beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

ทำไมเทพเจ้ากวนอูจึงมีคนรู้จักมากกว่าเทพเจ้าขุนพลงักฮุย


เดิมทีแล้ว ผู้ที่ชาวจีนต่างเคารพยกย่องเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ภักดีนั้น มิใช่ กวนอู หากแต่เป็นยอดวีรบุรุษผู้หนึ่งซึ่งมีนามว่า “งักฮุย”

   ช่วง 1-2 วันมานี่ ผมสังเกตดูว่า บันทึก ตำนาน"ปาท่องโก๋" (๕)  มีคนเข้ามาอ่านมากถึงวันละ กว่า 50 ครั้ง ไม่ทราบเป็นเพราะอะไร แต่มากผิดสังเกต แสดงว่ามีคนสนใจเรื่องของ "เทพเจ้าขุนพลงักฮุย" เพิ่มขึ้นแน่ๆ สำหรับท่านที่เข้ามาอ่านใหม่ อย่าลืมอ่านบันทึก ชีวประวัติของเทพเจ้าขุนพล "งักฮุย" ด้วยนะครับ

   ต่อไปเป็นภาพและเรื่องราวของเทพเจ้ากวนอูโดยสังเขปนะครับ

       
     
 

ภาพของเทพเจ้ากวนอู

เทพเจ้ากวนอูกับม้าเซ็กเธาว์

 
   

และง้าวคู่ใจ

 

     สามก๊กจี่ เป็นหนังสือทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเขียนในช่วงต้นยุคของราชวงศ์จิ้น ราว พ.ศ 823  โดยพระเจ้าสุมาเอี๋ยน ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จิ้น ซึ่งเป็นผู้ที่รวมแผ่นดินที่แตกเป็นสามก๊กให้กลับมาเป็นก๊กเดียวนั้น ได้มีดำริให้ "เฉินโซ่ว" ซึ่งเป็นบรรณารักษ์ประจำวังหลวง เขียนขึ้น โดยเริ่มเรื่องตั้งแต่การเกิดกบฎโจรโพกผ้าเหลืองจนไปถึงพระเจ้าสุมาเอี๋ยนรวมแผ่นดินได้

      ตัวเฉินโซ่วนั้น เดิมทีเป็นชาวเสฉวน พ่อของเขานั้นเคยเป็นราชเลขานุการของขงเบ้ง มหาอุปราชแห่งอาณาจักรจ๊กก๊กมาก่อน ดังนั้นหนังสือสามก๊กที่เขาเขียนขึ้นนั้น จึงมีเนื้อหาหนักไปทางฝ่ายเล่าปี่เป็นส่วนใหญ่ และตัวละครที่เด่นที่สุดที่เขาเขียนขึ้นมานั้นคือ ขงเบ้ง สำหรับกวนอูนั้นแม้จะมีบทบาทโดดเด่น แต่ก็ยังน้อยกว่าขงเบ้งนัก

      ซานกั๋วจื้อทงสูเหยี่ยนอี้ (สามก๊กฉบับเจี๋ยชิ่ง)  ผู้แต่งคือหลอก้วนจง ซึ่งเกิดในช่วงปลายยุคราชวงศ์หยวนต่อต้นยุคราชวงศ์หมิง หลังจากผ่านยุคสามก๊กไปแล้วราวๆ พันกว่าปี ว่ากันว่าแต่งขึ้นเพื่อใช้เล่นงิ้ว
     หลอก้วนจง เป็นผู้ที่นำเอาเรื่องสามก๊กมาเรียบเรียงจัดลำดับฉาก ตัวละครให้เหมาะสม สร้างภาพตัวละครแบบวรรณกรรมได้ดี จนเป็นที่ประทับใจผู้อ่าน เป็นวรรณกรรรมที่สมบูรณ์แบบ
     เมื่อเป็นวรรณกรรม ก็ย่อมต้องมีการขีดเส้นลักษณะของตัวละครขึ้น เป็นพระเอก หรือผู้ร้าย คนดีหรือคนเลว ซึ่งเล่าปี่นั้นได้กลายเป็นพระเอกขึ้นมาเป็นครั้งแรกจากปลายปากของหลอก้วนจงนี่เอง
ดังนั้น กวนอู เตียวหุย ขงเบ้ง จึงอยู่ฝ่ายข้างพระเอก ส่วนตัวผู้ร้ายจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก "โจโฉ"

     ซานกั๋วเหยี้ยนอี้ (สามก๊กเหยี้ยนอี้) เหมาหลุน เหมาจงกัง สองพ่อลูก สมัยราชวงศ์ชิง (เชง) เป็นผู้ชำระดัดแปลงสามก๊กใหม่ จากฉบับของหลอก้วนจง โดยปรับปรุงการวางฉาก การดำเนินเรื่อง มีการแบ่งเนื้อหาออกเป็น 120 บท มีการเพิ่มคำวิจารณ์ด้านวรรณศิลป์ ที่สำคัญคือเปลี่ยนแปลงสำนวนภาษาและบทบาทของตัวละคร จนถึงขนาดเปลี่ยนแปลงบทบาทเลยก็มี
      ข้อดีของการปรับปรุง คือการที่ได้จัดวางโครงสร้างวางลำดับฉาก จังหวะของเรื่อง ทำให้ “สามก๊ก” กลายเป็นนิยายอมตะ ที่อ่านได้สนุกไม่เยิ่นเย้อแบบโบราณ
     แต่จุดเสียที่เด่นชัดมากคือการที่เหมาจงกังไปเปลี่ยนแก้บทบาทและคำพูดบางตอนของตัวละคร เนื่องจากเหมาจงกังยึดมั่นในแนวคิด “เจิ้งถ่ง” คือการสืบสายสันตติวงศ์ที่ถูกต้อง จึงต้องเข้าข้างเล่าปี่ ที่อ้างตัวว่าเป็นเชื้อพระวงศ์อย่างเต็มที่ ที่ว่ากันว่าเรื่องสามก๊กบิดเบือนประวัติศาสตร์เข้าข้างเล่าปี่ ให้เล่าปี่เป็นฝ่ายธรรมะ โจโฉเป็นฝ่ายอธรรมก็มาจากตรงนี้ นี่เอง

     ในบรรดาตัวละครสามก๊กทั้งหมด กวนอู นับเป็นตัวละครที่โชคดีที่สุด เพราะหนังสือสามก๊กนั้นเขียนเชิดชู กวนอู ไว้สูงมาก โดยมักจะเรียก กวนอู ว่า “กวนกง” ซึ่งเป็นการให้เกียรติกวนอูเหมือนกับเป็นเทพเจ้า จนทำให้ผู้คนยกย่องกวนอูเป็นเทพเจ้าไปเลย
     ไม่เพียงแต่คนจีนเท่านั้น แม้แต่คนไทยก็ได้รับอิทธิพลจากหนังสือสามก๊กสูงมาก จนพลอยติดกับภาพพจน์อันสูงส่งของกวนอูไปด้วย คนจีนนั้นยกย่องกวนอูเป็น "เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์"ยังไม่พอยังยกย่องให้เป็นถึง“จงอี้เหญินหย่งเสินต้าตี้” รวมแล้วก็แปลว่า “มหาเทพแห่งความภักดี ความเป็นธรรม มนุสสธรรม ความกล้าหาญ" เป็นการแสดงให้เห็นว่า คนจีนนั้นถือว่ากวนอูเป็นตัวละครที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสามก๊ก

      สมัยราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นราชวงศ์ของชาวแมนจู ซึ่งเป็นชาวเผ่านอกด่านที่เข้ามาปกครองคนจีนเรืองอำนาจ กวนอูก็ได้กลายเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ที่มีผู้คนกราบไหว้ไปทั่วแผ่นดินจีน มีการสร้างศาลเจ้ากวนอูอยู่ทุกหมู่บ้าน เพราะแต่เดิมชาวบ้านก็นับถือเทพเจ้ากวนอูกันอยู่แล้ว

      เดิมทีแล้ว ผู้ที่ชาวจีนต่างเคารพยกย่องเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ภักดีนั้น มิใช่ กวนอู หากแต่เป็นยอดวีรบุรุษผู้หนึ่งซึ่งมีนามว่า “งักฮุย”

      ต่อไปก็ควรเป็นเรื่องราวของเทพเจ้าขุนพลงักฮุยครับ

     
   
 

ภาพของเทพเจ้าขุนพลงักฮุย

 
     

      งักฮุยเป็นขุนศึกที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) หลังยุคสามก๊กราว 700 กว่าปี ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ราชสำนักจีนอ่อนแอถึงขีดสุด แผ่นดินจีนภาคเหนือซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศนั้น ตกอยู่ใต้การปกครองของพวกไต้กิมก๊ก ซึ่งเป็นชนเผ่านอกด่าน
     เหลือแต่เพียงดินแดนทางตอนใต้เท่านั้นที่อยู่ในปกครองของราชวงศ์ซ่ง บรรดาคนจีนทางภาคเหนือถูกกดขี่ข่มเหงและต้องตกเป็นทาสของพวกกิมเป็นเวลาหลายสิบปี จนเมื่องักฮุย ได้กลายเป็นแม่ทัพใหญ่นำกองทัพออกต้านข้าศึกรบชนะพวกกิมหลายครั้ง นำดินแดนทางตอนเหนือกลับคืนมาได้เกือบหมด และช่วยให้ชาวบ้านหลุดพ้นจากการทารุณของพวกกิมได้ ชาวบ้านจึงต่างพากันเคารพยกย่องสรรเสริญงักฮุยไปทั่ว

     งักฮุยนั้นเป็นคนที่ซื่อสัตย์ภักดีต่อประเทศและราชสำนักมากตั้งแต่เด็ก เล่ากันว่าในวัยเด็กนั้นแม่ของเขาได้สักคำ 2 คำเอาไว้บนหลังว่า “ซื่อสัตย์ภักดี” ต่อมางักฮุยถูกใส่ความว่าเป็นกบฏโดยฉินไขว่ซึ่งเป็นเสนาบดีกังฉิน ทำให้เขาต้องถูกจองจำ และถูกส่งไปรับโทษที่เมืองหลวง จนภายหลังก็ถูกวางยาพิษตายในคุก
     เล่ากันว่าตอนที่เขาต้องเดินทางกลับไปรับโทษนั้น ประชาชนในภาคเหนือนั้นร้องไห้อาลัยให้เขาแทบทุกคน นี่คือประวัติโดยสังเขปของงักฮุย

     งักฮุยนี่แหละคือคนผู้ที่คนในยุคนั้นเคารพนับถือในฐานะเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ตัวจริง ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นที่เคารพกันอยู่โดยเฉพาะในหมู่ชาวจีนแต้จิ๋ว แต่ถ้าจะให้ถามคนจีนในยุคปัจจุบันว่ารู้จักใครมากกว่ากันระหว่าง งักฮุย กับ กวนอู เชื่อเลยว่าแทบทุกคนย่อมต้องรู้จักกวนอู
     จะไม่รู้จักได้ไงในเมื่อมีรูปเคารพของกวนอูอยู่แทบทุกบ้านของคนจีน ส่วนงักฮุยถ้าไม่ใช่คนที่ศึกษาประวัติศาสตร์จีนคงจะไม่รู้จัก

     การที่ชาวจีนต่างพากันนับถือเทพเจ้ากวนอูกันมากมายขนาดนั้น เป็นเพราะราชสำนักชิงเป็นผู้ประชาสัมพันธ์ให้เทพเจ้ากวนอู
   การที่ราชวงศ์ชิง ซึ่งมาจากชาวแมนจู ชนนอกด่านที่เข้ามาปกครองแผ่นดินจีน จงใจยกย่องเชิดชูกวนอู ขุนศึกชาวจีนที่เสียชีวิตไปแล้วกว่าพันปี ให้กลายเป็นเทพเจ้าขึ้น เกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการคือ

  1. ในยุคที่ชาวแมนจูทำสงครามขับเคี่ยวกับราชวงศ์หมิงนั้น กษัตริย์แมนจู พระเจ้าสุ้นจื้อ ทรงใช้วิธีดึงพวกมองโกลเป็นพันธมิตร โดยพระเจ้าสุ้นจื้อเลียนแบบเรื่องสามก๊ก ไปสาบานตนเป็นพี่น้องกับประมุขเผ่าต่างๆของพวกมองโกล การสาบานครั้งนั้น นัยว่าพระเจ้าสุ้นจื้อเปรียบตัวเองเหมือนเล่าปี่ ส่วนประมุขของมองโกลเปรียบเหมือนกวนอู ครั้นพระเจ้าสุ้นจื้อตีด่านยึดแผ่นดินจีนได้ ปราบดาภิเษกเป็นฮ่องเต้แล้ว จึงจงใจเชิดชูกวนอู เผยแพร่ศาลเจ้ากวนอูให้แผ่ไปทุกสารทิศ ด้วยเกรงว่าเจ้ามองโกลจะน้อยใจตั้งตัวเป็นศัตรูกับแมนจู
  2. แม้ว่าเจ้าแมนจูได้เป็นฮ่องเต้ครองแผ่นดินจีนแล้วก็ตาม แต่ขุนนางส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นคนเชื้อสายฮั่น (จีน) และเนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศที่มีอาณาเขตกว้างขวางมาก (อันดับ 3 ของโลก) การจะปกครองคนจีนให้ยอมก้มหัวให้กับราชวงศ์แมนจู ซึ่งเป็นชนเผ่าจากนอกด่านย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ชัดเจนว่าในสมัยราชวงศ์ชิงนั้นได้เกิดขบวนการใต้ดินที่มีเป้าหมายในการกู้ชาติจีน ออกมาต่อสู้กับราชสำนักชิงโดยตลอด ดังนั้นการที่จะทำให้ราชวงศ์ชิงเกิดความมั่นคงและปกครองแผ่นดินจีนได้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้นั้น จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายการปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องของ “ความจงรักภักดี” ต่อเจ้านายขึ้นในหมู่คนจีน ซึ่งทางราชสำนักชิงจงใจที่จะเชิดชูปลูกฝังยกย่องอุดมคติ “ความจงรักภักดี” ให้สูงเด่น และเลือกที่จะนำเอากวนอูซึ่งเป็นตัวละครที่เด่นดังในประวัติศาสตร์ มายกย่องให้สูงเด่น จนเป็นเทพเจ้า เพื่อเป็นตัวอย่างของความจงรักภักดี คนจีนจะได้หลงยึดติดกับความจงรักภักดีจนลืมไปว่า “ฮ่องเต้” ของตนเป็นคนต่างชาติ เป็นชาวแมนจูที่เข้ามายึดครองแผ่นดินจีน

      ฮ่องเต้ ผู้ที่แต่งตั้งย้อนหลังให้กวนอูเป็น “จงอี้เหญินหย่งเสินต้าตี้” ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ พระเจ้าเฉียนหลงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์ชิงนั่นเอง

     คำถามที่กลับกันคือ ในเมื่อต้องการสร้างสัญลักษณ์ของความจงรักภักดี ทำไมไม่แต่งตั้ง "งักฮุย" ซึ่งก็มีชื่อเสียงในเรื่องความภักดีเหมือนกัน ให้เป็น“จงอี้เหญินหย่งเสินต้าตี้” เล่า

    เหตุเป็นเพราะงักฮุยนั้นเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของผู้ที่ต่อต้านข้าศึกต้านชาติ งักฮุยนั้นซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อราชวงศ์ซ่ง เหมือนกับที่กวนอูภักดีต่อเล่าปี่ก็จริง แต่ชั่วชีวิตของงักฮุยนั้นต่อสู้กับศัตรูผู้รุกรานอย่างไต้กิมมาตลอด ขืนสร้างภาพให้งักฮุยเป็นเทพเจ้า ราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นพวกต่างชาติอย่างแมนจูจะไปปกครองแผ่นดินจีนได้อย่างไร คนจีนมีหวังได้ลุกฮือขึ้นต่อสู้กับพวกแมนจูเพื่อปลดปล่อยประเทศชาติเหมือนอย่างที่งักฮุยต่อสู้กับพวกกิมแน่ๆ

   แต่กวนอูไม่ได้มีลักษณะของการต่อต้านชนต่างชาติแบบนั้น เขาจงรักภักดีแต่กับเล่าปี่ซึ่งเป็นเจ้านายเท่านั้น ประวัติของกวนอูนั้นไม่ได้มีเรื่องของการต่อสู้กับศัตรูผู้รุกรานจากต่างชาติเลย ความจงรักภักดีของเขาซึ่งคนทั่วไปยกย่องนั้น ไม่ได้เป็นความจงรักภักดีในเรื่องของชนชาติ แต่เป็นในเรื่องของผู้ปกครอง ซึ่งนั่นคือสิ่งที่พวกแมนจูอยากให้ชาวจีนภักดีต่อราชวงศ์ชิงแบบนั้น นั่นเอง


************************

อ้างอิง :  http://www.praphansarn.com/write2/QAview.asp?id=2703

ภาพจาก : http://www.shoppingathome.net/goodcollect.html


 

หมายเลขบันทึก: 27113เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2006 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  1. บันทึกไว้เป็นหลักฐานว่าวันเสาร์ที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๙ มีผู้เข้ามาอ่านบันทึกของบล็อก beemanNUKM ประมาณ ๓๓๐ นับว่ามากที่สุดของบล็อกนี้
  2. ที่มีคนสนใจเรื่องตำนานปาท่องโก๋ เพราะ web ของพันธุ์ทิพเขากำลังเขียนถึงเรื่อง "งักฮุย" กับ "ฉีนไคว่" อยู่พอดี
  3. อันนี้เป็น Trick ครับ...555
กวนอูสุดยอด..................
  พวกแมนจูกับมองโกล เขาไม่ต้อง สาบานเป็นพี่น้องกัน ครับ ด้วย สายเลือดเขา เป็น ญาติพี่น้องกัน จริงๆเลยครับการแต่งงานข้ามเผ่า มีก่อน สมัย ราชวงศ์ชิงหลายร้อยปีแล้ว แม้ แต่ การ อภิเษก กัน ระหว่างเจ้า ครองเผ่า ครับ

ตอนแรกเราผมก้นึกว่าแมนจูคือมองโกลยึดจีนแล้วเปลี่ยนชื่อซะอีก แล้วแมนจูกับมองโกลใช้ภาษาเดียวกันป่าว แล้วแมนจูใช้ภาษามองโกล แล้วพูดจีนได้หรอ แมนจูคือภาษาแมนจูแล้วคุยกับมองโกลไง

  • ตอบ Lord Kan Warrock
  • แมนจูเรีย และ มองโกเลีย เป็นคนละประเทศ
  • ใช้ภาษาต่างกัน
  • เวลาติดต่อกันเขาก็ต้องมีล่าม
  • เข้าใจว่าชนชั้นปกครอง ต้องเรียนภาษาจีนในราชสำนัก ครับ

ได้รูปเทพเจ้ากวนอูนั่งเสื้อมือซ้ายถือเงินทองมือขวาถือไม้เท้า(ไม่แน่ใจว่าไม้เท้าหรือเปล่าแต่ลักษณะน่าจะใช่)อยากทราบว่าหมายความว่าอย่างไรคะขอวานผู้รู้ช้วยบอกหน่อยคะ

เดาเอาครับ

  • คติคนจีน ขอให้ทุกคนร่ำรวยมีเงินใช้ มือซ้ายถือเงินทองก็ขอให้คนที่บูชาร่ำรวย
  • ส่วนถือไม้เท้า ให้ร่ำรวยมั่นคง และอายุยืน มีเวลาอยู่ใช้เงินทองนานๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท