ข่าว ชุนชนอาคารส่งเคราะห์เมืองกรุงเก่า


ข่าวเผยแพร่

ชุมชนอาคารสงเคราะห์ เมืองกรุงเก่า
เรียนรู้อดีต สะท้อนภาพต้นแบบบ้านมั่นคง

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)


 

  ชุมชนอาคารสงเคราะห์  อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา แต่เดิมเป็นแหล่งชุมชนแออัด  ของผู้คนจากหลากหลายที่มา และฐานะยากจน มาอยู่รวมกันบนพื้นที่ 1,004 ตารางเมตร เป็นหนึ่งในชุมชนเป้าหมายที่ต้องถูกไล่รื้อจากภาครัฐ แต่ความรักถิ่นฐานอันเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินวิถีชีวิตของชาวชุมชนแห่งนี้เอง ทำให้พวกเขาตื่นตัว พัฒนาตนเอง และชุมชนให้เข้มแข็ง และต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งที่อยู่อาศัย โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ ขวนขวายหาความรู้ เพื่อเป็นข้อมูลยืนยันขอมีที่อยู่อาศัยต่อไป


  โดยผู้นำชุมชนทำหน้าที่ในการประสานงานกับองค์กรอื่นๆ เพื่อพัฒนาตนเอง กระทั่งสามารถจัดตั้งกลุ่มภายในได้ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มแพทย์แผนไทย การสร้างที่อยู่ จนถึงกลุ่มสหกรณ์เคหะสถาน และผลจากความเรียนรู้นี้เองทำให้ชุมชนแห่งนี้ เป็นชุมชนแรกที่ประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนทั้งชุมชน และเป็นชุมชนต้นแบบของ “โครงการบ้านมั่นคง” เพื่อสร้างความนั่นคงในการอยู่อาศัยให้แก่ชุมชนแออัด ขณะเดียวกันก็กลายเป็นต้นแบบแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนเมืองในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน


 เมื่อกลายเป็นชุมชนต้นแบบ ชุมชนอาคารสงเคราะห์ จ.พระนครศรีอยุธยา จึงกลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานจากชุมชนแออัดพื้นที่อื่นๆ พร้อมกับต้องตอบคำถามถึงการต่อสู้และเรียนรู้ย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ทำให้ชาวชุมชนร่วมกันหาแนวทาง และรูปแบบในการรวบรวมองค์ความรู้ของชุมชนขึ้น โดยให้เด็ก และเยาวชนมีส่วนร่วมในการค้นหาอดีตจากผู้เฒ่าผู้แก่เพื่อรวบรวมความรู้ และประวัติศาสตร์ ในชุมชน ถ่ายทอดให้กับผู้มาศึกษาดูงานเป็นเรื่องราว ที่แบ่งเป็น 4 ยุค คือตั้งแต่ยุคก่อตั้ง, ยุคเปลี่ยนวิถีชีวิต,ยุคกิจกรรม, ยุคสร้างสวัสดิการชุมชน  


  นายเจริญ ขันธรุจี ประธานชุมชน กล่าวในการเสวนาเรื่อง“เรียนรู้อดีต ชุมชนอาคารสงเคราะห์กรุงเก่า สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”ที่จัดโดยสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ว่า  ตนเป็นลูกของผู้บุกเบิกชุมชนแห่งนี้ อพยพย้ายถิ่นมาปลูกบ้านอยู่ที่นี่ เมื่อประมาณปี 2500 เห็นการทำงานของพ่อที่เป็นอาสาสมัครทำงานเพื่อชุมชนมาโดยตลอดกระทั่งชุมชนเกิดการขยายตัวมีการลุกล้ำพื้นที่ส่วนกลางเกิดปัญหาที่ตามมาคือเรื่องสุขภาวะ สิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ ไม่มีการเอื้ออำนวยสาธารณูปโภค


 กระทั่งในปี 2535 มีการตั้งคณะกรรมการชุมชนเพื่อทำการดูแลและพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชนโดยในช่วงนั้นพ่อของตนได้เสียชีวิตไปแล้ว ตนจึงขึ้นมาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการชุมชน ประกอบกับได้มีโอกาสไปเรียนรู้จากการประชุมสัมมนาจากหลายๆ แห่งในเรื่องการพัฒนาชุมชน มีการเก็บเอกสารมาศึกษา และเอาความรู้ดังกล่าวมาทดลองใช้โดยเริ่มจากในครอบครัวก่อน แล้วเริ่มขยายออกไปบ้านใกล้เรือนเคียง และทำให้ชาวบ้านได้รู้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินกว่าคนที่ไม่มีการศึกษาจะทำไม่ได้ เพราะความรู้ที่เขานำมาใช้พัฒนาชุมชนเป็นความรู้ปฏิบัติทั้งสิ้น


 ต่อมานายเจริญได้รับเลือกให้เป็นประธานชุมชน จึงได้นำแนวคิดและความรู้ในเรื่องการพัฒนาชุมชนมาใช้อย่างเต็มที่ กระทั่งปี 2538 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในจ.พระนครศรีอยุธยา นาน 1 เดือนซึ่งเมื่อหลังน้ำลดก็เริ่มสำรวจความเสียหาย และพบว่าชุมชนเกิดความเสื่อมโทรมลงมาก จึงเกิดความคิดร่วมกันของคนในชุมชนว่าควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือกัน โดยลำดับแรกคิดถึงเรื่องอาชีพ และความเป็นอยู่จึงได้ก่อเกิดกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพให้กับสมาชิกซึ่งแรกเข้ามีจำนวน  86 คน ซึ่งกว่าจะก่อเกิดชุมชนออมทรัพย์นี้ก็ใช้เวลาประมาณ 4 ปีกับการเรียนรู้ และศึกษาแนวทางพร้อมทั้งความพร้อมของสมาชิกทำให้ในปี 2543 ชุมชนมีเงินออมถึง 300,000 บาท 


  กระทั่งปี2543นี้เอง การเคหะแห่งชาติได้ให้งบประมาณเทศบาลเมืองพระนครศรีอยุธยาในขณะนั้น 2 ล้านเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเทศบาลได้ให้อิสระแก่ชุมชนในการคิดว่าจะนำเงินจำนวนนี้ไปพัฒนาชุมชนอย่างไร ซึ่งในระยะนี้ นายเจริญ และคนในชุมชนก็ช่วยกันระดมความคิดกันว่าจะพัฒนาชุมชนอย่างไร ให้ยั่งยืน เนื่องจากกว่าหากจะปรับรื้อท่อระบายน้ำหรือปรับภูมิทัศน์ ในขณะนั้นก็จะต้องมีการรื้อถอนหรือถอยร่นบ้านเรือนของชาวบ้าน ซึ่งหลังได้ระดมความคิดก็ได้ความเห็นตรงกันว่าจะนำเงินจำนวนนี้ บวกกับเงินออมสร้างบ้านทาวเฮาให้กับคนในชุมชน ซึ่งในปีแรกชุมชนจะขอศึกษา และวางแผนโครงการฯก่อน จึงขอระงับงบประมาณ 2 ล้านบาทไว้ก่อนเพื่อทำการศึกษาและเรียนรู้เรื่องการพัฒนาตนเองของชุมชนก่อน


  สำหรับการออกแบบโครงสร้างบ้านและภูมิทัศน์ ชาวบ้านได้แบ่งกลุ่มออกเป็น 5 กลุ่ม ช่วยกันออกแบบบ้านในฝันโดยแต่ละกลุ่มคิดเหมือนกันว่าน่าจะให้มีพื้นที่ส่วนกลาง จากนั้นก็นำแบบทุกแบบมารวมความคิดกันโดยได้ความร่วมมือจากสถาปนิกของ พอช.เป็นพี่เลี้ยง และดำเนินการสร้างเมื่อปี 44


 ระหว่างนี้เอง นายเจริญคิดว่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของพ่อและตนที่ยาวนานนี้เป็นสิ่งที่มีค่าจากผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัย เป็นผู้ที่สามารถมีบ้านเป็นของตนเอง เกิดความรู้ขึ้นมากมาย เมื่อพ่อของนายเจริญตาย ความรู้ก็ตายไปด้วย ตนจึงคิดว่า จะทำอย่างไรให้มีคนมารับการถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นตนต่อไป และความคิดของนายเจริญก็เป็นจริงขึ้นมาเมื่อ นายเจริญเข้าร่วมการอบรม เพื่อทำงานวิจัยท้องถิ่นกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และได้แนวคิดว่าจะต้องศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน โดยมีเด็กเป็นผู้ไปสืบค้นข้อมูลจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน จึงได้นำโครงการที่ชื่อว่า “เรียนรู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน ชุมชนอาคารสงเคราะห์ พระนครศรีอยุธยา” ชี้แจงทำความเข้าใจต่อชุมชน เพื่อขอความร่วมมือและประกาศรับอาสาสมัครซึ่งเป็นเยาวชนเพื่อทำงานวิจัยดังกล่าว


  สำหรับการเก็บข้อมูลเพื่อสืบค้นประวัติศาสตร์ชุมชนนี้ นายมานัส ปิยะวงศ์ ประธานกลุ่มเยาวชนในชุมชนซึ่งเป็นพี่เลี้ยงในการเก็บข้อมูลโครงการนี้เล่าว่า ตนจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเด็กๆ ในการลงไปสัมภาษณ์คนเก่าแก่ในชุมชนโดยจะแบ่งเนื้อหาการสัมภาษณ์ออกเป็น 4 ยุค คือ 1.ยุคก่อนตั้ง (2500-2509) 2.ยุคเปลี่ยนวิถีชีวิต (2510-2525) 3.ยุคกิจกรรม 2526-2538) และ 4.ยุคสร้างสวัสดิการชุมชน (2539-ปัจจุบัน) ทั้งนี้จะเลือกเด็กๆตามความสามารถ เช่นเด็กคนไหนพูดเก่งคุยเก่งก็จะให้เป็นผู้สัมภาษณ์ ส่วนเด็กที่เขียนเก่งก็จะให้เป็นคนจดบันทึก โดยการลงไปสัมภาษณ์แต่ละครั้งก็จะไปเป็นกลุ่มเพื่อช่วยกันตั้งคำถาม และนึกคำถามเพื่อให้ได้ประเด็นสำคัญในแต่ละยุค


  นายมานัส ปิยะวงศ์ หรือครูมานัส เล่าต่อไปว่า ในการสัมภาษณ์นี้ช่วงแรกๆ มีปัญหาเนื่องจากว่าเด็กที่ลงไปทำงานในพื้นที่บางกลุ่มทำงานไม่ตรงกับความถนัด หรือ ไม่มีความชำนาญ จึงได้ขอความร่วมมือไปยัง สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ช่วยอบรมเด็กๆ ก็ได้ความรู้ตรงนี้ขึ้นมา นอกจากนี้ เด็กๆ ในโครงการยังได้ไปเรียนรู้ชุมชนอื่นๆ ทั้ง 4 ภาค และนำมาประยุกต์ใช้กับชุมชนได้อีกด้วย


  ด้าน น.ส.เบญจมาศ ปรีดาชม เยาวชนในชุมชนที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูล เล่าว่า ตนเริ่มโครงการตั้งแต่อายุ 18 ปี ตอนนี้อายุ 20 ปีแล้ว และแม้ว่าตนจะเริ่มทำงานเพราะค่าตอบแทน แต่หลังจากทำแล้วก็สนุก และได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตนเอง ทำให้เกิดความรักและความทุ่มเทเพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับเด็กรุ่นน้องๆ ได้ศึกษาต่อไป ซึ่งระหว่างการดำเนินงานก็เกิดความเสียใจบ้างเพราะสัมภาษณ์คนรุ่นเก่าๆ ไม่ทัน มี 2 ท่านที่เสียชีวิตไปก่อน ทำให้เสียดายความรู้ที่หายไป ช่วงระยะหลังจึงเร่งเก็บข้อมูล


  สำหรับผลการศึกษาประวัติศาตร์ชุมชน ที่เด็กๆ ได้ทำไปแล้ว 2 ยุคแรก และขณะนี้อยู่ระหว่างกำลังศึกษาอีก2ยุค ทั้งนี้เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคเสร็จก็จะทำการเปิดเวทีสรุปข้อมูลโดยเชิญ คนในชุมชน นอกชุมชน ส่วนราชการ ผู้ให้ข้อมูล และผู้สนใจทั่วไปเข้ามาฟัง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และโดยจะเปิดเครื่องขยายเสียงไปทั่วชุมชน เพื่อให้คนที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับชุมชนได้ซึมซับกิจกรรมของชุมชน นอกจากนี้ยังมีวิธีการสรุปผลการศึกษา และถ่ายทอดออกมาเป็นการแสดงบทบาทสมมติของเด็ก และเยาวชน สะท้อนภาพวิถีชีวิต และเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในแต่ละยุค ซึ่งเป็นศิลปการสื่อสารความรู้ภายในของเด็กออกมาถ่ายทอดให้คนในชุมชนได้รับรู้ได้เข้าใจลึกซึ้งมากขึ้น


 ทั้งนี้ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผอ.สคส. กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้ ทำให้เห็นความรู้เชิงประสบการณ์หรือการปฏิบัติจริง และได้เรียนรู้เรื่องการจัดการความรู้ที่แฝงตัวอยู่กับกระบวนการดำเนินงาน ซึ่งชุมชนนี้มีจุดเด่นอยู่ที่การเรียนรู้ข้ามรุ่นระหว่างความรู้ผู้เฒ่าผู้แก่กับความรู้ของเด็กๆ นอกจากนี้ก็ยังมีความหลากหลายในกลุ่มผู้สัมภาษณ์ที่มีช่วงวัยแตกต่างหลากหลาย นอกจากนี้การแสดงละครสะท้อนวิถีชีวิตในแต่ละยุค นั้นก็คือการแสดงความรู้ฝังลึกออกมาเป็นความรู้ภายนอก และย้อนกลับเข้าไปยังสมองซีกขวาของคนในชุมชนได้คิดเป็นเหตุเป็นผลเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองเป็นส่วนสำคัญของการจัดการความรู้
    ********************************

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ประชาสัมพันธ์สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) 02-6199701

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2695เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2005 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท