจะจำหัวข้อที่มีข้อย่อยจะใช้วิธีการจำอักษรตัวแรก  แล้วมาเขียนขยายความเพื่อให้ได้หัวข้อครบถ้วน
   12.นำเนื้อหาที่อาจารย์สอนมาอิงกับประสบการณ์จริงที่เราเคยได้พบ  จะทำให้จำได้และไม่ลืม
   13.ดูวัตถุประสงค์การสอน  ที่อาจารย์แต่ละวิชาได้แจกไว้ตั้งแต่ชม.แรก  แล้วอ่านหนังสือตามนั้น

        หากท่านผู้ใดมีเคล็ดลับดีดีในการเตรียมตัวสอบ  อย่าลืมนำมาแลกเปลี่ยนกับเราบ้างนะคะ
และในวันอาทิตย์ที่ 7 เม.ย. อาจารย์ได้เชิญท่านอาจารย์เอกรินทร์ รองคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพฯ ของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์  ได้มาเล่าประสบการณ์การเป็นผู้ประเมินของมหาวิทยาลัยนเรศวร  ซึ่งท่านอ.เอกรินทร์ได้เตรียมเนื้อหามาให้เราค่อนข้างครบถ้วนสมบูรณ์  เราชาว ป.โท QA รุ่น 2 ต้องขอบพระคุณอาจารย์มา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ  หลังจากนั้น อ.เทียมจันทร์  ปิด Course ด้วยการวิจารณ์การนำเสนองานของนักศึกษาเป็นรายบุคคลตั้งแต่คาบแรกๆ จนถึงวันสุดท้าย  ซึ่งแต่ละคนยอมรับว่าอาจารย์วิจารณ์ได้โดนใจ  ตรงกับบุคลิกของแต่ละคนค่อนข้างมากค่ะ  ชมภาพบรรยากาศได้ที่นี่ <Click> รายละเอียดจากอาจารย์ผู้สอนได้ที่นี่ <Click> นะคะ

คำสำคัญ (Tags): #ป.โทqa
หมายเลขบันทึก: 27431เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2006 13:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท