ทำอย่างไรดี...เมื่อนักเรียน "ไม่อยากเรียน"


พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดให้มีการศึกษาภาคบังคับ จำนวน 9 ปี นั่นหมายถึง นักเรียนในการศึกษาภาคบังคับของประเทศไทย ต้องเรียนอยู่ในระบบโรงเรียน ตั้งแต่ชั้น ป.1- ป.6 และ ม.1 - ม.3 รวมระยะเวลา 9 ปี หรืออีกนัยหนึ่งคือ นักเรียนต้องอยู่ในระบบของโรงเรียนจนกว่าอายุจะครบ 15 ปี บริบูรณ์

     วันนี้ในช่วงเช้า ผู้เขียนมีชั่วโมงสอนกิจกรรมแนะแนว ม. 1 จำนวน 3 ชั่วโมงติดต่อกัน โดยสอนในชั้น ม.1/3 ,ม.1/4 และ ม. 1/2 ตามลำดับ

     โดยสิ่งที่อยากนำมาเล่าในวันนี้ คือ ปัญหาเด็กไม่อยากเรียน ปัญหานี้เป็นปัญหาที่โดย "ส่วนตัว" คิดว่าเป็นปัญหาโลกแตกจริงๆ เพราะอะไร ก็ขออธิบายโดยคร่าวๆ

     โรงเรียนที่ผู้เขียนสอนอยู่เป็นโรงเรียนประจำตำบล ที่รับนักเรียนทุกคนที่สมัครเข้าเรียน 100 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายรวมถึง นักเรียนที่มาในระดับการศึกษาภาคบังคับทั้งหมดด้วย (จบ ป.6 มาเรียนต่อ ม.1) เราไม่ได้คัดกรองเด็กในเรื่องความรู้ ขอแค่มีวุฒิ ป.6 ก็รับเข้าเรียน และโดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการ  และเรื่องมีอยู่ว่า...

     มีนักเรียน ม.1 กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเข้าเรียนช้าและหลบออกจากห้องเรียน ซึ่งผู้เขียนสังเกตเห็นมาหลายครั้ง วันนี้มีโอกาสเหมาะๆ ผู้เขียนได้ออกติดตามนักเรียนกลุ่มนี้ มาเข้าเรียนและสอบถามสาเหตุ ซึ่งหลายๆ คนก็ให้เหตุผลแตกต่างกันไป มีเหตุผลหนึ่งที่สะดุดใจ ก็คือ...ไม่อยากเรียนก็ตามให้มาเรียน...เว้ย! (เป็นภาษาอีสาน หมายถึง อีก)

    ปัญหา "เด็กไม่อยากเรียน" น่าจะมาจากหลายสาเหตุ  โดยผู้เขียนก็พยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนข้อสันนิษฐานอย่างถ้วนถี่ คือ

  • ดูที่ตัวเองก่อนเป็นลำดับแรก ว่าเพราะตัวครูผู้สอนหรือเปล่า...ใคร่ควรดูแล้ว...ไม่น่าจะใช่...เพราะสอบถามเพื่อนๆ นักเรียนคนอื่นแล้ว ตอบตรงกันว่า "เขาไม่เข้าเรียนและไม่ส่งงานในหลายๆ วิชา หรืออาจทุกวิชาก็ว่าได้ : หรือเข้าเรียนก็ไม่เรียน ไม่ทำงาน ไม่ส่งงาน ไม่...ไม่..." นี่คือคำตอบของเพื่อนๆ ในห้อง

  • สอบถามถึงครอบครัว ปรากฎว่าเด็กคนที่พูดประโยคดังกล่าว อาศัยอยู่กับยาย ส่วน พ่อ-แม่ จะเดินทางไปขายลอตเตอรี่ เป็นประจำ นานๆ จะกลับมาบ้านหนหนึ่ง อยู่ไม่กี่วันก็เดินทางอีก... นั่นหมายถึง เด็กไม่มีใครดูแลที่บ้านอย่างใกล้ชิด เพราะกับยายก็อายุห่างกันมาก ดูเหมือนจะแทบไม่ได้คุยกันเลยในแต่ละวัน

  • พฤติกรรมส่วนตัวของเด็ก...ตั้งแต่ชั่วโมงแรก ที่เข้าเรียน ผู้เขียนก็สามารถจำเด็กคนนี้ได้ทันที (สอน 1 ชั่วโมง/สัปดาห์) ด้วยบุคลิกที่นั่งอยู่เฉยๆ ไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรม และไม่ส่งงานที่ได้รับมอบหมาย  เมื่อสอบถามแล้วว่า  อ่านออกไหม?...  เขียนได้ไหม?...ก็ไม่ตอบคำถามครู  แต่เพื่อนๆ ช่วยกันตอบว่า อ่านออก เขียนได้ ตอนเรียนชั้นประถมก็ถือว่าเป็นคนเรียนดีคนหนึ่ง...

  • ปัญหา คือ ไม่อยากเรียน...นั่นคือคำตอบของเด็ก...

      แล้ว "ครู" ก็ต้องมาคิดตามและปวดหัวไปกับเด็กว่า ไม่อยากเรียน เพราะอะไร???

      และ "เด็ก" ก็คงจะมีคำตอบในใจว่า "ทำไมไม่อยากเรียน" อาจเป็น ไม่อยากเรียน เพราะ

            -เรียนไปทำไม

            -เรียนแล้วได้อะไร

            -ได้แล้ว เอาไปทำอะไร

            -ไม่เรียน แล้วไม่ได้สิ่งนั้นหรือเปล่า

            -ไม่เรียน แล้วมีอะไรไหม

            -...

ใครสามารถตอบคำถามที่อาจมีอยู่ในใจของเด็กเหล่านี้ให้หน่อยได้ไหม

เผื่อจะคลายความสงสัยของครูแนะแนว...  ที่ไม่อาจ...  ได้

ปัญหาโลกแตก  ที่ไม่มีวันจบและไม่มีวันรู้ได้...ในใจของแต่ละคน "กำลังคิด" อะไร

 

หมายเลขบันทึก: 272776เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2009 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • เดี๋ยวผมมาช่วยตอบบ้าง แลกกันนะพี่
  • ผมไปสอนเด็กมหาวิทยาลัย เจอปัญหาเดียวกัน
  • ผมแก้ด้วยการ เตะไปสองป๊าบครับ (ล้อเล่นนะครับ)
  • ติดตามเอาใจช่วยครูผู้ชี้ทางสว่างให้เด็กๆนะครับ

ครูพี่ ครับ ผมว่า เด็กคนนี้ น่าจะมีปัญาในเรื่องของสภาพจิตใจแล้วละ

ไม่แน่ใจว่า เด็กอาจกำลังเริ่มต้น ภาวะซึมเศร้า (เหงารักรึเปล่าไม่รู้นะคัรบ)

อาจจะด้วยการถูกเลี้ยงดูโดยยาย ซึ่งพอพ่อแม่ไม่อยู่ด้วย

อาจทำเกิดการเปรียบเทียบ กับเพื่อนในวัยเดียวกัน

และ ในกรณี นี้บางที การที่เด็กไม่อยากเรียน เด็กอาจจะตอบไม่ได้

เพราะเค้าไม่รู้ตัวว่าพฤติกรรมของเค้าเป็นปัญหา (ของครู)

และเด็กอาจจะหาคำตอบไม่ได้ว่า "เบื่อเพราะอะไร"

หากสาเหตุเกิดจากครอบครัว เด็กอาจจะว่านั่นกำลังส่งผลกับเค้า

มีความเป็นไปได้ที่เด็กอาจจะขาดผู้ใหญ่ที่ดูแลอย่างใกล้ชิดอย่างที่ครูพี่บอก

ดังนั้น ด้วยวิญญาณครูของพี่ผมขอบังอาจแนะนำ ว่า

"พี่ควรเริ่มต้น สร้างความไว้วางใจกับเด็กได้เลย

จะเริ่มคุย แบบสบายกันก่อนก็ได้น่าจะดี

เพราะเค้าคงไม่สนิทกับแน่ๆ เพราะพี่ถามไรเค้าก็ไม่ตอบ

หลังจากสร้างความไว้วางใจ ด้วยวิธีของพี่ ที่เหมาะสมกับเด็กคนนี้แล้ว

พี่ควรอย่างยิ่งที่จะ เริ่มพูดคุย สอบถามไปเรื่อยๆ ถึงสภาพครอบครัว

ความสัมพันธ์กับคนในบ้าน ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน

ความสัมพันธ์กับเพื่อนในห้อง ความสนใจในเรื่องอาชีพ

ความสนใจเรื่องกิจกรรม เรื่องรอบตัวเด็ก

การเลี้ยงดู ความรับผิดชอบที่เด็กมีที่บ้าน ความรับผิดชอบต่อตนเอง

เรื่องที่เด็กชอบ การใช้ชีวิต

แล้วค่อยมาเข้าเรื่องการเรียน ที่ครูพี่ อยากทราบ

พี่จะได้ทราบอยู่ห้าเรื่อง ก็คือ

เรื่องตัวตนของเขา, เรื่องครอบครัว, เรื่องชุมชน,

เรื่องกิจกรรม-เพื่อน, เรื่องการศึกษา และความสนใจในอาชีพ

พี่จะได้เปิดประเด็นถูกจุด แก้ถูกจุดด้วย ดีมะจ๊ะ

หลังจากเปิดประเด็นได้ตรงจุดแล้ว คงจะพูดคุยกับเด็กได้ ให้คำแนะนำได้ดีกว่าวันนี้

สู้ๆ นะพี่ ไม่ใช่เดินเข้าไปแล้วถามกันโต้งๆ เลยล่ะ

เด็กมันไม่เคยคุยกับพี่มาก่อน มันจะตื่น (เด็กตื่น) อาจจะกลัว

ไม่คุยกับครูอีกก็เป็นได้

อ้อ อีกอย่างครับ

เด็กคนนี้อาจจะรู้สึกว่า โดนเพ่งเล็ง และจู่โจม จากพี่ไปแล้ว

และรู้สึกว่า เกิดการใช้อำนาจเหนือกว่า ซึ่งเค้าอาจจะไม่ได้ต้องการแบบนั้น

ถ้าพี่เข้าไปแบบ ถามๆๆๆๆ อาจจะไม่ได้ช่วยเด็กคนนั้น นะครับ

ต้องกราบขออภัยจริงๆ หากข้อคิดเห็นของผมทำพี่รู้สึกอึดอัด

มิได้มีเจตนาสอนสังฆราชเลยจริงๆ นะครับ

แลกเปลี่ยนๆ พอดีผมเอาหัวข้อของพี่ ไปปรึกษากับนักจิตวิทยาส่วนตัวด้วย

หวังว่าจะมีประโยชน์อะไรกับพี่บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ

โอย ยาวแถะ

  • มันไม่ยอมเว้นบรรทัดให้ผมแฮะ

.

  • อ้อ แล้วก็อันนี้

    "เด็ก" ก็คงจะมีคำตอบในใจว่า "ทำไมไม่อยากเรียน" อาจเป็น ไม่อยากเรียน เพราะ

                -เรียนไปทำไม

                -เรียนแล้วได้อะไร

                -ได้แล้ว เอาไปทำอะไร

                -ไม่เรียน แล้วไม่ได้สิ่งนั้นหรือเปล่า

                -ไม่เรียน แล้วมีอะไรไหม

                -...

  • ผมว่า พี่คิดมากนะเนี่ย เด็กคนนั้น อาจจะไม่ได้คิดแบบนั้นก็ได้ครับ
  • *_*
  • รู้สึกยินดีมากๆ ที่มีตาเหลิม มาให้แนวคิดและแสดงความคิดเห็น เรื่องนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองที่ดี
  • คิดว่าคำแนะนำใน blog ที่ 2 น่าสนใจมาก โดยเฉพาะการเข้าไปคุยกับเด็ก และขอบใจมากๆ สำหรับข้อแนะนำเรื่อง  ...ควรเริ่มต้น สร้างความไว้วางใจกับเด็กได้เลย... คิดตรงกัน  และขอบใจสำหรับคำแนะนำทุกขั้นตอน เมื่อลงมือทำ จะสามารถ  ...ได้ทราบอยู่ห้าเรื่อง ก็คือ เรื่องตัวตนของเขา, เรื่องครอบครัว, เรื่องชุมชน, เรื่องกิจกรรม-เพื่อน, เรื่องการศึกษา และความสนใจในอาชีพ...
  • เป็นคำแนะนำที่ดีมากจริงๆ คนที่เป็น "ครู" ต้องสามารถรวบรวมข้อมูลของเด็กเพื่อทราบสาเหตุพฤติกรรม อันนำไปสู่การหวิธีช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง พร้อมกับคำแนะนำ ...เด็กคนนี้อาจจะรู้สึกว่า โดนเพ่งเล็ง และจู่โจม จากพี่ไปแล้ว และรู้สึกว่า เกิดการใช้อำนาจเหนือกว่า ซึ่งเค้าอาจจะไม่ได้ต้องการแบบนั้น... ขอบคุณจริงๆ คะ ที่เตือนไว้ล่วงหน้า พร้อมการันตีว่า ผ่านการปรึกษานักจิตวิทยามาแล้ว...
  • ต้องใช้เวลาลองพิสูจน์ทฤษฎีนี้ดูคะ ไว้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็จะมาเล่าสู่ฟังอีกก็แล้วกันนะคะ
  • และสำหรับ Blog ที่ 3 สงสัยจะคิดมากไปเองคนเดียวจริงๆ ตามหลักการ คือ "ไม่ควรคิดแทนคนอื่น" จริงไหมคะ
  • ชื่นชมคนทำงานด้านสิทธิเด็กเลยคะ เข้าใจเด็กได้ในหลายๆ มิติ ถ้าได้ตาเหลิม เป็นที่ปรึกษาด้านปัญหาเด็กท่าจะดีมากเลยนะคะเนี่ย ...
  • มาขอบคุณ ที่ไปเยือน กล้วยไม้ฯ ครบรอบ 1 ปีฯ นะครับ
  • มาอ่านบันทึกดี ๆ นี้ด้วยนะครับ
  • เป็นกำลังใจกับคุณครูให้นักเรียนมาเรียนมาก ๆ ด้วยนะครับ

ทำ case ซิจ๊ะ วิทยายุทธครูแนะแนวเอาออกมาใช้ อ๊ะๆ อย่าบอกว่าไม่มีเวลานะ

  • ขอบคุณ คุณชยพร แอคะรัจน์ และคุณครูตั๋น ที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้คำแนะนำ คะ
  • คงต้องลงมือทำ Case จริงๆ นั่นแหละคะ
  • ปัญหาเส้นผมบังภูเขา เราอยู่ใกล้ปัญหา เลยไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไงดี
  • ขอบคุณอีกครั้งสำหรับคำแนะนำ นะคะ

ปัญหาอย่างนี้ผมคิดว่ามันน่าจะมีอยู่ทุกโรงเรียนนะครับ แต่ผมก็ไม่ได้เป็นครูนะ แต่ชอบมาอ่านกระทู้ของผู้เขียนอยู่บ่อยๆ ก็เลยอยากขอแสดงความคิดเห็นหน่อยนะครับ ว่า ผมคิดว่าในการที่จะเริ่้มสอนเด็ำกๆสิ่งแรกที่ต้องทำอย่างยิ่งเลยคือการสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากที่จะรู้ก่อน แล้วค่อยให้สิ่งที่เราต้องการจะสอน เป็นคำตอบที่เด็กๆนั้นอยากรู้ ส่วนจะใช้วิธีใหนนั้นมันก็คงต้องขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละคนละครับ ผมว่าคุณครูน่าจะมีประสบการณ์เยอะ น่าจะผ่านเรื่องนี้ไปได้อย่างไม่ยากนะครับ เป็นกำลังใจให้อีกคนนะครับ สู้ๆ ได้ผลไงมาเล่าให้ฟังด้วยนะครับ

  • ขอบคุณ คุณPK ที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้คะ
  • จริงๆ หลายๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย มีการเปลี่ยนแปลงตามบริบทของสังคมที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
  • ร่วมเป็นกำลังใจให้ "ครู" ผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้ความรู้และสั่งสอนคุณธรรมแก่นักเรียน
  • เพื่อไปดำเนินชีวิตในสังคม ได้อย่างเป็นปกติสุขต่อไปคะ

ครับอาจารย์พี่ ผมดีใจมากที่มีอาจารย์อย่างอาจารย์ และอีกหลายท่านที่ตอบในกระทู้ นะครับ

ส่วนของมีนี่สิ....ให้ความสนิน ชวนคุย จนนับได้ว่าสนินทีเดียว ผมเองก็พยามถามถึงสาเหตุที่น้องเขาไม่อยากเรียน

แต่ผลที่ได้... เงียบ คุยได้ทุเรื่องนะครับ พอถามถึงเรื่องเรียน....เงียบตลอด มันทำให้ผมรู้สึกว่าด่อยในส่วนไหนหรือป่าว

โรงเรียนของผมที่สอนอยู่ก็เป็นลักษณะเดียวกับของอาจารย์พี่นะครับ รับสมัคร 100% แตเป็นโรงเรียนประจำที่มีชื่อของจังหวัดชลบุรีผมเป็นอาจารย์ที่เข้ามาสอนใหม่

บางทีผมไม่ค่อยรู้เทคนิค จึงอยากจะขอคำแนะนำครับ

  • สวัสดีคะ อาจารย์น้องแต็ก
  • ปัญหาคล้ายๆ กันคะ
  • แม้เราจะพยายามชวนพูดคุย สนิทสนม สร้างความเป็นกันเองได้ และพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง แต่เมื่อกลับมาพูดเรื่องไม่อยากเรียน...ความเงียบจะตามมาทันที
  • เทคนิคก็ต้องเรียนรู้กันไปคะ
  • ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของครูที่จะช่วยแก้ปัญหาของเด็กนักเรียน แต่ที่สุดแล้ว ตัวเด็กนักเรียนต้องเป็นคนเปิดรับโอกาส และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตัวเขาเอง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท