มอบสิ่งดีดีให้แก่กัน ผนึกกำลัง สร้างสรรค์ เพื่อองค์กร


นี่คือที่มาของชื่อบันทึกนี้คือ มอบสิ่งดีดีให้แก่กัน (constructive comment) ผนึกกำลัง (ตัดอคติออกไป เช่น ความขัดแย้งระหว่างบุคคล ก่อให้เกิดความสมานฉันท์) สร้างสรรค์องค์กร (ช่วยกันคิดหาทางออก/พัฒนา)

   สวัสดีค่ะ ทุกท่าน ดิฉันเป็นสมาชิกใหม่ค่ะ    อ่าน blog มาก็หลายครั้งแล้ว เข้ามาใน blog ทีไรก็จะอ่านแล้วติดหนึบอยู่นาน เพราะมีเรื่องที่เป็นประโยชน์หลายเรื่อง  จึงอยากจะมี blog บ้าง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ  เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 49 หน่วยประกันคุณภาพการศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดเสวนาคนเขียน blogในชุมชน NUKM blog ครั้งที่ 2/2549  อยากไปเข้าร่วมด้วย แต่ว่ามีภารกิจที่สำคัญค่ะ  และในภารกิจนั้นมีเรื่องดีๆ อยากเล่าให้ฟังค่ะ เลยลองสมัครเข้ามาดู ปรากฏว่าได้ ก็เลยขอเขียนบันทึกแรกในวันนี้เลย หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะคะ

   เมื่อวันที่ 30 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2549 ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวรได้จัด โครงการสัมมนา
เรื่อง การพัฒนาความร่วมมือในการวิจัยกับนักวิจัยไทยในต่างประเทศ โดยเชิญ ดร.วิทยา เมธิยาคม  จาก Andrus Gerontology Center, University of Southern California, Los Angeles, CA ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการวิจัยทาง Biomechanics และ Motor control  มาร่วมสัมมนา  เพื่อถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ในการวิจัย และหาแนวทางความร่วมมือทางด้านวิจัย รวมถึงการกำหนดหัวข้อและเขียนโครงร่างงานวิจัยร่วมกับคณาจารย์   ซึ่งโครงการนี้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย และวิสัยทัศน์ของคณะสหเวชศาสตร์

   ก่อนที่จะเล่าถึง การมอบสิ่งดีดีให้แก่กัน ผนึกกำลัง สร้างสรรค์ เพื่อองค์กร นั้น ขอเกริ่นถึงที่มาของโครงการนี้ก่อน สักเล็กน้อยนะคะ  ว่าโครงการนี้ เป็นโครงการย่อยในโครงการใหญ่คือ โครงการให้นักวิชาการไทยที่อยู่ต่างประเทศกลับมาร่วมพัฒนาการอุดมศึกษาไทย ประจำปีงบประมาณ 2549 ชื่อโครงการกลับบ้าน สานประโยชน์ เพื่อพัฒนาอุดมศึกษาไทย (ซึ่งปีนี้ เป็นปีที่ 2 แล้ว โดยปีแรกเชิญนักกายภาพบำบัดจากประเทศสหรัฐอเมริการมาถ่ายทอดความรู้ ทักษะและประสบการณ์ทางวิชาชีพที่ทันสมัย จำนวน 1 ท่าน) โดยประกอบด้วยการเชิญนักวิจัยมาร่วมพัฒนาด้านการวิจัย และการเชิญนักวิชาการไทยจากประเทศสหรัฐอเมริการมาถ่ายทอดความรู้ ทักษะและประสบการณ์ทางวิชาชีพที่ทันสมัย  ต้นกำเนิดของโครงการนี้มาจาก ผศ. ปนดา เตชทรัพย์อมร ที่เห็นความสำคัญของโครงการในลักษณะนี้ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคณะฯ และวิชาชีพ  จึงได้ติดต่อนักวิชาการไทยที่อยู่ต่างประเทศ และเขียนโครงการเสนอขอทุนนี้   โดยมีศ.ทวีสุข กรรณล้วน ซึ่งในขณะนั้นเป็นคณบดี ได้กรุณาให้คำชี้แนะอันเป็นประโยชน์ในการเขียนและเสนอโครงการ   เมื่อได้รับอนุมัติทุนจากสกอ. ก็ได้รับคำชี้แนะอันเป็นประโยชน์ในการเขียนโครงการย่อยจากท่านคณบดีปัจจุบัน คือรศ.มาลินี ธนารุณ  ในที่สุดเราก็ได้จัดโครงการนี้สมดังความมุ่งมาดปรารถนา (อยากให้ผศ.ปนดา มาเล่า/ ถ่ายทอด tacit knowledge เกี่ยวกับแนวคิด/การเขียนโครงการ  รวมทั้งสาระที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ด้วยตนเองจังค่ะ)  งานนี้ได้เรียนเชิญท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพมาเป็นประธานในพิธีเปิด (ท่านสามารถอ่าน blog ของท่านรองฯ และข้อคิดเห็นของท่านคณบดีได้ในบันทึกเรื่อง คณะสหเวชศาสตร์ มน. กับ การเป็นคณะแห่งการวิจัย บันทึกเมื่อ 30 เม.ย. 49....ดิฉันยังทำ link ไม่เป็นค่ะ ขออภัยด้วยนะคะ )

เกริ่นที่มาซะยาว กว่าจะได้เข้าเรื่อง  มือใหม่หัดพิมพ์(เขียน) ค่ะ  โปรดให้อภัยด้วยนะคะ  มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่าค่ะ  จากการดำเนินโครงการในครั้งนี้  ท่านวิทยากร คือ ดร.วิทยา เมธิยาคม (ในที่นี้ขอเรียกท่านวิทยากร ว่า อาจารย์ นะคะ)  ได้สอน biomechnic ที่เป็นพื้นฐานและเชื่อมโยงเข้าทางคลินิก  ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ถึงความเชื่อมโยงของศาสตร์/ทฤษฎีกับสิ่งที่เกิดขึ้นในทางคลินิก  มีทั้งบรรยาย สาธิต และฝึกปฏิบัติ  สิ่งที่น่าสังเกตคือ วิธีการสอนของดร.วิทยา นั้น  เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม ช่วยกันคิด ช่วยกันตอบ นอกจากนี้ เมื่ออาจารย์ได้อธิบายไปแล้ว ยังให้ผู้เรียน/ผู้สัมมนาออกมาอธิบายสูตรคำนวน/สิ่งที่อาจารย์ได้สอนไป  เป็นการเน้นการฝึกปฏิบัติจริง ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม  และในขณะเดียวกันอาจารย์ก็ได้ประเมินผู้เรียนและการสอนของตนเองไปด้วยในตัว  เล่ามาซะยาว เกือบจะเข้าเรื่องแล้วล่ะค่ะ  กิจกรรมสำคัญอีกกิจกรรมหนึ่งในโครงการนี้คือ การกำหนดหัวข้อและเขียนโครงร่างงานวิจัยร่วมกับคณาจารย์    ซึ่งอาจารย์ดร.วิทยาได้แจ้งมาล่วงหน้าว่าให้คณาจารย์ส่ง proposal ไปทาง e-mail ให้อาจารย์ได้อ่านก่อน   แต่ว่า เราก็ไม่ได้ทำเช่นนั้น  เนื่องด้วยภารกิจมากมายที่เรามี  อาจารย์จึงให้ assignment มา คือ เตรียม proposal นำเสนอเพียง 10 สไลด์

ภายในเวลาเพียง 10 นาที ซักถามและให้ข้อเสนอแนะอีก 10 นาที  โดยผู้ฟังทุกคนจะให้คะแนนเพื่อจัดลำดับ (Ranking)  proposal ไหนที่มีคะแนนน้อยที่สุด คือ proposal ที่ดี่ที่สุด  เหตุที่ทำเช่นนี้ เพื่อให้คณาจารย์ตั้งใจทำ proposal มาให้ดีที่สุด แม้จะมีเวลาจำกัดก็ตาม  อาจารย์ได้ให้ข้อคิดเห็นว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยนั้น มีหัวข้อวิจัยอยู่ในใจอยู่แล้ว  แต่ถ้าเมื่อไหร่ ไม่เริ่มสักที ก็จะไม่เกิดงานวิจัยสักทีเหมือนกัน  การเขียนโครงร่างออกมาจะช่วยให้เราได้เริ่มสักที   การคิดและเขียนเรียบเรียงออกมาเช่นนี้ ทำให้เราได้กลั่นกรองแนวคิด/สิ่งที่เราต้องการทำวิจัยออกมาเป็นรูปธรรม และชัดเจนขึ้น   เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่ต้องเริ่มแล้ว    โดยในกิจกรรมนี้สิ่งสำคัญที่อาจารย์เน้นคือ ผู้ฟังทุกคนให้ข้อเสนอแนะในเชิงสร้างสรรค์ (อาจารย์ใช้คำว่า constructive comment) โดยไม่เอาความรู้สึกอคติส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง  จากกิจกรรมนี้ (ส่วนใหญ่ proposal 10 slides นี้ก่อกำเนิดเพียงชั่วข้ามคืน เนื่องจากเราต้องเตรียมโครงการสัมมนาปรับปรุงหลักสูตร ในวันที่ 16 พ.ค. 49 นี้ด้วย)  เมื่อเราได้นำเสนอ ไม่ว่าเราจะมีข้อมูลมากน้อยแค่ไหน  อาจารย์ก็สามารถให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ช่วยเปิดโลกทัศน์ของเราได้อย่างมาก  ในขณะเดียวกันคณาจารย์ที่ฟังอยู่ก็ช่วยกันให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เช่นกัน (constructive comment) สิ่งดีๆ หลั่งไหลออกมาจากมันสมอง  และความจริงใจที่มีให้แก่กันของคณาจารย์ในภาควิชา เพื่อพยายามช่วยกันพัฒนาอย่างเต็มที่   และนี่แหละค่ะ  คือ หัวใจของเรื่อง ที่เกริ่นมาซะยาว  จะเห็นได้ว่าการทำกิจกรรมเช่นนี้ น่าจะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เราเป็นคณะวิชาแห่งการวิจัยได้ ภายในปี 2553 ตามวิสัยทัศน์ของคณะฯ   หากเรานำการดำเนินงานในลักษณะนี้มาใช้กับการทำงานด้านอื่นๆ ของภาควิชา / คณะ/ องค์กร ย่อมก่อให้เกิดผลดีต่อตนเองและองค์กร  เพราะบรรยากาศเป็นกัลยาณมิตร เช่นเดียวกับบรรยากาศใน blog  นี่คือที่มาของชื่อบันทึกนี้คือ มอบสิ่งดีดีให้แก่กัน (constructive comment) ผนึกกำลัง (ตัดอคติออกไป เช่น ความขัดแย้งระหว่างบุคคล  ก่อให้เกิดความสมานฉันท์) สร้างสรรค์องค์กร (ช่วยกันคิดหาทางออก/พัฒนา)   

สุดท้าย สาระจากโครงการนี้ยังมีอีกมาก วันนี้ขอเล่าให้ทราบเพียงเท่านี้ก่อนนะคะ  สวัสดีค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 27064เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2006 00:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ดีใจจังเลยคะ ที่อาจารย์ฝน (อ.กนกพร  อุณเอกลาภ) เข้ามาเป็นสมาชิกของ NUKM Blog ด้วยอีกคนแล้ว

เพราะมีเรื่องดีดีหลายเรื่องทีเดียว ที่เกิดขึ้นในหน่วยงานของเรา(สหเวชฯ) อย่างเช่น งานนี้ ภาควิชากายภาพบำบัด เป็นเจ้าภาพหลักของงาน นำทีมโดย ผศ.ปนดา  เตชทรัพย์อมร

เมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในเหตุการณ์จริงๆ เป็นผู้เล่าเอง  ก็จะได้อรรถรสและเห็นภาพละเอียดลออ เป็นจริงอย่างนี้

ตัวดิฉันเอง เข้าร่วมบ้าง (วันแรกอย่างไม่เป็นทางการ  วันที่สองวันเปิดงาน และทุกวันตอนทานข้าวกลางวัน) ยังได้รับความรู้มากมายจากท่านวิทยากร (อ.ดร.วิทยา  เมธิยาคม) อยากนำมาถ่ายทอด แต่ก็ไม่รู้จริง จึงไม่กล้า ถึงได้ดีใจมาก ที่ อ.ฝน นำมาเผื่อแผ่ทุกท่านใน Gotoknow

ขอบคุณมากนะคะอาจารย์ฝน  และรออ่านตอนต่อไปอีกค่ะ      

  • ยินดีต้อนรับสู่สมาชิกชุมชนสหเวช-มน. ครับ
  • ในที่สุดอ.กนกพร ก็เป็นสมาชิกชุมชนสหเวช-มน.เป็นคนแรกของภาควิชากายภาพบำบัดครับ
ยินดีต้อนรับด้วยอีกคนครับ

ขอบพระคุณท่านรองอธิการบดีฯ (ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร) ผู้บริหารระดับมหาวิทยาลัยที่กรุณายินดีต้อนรับด้วยตนเอง   รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งค่ะ  ท่านคณบดี (รศ.มาลินี ธนารุณ) ที่กรุณาแสดงข้อคิดเห็นที่อ่านแล้วมีกำลังใจที่จะบันทึกลง blog ต่อไป แม้จะยังไม่ค่อยมั่นใจในการใช้ภาษาและการเรียบเรียงของตนเองก็ตาม คุณบอยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น แม้เป็นประโยคสั้นๆ แต่ทำให้สมาชิกใหม่รู้สึกดีมากเลยค่ะ

ปนดา เตชทรัพย์อมร
ขอบคุณ อ.ฝน ที่กล่าวถึงชื่อดิฉัน และรู้สึกตัวว่าช่วงนี้มีชื่ออยู่บน Blog บ่อย ๆ จนอดใจไม่ได้ที่ต้องเขียนบ้าง จริง ๆ อยากมี Blog ของตนเองบ้างค่ะ จะได้มีเนื้อที่เขียนเยอะ ๆ ขอคุณบอยช่วยให้ความอนุเคราะห์ดิฉันหน่อยได้ไหมคะ อย่างไรก็ตามโครงการกลับบ้านสานประโยชน์ จะสำเร็จไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ดิฉันขอขอบพระคุณทุกท่านมานะทีนี้ด้วยค่ะ โดยเฉพาะคณาจารย์จากภาค PT น่ารักมาก ๆค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท