ประกาศผล Terumo Diabetes Patient Care Team Award 2005


อย่าใส่ปุ๋ยผิดสูตร

วันนี้เป็นวันประชุมวิชาการประจำปี ๒๕๔๘ ของสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน จัดที่โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน ๓๑๒ คน ไม่นับรวมคณะกรรมการสมาคม

ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกตลอดชีพจำนวน ๗๔๘ คนและสมาชิกรายปีอีก ๑๙๓ คน ซึ่งนับว่าไม่น้อยเมื่อเทียบกับอายุของสมาคมที่ตั้งมาเป็นปีที่ ๘

ในการประชุมมีการบรรยายทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย เพื่อ Update ความรู้เกี่ยวกับเบาหวานให้กับสมาชิก ในหัวข้อต่อไปนี้

Prevention of Chronic Disease in Community โดย พญ เพชรศรี ศิรินิรันดร์
ASEAN Diabetes Educators โดย ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ
Insulin Treatment in Type 2 DM โดย พ.อ.พญ.ยุพิน เบ็ญจสุรัตน์วงศ์ 
Updates in Foot Care for DM โดย พญ.ศรีอุไร ปรมาธิกุล
Footwear to Maximize Performance โดย อ.สมเกียรติ มหาอุดมพร

คั่นการบรรยายในช่วงเวลา ๑๑-๑๒ น. ด้วยการนำเสนอผลงานด้านการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่จัดเป็น Best practice จาก ๔ โรงพยาบาล 

สมาชิกเครือข่ายของเราคือ นพ.บุญรัก ธำรงลักษณ์กุล ได้รับเชิญให้มานำเสนอผลงานของ รพศ.ระยอง ร่วมกับ PCU ตะพง ซึ่งคุณหมอบุญรักนำเสนอแนวคิดและวิธีการทำงานได้อย่างน่าประทับใจ เช่น "ถ้า ร.พ.ผ่าน HA แล้ว แต่ผู้ป่วยเข้าไปไม่ถึง ก็ไม่มีประโยชน์อะไร"  งานที่ทีมของหมอบุญรักทำอยู่นั้น ได้ช่วยให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นและมีความเอื้ออาทรต่อกันมากขึ้น

หลังจากนั้นเป็นการนำเสนอของทีมโรงพยาบาลที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารับรางวัล Terumo Diabetes Patient Care Team Award 2005 จำนวน ๓ ทีม คือ

ทีมโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก   นำเสนอโดย นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ 
ทีมโรงพยาบาลวิเชียรบุรี นำเสนอโดย พญ. นิภาพร อรุณวรากรณ์ 
ทีมโรงพยาบาลเขมราฐ นำเสนอโดย นพ.วีรชัย ศรีวณิชชากร

แพทย์ทั้ง ๓ ท่านนำเสนอด้วยความตั้งใจ เล่าว่าทีมงานของตนได้ให้บริการแก่ผู้ป่วยเบาหวานอย่างไรบ้าง เหตุใดจึงให้บริการเช่นนั้น บอกแนวคิดเบื้องหลัง สิ่งที่เหมือนกันคือให้ความสำคัญกับผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชน พยายามจัดบริการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของผู้ป่วย มีการประเมินผลการทำงาน ทุกแห่งบอกความตั้งใจที่จะพัฒนางานให้ดีขึ้นไปอีก

เวลาประมาณ ๑๖ น. ได้เวลาประกาศผลการพิจารณารางวัลฯ เริ่มจากรางวัลที่ ๓ คือทีมโรงพยาบาลวิเชียรบุรี  รางวัลที่ ๒ คือทีมโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก และรางวัลที่ ๑ คือทีมโรงพยาบาลเขมราฐ 

ดิฉันสารภาพกับทีมที่ได้รับรางวัลว่า ฟังการนำเสนอผลงานของเขาแล้ว คิดย้อนไปสมัยที่ดิฉันยังทำงานอยู่ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ดิฉันมักมองแพทย์จากต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนต่อเฉพาะทางว่า ไม่มีความรู้ทางวิชาการลึกซึ้ง ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร ทำงานไม่ค่อยถูก วันนี้ดิฉันได้รู้ว่าแพทย์และทีมที่ทำงานอยู่นอกโรงเรียนแพทย์นั้น มีแนวคิดเพื่อผู้ป่วยที่ดีมาก เพราะเขายึดผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชนเป็นสำคัญ และจะน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง หากการมาเรียนต่อเฉพาะทาง จะเจือจางความคิดดีๆ ตรงนี้ไป สถาบันการศึกษาต้องตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้

คุณหมออารยา ทองผิว นายกสมาคม ได้ยินพอดี จึงช่วยเสริมอย่างคมชัดว่า "อย่าใส่ปุ๋ยผิดสูตร"

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๘

 

 รางวัลที่ ๑

ทีมโรงพยาบาลเขมราฐ

จ. อุบลราชธานี

ได้รับโล่ห์ และเงินรางวัล

๑๐๐,๐๐๐ บาท

 

 รางวัลที่ ๒

ทีมโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก

จ.นราธิวาส

ได้รับโล่ห์ และเงินรางวัล

๕๐,๐๐๐ บาท

 

 รางวัลที่ ๓

ทีมโรงพยาบาลวิเชียรบุรี

จ.เพชรบูรณ์

ได้รับโล่ห์ และเงินรางวัล

๓๐,๐๐๐ บาท

 

 

หมายเลขบันทึก: 2713เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2005 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ในการประชุมคราวหน้า   เชิญ ทีมที่ได้รับรางวัลมาทำ Peer Assist ดีไหมครับ

เรียนอาจารย์วิจารณ์

เชิญทุกทีมมาร่วมตลาดนัดความรู้ในเดือนพฤศจิกายนแล้วค่ะ ได้คุยกันอย่างดี ทุกแห่งรับปากเข้าร่วมงาน ทีมโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก และทีมวิเชียรบุรี ได้เข้าไปเยี่ยมและติดตาม blog ของเราแล้วค่ะ

Peer Assist จะแยกจากตลาดนัดหรือเปล่าคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท