การจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียน LD


นักเรียน LD

การจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียน LD

                   พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พุทธศักราช 2542 เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาได้ใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาในหมวด 4 แนวการจัดการศึกษา มาตรา 22 การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด  กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพกระทรวงศึกษาธิการ.  2546.)  และหมวดที่ 2  สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา มาตรา 10 การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอภาคกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย 

การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย  จิตใจ  สติปัญญา  อารมณ์  สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้  หรือมีร่างกายพิการ  หรือทุพพลภาพ  หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส  ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในวรรคสอง  ให้จัดตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก  สื่อ  บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา  ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง  (กระทรวงศึกษาธิการ.  2546.)

                   กระทรวงศึกษาธิการ (2551.)  ได้ตราพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 ซึ่งกล่าวถึง  การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ   หมวด 1  สิทธิหน้าที่ทางการศึกษา 

                   มาตรา 5  คนพิการมีสิทธิทางการศึกษา  ดังนี้ 

                   1.  ได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการจนตลอดชีวิต  พร้อมทั้งได้รับเทคโนโลยี  สิ่งอำนวยความสะดวก  สื่อ  บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา

                   2.  เลือกบริการทางการศึกษา  สถานศึกษา  ระบบและรูปแบบการศึกษา  โดยคำนึงถึงความสามารถ  ความสนใจ  ความถนัดและความต้องการจำเป็นพิเศษของบุคคลนั้น

                   3.  ได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา  รวมทั้งการจัดหลักสูตร  กระบวนการเรียนรู้  การทดสอบทางการศึกษา  ที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการแต่ละประเภทและบุคคล

                   มาตรา 6  ให้ครูการศึกษาพิเศษในทุกสังกัดมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษตามที่กฎหมายกำหนด  ให้ครูการศึกษาพิเศษ  ครูและคณาจารย์ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ  องค์ความรู้  การศึกษาต่อเนื่องและทักษะในการจัดการศึกาสำหรับคนพิการ  ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด

                   มาตรา 7  ให้สถานศึกษาของรัฐและเอกชนที่จัดการเรียนร่วม  สถานศึกษาเอกชนการกุศลที่จัดการศึกษาสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ และศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ  ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน  ได้รับเงินอุดหนุนและความช่วยเหลือเป็นพิเศษจากรัฐ  หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับเงินอุดหนุนและความช่วยเหลือเป็นพิเศษ  ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

                   มาตรา  8  ให้สถานศึกษาในทุกสังกัดจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล  โดยให้สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการและต้องมีการปรับปรุงแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง  ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในประกาศกระทรวง

                   สถานศึกษาในทุกสังกัดและศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการอาจจัดการศึกษาสำหรับคนพิการทั้งในระบบ  นอกระบบและตามอัธยาศัย  ในรูปแบบที่หลากหลายทั้งการเรียนร่วมการจัดการศึกษาเฉพาะความพิการ  รวมถึงการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพ  การพัฒนาศักยภาพในการดำรงชีวิตอิสระ  การพัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็น  การฝึกอาชีพ   หรือการบริการอื่นใด

                   ให้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาในทุกสังกัด  มีหน้าที่รับคนพิการเข้าศึกษาในสัดส่วนหรือจำนวนที่เหมาะสม  ทั้งนี้  ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

                   สถานศึกษาใดปฏิเสธไม่รับคนพิการเข้าศึกษา  ให้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย

                   ให้สถานศึกษาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนผู้ดูแลคนพิการและประสานความร่วมมือจากชุมชนหรือนักวิชาชีพเพื่อคนพิการได้รับการศึกษาทุกระดับหรือบริการทางการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการ

                   มาตรา  9  ให้รัฐจัดเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องและการพัฒนาครู  บุคลากรทางการศึกษา  ให้มีความรู้  ความเข้าใจ  ทักษะและความสามารถในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ 

                   คณะกรรมการการการประถมศึกษาแห่งชาติ (กระทรวงศึกษาธิการ. 2539)  กำหนดแผนพัฒนาการศึกษาพิเศษ ( ด้านคนพิการ )  ดังนี้

                   1.  สิทธิมนุษยชน  เด็กทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการศึกษา  บริการทางการศึกษา

และอื่นๆ  ตลอดจนสามารถได้รับประโยชน์สูงสุดตามศักยภาพของตน

                   2.  การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการควรจัดให้เร็วที่สุดตั้งแต่แรกเกิด  หรือแรกเริ่มค้นพบความพิการ (Early  Intervention  Services)และจัดให้สนองกับความต้องการพิเศษของผู้เรียน  เพื่อพัฒนาคนพิการให้มีความสามารถช่วยเหลือตนเองได้  และสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

                   3.  การจัดการบริการการศึกษาพิเศษสำหรับผู้ที่มีความบกพร่อง  ให้มีบทบาทในการช่วยเหลือสนับสนุนและป้องกัน  การช่วยเหลือสนับสนุนมีลักษณะให้การศึกษา  เพื่อขจัดความไม่สามารถในการเรียนรู้และหาวิธีการเรียนการสอนแบบต่างๆมาทดแทนป้องกัน 

มีลักษณะให้การศึกษาเพื่อสนองตอบความต้องการพิเศษของเด็ก  และจัดหาวิธีการโดยร่วมทำงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์  ด้านสังคมและอื่นๆ  ป้องกันสภาพความพิการไม่ให้ขยายใหญ่ขึ้นและไม่ทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น

                   กระทรวงศึกษาธิการ  พุทธศักราช 2545  ได้จำแนกประเภทของความบกพร่องไว้ 9  ประเภท  ดังนี้

                   1.  บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็น  ( ตาบอดและเห็นเลือนลาง )

                   2.  บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ( หูหนวกและหูตึง )

                   3.  บุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา

                   4.  บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพ

                   5.  บุคคลที่มีปัญหาทางการเรียนรู้

                   6.  บุคคลที่มีปัญหาทางการพูดและภาษา

                   7.  บุคคลที่มีปัญหาทางพฤติกรรมหรืออารมณ์

                   8.  บุคคลออทิสติก

                   9.  บุคคลพิการซ้ำซ้อน

                   สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน   มีนโยบายให้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษโดยจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนแกนนำการจัดการเรียนร่วม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เร่งส่งเสริมและพัฒนานักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ที่ผ่านการคัดกรองนักเรียน      โดยคัดเลือกนักเรียนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงโดยใช้เครื่องมือคัดกรองของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จัดทำโดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และโรงพยาบาลศิริราช  เรียกว่า  แบบคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้และออทิสซึม KUS-SI Rating Scales : ADHD/LD/Autism (PDDs)

                   สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ  กำหนดให้ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด  และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนต้องร่วมมือกันรวบรวมกระบวนการคิด  การใช้สื่อ LD  เพื่อช่วยเหลือเด็กทันที  ซึ่งสามารถดำเนินการได้  ดังนี้

                   1. การคัดกรองนักเรียน ว่าเป็นเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้หรือไม่   หรือเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้านใด

                   2. การวินิจฉัยเด็กควรใช้หลายวิธีการ  โดยการคัดกรองที่ใช้เครื่องมือคัดกรองแบบ  KUSSI  การวัดเชาว์นปัญญา  และวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

                   3. การจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล

                   4. การแสวงหาและพัฒนานวัตกรรมสำหรับพัฒนาเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้

                   5. การแก้ปัญหานักเรียนตามสภาพความต้องการพิเศษ

                   6. การวิจัยเพื่อพัฒนาผู้เรียนในกลุ่มเป้าหมาย

                   7. การเทียบเคียงกับโรงเรียนที่มีผลงานดีเด่น  เพื่อปรับปรุงและพัฒนานักเรียนตามเป้าหมาย

                   เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้  ส่วนหนึ่งจะมีปัญหาในด้านการอ่าน  จะมีความยากลำบากในการรับรู้  การแยกแยะหรือการจำตัวอักษร  มีความสับสนระหว่างตัวอักษรเช่น  ม-น,  ด-ค  หรือเห็นคำว่า  กบ  เป็น  บก เป็นต้น  ทำให้ยากต่อการเรียนรู้ (Bos . 1991: 92)  และยังมีงานวิจัยจำนวนมากระบุว่าครึ่งหนึ่งของเด็กที่มีปัญหาในการเรียนรู้จะมีปัญหาในด้านการอ่าน (ศันสนีย์  ฉัตรคุปต์. 2544)  ซึ่งปัญหาในการเรียนรู้ดังที่กล่าวมา  มีผลต่อการเรียนรู้ในด้านการอ่านเป็นอย่างมาก  ฉะนั้นการสอนเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้  ผู้สอนจะใช้วิธีการสอนเหมือนกับเด็กทั่วไปไม่เป็นการเพียงพอ  ดังนั้นครูผู้สอนจะต้องรู้จักเลือกวิธีสอน  สื่อ  และอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็กมากที่สุด  โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ตรง  จากการศึกษาธรรมชาติ(ผดุง  อารยะวิญญู. 2533. )

                                สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กำหนดให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้  เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนโรงเรียนแกนนำการจัดการเรียนร่วมและโรงเรียนเครือข่าย LD ในการพัฒนานักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในจำนวนนักเรียนพิการ  9  ประเภท  โดยการจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนดำเนินการและการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพครูตามนโยบายและแผนงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  จากแนวคิดดังกล่าวข้างต้นและนโยบายตามหน่วยงานต้นสังกัดจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้  ที่สามารถพัฒนาศักยภาพได้ในระดับหนึ่ง  โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องเป็นผู้ริเริ่มส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาเด็กของโรงเรียนในสังกัด  ด้วยการจัดหาสื่อ อุปกรณ์  และการพัฒนาศักยภาพครูและผู้บริหารโรงเรียนให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้  การจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสภาพของเด็กที่มีปัญหาในการเรียนรู้  โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นการสร้างโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้ได้พัฒนาตนเองตามศักยภาพอย่างเหมาะสม

หมายเลขบันทึก: 272287เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2009 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท