ขบวนเรือพระราชพิธีอันวิจิตรตระการตา


คนเห่เรือ ผู้ขับขานภาษา ให้กังวานก้อง แห่งท้องน้ำเจ้าพระยา

ขบวนเรือพระราชพิธีอันวิจิตรตระการตา(ภาพกองทัพเรือ)

                        ...สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย      งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
       นารายณ์ทรงสุบรรณบิน                  ลินลาศฟ้าอ่าอวดองค์
                    อนันตนาคราช                งามผุดผาดวาดแวววง
       อเนกชาติภุชงค์                            ลงเล่นน้ำงามเลิศลอย...
       

       (บางท่อนจากกาพย์เห่เรือฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี : นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย-ผู้ประพันธ์ :ร.อ.ณัฐวัฏ อร่ามเกลื้อ-ผู้เห่ )
       
       ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นมาในช่วงของวันที่มีการซ้อมขบวนเรือพระราชพิธี แม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท่าวาสุกรีไปจนถึงวัดอรุณราชวราราม แลดูงดงามไปด้วยขบวนเรือพระราชพิธีอันวิจิตรตระการตา ไม่ว่าจะเป็นความงามของเรือพระที่นั่ง ดังบทกลอนที่กล่าวมาในข้างต้น หรือเรือรูปสัตว์รูปแบบต่างๆ อาทิ
       
                 ...กระบี่ศรีสง่า                  งามท่วงท่าไม่ท้อถอย
       เรือครุฑไม่หยุดคอย                     ยุดนาคคล้อยลอยเมฆินทร์...
       

       ในขณะที่เรือประกอบขบวนอื่นๆก็งดงามไม่แพ้กันไม่ว่าจะเป็น
       
                 ...เรือแซงแข่งเรือดั้ง           พร้อมสะพรั่งกลางสายชล
       เรือชัยไฉไลล้น                            ยลเรือกิ่งพริ้งเพราตา...
       

       นอกจากความวิจิตรของลำเรือและรูปขบวนเรืออันงดงามแล้ว กาพย์เห่เรือและผู้เห่เรือ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ขบวนเรือพระราชพิธีจะขาดไม่ได้ เพราะด้วยเสียงร้องอันทรงพลังดังกังวานก้อง ของคนเห่เรือที่ขับขานบทเห่เรืออันไพเราะสละสลวยออกมา ผสานกับเสียงขานรับของฝีพายและท่วงท่าการพายที่พร้อมเพรียงนั้น ช่วยส่งให้ขบวนเรือพระราชพิธีงามสง่าสมกับที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าหนึ่งเดียวในโลก

พล.ร.ต.มงคล แสงสว่าง เจ้าของเสียงเห่เรือสุดคลาสสิค 
       
            ...เห่เอยเห่เรือสวรรค์   เพลงคนธรรพ์ลั่นลือสรวง
       ฝากหาวเดือนดาวดวง       อย่าลับล่วงอยู่นิรันดร์เทอญ...

       
       นับตั้งแต่ปี 2525 มาจนถึงปี 2546 ไม่ว่าจะเป็นกระบวนพยุหยาตราชลมารค หรือขบวนเรือพระราชพิธี พลเรือตรี มงคล แสงสว่าง หรือที่หลายๆคนมักเรียกว่า อาจารย์มงคล ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง เจ้าของเสียงอันไพเราะเพราะพริ้งแต่เปี่ยมไปด้วยพลัง จะทำหน้าที่ขับขานบทเห่เรือข้างต้นในฐานะของผู้เห่เรือมือหนึ่ง ที่วันนี้แม้ว่าอาจารย์มงคลจะเลิกร้างการเห่เรือไปแล้ว แต่ซุ่มเสียงและลีลาการเห่เรือของ อ.มงคล ยังคงตราตรึงอยู่ในจิตใจของใครหลายๆคน เพราะนี่คือหนึ่งในเจ้าของเสียงเห่เรือสุดคลาสสิคคนหนึ่งของเมืองไทย
       
       อ.มงคล เล่าว่า ได้เริ่มงานเห่เรือมาตั้งแต่ปี 2511 โดยงานใหญ่ทำงานแรกคือ งานกระบวนพยุหยาตราชลมาคเมื่อเดือน เมษายน 2525 ซึ่งเป็นงานใหญ่ครั้งแรกในชีวิต หลังจากนั้น อ.มงคลก็รับหน้าที่พนักงานเห่เรือตัวจริงมาโดยตลอด ก่อนที่จะอำลาหน้าที่การเห่เรือในงานใหญ่งานสุดท้าย นั่นก็คือ การเป็นผู้นำเห่ขบวนเรือพระราชพิธีในงาน เอเปค 2003 (พ.ศ.2546)ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน
       
       “เมื่อเข้ามารับราชการที่กองทัพเรือ มาเห็นเขาฝึก เห็นเขาร้องก็เกิดความสนใจ เดิมเราอยู่บ้านนอกก็ชอบเรื่องของการร้องรำทำเพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลงลูกทุ่ง เพลงไทยสากล อันนี้ชอบร้องอยู่แล้ว พอมาเห็นอย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่แปลก ไม่เคยพบไม่เคยเห็น ก็เกิดความสนใจ พยายามฝึกดูเขา พร้อมจดจำ ทั้งในเรื่องของการพายและการร้องว่าเขากันพายอย่างไร และร้องอย่างไร มันค่อย ๆ ฝัง ค่อย ๆ ซึมเข้าไป เป็นลักษณะของครูพักลักจำ กระทั่งมันอดรนทนไม่ไหว ไปฝากตัวเป็นศิษย์กับท่านครูพันจ่าเอกเขียว สุขภูมิ และได้เริ่มฝึกกันจริงๆจังๆในปี 2508 จนกระทั่งถึงปี 2510”
       
       “เวลาสังสรรค์กับเพื่อนๆ เราจะนำบทเห่เรือที่ได้รับการฝึกจากคุณครูมาร้องให้เพื่อนฟัง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช่วงดึกจึงเงียบสงบ พอเราขึ้นเสียงเพลงเรือมันดังลั่นไปหมดเลย ตอนเช้าตื่นขึ้นมา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งท่านมีบ้านพักอยู่ในนั้น ท่านก็มาถามว่าใครเห่เรือ เราก็บอกไปว่า ผมเองครับ ท่านก็บอกว่าเสียงดีนี่ น่าจะฝึกหัดให้มันเป็นกิจจะลักษณะ จริงๆ จัง ๆ มันเลยเป็นมูลเหตุให้เราได้รับหน้าที่เป็นพนักงานเห่เรือ”
       
       “หลังจากนั้นกรมการขนส่งทหารเรือได้จัดการประกวดเห่เรือขึ้นในงานปีใหม่ของกรมฯ โดยเอาข้าราชการที่ฝึกกับครูจำนวน 5 คนในขณะนั้น มาร้องแข่งขันกันว่าใครควรจะเป็นพนักงานเห่เรือแทนท่านที่กำลังจะเกษียณ การตัดสินท่านไม่ได้ชี้ว่าใครได้ที่ 1, 2, 3 เพียงแต่ในซองที่เป็นของขวัญ ท่านใส่เงินในซองจำนวนลดหลั่นกันออกไป พอเราร้องเพลงเสร็จเรียบร้อย ก็เอาซองมาอวดกันว่าใครได้เท่าไหร่ ก็ปรากฏว่าเราได้มากกว่าเพื่อน ท่านก็บอกนั่นแหละ ท่านให้เป็นโดยปริยายแล้ว” อ.มงคลกล่าวอย่างภูมิใจ

                                    

              ส่วนการฝึกซ้อมในสมัยนั้นจะถ่ายทอดกันด้วยวิธีครูร้องนำ แล้วศิษย์ก็ร้องตาม หากว่าท่วงทำนองหรือการเอื้อนไม่ได้ ครูจะจะค่อยๆแต่ง ค่อยๆสอนไปทีละวรรค ซึ่งโดยรวมแล้วการฝึกในสมัยนั้นกับตอนนี้เหมือนกัน เพียงแต่สมัยก่อนการฝึกอาจจะเคร่งกว่า ดุหรือปากจัดกว่า ไม่ปล่อยให้ผ่านกันง่ายๆ
       
       “สำหรับผมตั้งแต่ปี 2508 ที่เราสนใจ เราจำจากที่ครูร้อง ไปหัดร้องที่บ้าน แม้แต่เวลากล่อมลูกก็เห่เรือกล่อมลูก ท่วงทำนองต่างๆ มันก็ฝังอยู่ในใจเรา ฝังอยู่ในสันดานของเรา จนกระทั่งท่านเปิดหลักสูตรขึ้นมาสอน 3 เดือนมันก็เป็นจังหวะดีของเรา ท่านชี้ให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น ในเรื่องของการร้อง เรื่องของจังหวะ แม้แต่เรื่องของการพายด้วยว่าการพายนั้นมันมีกี่จังหวะ มีกี่ท่า เราต้องเข้าใจว่าเราเห่เรือเพื่ออะไร การเห่เรือก็คือการให้จังหวะฝีพาย เพราะว่าในเรือแต่ละลำ 40 - 50 คน เราจะทำอย่างไรให้เขาพายพร้อมกันได้ แล้วก็ต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ การที่เสียงจะออกมาดีไม่ได้มีวิธีรักษาเสียงเป็นพิเศษ เราต้องรู้ว่าเราควรออกเสียงแต่พอสมควร ไม่ตะเบ็งเสียงมากๆ เพราะหลอดเสียงมันจะแย่ ต้องใช้เสียงให้มันถูกต้องแค่นั้น”
       
       ในเรื่องของความรู้สึกที่ได้เป็นพนักงานเห่เรือนั้น อ.มงคลกล่าวว่า
       
       “ความรู้สึกตอนแรกที่ได้ลงงานใหญ่ มันบอกไม่ถูก เพราะไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้มาทำหน้าที่เป็นพนักงานเห่ ทำหน้าที่ที่มีเกียรติอย่างนี้ ก็ตื่นเต้น กระบวนพยุหยาตราฯกว่าที่เราจะได้แสดง กว่าที่เราจะได้ปฏิบัติงานจริงๆ ในวันจริง ใช้เวลาในการฝึกซ้อมหลายขั้นตอน อย่างน้อยที่สุดที่เห็นๆ คือ 6 เดือน เพราะฉะนั้นความตื่นเต้นไม่มี แต่ว่าความภูมิใจที่มันเกิดขึ้นที่เราปฏิบัติหน้าที่นี้ มันบอกไม่ถูก บอกเป็นคำพูดออกมาไม่ได้”
       
       แม้ว่าในการแสดงขบวนเรือพระราชพิธีในงานเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีในปีนี้ อ.มงคล จะไม่ได้ลงแสดงน้ำเสียงและลีลาการเห่เรือ แต่อาจารย์ก็วางใจได้ เพราะพนักงานเห่เรือคนใหม่ที่มาเพิ่งมาทำหน้าที่ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ถือว่าทำหน้าที่ได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน

     ร.อ.ณัฐวัฏ อร่ามเกลื้อ เจ้าของเสียงหวาน พนักงานเห่เรือคนล่าสุด

                                                                          
          ...เจ้าเอย เจ้าพระยา  ถั่งธารามานานไกล
       เอิบอาบ กำซาบใจ       หล่อเลี้ยงไทยแผ่นดินทอง...
       

       ในกระบวนเรือพระราชพิธี วันที่ 12 มิ.ย.49 นี้ สำหรับบทเห่เรือ ได้มีผสมผสานกันระหว่างบทเห่เรือใหม่กับบทเห่เรือเก่า เกิดเป็น “กาพย์เห่เรือฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี” ที่ความไพเราะงดงาม โดยผู้มาทำหน้าที่เห่เรือขับขานสรรพสำเนียงอันไพเราะของกาพย์เห่เรือในขบวนเรือพระราชพิธีครั้งนี้ก็คือ เรือเอกณัฐวัฏ อร่ามเกลื้อ หนุ่มไฟแรง ผู้ที่ผ่านการฝึกฝนเคี่ยวกรำการเห่เรือมานานนับสิบปี
       
       ร.อ. ณัฐวัฏ เข้ามาอยู่ในกรมการขนส่งทหารเรือตั้งแต่ปี 2524 ซึ่งเป็นปีที่เตรียมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เขาเริ่มต้นด้วยการฝึกเป็นฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เพื่อเป็นฝีพายในงานกระบวนพยุหยาตราที่เสด็จ ณ ปริมณฑลท้องสนามหลวง เมื่อขณะที่ฝึกฝีพายก็ได้ฝึกหัดร้องเห่เรือไปด้วย จนกระทั่งในปี 2539 เขาได้ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งพนักงานขานยาว และพนักงานเห่สำรอง จนกระทั้งปี 2549 จึงได้ก้าวขึ้นมาเป็นพนักงานเห่เรือตัวจริงเสียงจริง
       
       “ผมเริ่มร้องเห่จริงๆจังๆ ก็ช่วงตอนที่มาเป็นครูฝึกฝีพายในปี 2530 เราอยากให้ลูกศิษย์เราหรือฝีพายที่เราฝึกเขาอยากฝึก หมายถึงว่าถ้าเราร้องส่งเดชไป เขาก็ไม่อยากฝึกกับเรา เราจึงต้องพยายามร้องให้มันดี” ร.อ.ณัฐวัฏ กล่าว
       
       ในส่วนของการฝึกซ้อมนั้น ร.อ. ณัฐวัฏ อาศัยการฟังจากครูท่านอื่นๆก่อนตั้งแต่ยังเป็นฝีพาย จนกระทั่งมาฝึกอย่างจริงจังกับ อ.สุจินต์ สุวรรณ์ และฝึกแบบครูพักลักจำจาก อ.มงคล แสงสว่าง โดยอาจารย์ของร.อ. ณัฐวัฏ แนะนำว่าต้องลากเสียงยังไง ค่อยๆแต่ง ค่อยๆติกันไป เพราะโดยส่วนตัวเป็นคนชอบร้องเพลงอยู่แล้ว รวมถึงจำเนื้อได้อย่างขึ้นใจ มันก็ทำให้การเห่ง่ายขึ้น
       
       “สำหรับเสียงของผมนั้น อาจารย์กับเพื่อนๆจะบอกว่าผมเสียงหวาน ซึ่งในเรื่องของน้ำเสียงมันคงแก้ไขกันลำบากคนเสียงแบบไหนก็ต้องเสียงแบบนั้น แต่ว่าการเอื้อนการปรับแต่งทำให้มันเพราะขึ้นมันปรับกันได้ ส่วนเวลาร้องก็จะมีลูกคู่รับ ซึ่งลูกคู่จริงๆแล้วก็คือฝีพาย เช่นตอนเกริ่นโคลง พนักงานเห่จะเกริ่นคนเดียว แล้วก็ชะละวะเห่ ฝีพายจะเริ่มพาย แล้วก็ร้องรับไปด้วยเป็นลูกคู่ไปด้วย ส่วนมูลเห่ฝีพายนี่เขาจะร้องรับ ชะๆ หะๆ เห่ๆ อะไรก็รับไปเรื่อยๆ แล้วก็ไปสวะเห่ ก็จะเป็นลูกคู่รับไปด้วย ฝีพายก็จะรับแบบสบายๆ” ร.อ.ณัฐวัฏ กล่าว

                       

              ทั้งนี้การร้องเห่เรือแต่ละครั้งต้องใช้เวลาติดต่อกันนานเป็นชั่วโมงๆ ดังนั้นทั้งฝีพาย และพนักงานเห่ จำเป็นต้องมีร่างกายแข็งแรง ซึ่ง ร.อ. ณัฐวัฏ ได้ฝึกฝนด้วยการ ต้องออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อที่จะทำให้สามารถร้องกาพย์เห่เรือได้ดังใจ รวมถึงสามารถร้องได้นานๆ พอร้องบ่อยๆก็จะจำบทได้เอง และตนเองเป็นคนที่จำแม่นอยู่แล้ว กลอนก็เป็นบทที่คล้องจองสัมผัสกันทำให้จำง่ายขึ้น แต่ถึงวันจริงต้องเปิดตำราดูเพื่อกันพลาด เพราะงานนี้เป็นงานใหญ่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศดังนั้นจะพลาดไม่ได้
       
       สำหรับขบวนเรือพระราชพิธีครั้งนี้ ร.อ. ณัฐวัฏ คือผู้ทำหน้าที่เป็นพนักงานเห่เรือ โดยประจำอยู่ที่เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ซึ่งเขาได้กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้ร่วมในงานอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้อย่างภาคภูมิใจ ว่า
       
       “ผมภูมิใจและดีใจมากที่ได้เห่เรือถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้เป็นตัวแทนของคนไทยคนหนึ่งที่ได้มีส่วนแนะนำวัฒนธรรมประเพณีไทย อนุรักษ์ประเพณีไทย ผมพอใจและภูมิใจมากๆ ในความเป็นไทย”
       
       พ.จ.อ. เฉลิม รอดดี พนักงานขานยาว กับเสียงห้าวๆให้จังหวะ
       
                 ...วัดวาทุกอาวาส           พุทธศาสน์ธรรมทอแสง
       น้ำใจจึงไหลแรง                       ไม่เคยแล้งจากใจไทย
       

       นอกจากการขับขานบทเห่เรืออันไพเราะแล้ว เสียงขานให้จังหวะสอดรับกันระหว่างการเห่กับฝีพายก็ถือเป็นส่วนสำคัญเช่นกัน สำหรับ ผู้รับหน้าที่นี้ก็คือ พ.จ.อ.เฉลิม รอดดี พนักงานขานยาวประจำเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่ง พ.จ.อ.เฉลิม ได้เข้ารับราชการมาตั้งแต่ปี 2530 และได้คลุกคลีอยู่กับการพายเรือและการเห่เรือมาตลอด จนในปี 2545 ที่มีการเปิดหลักสูตรการเห่เรือขึ้นมา โดยเขาติดหนึ่งในสามของพนักงานเห่เรือ

 

พ.จ.อ.เฉลิม กล่าวว่า เป็นคนชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็กแล้ว แนวเพลงลูกทุ่งจะชอบมาก โดยเฉพาะชาย เมืองสิงห์ ชอบมาตั้งแต่สมัยเด็ก เพราะเสียงเขาดี ร้องง่าย เสียงไม่สูงมาก ไม่ต่ำมาก มีอยู่วันหนึ่งตอนกำลังร้องลิเกเล่นกับเพื่อน บังเอิญครูมงคล(แสงสว่าง)มาได้ยิน จึงได้ชวนให้มาเห่เรือ ระหว่างนั้นก็ฝึกตัวเองอยู่ประมาณเดือนกว่าๆ เมื่อครูมงคลเรียกไปทดสอบเสียง ท่านจึงบอกให้มาอยู่แผนกเห่เรือก็แล้วกัน
       
       “พนักงานเห่จะมีบทบาทในเรื่องของการเห่ เสียงของคนเห่จึงอาจจะต้องมีความหวาน ส่วนการขานยาวเป็นการให้จังหวะ ซุ่มเสียงจึงจำเป็นต้องดังและออกห้าวหาญนิดๆ”
       
       “การขานยาวก็เป็นการเห่อย่างหนึ่ง เพื่อให้ฝีพายได้ผ่อนคลายอิริยาบถ เมื่อฝีพายเริ่มพายไม่พร้อมเพรียงกัน เริ่มไม่สวยแล้ว ผมก็จะขานยาวทีหนึ่ง อาจจะสัก 3 นาที 5 นาทีเว้นไป แล้วก็ขานใหม่ไปเรื่อยๆ เพราะคำว่า เยิ้ว! ของฝีพายที่เขารับเนี่ย เขาจะไปหยุดนิ่งอยู่ในจังหวะที่สี่ ตรงนั้นเสร็จปุ๊บต่อไปเขาจะลงมาพร้อมกัน ทีนี้คำที่เขารับ จะเรียกว่า สร้อย เป็นการโต้ตอบระหว่างพนักงานขานยาวกับฝีพาย ลักษณะของการขานยาวเขาจะมีแบบ เยิ้ว (เสียงยาว) อะไรอย่างนี้ แล้วฝีพายเขาก็จะรับว่า เยิ้ว (เสียงสั้นๆ) มันจะมี 2 อย่าง คือ กาบขวากับกาบซ้าย อย่างกาบขวาผมจะขึ้นมาว่า เยิ้ว....(เสียงยาวๆ) ฝีพายเขาก็จะรับห้วนๆ เยิ้ว!! แล้วก็ ขวา..พายสิพ่อ พายสิพ่อ พายสิพ่อ... ถ้าเป็นทางกาบซ้ายก็จะเป็นในลักษณะเดียวกัน แต่จะเปลี่ยนเสียงเป็น ซ้าย....พายสิพ่อ...แทน แบบนี้คือการขานยาว”
       
       พ.จ.อ.เฉลิม เล่าต่อว่า คนที่จะเข้ามาเป็นพนักงานเห่ หรือพนักงานขานยาวก็ตาม ต้องมีพื้นฐานของการพายเรือพระราชพิธีได้เนื่องจากจะได้รู้จังหวะ จับจังหวะให้เข้ากับทำนองได้ และต้องเป็นผู้ที่มีเสียงดี วิธีการร้องและอักขระอะไรต่างๆต้องชัดเจน ถูกต้อง เวลาฝึกก็ต้องฝึกกับฝีพาย เพราะเราเป็นครูฝึกของเขาด้วย คือฝึกเขาไปแล้วเราก็เห่ไปด้วย เหมือนได้ฝึกตัวเอง ฝึกให้ทำนองการเห่การพาย เขาก็รับด้วยเท่ากับเรามีลูกคู่ เป็นการฝึกฝนตัว และฝึกฝนเสียงไปในตัว
       
       สำหรับงานครั้งแรกที่ พ.จ.อ.เฉลิม ได้ร่วมปฏิบัติหน้าที่ก็คือ งานฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 5 รอบ ในปี 2530 ซึ่งขณะนั้นรับหน้าที่เป็นฝีพายเรือสุพรรณหงส์ จากนั้นก็ได้มาเป็นครูฝึก จนมาได้ลงเรืออเนกชาติภุชงค์ ในตำแหน่งพนักงานขานยาว
       
       “ผมภูมิใจทุกครั้งที่มีขบวน ซึ่งเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำถวายองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราทำด้วยความเต็มใจ ต้องยอมทำทุกอย่างอยู่แล้วครับ ยอมทุกอย่างถึงแม้จะเหนื่อยแค่ไหนแต่ก็ไม่มีใครเอ่ยปากบ่น เหงื่อหยดเข้าตายังไงก็สู้ครับ ทุกคนสู้หมดใจ ภูมิใจมากครับ” พ.จ.อ.เฉลิม กล่าวอย่างปลาบปลื้ม


คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 27197เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2006 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
นางทศพร ตาดสุวรรณ์

ขอขอบคุณ สำหรับการแนะนำในการทำ Blog

แต่ขณะนี้ยังมีปัญหา โปรดให้คำแนะนำเพิ่มเติมด้วย

ขอขอบคุณน้องเดย์  ที่ได้แนะนำในการทำBlog  แต่ทำไมเราใจตรงกันเลย  ใส่เสื้อสีแดงเหมือนกัน

นางสาวศิริพร เตชะศุภตระกูล

เป็น  Blog ดีมากเลย  หนูชอบเรือพระรายพิธีมากเลยค่ะ  เป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทยและการวิจิตรบรรจงมาก  หนูชอบและประทับใจครูเฉลิม  รอดดีค่ะ  ขอให้ครูมีสุขภาพแข็งแรง 

เราเป็นญาติกันป่าวครับ นามสกุลเดียวกันเลย

ไงสวัสดีเพื่อนๆพี่ๆน้องๆทุกคนเรามาหาความรู้กันเถอะ animal แปลว่า สัตว์

ขอขอบคุณทุกๆคนที่สนใจความรู้ชนิดนี้น๋าค๋า...เดี๋ยวร้องเพลงให้ฟังน๋าค๊า

มันอิจฉารู้ไหมอิจฉาทุกทีอิจฉาที่พี่รักเขาไม่รักใคร *.. ขอร้องแคนี้น๊าค๊า

แล้วเจอกันใหม่น๋าค๊า I LOVE YOU บายไปก่อนน๊าค๋าแล้วจามาอีกค๋าบาย5+

*-**.*************************************************

ไปน๊า จุฟ จุฟ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท