ประวัติหัวหน้าฐานการเรียนรู้บ้านหนองขมาร


ฐานการเรียนรู้บ้านหนองขมาร

ฐานการเรียนรู้บ้านหนองขมาร


ประวัติหัวหน้าฐาน

ข้าพเจ้านายอุ่น  นิกรรัมย์  อายุ  ๗๐   ปี  เกิดวันที่   ๒๐  มกราคม  ๒๔๗๙  มีภูมิลำเนา
อยู่บ้านเลขที่  ๒๖  หมู่ที่  ๖  ตำบลหนองขมาร  อำเภอคูเมือง  จังหวัดบุรีรัมย์  โทร  ๐๔๔-๖๙๙๒๘๑  ส่วนมือถือนั้นเสียเงินมากเกินไป   จึงยังไม่จำเป็นต้องใช้  ป. ๓๑๑๙๐
การศึกษาและการทำงาน  จบชั้นประถมศึกษาปีที่สี่ที่โรงเรียนบ้านห้วยราช   อำเภอเมือง  จังหวัดบุรีรัมย์   สอบได้ลำดับที่   ๒  คนที่ได้ที่  ๑  เขียนหนังสือสวย  ข้อสอบลอกจากกระผมเอง
ในปี  พ. ๒๔๙๒  จบวิชาชีพเกษตรต้น  (๒  ปี และเกษตรกลาง  (๓  ปี ที่โรงเรียนเกษตรกรรมบุรีรัมย์ ในปี พ.. ๒๔๙๗    แล้วสอบเข้าเป็นครูประชาบาล  (สอบได้ที่ ๑  ในจำนวนผู้เข้าสอบ 600 กว่าคน  บรรจุให้ไปเป็นครูประชาบาลที่บ้านลำดวน  ตำบลลำดวน  อำเภอกระสัง  จังหวัดบุรีรัมย์  ในปี พ.. ๒๔๙๘  เนื่องจากโรงเรียนเป็นศาลาวัด  จึงร่วมกับวัดจัดสร้างอาคารเรียนถาวร  จำนวน  ๓  ห้องสำเรียนสำเร็จ  จึงถูกย้ายให้ไปเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านยาง  ตำบลลำดวน  อำเภอกระสัง  จังหวัดบุรีรัมย์  ในปี พ.. ๒๕๐๐  ปี พ.. ๒๕๐๑  มีโชคสองชั้นคือได้รับการคัดเลือกจากทางราชการให้ครูใหญ่ที่วุฒิต่ำ (ไม่มีวุฒิทางครู) ไปศึกษาต่อให้สูงขึ้น  จังหวัดบุรีรัมย์คัดเลือกข้าพเจ้าและอาจารย์วิรัช  เรืองสุข  ครูใหญ่โรงเรียนบ้านห้วยสำราญ  ตำบลลำดวน  อำเภอกระสัง  จังหวัดบุรีรัมย์  ไปเรียนต่อวิชาครูที่วิลัยเกษตรกรรมบางพระ  จังหวัดชลบุรี  เป็นเวลา ๓ ปี  และโชคอันที่ ๒ คือได้แต่งงานกับ น.. วรรณี  สาระรัมย์  บุตรครูเที่ยง กับ นางแอ  สาระรัมย์  เกิดเดือนเมษายน  ๒๕๘๑  และเดินทางไปศึกษาต่อวันที่ ๒๑ เมษายน  ๒๕๐๑  คือ  รุ่งเช้าออกเดินทางเพราะวิทยาลัยเกษตรกรรมบางพระกำหนดให้ไปรายงานตัวภายในวันที่   ๒๓  เมษายน พ.. ๒๕๐๑ เรียนอยู่   ปีจบหลักสูตรวิชาครูประโยคประถมเกษตรกรรม  (ปปก.)  เดินทางกลับทำงานเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านยางเหมือนเดิม  ในขณะที่เรียนได้พยายามหาที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนบ้านยางขึ้นใหม่ได้จำนวน  ๓๐  ไร่  แต่ข้าพเจ้าได้ถูกย้ายให้ไปเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านก้านเหลือง ตำบลชุมแสง  อำเภอกระสัง  จังหวัดบุรีรัมย์  เมื่อปี พ.. ๒๕๐๓  ภายหลังข้าพเจ้าทราบว่าที่ดินที่เตรียมสร้างโรงเรียนบ้านยางนั้น  ถูกครูใหญ่ใหม่และกำนันตำบลลำดวน  บุกรุกแบ่งเอาไปเป็นกรรมสิทธิส่วนตัว  ปัจจุบันคงเหลือไม่เกิน ๑๕ ไร่  โรงเรียนบ้านก้านเหลืองที่ข้าพเจ้าย้ายไปเป็นครูใหญ่ใหม่นี้ไม่มีอาคารเรียน  ใช่ร่มไม้และปีกไม้เป็นโต๊ะและเก้าอี้เรียน  อยู่ข้าพเจ้าจึงดำเนินขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านสร้างอาคารเรียนเป็นอาคารไม้ยกพื้นสูงสูง ๑.๕ เมตร  จำนวน ๓ ห้องเรียน  พอสร้างเสร็จเกิดพายุพัดอาคารเรียนเกิดล้มพังเสียหายหมด  ต้องดำเนินการก่อสร้างใหม่ในปี พ.. ๒๕๐๔  และขอความช่วยเหลือจากทางราชการ  ได้รับเงินอุดหนุนช่วยเหลือ 20,000  บาท  ท่านศึกษาพิน  ศึกษาธิการอำเภอกระสังบอกว่าให้ข้าพเจ้าออกเงินทดลองทำไปก่อน  เมื่อเบิกได้จะคืนให้  ข้าพเจ้าก็หลงเชื่อจึงดำเนินก่อสร้างอาคารเรียนจนแล้วเสร็จในปี  พ.. ๒๕๐๕  จึงขอเบิกเงินอุดหนุนที่จะให้สมทบกับศึกษาพิน  ศึกษาพิน
บอกว่า  เงินอุดหนุนยังเบิกไม่ได้  ล่วงเลยไป ๖ เดือน  ข้าพเจ้าจึงเข้าจังหวัดไปถามศึกษาธิการจังหวัดเพื่อขอเบิกเงินดังกล่าว  ศึกษาธิการจังหวัดบอกว่า      ศึกษาพินได้เบิกเอาไปเป็นเวลา ๕-๖ เดือนแล้ว  ข้าพเจ้าจึงกลับไปทวงกับศึกษาพินศึกษาธิการอำเภอท่านได้บอกว่า   ท่านได้เบิกมาจริงแต่ได้ใช้ซื้อไม้สร้างบ้านไปแล้ว  ขณะนี้กำลังจะเกษียณ  จึงขอให้ข้าพเจ้ารอหน่อยจะเอาเงินบำเหน็จบำนาญคืนให้  ข้าพเจ้ารู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมาก  จึงพูดไปว่าเป็นผู้ใหญ่แล้วพูดกลับกลอกเหมือนเด็กทำให้ศึกษาพินโกรธ  และออกคำสั่งย้ายข้าพเจ้าจากโรงเรียนบ้านก้านเหลืองไปเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านตะครอง  ตำบลลำดวน  อำเภอกระสัง  จังหวัดบุรีรัมย์  ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านก้านเหลืองประมาณสิบห้ากิโลเมตร  และขณะนั้นข้าพเจ้ามีบ้านมีลูกหนี้อยู่จำเป็นต้องดูแลเก็บผลประโยชน์ต่อไป  ไม่สามารถที่จะย้ายไปได้  จึงไปถามศึกษาอำเภอว่าย้ายข้าพเจ้าทำไม ได้รับการตอบว่า ย้ายเพื่อที่จะให้ช่วยสร้างโรงเรียนบ้านตะครองให้หน่อย  เพราะย้ายใครไปก็ไม่สามารถสร้างโรงเรียนขึ้นมาได้  ข้าพเจ้าหมดศรัทธาในการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการ  จึงตัดสินใจที่จะเข้าร่วมกับนักศึกษาและประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใหม่  เพราะระบบนายทุนนั้นเป็นภัยกับประชาชนและเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง     คนมีเงินเอารัดเอาเปรียบคนไม่มีเงิน  ที่ดินที่นาต้องหลุดไปเรื่อย  ๆ  ราคาผลผลิตพ่อค้าเป็นผู้กำหนด  ตำแหน่งนักการเมือง  ผู้นำหมู่บ้าน  ถูกผู้มีเงินจ่ายเงินซื้อ ทำให้อำนาจสิทธิของประชาชนไม่เท่าเทียมกัน  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาสมัครพรรคพวกเพื่อดำเนินการแก้ไข  จึงตัดสินใจเอาเอกสารที่ดินที่มีอยู่คืนให้กับเจ้าของที่ดินเดิมซึ่งมีอยู่เกือบพันไร่  ในเขตตำบลลำดวน  ตำบลชุมแสง  ตำบลกระสัง  ตำบลหนองเต็ง  ถ้าแปลงใดโอนมาเป็นของข้าพเจ้าแล้ว  ก็โอนกลับอย่างมากที่ได้รับคืนเท่ากับราคาซื้อมาครั้งแรก  บางแปลงโอนคืนให้ฟรีแต่ผู้รับโอนเอาไปขายในราคาสอง-สามล้านก็มีและควรโอนนี้ก็มีต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้   แต่การคิดที่จะไปร่วมกับพรรคพวกในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้  พอดีกับกรมการพัฒนาชุมชนได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี  พ.. ๒๕๐๖  มีคณะกรรมการพัฒนาชุมชนอำเภอกระสัง  โดยนายโกมล  และพรรคพวกรวม 7  คน  ไปท้องที่และพักนอนที่บ้านข้าพเจ้าและข้าพเจ้าได้เล่าให้เขาฟัง  เขาแนะนำว่า  ข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องออกไปนอนป่านอนดงให้ยุงมันกัดและเสี่ยงภัยกับการปราบปรามของเจ้าหน้าที่  ให้ข้าพเจ้าไปสมัครสอบเป็นพัฒนากรเงินเดือนก็ได้  เบี้ยเลี้ยงก็ได้แถมยังมีโอกาสที่จะช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลประโยชน์ตามที่เราต้องการอีกต่างหาก  ข้าพเจ้าเห็นด้วยจึงไปศึกษาแนวทางที่จะเป็นพัฒนากร  โดยการลาการสอนตามสิทธิครั้งละ ๔๕ วัน    เมื่อครบกำหนดก็มาสอนและขอลาต่อ  ได้สมัครสอบพัฒนากรจัตวารุ่นแรก  ปลายปี  พ.. ๒๕๐๕  สอบได้ที่สี่ในจำนวนผู้เข้าสอบหกหมื่นกว่าคน  หลักการสอบทุกครั้งที่ข้าพเจ้าสอบให้ได้คือให้รู้งานที่จะสอบให้รู้  คนที่ออกข้อสอบ และให้เขารู้จักเราด้วย  ทำให้ข้าพเจ้าสอบได้ลำดับดีมาตลอด     ข้าพเจ้าเริ่มเข้ารับราชการกรมการพัฒนาชุมชนในตำแหน่งพัฒนากร  ตั้งแต่เดือนมิถุนายน  พ. ๒๕๐๖  โดยประจำอยู่ที่อำเภอกระสังมาตลอด  จนถึงปี พ.. ๒๕๑๗  ข้าพเจ้าสอบได้และได้รับการบรรจุเป็นพัฒนาการอำเภอตรี  อำเภอสตึก  และในปีนั้นเป็นปีเงินผันของนายกคึกฤทธิ์  นายอำเภอนิรันด์  ยิ่งวรุณธรรม  ได้เอาเงินโครงการไปซื้อรถเก๋งของกำนันเซ้งและแบ่งให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับการเงินและการพัฒนาคนละ ๒-๓ หมื่นบาท  (ในสมัยนั้นสามารถซื้อรถเก๋งได้หนึ่งคัน แต่ข้าพเจ้าไม่เอาเพราะขณะนั้นปลัดจังหวัดและพัฒนาการจังหวัดซึ่งเป็นกรรมการติดตามตรวจสอบโครงการได้ตรวจพบว่างานที่ทำไม่ถูกต้องและต้องการให้ข้าพเจ้าร่วมมือให้ข้อมูล  แต่ข้าพเจ้าปฏิเสธเพราะถ้าข้าพเจ้าให้ข้อมูลไป  ผู้ถูกลงโทษคือกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  สภาตำบล  ซึ่งเป็นกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง  ไม่ใช่นายอำเภอ  นายอำเภอพอรู้เรื่องว่าข้าพเจ้าไม่เอาเงินส่วนแบ่งโมโหมาก  เอ็ตโรออกจากห้องนายอำเภอ  และด่าว่า  อ้ายคนที่มันไม่ชอบเงิน  มันมีแต่หมาเท่านั้นแหละวะ”  และไปบอกให้เสมียนพิมพ์หนังสือส่งตัวข้าพเจ้ากลับสังกัดเดิม  และทางจังหวัดได้ย้ายข้าพเจ้าไปเป็นพัฒนาการอำเภอละหานทราย  แต่ข้าพเจ้าไม่ไปเนื่องจากสมัยนั้นเขมรแดงได้เข้ามารบกวน  สร้างมวลชนอยู่แถวนั้นเป็นอย่างมาก  และจังหวัดให้ข้าพเจ้าไปอยู่เป็นพัฒนากรที่อำเภอลำปลายมาศ  ในปี ๒๕๑๙  ปี พ. ๒๕๒๐  จังหวัดได้ย้ายข้าพเจ้าไปอยู่ที่อำเภอกระสัง  ในปีนั้นทางราชการมีโครงการอาสาพัฒนาท้องถิ่นของตนเองในฤดูแล้ง  ข้าพเจ้าได้ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจทรัพย์ทั้งทรัพย์สินเงินทองกลางวันทำงานสนามกลางคืนฉายภาพยนตร์  พาชาวบ้านสร้างถนนจากบ้านตะครอง   บ้านห้วยสำราญ  ตำบลลำดวน  ผ่านบ้านติม  บ้านไผ่ลวก  บ้านศรีภูม  ตำบลชุมแสงและบ้านโนนแดง  ถึงบ้าน
ก้านเหลืองตำบลชุมแสงเป็นระยะทาง ๙ กิโลเมตร   โดยสร้างเป็นถนนดินตัดผ่านลำห้วย  ๔  สาย  ที่ลำห้วยแต่ละแห่งสร้างเป็นฝายน้ำล้นและวางท่อทุกแห่ง  คิดราคาก่อสร้างประมาณ  ๘  ล้านบาทโดยไม่ได้ใช้เงินงบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด  ทางราชการจึงมอบประกาศณียบัตรและโล่เกียติยศให้แก่ข้าพเจ้าเป็นอนุสรณ์โดยนายกรัฐมนตรี  ธานินทร์  กรัยวิเชียร  แต่การทำดีครั้งนี้ไม่ได้รับการตอบแทนโดยให้เงินเดือนขึ้นตามระเบียบของทางราชการ  เพราะพัฒนาการจังหวัดนายเฉวียน บอกว่าผลงานไม่ผ่านพัฒนาการจังหวัด  ปี พ.. ๒๕๒๑  ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพัฒนาการอำเภอคูเมือง  ได้นำผู้นำพัฒนาท้องถิ่นจนถึงปี   ๒๕๒๓   ทำให้กำนันสมชาย  อุบัติตระกูล  ภายหลังเปลี่ยนนานสกุลเป็นเกียรติพัฒนานนท์ได้รับโล่ทองคำพร้อมปืนแหนบทองคำ  ในฐานะกำนันดีเด่นสองปีซ้อน  และปี  ๒๕๒๔-๒๕๒๕  ได้ย้ายไปเป็นพัฒนากรที่อำเภอชุมพลบุรี  จังหวัดสุรินทร์และนำกำนันพันธ์ ได้รับโล่ทองคำพร้อมปืนแหนบทองคำสองปีซ้อนเช่นกันปี ๒๕๒๕  ได้ย้ายมาเป็นพัฒนากรอำเภอสตึกได้นำชุมชนพัฒนาท้องถิ่น  ทำให้กำนันเครื่อง  กำนันตำบลสระบัว  ได้รับโล่ทองคำพร้อมแหนบทองคำเช่นกัน  วิธีการทำงานของข้าพเจ้าในขณะเป็นพัฒนากรและพัฒนาการอำเภอนั้น  คือออกพบปะหาข้อมูลและนัดหมายงานในเวลา  ๖-๘  โมงกับประชาชนและผู้นำหมู่บ้านเช้า  ส่วนงานสารบรรณทำในเวลาราชการ  เวลาตอนบ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นประจำ    ทำอยู่อย่างนี้เป็นประจำ  ทำให้งานพัฒนาชุมชนไปได้โดยสะดวก  ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี  ตลอดระยะเวลารับราชการไม่เคยเก็บเงินหรือฝากเงินเลย  เงินส่วนตัวจะใช้ในราชการหมด  อาชีพได้หาทุนเรียนเองตั้งแก่อายุ  ๑๓  ขวบ  โดยรับจ้างงานทุกชนิด  พออายุ ๑๖-๑๘ ปีปลูกผักและซื้อของสดส่งขายตลาดเทศบาลบุรีรัมย์   สิ่งนี้ได้สร้างความแข็งแกร่งให้แก่ข้าพเจ้า  โดยตลอดเวลา ๕ ปีเรียนอยู่โรงเรียนเกษตรกรรมบุรีรัมย์  ข้าพเจ้ามีโอกาสได้นุ่งกางเกงขายาวตัวแรก  คือกางเกงเครื่องแบบข้าราชการครู  ซึ่งจำเป็นต้องแต่งเมื่อได้รับราชการบรรจุให้เป็นครูประชาบาลจัตวาอันดับ  ๒  เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท  เป็นครั้งแรก  ขณะนั้นข้าพเจ้าอายุ ๑๘  ปี กับสามเดือน  คือปี พ.. ๒๔๙๗ เป็นครูจนถึงปี  พ.. ๒๕๐๖  ดังกล่าวข้างต้น  
อาชีพอันดับ ๒ คืออาชีพข้าราชการพัฒนาชุมชน ปี  ๒๕๐๖-๒๕๓๙  อาชีพที่ ๓ คืออาชีพเกษตรกรโดยการทำการปลูกยูคาลิปตัสเกือบสองร้อยไร่และถอนตอปี ๒๕๔๖  และ พ.. ๒๕๔๘  เริ่มปลูกยางพารา จำนวน ๖๐ ไร่ ครึ่งหนึ่งปลูกยางเพาะเมล็ด  อีกครึ่งหนึ่งปลูกส่วนใหญ่ตายใน
ฤดูแล้ง  จึงจำเป็นต้องปลูกใหม่หรือซ่อมแซมในปี ๒๕๔๙ และในปีต่อไปจะปลูกยางผสมกับการปลูกหญ้าเลี้ยงโคและเลี้ยงโคไปด้วย  เป็นข้าราชการบำนาญ  ตั้งแต่ปี  พ.. ๒๕๓๙  จนถึงปัจจุบัน  

ครอบครัว  แม่บ้านชื่อวรรณี  นิกรรัมย์  อายุ ๖๘ ปี   มีบุตร ๓ คน   คือ . นางสาวอรุณี  นิกรรัมย์  เกิดวันที่  ๑๓  สิงหาคม  ๒๕๐๕  ปัจจุบันเป็นกุ๊กอยู่เรือสำราญที่จังหวัด ภูเก็ต  อายุ ๔๔ ปี
พันจาอากาศเอก   ไพจิตร  นิกรรัมย์  เป็นช่างซ่อมเครื่องบินบริษัทการบินไทยกำกัด  อายุ  ๔๒ ปี
สิบเอกจักรพงษ์  นิกรรัมย์  เคยนายทหารอยู่ที่ปราจีนบุรี  ขณะนี้ออกมาทำการเกษตรกับครอบครัวพ่อแม่  อายุ  ๔๐  ปี

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 27116เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2006 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขอยกให้เป็นอาจารย์ครับ....
เห็นภาพอดีตถึงปัจจุบันของพ่ออุ่นที่ฟันฝ่ามา..กับความไม่ถูกต้อง และความยากลำบากในอดีต ..

ขอให้พ่ออุ่น เล่าเรื่องเก่าๆแบบเป็นตอนสั้นๆให้พวกเราฟังผ่านทางบล็อกไปเรื่อยๆนะคะ ถ้ายังไงพ่ออุ่นลองเข้าไปดูที่อ.วิจารณ์เขียนเล่าเรื่องประวัติชีวิตตัวเองเป็นตัวอย่างก็ดีนะคะ

จะคอยติดตามอ่านเรื่องเล่าจากพ่ออุ่นค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท