ตัวอย่าง KM ที่ประสบผลสำเร็จในหน่วยราชการ


หน่วยราชการทำ KM ของแท้ได้ ถ้าทำถูกทาง ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

ตัวอย่าง KM ที่ประสบผลสำเร็จในหน่วยราชการ
           ขอนำสรุปเรื่องราวที่น่าภาคภูมิใจในวงราชการไทย เกี่ยวกับการดำเนินการ KM     มี “สัญญาณ” ของความสำเร็จแบบเริ่มต้นบ้าง แบบน่าตื่นตาตื่นใจบ้าง มาให้ได้ทราบกัน    เพื่อให้มั่นใจกันว่า การทำ KM ไม่ใช่เรื่องยากถ้าจับทางถูกและทำจริง     ผมเชื่อว่าหน่วยราชการที่ทำ KM ได้ผลดียังมีอีก แต่ สคส. อาจจะยังไม่ทราบ     จึงขอเชิญชวนให้หน่วยราชการเขียน บล็อก เล่าความสำเร็จเล็กๆ ในการทำ KM สู่กันฟัง     แล้วท่านจะได้รับคำแนะนำจาก สคส. ฟรี (เฉพาะถึงสิ้นเดือนกันยายาน ๔๘ เท่านั้น)    รวมทั้งเราจะส่งคนไปเยี่ยม    ถ้ามีผลการดำเนินการที่น่าชื่นชมเราจะช่วยตีปี๊บให้ด้วย (ฟรีอีกเช่นกัน)     เรื่องราวต่อไปนี้เป็นข้อเขียนของคุณหญิง (นภินทร ศิริไทย) นะครับ


สรุปการประชุมวิชาการจัดการความรู้ ครั้งที่ ๑๗
เรื่อง  การจัดการความรู้ในวงราชการไทย  :  ประสบการณ์แห่งความสำเร็จ
วันที่ ๒๘  กรกฎาคม ๒๕๔๘  เวลา  ๐๙.๐๐ – ๑๖.๓๐  น. 
ณ  ห้องกิ่งเพชร  โรงแรมเอเชีย  ราชเทวี  กรุงเทพฯ
                วันที่  ๒๘  กรกฎาคม  ๒๕๔๘  สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)  ได้จัดการประชุมวิชาการจัดการความรู้  ครั้งที่ ๑๗  เรื่อง  “การจัดการความรู้ในวงราชการไทย :  ประสบการณ์แห่งความสำเร็จ”  โดยมีตัวแทนจาก ๖ หน่วยงานราชการไทยที่ได้ดำเนินการจัดการความรู้แล้วประสบผลสำเร็จมาเล่าเรื่องให้ที่ประชุม ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังกว่า ๑๐๐  คน
ช่วงแรกของการประชุม  ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช  ได้เกริ่นนำถึงเรื่องของการเรียนรู้การจัดการความรู้ใน ๓  แนวทาง  คือ            ๑.  ลงมือปฏิบัติ
                ๒. เรียนรู้จากผู้ปฏิบัติ / มีประสบการณ์
                ๓. เรียนรู้จากตำรา ฟังการบรรยาย
พร้อมทั้งกล่าวถึงรูปแบบของการประชุมในครั้งนี้ว่า   เป็นการเรียนรู้แบบที่ ๒    ดำเนินการประชุมด้วยการให้ตัวแทนหน่วยงานราชการทั้ง ๖  แห่ง นำเสนอเล่าเรื่องประสบการณ์ความสำเร็จในการจัดการความรู้ของหน่วยงาน  โดยเน้นความรู้ปฏิบัติ / จากประสบการณ์และเน้นการแลกเปลี่ยน / แบ่งปัน   ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ  ต่อมา  ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด ได้นำเสนอถึง “ที่มา...ที่ไป...ของการทำ KM  ในหน่วยงานราชการ” 
หลังจากนั้น จึงเป็นการนำเสนอเล่าเรื่องประสบการณ์ความสำเร็จของการดำเนินการจัดการความรู้ของหน่วยงานราชการไทย  หน่วยงานแรก  คือ ภาควิชาพยาธิวิทยา  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  โดย   รศ.พญ.ปารมี  ทองสุกใส  ผู้ดำเนินโครงการ “พยาธิ ๑ ทีม ๑ โครงการ  หรือ  Patho-Otop”  ซึ่งเป้าหมายของภาควิชาพยาธิวิทยา  คือ  ห้องปฏิบัติการผ่านการรับรองมาตรฐาน  และเนื่องจากโครงสร้างของภาควิชานี้มีห้องปฏิบัติการย่อยๆ  เยอะมาก  บุคลากรก็มีความหลากหลายทั้งด้านการศึกษาและอายุ   จึงมีความคิดว่า น่าจะมีการประกวดการนำเสนอโครงการพัฒนาบุคลากรของคณะขึ้น  ซึ่งเดิมทีคณะแพทยศาสตร์  มีการจัดทำโครงการเช่นนี้อยู่แล้ว  แต่เป็นการสนับสนุนผ่านหัวหน้างาน  บุคลากรระดับปฏิบัติมีส่วนร่วมค่อนข้างน้อย  เมื่อได้ยินได้ฟังได้อ่านเกี่ยวกับเรื่องการจัดการความรู้  โดย ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช  ได้กล่าวไว้ว่า  การจะทำการจัดการความรู้  ไม่ต้องยึดติด อะไรก็ได้ที่พัฒนางาน  แต่ที่สำคัญ   ต้องมี “หัวปลา” และ ใช้คนหลากหลาย ใช้ความรู้ทั้งภายใน ภายนอก ซึ่งภายในภาควิชานี้  ก็มีคนหลากหลายมาก แต่ยังไม่เคยได้ให้คนเหล่านั้นมาร่วมกันพัฒนางานมากนัก  ต่อมาได้ฟังบรรยายเกี่ยวกับเรื่องการจัดการความรู้อีกครั้ง  มีการพูดถึงเรื่องการทบทวนตนเอง จึงนำสองเรื่องนี้มาโยงกันว่า เริ่มจากทบทวนปัญหาที่มีอยู่ หาแนวทางแก้ไข ปรับปรุงแนวคิดในการทำงาน  และนำหลักการจัดการความรู้มาผสมรวมกัน เพื่อให้เป้าหมายไปสู่ผลสัมฤทธิ์เร็วขึ้น  และเน้นการทำเป็นทีม เน้นผู้ปฏิบัติ ไม่เน้นหัวหน้า (หัวหน้าถอยเป็นพี่เลี้ยง)  จึงเกิดโครงการนี้ขึ้น  โดยจัดให้มี peer assist คือผู้รู้หน่วยงานอื่นทั้งในและนอกภาคเป็นที่ปรึกษา  จัดให้มีรางวัล  เปิดรับทีม  มีบรรยายเล็กน้อย จากนั้นก็เข้ากลุ่ม และมานำเสนอแนวคิดโครงการ  โดยมีทีมสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด  ๒๒   ทีม  และให้ทุกทีมนำเสนอโครงการของตนเอง  ซึ่งได้รับความสนใจมาก  ส่วนแผนงานหลังจากนี้ไป คือ  ตอนปลายปีจะมีการจัดสัมมนานอกสถานที่  ทางภาควิชาจะทำย้อนกับวิธีของ  ศ.นพ.วิจารณ์   พานิช   คือ  ให้ทำไปก่อน แล้วค่อยเล่าในตอนท้าย  โดยเลือกกลุ่มที่ทำได้ดีมาเล่าให้คนอื่นๆ ฟัง  จะมีการ จัดกลุ่มสกัดความรู้  ให้แต่ละทีมวางแผนโดยใช้เทคนิคจากกลุ่มอื่นมาปรับใช้  
ส่วนผลสำเร็จที่เกิดขึ้น  คือ
- การทำงานเป็นทีม
- การพัฒนางานทุกกระบวนการพร้อมๆ กันไป
- บุคลากรกระตือรือร้นในการพัฒนางาน
- บุคลากรได้แสดงศักยภาพออกมา
                - บุคลากรได้พัฒนาตนเองหลายด้าน
                หน่วยงานต่อมา คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  มีผู้นำเสนอ  ๒  คน คือ คุณเกศราภรณ์  สุขทรัพย์ศรี  จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  และ คุณรุ่งเพชร  แสงทอง  จากโรงพยาบาลบ้านแพรก 
                คุณรุ่งเพชร  ได้เล่าว่า  เป็น “คุณอำนวย”  ของโรงพยาบาลบ้านแพรก ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐  ต่อมาทำหน้าที่ประสานงานให้กับเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ (PCU)  ด้วย  เพื่อให้โรงพยาบาลต่างๆ  รวม ๑๖  อำเภอ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ได้รับการรับรองคุณภาพ HA
                โดยที่มาของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่าย คือ  ต้องการพัฒนากระบวนการทำงานเป็นหลัก   ซึ่งเริ่มจากการที่ พรพ. เข้าไปช่วยให้รู้จักการเรียนรู้ส่วนหนึ่งและได้เคยเข้าร่วมฟัง ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช  และ ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด ในเวทีต่างๆ   จึงได้นำแนวคิดเหล่านั้นมาประชุมระดมสมองร่วมกัน   เพื่อหาแนวทางหรือหลักการพัฒนาเครือข่ายและขยายผลสู่ความสำเร็จในนโยบายต่อไป   ในที่สุดจึงได้ให้ PCU  เป็นโครงการนำร่อง  เพื่อจัดเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน   จึงทำให้เกิดเครือข่าย PCU และกลุ่ม HCA
สำหรับปัจจัยสำคัญที่เป็นฐานในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่าย  คือ  มีการจัดเวทีเพื่อให้ความรู้ด้านการจัดการความรู้,   มีการกำหนดเป้าหมายและแผนงาน,  กำหนดตัวชี้วัดชัดเจน,  คัดเลือกเรื่องที่ประสบความสำเร็จมาแลกเปลี่ยน, มีการกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน,  มีทีมระดับจังหวัดเป็นศูนย์กลางการประสานงานที่ดี   และมีนำผู้ประสานงานภาคอำเภอเข้ามาร่วมด้วย  หลังจากกลุ่มได้รับทราบเรื่องของการจัดการความรู้บ้างแล้ว  ก็เริ่มลงมือทำจริง   จับกลุ่มเรียนรู้ร่วมกันและมี   “คุณอำนวย” ดึงประเด็นการเรียนรู้
ผลการดำเนินการ   คือ  มีการปรับปรุงการทำงาน   รู้ว่าอุปสรรคคืออะไร  ต่อไปต้องทำอย่างไร   ความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้น ได้แก่
·       บรรยากาศการจัดกลุ่มมีบรรยากาศที่เป็นกันเองขึ้น   ช่องว่างระหว่างกันลดลง  
·       พี่เลี้ยงมีทักษะในการกระตุ้นกลุ่มและการจับประเด็นหลัก   ทำให้มีความสุขในการร่วมกัน
·       ผู้เข้าร่วม   มีประกายในดวงตา   ได้รับความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น   ได้เห็นแบบอย่างในการทำกลุ่มและนำไปใช้ได้  
·       เกิดสัมพันธภาพเชิงเครือข่ายมากกว่าที่เคยทำมา   หลังจากที่มีการทำกลุ่มขึ้น ทำให้มีความเชื่อใจกัน   ทำให้เกิดกำลังใจว่ามีคนมาเอาใจใส่ตัวเอง   รู้จักกันและกันมากขึ้น  
·       สรุปประเด็นความรู้ของกลุ่ม   สามารถนำไปขยายผลต่อได้    เริ่มมีทักษะการจับประเด็นมากขึ้น
·       เกิดความช่วยเหลือกันและกันในระดับ สสจ. และระดับอำเภอ   ฝึกการสร้างการทำงานร่วมกัน
·       ทบทวนผลการเรียนรู้เทียบกับตัวชี้วัด   หลังจากการแลกเปลี่ยนกันแล้วจึงมีการปรับตัวชี้วัดการเรียนรู้ระดับเครือข่าย   มีผลกับ “หัวปลา”    การตั้งเป้าหมายในช่วงแรกก็มีการปรับไปด้วย   ทำงานอย่างไรให้เกิดความสุข  

สำหรับปัจจัยของความสำเร็จ   คือ  มีรูปแบบของกลุ่ม,  การใช้ทักษะการฟัง  และ “คุณอำนวย”  สามารถกระตุ้นให้แต่ละคนเล่าเรื่องต่างๆ  ออกมาได้อย่างรื่นไหล  ที่สำคัญคือ  ทำให้    ทุกคนได้ฝึกฝนการบันทึกความรู้


ส่วนคุณเกศราภรณ์  ได้กล่าวถึงปัจจัยความสำเร็จของเครือข่ายเพิ่มเติม ดังนี้คือ 
·       มีผู้นำที่เปิดใจ   เปิดไฟเขียวให้   สนับสนุนให้เกิดการทำการจัดการความรู้ขึ้น  
·       ระดับผู้บริหารขอเข้ากลุ่มของสาธารณสุขอำเภอ   มีใจในการจะเข้าร่วมการจัดการความรู้เป็นอย่างดี
·       ทำการจัดการความรู้ใน สสจ. และมีการสัญจรออกไปภายนอกด้วย 
ต่อมาเป็นการนำเสนอประสบการณ์ความสำเร็จของ กรมส่งเสริมการเกษตร  ซึ่งมีคุณธุวนันท์ พานิชโยทัย  และ คุณทวี มาสขาว เป็นผู้นำเสนอเรื่องเล่า
โดยคุณธุวนันท์   ได้เล่าว่า  กรมส่งเสริมการเกษตรเริ่มดำเนินการจัดการความรู้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ ภายใต้คำรับรองการปฏิบัติราชการ  และมีแนวทางการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๘  คือ  ต่อยอดของเดิม มีการศึกษาความรู้เพิ่มเติมและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้มีจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องและไม่หลงทาง
กรมส่งเสริมการเกษตร มีพันธกิจหลัก  คือ ต้องการให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน  โดยได้เริ่มต้นการจัดการความรู้ด้วยการเตรียมการ, การดำเนินงาน และการประเมินผล  ซึ่งขั้นตอนการเตรียมการดังนี้ คือ
- การคัดเลือกทีมงานที่สร้างสรรค์และพร้อมจะทำงานเป็นทีมจากกอง/สำนัก  ซึ่งทีมงาน  มีความหลากหลาย  ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ  โดยใช้ศูนย์บริการและถ่ายทอดเป็นหลัก
- สร้างความเข้าใจร่วมกันและแบ่งงานกันทำ ยกร่างเป้าหมาย  (Knowledge  Vision)  และตารางแห่ง
  อิสรภาพ
- คัดเลือก สอบถามความสมัครใจจังหวัดนำร่อง
- สร้างความเข้าใจแก่บุคลากรทั้งองค์กร โดยการสัมมนาและสัมมนาเข้มข้นในจังหวัดนำร่อง (๙ จังหวัด)
- มอบหมายคณะทำงาน  ๑-๒  คน รับผิดชอบเป็นรายจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ติดตาม/สนับสนุน  โดยจะมีการประชุมร่วมกันทุก ๒  เดือน  ซึ่งแต่ละจังหวัดมีการดำเนินการหลายรูปแบบ เช่น  อำเภอเดียว,  ทั้งจังหวัด,  เลือกรายประเด็น, โรงเรียนเกษตรกร ฯลฯ  และในขณะนี้ทั้ง ๙  จังหวัดทำตารางแห่งอิสรภาพเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ที่สำคัญ  มีการทำ AAR ทุกครั้ง  เพื่อเก็บเป็นคลังความรู้ และเพื่อใช้ในการประชุมครั้งต่อๆ ไป   โดยคณะทำงานส่วนกลาง จะสนับสนุน เป็นพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา ร่วมดำเนินการด้วย  ส่วนกรมในส่วนกลางดำเนินการสร้าง KM  webpage ในการเชื่อมโยงข้อมูลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง ๙  จังหวัด  มีการประมวลผลการดำเนินงาน และในเดือนกันยายนนี้จะมีการประชุมใหญ่  ซึ่งอาจใช้รูปแบบตลาดนัดก็ได้
ส่วนปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จ  คือ
- ประสบการณ์/ทักษะของเจ้าหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้-สร้างงานเดิม
- กลไกที่เป็นระบบส่งเสริมการเกษตร มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดับอำเภอ (District Workshop, DW) เจ้าหน้าที่มาพบปะกันอย่างสม่ำเสมอ
- การติดตาม/สนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัดนำร่องโดยทีมงานส่วนกลาง
                นอกจากนั้น  คุณทวี  มาสขาว  ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์  ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า  ขณะนี้กำลังดำเนินการจัดทำศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับตำบล โดยมีคณะกรรมการทั้งหมด ๑๕  คน  มีเกษตรตำบลเป็นเลขานุการ  และกำลังพยายามสร้างความเข้าใจเรื่องการจัดการความรู้ในระดับผู้นำ คือ  เกษตรอำเภอและเกษตรตำบลก่อน  เพื่อต้องการให้เกิดการจัดการความรู้ในวงกว้าง  เพราะเชื่อว่า  การจัดการความรู้จะสามารถช่วยพัฒนางานได้  แล้วในระยะต่อไปจึงค่อยขยายลงไปสู่ระดับผู้ปฏิบัติงาน
                ผลความสำเร็จการจัดการความรู้ของกรมส่งเสริมการเกษตร  คือ
                - ผู้นำ  มีการแสดงศักยภาพปรากฏให้เห็น 
                - บุคลากรได้รับการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม
                - การทำงานเป็นทีม
- การมีแผนงานที่ดี ร่วมคิด  ร่วมวางแผน  และร่วมทำ
- ผู้บริหารระดับจังหวัดได้รับรู้ปัญหา
- เกิดการทำงานร่วมกัน
- มีการสรุปบทเรียน ทบทวนร่วมกัน (เดิมไม่มีการสรุปบทเรียน)
                หน่วยงานต่อไป คือ กรมอนามัย  นำเสนอเล่าเรื่องโดย  พญ.นันทา  อ่วมกุล  และคุณสร้อยทอง  เตชะเสน 
                พญ.นันทา  ได้กล่าวว่า  กรมอนามัยเป็นองค์กรที่รับผิดชอบเรื่องสิ่งแวดล้อม   ให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี   ลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำลายสุขภาพ   โดยทำงานผ่านจังหวัด,  โรงพยาบาล และ ประชาชน   ซึ่งจำเป็นจะต้องมีเครือข่ายและพันธกิจ  เพื่อทำให้เกิดมาตรฐานในเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ  รวมไปถึงการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี
                โดยได้เริ่มดำเนินการจัดการความรู้ด้วยการค้นหาความรู้ภายในหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว  พร้อมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ  และเริ่มดำเนินการจัดตลาดนัดความรู้เมื่อเดือนธันวาคม  ๒๕๔๗ หลังจากนั้นหน่วยงานต่างๆ  ก็นำไปดำเนินเองต่อไป  มีการจัดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ มาแลกเปลี่ยนร่วมกันหลายครั้ง  รวมทั้งทำให้เกิดชุมชนนักปฏิบัติอย่างน้อย ๑  กลุ่ม
                ในแต่ละกิจกรรมหรือการดำเนินงานมีการนำการจัดการความรู้มาใช้ในจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มคนที่ทำจริง,   มีกิจกรรมการเยี่ยมบ้าน ซึ่งทำให้ได้ทั้งแนวปฏิบัติและมาตรฐาน,  มีทีมเขียนแนวปฏิบัติและมอบให้กับโรงพยาบาลทั้ง ๓๐  แห่งด้วย   เป็นต้น  ซึ่งแต่ละกิจกรรมก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันและมีการรวบรวมความรู้อย่างมากมาย  มีการปรับประยุกต์รูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น  ไม่กำหนดรูปแบบที่ตายตัว  ทำให้บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่อนข้างดี  อีกทั้งยังมีการประยุกต์  AAR ด้วย  โดยให้แต่ละคนเขียนจดหมายถึงเพื่อนรัก   บอกความจริงใจว่า  เมื่อกลับไปในหน่วยงานของตนเองแล้ว  ตั้งใจจะทำอะไร   อยากเสนออะไรให้ปรับปรุงอะไร   ทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ  ร่วมกัน  
                สำหรับแผนงานของกรมอนามัย  ที่ต้องการดำเนินการต่อไป คือ  พยายามสนับสนุนให้ทุกหน่วยย่อยๆ  ได้นำการจัดการความรู้ไปใช้ต่อไปให้มากขึ้นและต่อเนื่องขึ้น
                ส่วนปัจจัยแห่งความสำเร็จ  คือ 
- คุณค่าและประโยชน์ของการจัดการความรู้  ทุกคนเริ่มตั้งแต่ผู้นำ, ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติมองเห็นว่า  การจัดการความรู้เป็นเรื่องสำคัญ 
                - สิ่งแวดล้อม   เช่นการจัดโต๊ะ  เก้าอี้   ควรจัดแบบสี่เหลี่ยมจตุรัส  คนในกลุ่มมีไม่มากเกินไป   ความตั้งใจของผู้ฟังต้องส่งเสริมกัน  ทำให้เกิดความอยากเล่า  อยากเปิดเผย   การแนะนำตนเองก็สำคัญเช่นกันเนื่องจากมาจากที่ต่าง ๆ    การได้รู้จักกันทำให้ลดช่องว่างลงได้
                - การเข้าถึงแหล่งความรู้ในเรื่องการจัดการความรู้  เช่น  สคส.,  โรงพยาบาลศิริราช,  โรงพยาบาลบ้านตาก,  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น  
                - การพัฒนาเครื่องมือให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม  
                - กระบวนการจัดการ   ตั้งแต่การวางแผน,  ความเข้าใจในเรื่องของการจัดการความรู้ ต้องมีความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี,   มีการเตรียมงานที่ดี  เป็นต้น     
                - การจัดการกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น    
                - มีการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง
- มีการประเมินและติดตามผล 
หลังจากนั้น  จึงเป็นการนำเสนอเล่าเรื่องประสบการณ์ความสำเร็จของโรงพยาบาลบ้านตาก  จังหวัดตาก  ซึ่งมีคุณเกศราภรณ์ ภักดีวงศ์ และคุณเทพทวย  มูลวงศ์  เป็นผู้นำเสนอ
คุณเกศราภรณ์  ภักดีวงศ์  ผู้จัดการคุณภาพและ “คุณอำนวย”  ของโรงพยาบาลบ้านตาก  ได้เริ่มเล่าให้ฟังว่า  เป้าหมายสูงสุดของโรงพยาบาล คือ  ประชาชนมีสุขภาพที่ดี เจ้าหน้าที่มีความสุข โดยก่อนที่จะลงมือดำเนินการจัดการความรู้  ทางโรงพยาบาลได้มีการค้นหาทุนเดิมที่มีอยู่แล้วก่อน และเนื่องจากเป็นองค์กรเล็ก  มีบุคลากรเพียง๑๖๐ คน  จึงทำให้การดำเนินการไม่ยากมากนัก 
                โดยวางแผนงานใน ๔ ช่วง  คือ
                ๑.  Team work  เริ่มจาก เจ้าหน้าที่  (ทีมนำ, ทีม “คุณอำนวย”, ทีมคร่อมหน่วยงาน และทีม Knowledge worker) ถ่ายทอดแนวคิดไปสู่ทีมนำในทุกระดับ  
                ๒.  แลกเปลี่ยนในหน่วยงาน  โดยจับทุกหน่วยมาพบกัน บอกว่าปีนี้จะทำ CQI แบบใหม่ (ลองทำ Knowledge  Vision) ให้ทุกคน share แบบอิสระ สุดท้ายได้คลังความรู้ออกมา   เก็บผลลัพธ์ไว้ และพยายาม integrate เข้าด้วยกัน สุดท้ายจึงจะเฉลยว่าที่เราทำกัน คือ  การจัดการความรู้
๓. แลกเปลี่ยนระหว่าง / คร่อมสายงาน  ในตอนแรกก็ค่อนข้างสับสนว่าจะจัดเวที share and learn อย่างไร  เพราะเคยจัดแบบจับคู่ให้  แต่หลายคนเริ่มเบื่อ  ไม่อยากเข้าร่วม  จึงเปลี่ยนใหม่  นำตารางแห่งอิสรภาพมาใช้  โดยให้แต่ละคนประเมินตนเอง  แล้วจึงจับคู่ให้   แต่วิธีนี้มีหลายคนที่ให้คะแนนตัวเองน้อย เพราะไม่อยาก share อยากมาฟังอย่างเดียว  สุดท้ายจึงเปลี่ยนให้ทุกคนเป็นผู้ให้ พบว่า  ทุกคนมีความสุขที่สุด
๔.  แลกเปลี่ยนนอกองค์กร (น้ำในตุ่มเราเริ่มขุ่น)  มีการจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงพยาบาล    เนื่องจากโรงพยาบาลต่างๆ  ในจังหวัดตาก  จะหวังพึ่งโรงพยาบาลบ้านตาก เพราะเห็นว่า  ผ่านประเมินแล้ว  และทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก็เริ่มมองเห็นว่า  การแลกเปลี่ยนระหว่างโรงพยาบาลมีประโยชน์มาก  จึงให้งบประมาณในการทำ share and learn
                ประโยชน์หรือผลจากการทำการจัดการความรู้ 
- ประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ ได้รับบริการที่มีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะจบมาจากไหน ได้รับการดูแลเป็นทีม (สหวิชาชีพ)  การเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินลดลง ได้รับตามสิทธิ  ยกระดับสุขภาพ
- ประโยชน์ต่อองค์กร คือ  การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้,  มีการประหยัดทรัพยากร, ทีมงานแข็งแกร่งและมีความสุข,  มีการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง, เกิดเครือข่าย, ได้รับความไว้วางใจ  เป็นต้น
และต่อไปโรงพยาบาลจะบูรณาการ  HA  กับ KM  เข้าด้วยกัน  โดยเป้าหมายใหญ่ในอนาคตของโรงพยาบาลบานตาก  คือ  ต้องการทำโรงพยาบาลขนาดหนึ่งหมื่นเตียง  โดยให้เตียงที่บ้านของประชาชนเป็นเตียงคนไข้ด้วย 
สำหรับปัจจัยแห่งความสำเร็จของโรงพยาบาลบ้านตาก  คือ
- การสนับสนุนจากผู้นำ
- ความสำเร็จที่ได้รับจากการบอกเล่าของผู้ศึกษาดูงาน
- ทีมงานพร้อม
- มีเวทีชัดเจน
- บูรณาการทุกอย่าง
- แฝงอยู่ในงานประจำ
ส่วนอุปสรรคก็มีเช่นกัน ได้แก่  บรรยากาศไม่ต่อเนื่องในบางเวลา, บางหน่วยงานมีการจัดเก็บคลังความรู้ไม่ชัดเจน ไม่ชอบเขียน,  มีการเล่าเรื่องนอกประเด็น  เป็นต้น
               
                ต่อมา  คุณเทพทวย  มูลวงศ์  ในฐานะ “คุณกิจ”  ของโรงพยาบาลบ้านตาก ได้นำเสนอเพิ่มเติมว่า  โรงพยาบาลบ้านตากดำเนินการจัดการความรู้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔  ทำแบบไม่รู้ว่า นี่คือการจัดการความรู้  จนกระทั่งในปี  ๒๕๔๗  ได้เข้าร่วมโครงการเครือข่ายการจัดการความรู้ของกลุ่มโรงพยาบาลภาคเหนือตอนล่าง  จึงได้รู้ว่า  มันเป็นเรื่องเดียวกัน  ซึ่งประสบการณ์จากที่ได้ดำเนินการจัดการความรู้มา  สิ่งแรกที่ทำ คือ  การถ่ายทอดให้คนอื่นๆ  ได้เข้าใจแนวคิดก่อน  และ  สิ่งที่ลืมไม่ได้คือ ทำให้เขาภาคภูมิใจและมีความสำคัญ   โดยมีการจัดช่วงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างการส่งเวรปกติ  ซึ่งเริ่มจากหอผู้ป่วยเดียวกัน หากยังแก้ไม่ได้ ก็จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหอผู้ป่วยอื่นๆ  หรือโรงพยาบาลอื่นๆ ต่อไป   
                และหน่วยงานสุดท้ายที่นำเสนอ  คือ  คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล  โดยมี ดร. ยุวดี   เกตสัมพันธ์,  คุณวราพร  แสงสมพร และคุณสมใจ   เนียมหอม  เป็นผู้นำเสนอ 
ดร. ยุวดี   เกตสัมพันธ์  กล่าวว่า  ศิริราชเริ่มทำการจัดการความรู้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม   คือ  หลังจากที่    ศิริราช  ได้รับการรับรอง HA  เมื่อปี  ๒๕๔๖  แล้ว  และเริ่มมองหาสิ่งท้าทายใหม่ ๆ   จนได้มารู้จักกับ     ดร.บุญดี   บุญญากิจ  ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ   เนื่องจากผู้บริหารต้องการให้บุคลากรของศิริราชเกิดการตื่นตัว   ไม่หยุดนิ่ง   แต่ในขณะนั้น  ผู้บริหารเองก็ยังไม่ทราบว่า  การจัดการความรู้คืออะไร   แต่ก็ได้ให้งบประมาณ  และมีการทำสัญญาโครงการนำร่องกับสถาบันเพิ่มฯ ใช้ระยะเวลา ๑๘  เดือน
โดยได้มีการตั้งทีมรับผิดชอบและทีมดำเนินการ   ทุกคนทำงานนี้ด้วยความมานะอดทน   ตลอด  ๑๘  เดือน ภายใต้การประเมินและติดตามโครงการอย่างเข้มข้น   มีการปรับกระบวนทัศน์และประมวลผลด้วยทีมพัฒนาคุณภาพ  พบว่าทำให้องค์กรเป็นไปในทิศทางที่ดี  เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้มากขึ้น  ต่อมาจึงมีการขยายไปสู่ระดับคณะ  มีการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ KM ของคณะ   สนับสนุนและส่งเสริม  ปรับปรุง  Website  นำร่อง  ส่วนในระดับหน่วยงาน  มีการกระตุ้นและส่งเสริมให้มีการขยายความรู้นั้น   ทำให้ KM มีชีวิตชีวาขึ้น   มีการส่งสัญญาณให้คณะกรรมการระดับสูง เช่น ระดับคณบดี,  ผู้อำนวยการ,  หัวหน้าภาควิชา,  หัวหน้างาน  ว่า   KM พร้อมแล้ว   ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้องค์กรมั่นใจว่าจะขับเคลื่อนต่อไปได้   ผู้บริหารก็เข้ามาร่วมด้วย  ทุกคนก็มีความสุข  อีกทั้งยังมีการสรุปช่วยทีม KM ทำงานต่อไป
                เมื่อเสร็จสิ้นโครงการนำร่องและประเมินตนเอง   ก็มีการกำหนดเข็มนำ KM มาเป็นตัวขับเคลื่อน   มีทีมดำเนินการ   กำหนดแนวทาง  เน้นคน   กำหนดบทบาท  และติดอาวุธ มี “คุณอำนวย”   ใช้วิธีติดอาวุธตามบทบาท   สอน Historian (ผู้ประมวลความรู้)   เป็นการบันทึกเรื่องราว แต่จะไม่เหมือน Note Taker   ทำได้ไม่ยาก   หาคนที่จับประเด็นเก่งๆ  คนที่คนที่เขียนบันทึกแล้วอ่านง่าย  นำมาแลกเปลี่ยนวิธีการให้คนที่เป็น Historian  ต่อไป
                ในการดำเนินการจัดการความรู้  ศิริราชได้กำหนด Domain  สำคัญเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (LO)  กำหนดโดยดูพันธกิจ   กระจาย Domain ของเราในองค์กร   ขณะนี้มีอะไรที่ต้องนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้   หาเจ้าภาพของแต่ละ Domain ต้องมีแนวทางในการจัดการ  ซึ่งรวมแล้วมีทั้งหมด ๑๗   Domain เช่น  เรื่องของ CPR,   ความปลอดภัยจากการให้ยา,   การบริหารยาในหอผู้ป่วย  เป็นต้น   โดยทุกๆ  งานที่ทำต้องมีการจดบันทึกเก็บเป็นคลังความรู้ทั้งหมด   
                นอกจากนั้น  ยังมีการสร้างชุมชนและมีการกำหนดจำนวนสมาชิกและคุณสมบัติ   ซึ่งขั้นการสร้างชุมชน   ตอน kick off  ค่อนข้างเครียด   ไม่พร้อม   แต่ก็ยังดำเนินการต่อแม้จะไม่พร้อมก็ตาม   เพราะเชื่อว่าหากมีความเชื่อว่าทุกคนมี ความสามารถก็สามารถทำได้    
                เมื่อคิดว่า ศิริราชพร้อมแล้วสำหรับการขับเคลื่อนเพื่อต้องการยกระดับ ต่อไป  จึงได้มีการจัดตลาดนัด   โดยให้ผู้บริหารเข้าร่วมกลุ่มและมีการสร้างเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาด้วย  ซึ่งจะมีการเวียนไปทุก Station ที่จัดให้ 
                จากการประเมินผลการดำเนินการจัดการความรู้  ทำให้รู้ว่า       องค์กรมีชื่อเสียงขึ้น   มีความรู้จากการปฏิบัติ   มีเครือข่ายมากขึ้น  ทำงานสะดวกขึ้น  คนไข้ได้รับบริการที่ดีขึ้น  และที่สำคัญ คือ  ทีมมีความสุข   ทุกคนสามารถทำได้   มีผู้นำเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะบุคลากรระดับปฏิบัติงาน
                สำหรับปัจจัยสำเร็จที่สำคัญ คือ
- ผู้นำ ทำงานเพื่อองค์กร  ตั้งแต่ระดับสูงถึงระดับล่าง  
- วัฒนธรรมองค์กร
- ความรู้ความเข้าใจของผู้รับผิดชอบโครงการ
- ความสามารถของ “คุณอำนวย” 
- ความพร้อมในเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวก  ทั้งเวทีจริง และเวทีเสมือน
- การดึง Knowledge  Assets   ออกมาให้ได้ว่า ทำแล้วเห็นผลลัพธ์ชัดเจน
       
                ต่อมาคุณสมใจ  เนียมทอง  ในฐานะ  “คุณกิจ” ที่ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้  กล่าวว่า  สำหรับวัฒนธรรมองค์กรของที่ศิริราช ต้องบอกว่า การจัดการความรู้  หากไม่มีใจ  จะทำให้  “คุณอำนวย”  เครียดมาก   “คุณกิจ”  จะต้องทำหน้าที่เล่าสิ่งที่ปฏิบัติมา   มีการไว้ใจกันซึ่งกันและกัน  ซึ่งจะช่วยทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ลื่นไหลได้ดี   และที่สำคัญ  ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แต่ละครั้ง  ควรจะต้องมีการบันทึกเป็นคลังความรู้  เพื่อนำขึ้น Website  สำหรับเผยแพร่ต่อไป  และหากนำไปใช้แล้วเกิดปัญหา  ขอแนะนำให้นำมาคิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพิ่มเติมต่อไป 
                และสุดท้าย คุณวราพร  แสงสมพร  ซึ่งรับผิดชอบในส่วนกลาง   ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการใช้การจัดการความรู้,   เป็นคนเชื่อมระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติเข้าด้วยกัน และทำหน้าที่รายงานผลการดำเนินการให้ผู้บริหาร  เพื่อให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนจากผู้บริหาร  ขณะเดียวกันก็ติดตามผลการจัดการความรู้ของผู้ปฏิบัติงานและปัจจัยต่างๆที่มากระทบ  เพื่อสนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่อง  กล่าวว่า  ปัจจุบันศิริราชมีเป้าหมาย เพื่อให้เกิดทีมจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพ   โดยต้องการให้มีการพัฒนาโมเดลที่ใช้ในศิริราชเอง  และต้องการให้การจัดการความรู้ขยายไปทั่วทั้งองค์กร  รวมทั้งต้องการให้คนที่เป็น Knowledge Worker    มีความรู้พร้อมใช้ หาได้ง่ายและนำมาใช้ได้ทันที  แต่ในขณะนี้  คิดว่า  ศิริราชยังทำคลังความรู้ได้ไม่ดีนัก  แต่ที่คิดว่า  จะนำ blog link Web ของศิริราชมาใช้ต่อไป
                เมื่อตัวแทนหน่วยงานทั้ง ๖  แห่ง ได้นำเสนอประสบการณ์ความสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว  ทางทีม “คุณลิขิต”  ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของ  สคส.  ได้นำเสนอ “ขุมความรู้”  ที่ได้จากเรื่องเล่าของหน่วยงานทั้ง ๖  ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างดี  แต่เนื่องจากเวลาค่อนข้างน้อย  และกรณีศึกษามีจำนวนมาก 

หมายเลขบันทึก: 2715เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2005 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หน่วยงานที่ดำเนินการ จัดการความรู้อย่างจริงจังโดยได้รับการยอมรับว่าเป็นหน่วยงานต้นแบบทางด้านการจัดการความรู้ เช่น กรมอนามัย กรมส่งเสริมการเกษตร โรงพยาบาลบ้านตาก มีปัจจัยที่ทำให้การจัดการความรู้ประสบผลสำเร็จที่โดดเด่นแตกต่างจากที่อื่นหรือไม่ค่ะ โดยรวมแล้วปัจจัยที่ทำให้การจัดการความรู้ประสบผลสำเร็จ มักจะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือ ผู้นำองค์กรให้การสนับสนุน วัฒนธรรมองค์กรที่สร้างเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน ระบบสารสนเทศที่ดี การวัดผล ซึ่งหน่วยงานอื่นๆก็อาจจะปฎิบัติตามได้เช่นเดียวกัน อะไรที่บอกได้ว่า หน่วยงานนี้ดำเนินการจัดการความรู้ได้ผลดี โดยเฉพาะกรมอนามัย ขอความคิดเห็นนิดนึงนะค่ะ เพราะส่วนตัวมองว่าหน่วยงานอื่นๆก็ดำเนินการจัดการความรู้เช่นเดียวกัน มีเคสไหนที่ดำเนินงานแล้วไม่ประสบผลสำเร็จบ้างหรือไม่ค่ะ และที่การดำเนินงานประสบผลสำเร็จมีปัจจัยที่นอกเหนือจากที่กล่าวมานี้หรือไม่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท