รอยยิ้มของชุมชน (1)


เมื่อมาที่แม่พริกคราใดก็จะได้เห็นรอยยิ้มแบบนี้ทุกครั้ง

                    เมื่อวานนี้และวันนี้เป็นอีก 2 วันที่ผู้วิจัยมีความประทับใจมาก เพราะ มีตารางลงพื้นที่ยาวเหยียดทั้ง 2 วัน (ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีค่าขึ้นมาหน่อย) โดยเมื่อวานนี้ในช่วงเช้าเป็นการประชุมใหญ่กลางปีขององค์กรออมทรัพย์ชุมชนแม่พริก รวมทั้งเป็นวันออมประจำเดือนขององค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านดอนไชย (เถิน) ด้วย ผู้วิจัยเลยใช้วิธีการแบ่งภาค คือ ช่วงเช้าไปร่วมงานที่แม่พริก ส่วนช่วงบ่ายไปที่เถิน สำหรับในวันนี้เป็นวันออมประจำเดือนขององค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านเหล่า (เถิน) และ องค์กรออมทรัพย์ชุมชนป่าตัน (แม่ทะ) ผู้วิจัยก็ใช้วิธีการเดียวกับวันแรก คือ ช่วงเช้าไปที่เถิน คั่นรายการตอนเที่ยงโดยไปที่แม่พริก เพื่อไปรับเอกสารรายงานฐานะการเงินของกลุ่มมาศึกษา รวมทั้งไปเอากระปุกออมสินไม้ไผ่ซึ่งทำเสร็จแล้วประมาณ 20 กระปุกมาชื่นชมด้วย จากนั้นได้เดินทางไปที่แม่ทะในช่วงบ่าย (ปิดท้ายด้วยการหาอาหารประทังชีวิต และกลับมานอนพักที่ห้อง เพราะ อากาศที่ลำปางร้อนมากๆๆๆๆๆๆ)

                    เริ่มกิจกรรมในช่วงเช้าของเมื่อวานนี้โดยการเดินทางไปร่วมงานประชุมใหญ่ (กลางปี) ของกลุ่มแม่พริก ผู้วิจัยนั่งรถทัวร์ไปลงที่ปากทางอำเภอแม่พริก (อาจารย์พิมพ์ไม่อยู่ เลยไม่มีใครขับรถให้นั่ง) ถึงปากทางเกือบ 10.00น. เพราะ รถทัวร์มาช้ากว่ากำหนดและจอดระหว่างทางมากไปหน่อย (เสียดายมากเลยค่ะ อุตส่าห์ตื่นแต่เช้ามืด) เมื่อลงรถก็มีคณะกรรมการของกลุ่มมารอรับอยู่แล้ว (ต้องขอขอบพระคุณมากๆค่ะ) ไปถึงสถานที่ประชุม คือ โรงเรียนอนุบาลแม่พริก ประมาณ 10.20น. ทำให้พลาดโอกาสสำคัญในช่วงต้น คือ การมาเปิดงานของท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่พริก (นายไกรวิทย์ ปัญญาชัย) เพราะ งานเริ่มประมาณ 09.30น. เมื่อไปถึงเป็นช่วงเวลาที่ทางคณะกรรมการให้เวลาพักแก่ผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 10 นาที ผู้วิจัยก็เลยถือโอกาสถ่ายภาพและถ่ายวีดีโอเก็บบรรยากาศของสถานที่จัดประชุมเสียหน่อย แต่ก็ทำอะไรไม่ค่อยได้มาก เพราะ ใช้เทคโนโลยีไม่ค่อยจะเป็น (ขนาดศึกษามาพอสมครแล้วนะคะ) ต้องโทรศัพท์ถามผู้รู้เป็นระยะๆ รวมทั้งก่อนที่จะพัก คณะกรรมการได้ประกาศว่าให้ทุกคนรีบไปดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย เพราะ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้เดินทางมาถึงแล้ว ผู้วิจัยก็เลยต้องรีบขึ้นไปที่ห้องประชุม เนื่องจาก ไม่อยากให้ทุกคนต้องรอนาน มาสายอย่างนี้ก็รู้สึกไม่ค่อยจะดีแล้ว

                    เมื่อขึ้นไปถึงห้องจัดงาน ปรากฎว่ามีชาวบ้านนั่งอยู่เต็มไปหมดทั้งในห้องและนอกห้อง เท่าที่ผู้วิจัยสังเกตเห็นส่วนใหญ่ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่จะเป็นคนชราและเด็กเล็กๆ ทุกคนมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสและเป็นมิตรมาก ผู้วิจัยพยายามเดินทักทายทุกคน (ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใครหรอกค่ะ อาศัยยกมือไหว้และฉีกยิ้มไปเรื่อยๆ เหมือนนางงามนั่นแหละค่ะ) ภาพนี้เป็นภาพที่ผู้วิจัยประทับใจมาก เมื่อมาที่แม่พริกคราใดก็จะได้เห็นรอยยิ้มแบบนี้ทุกครั้ง

                  ก่อนที่จะเล่าว่ามีการประชุมในเรื่องใดบ้าง ผู้วิจัยขอเล่าย้อนไปถึงช่วงก่อนจัดงานและช่วงเช้าที่ผู้วิจัยมาไม่ทันก่อน (ที่ทราบข้อมูล เพราะ ไปสอบถามคณะกรรมการมาค่ะ รวมทั้งไปได้หลักฐานบางชิ้นมาด้วย)

                   สำหรับช่วงก่อนจัดงาน คณะกรรมการได้มีการประชุมพูดคุยและได้ข้อตกลงว่าจะจัดงานประชุมใหญ่ (กลางปี) ขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม 2549 เวลา 09.00-12.00น. เมื่อได้ข้อตกลงกันแล้ว ทางคณะกรรมการก็ได้ประกาศเสียงตามสายเชิญชวนให้สมาชิกเข้าร่วมประชุม โดยใช้โรงเรียนอนุบาลแม่พริกเป็นที่จัดการประชุม ในส่วนของสมาชิกนั้น ทางกลุ่มขอความร่วมมือว่าให้สมาชิกส่งตัวแทนมาครัวเรือนละ 1 คน นอกจากนี้แล้วประธานกลุ่มยังได้ไปเรียนเชิญท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่พริก คือ นายไกรวิทย์ ปัญญาชัย ให้มาเป็นประธานในพิธีเปิดด้วย ซึ่งท่านนายกก็ให้ความกรุณากับกลุ่มเป็นอย่างดี (ความจริงกลุ่มนี้ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลแม่พริก แต่เนื่องจากขณะนี้ทางเทศบาลยังไม่มีนายกฯ เพราะ กำลังฟ้องร้องกันอยู่ เป็นเวลานานเกือบจะเป็นปีแล้ว ประกอบกับมีชาวบ้านจากตำบลแม่พริกซึ่งอยู่ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลแม่พริกมาสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มพอสมควร ทางกลุ่มจึงตัดสินใจไปเรียนเชิญท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่พริกให้มาเป็นประธานของงานนี้) เมื่อถึงวันจัดงานปรากฎว่ามีสมาชิกมาร่วมประชุมประมาณ 200 กว่าคน (แต่มีรายชื่อลงทะเบียนประมาณ 140 กว่าคน) ซึ่งถือว่าเยอะพอสมควร (กลุ่มนี้มีสมาชิกประมาณ 800 คน) นอกจากนี้แล้วยังมีคณะกรรมการขององค์กรออมทรัพย์ชุมชนพระบาทวังตวงมาร่วมงานด้วยค่ะ

                   พิธีการในช่วงเช้า เมื่อสมาชิกลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ประธานองค์กรออมทรัพย์ชุมชนแม่พริก คือ อ.ธวัช ธนวิจิตรานันท์ ได้กล่าวรายงานให้ผู้เข้าร่วมประชุมและประธานในพิธีทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานของกลุ่ม มีเนื้อหาโดยสรุป คือ การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นตามระเบียบของกองทุน (ไม่รู้ว่ากลุ่มหรือเครือข่ายฯเหมือนกันค่ะ เดี๋ยวผู้วิจัยจะลองตรวจสอบดูอีกที) ที่กำหนดให้ต้องมีการประชุมอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยองค์กรออมทรัพย์ชุมชนแม่พริกตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2546 จนถึงปัจจุบันดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา 2 ปี กับ 6 เดือน จ่ายสวัสดิการไปแล้วทั้งสิ้น 196,600 บาท และกำลังจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเป็นเงิน 100,000 บาท ซึ่งเป็นนิมิตรหมายอันดีที่สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มมีความเจริญก้าวหน้า สามารถดำเนินการจนเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชนและหน่วยงานสนับสนุนอื่นๆ (เนื้อหาฉบับเต็มสามารถอ่านได้ใน gotoknow.org/km-maeprik ผู้วิจัยจะรีบพิมพ์ลงใน Blog นะคะ)

                 เมื่อประธานกล่าวรายงานจบ ท่านนากยกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่พริกได้กล่าวเปิดงาน โดยบอกว่า รู้จักกองทุนนี้มานานพอสมควรแล้ว เห็นว่ากองทุนนี้เป็นกองทุนที่มีประโยชน์กับชุมชน ในส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบลแม่พริกยินดีให้การสนับสนุนกลุ่มอย่างเต็มที่ (เนื้อหาฉบับเต็มสามารถอ่านได้ใน gotoknow.org/km-maeprik ผู้วิจัยจะรีบพิมพ์ลงใน Blog นะคะ)

                   ขอบอกอีกครั้งว่าผู้วิจัยรู้สึกเสียดายมาที่มาไม่ทันในช่วงต้น แต่ก็ไม่เป็นไรค่ะ เมื่อท่านเปิดทางอย่างนี้ อีกไม่นาน ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์คงจะไปพบท่านค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 27279เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2006 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท