แทงน้ำเกลืออย่างไรไม่ให้พลาด


ใช้ปลายนิ้วสัมผัสหา ใช้จิตสัมผัสถึง จินตนาการให้ออกมาเป็นภาพในห้วงคำนึง..แล้วจึงจิ้มเข็มแทงลงไป

 

อันนี้ถือเป็น story telling ที่เอาประสบการณ์ซึ่งผ่านการพิสูจน์มาแล้วหลายครั้ง จากนั้นได้ถ่ายทอดสอนน้องใหม่ ที่เข้ามาถามเทคนิคกับพี่เก่าอย่างเรา พบว่าใช้ได้ผลจริงๆ

แต่ว่าใครที่มีเทคนิคอย่างอื่น ก็สามารถเอามาแลกเปลี่ยนกันได้นะคะ

ด้วยความยินดีอย่างสูง ^_^

.......................

 

เหตุเกิดจากการมีน้อง นศ.พยบ. เข้ามาฝึกบนวอร์ด ต้องมีการสอนน้อง แล้วพอมีน้อง พยบ.ใหม่มา ก็ต้องสอนน้องอีกเหมือนกัน  เมื่อก่อนก็ไม่เคยย้อนคิดหรอกนะ ว่าเราทำสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร แต่พอถูกถาม มันจึงทำให้เราเกิดการทบทวนของความคิดและการกระทำต่างๆขึ้นมา เพื่อ หาเหตุและผลของขั้นตอนเหล่านั้น มาเรียบเรียงและกลั่นออกมาเป็นคำพูด ที่จะสามารถถ่ายทอดต่อคนอื่นได้

และที่สำคัญ.. ต้องถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจด้วย

เมื่อน้องถามว่า.. เวลาแทนไอวี (มาจาก IVF = intravenous Fluid หรือภาษาชาวบ้านว่าน้ำเกลือ ) จะต้องปักมุมกี่องศา แทงลึกเข้าไปเท่าไหร่

เราบอกน้องว่า.. พี่จำทฤษฏีไม่ได้แล้วล่ะนะ  เพราะทฤษฏีที่พี่เคยเรียนมา มันไม่ได้อธิบายทุกอย่างที่พี่เจอในประสบการณ์จริง  แต่จะขอสอนน้อง.. ในสิ่งที่เป็นเคล็ดวิชา ซึ่งพี่ประมวลได้มา จากการเรียนรู้ในการลงมือทำจริงของพี่  โดยใช้หลักการจากทฤษฏี..มาดัดแปลงเป็นความคิดและวิธีการของพี่เอง

เทคนิคของพี่..

1.  ขั้นตอนการเตรียมของ

 ก่อนอื่น..เตรียมของให้พร้อม  ตัดพลาสเตอร์แถบปกติไว้  4  ชิ้น และเป็นพลาสเตอร์แคบ 1-2 ชิ้น

น้องถาม.. พี่ มันเปลืองไหม ทำไมต้องตัดไว้เยอะด้วย

เราจึงย้อนถามน้อง ... น้อง..เคยโดนใส่ไอวีไหม ?   น้องรู้ไหม..ความรู้สึกของคนที่กำลังใส่สายน้ำเหลือนั้นเป็นอย่างไร ?   สิ่งที่คนซึ่งกำลังใส่น้ำเหลือรู้สึกกลัว.. คือกลัวว่าเข็มน้ำเกลือจะขยับ กลัวจะโดนแทงใหม่ แล้วพอเคลื่อนไหว ถ้าตรงนั้นมันกระดุกกระดิก..ความรู้สึกมันจะกลัวหลุด บางทีก็ทำให้ไม่กล้าขยับมือ

ดังนั้นการปิดพลาสเตอร์ เราควรปิดให้กระชับ (ไม่ใช่แน่นนะ)  ฟิกสายไว้ไม่ให้แกว่ง หลังจากปิดพลาสเตอร์แล้วต้องถามคนไข้ ต้องให้เขาลองขยับมือดูว่ามันเคลื่อนไหวสะดวกไหม

เอาล่ะ..ยังไม่เริ่มแทงเลย มาคุยเรื่องปิดพลาสเตอร์ซะแล้ว มาพูดถึงการเตรียมของต่อดีกว่า

 

ในการเตรียมของ.. เราต้องเตรียมให้พร้อมและครบ เพราะว่าเวลาแทงน้ำไอวี ต้องฝึกแบบที่เราแทงคนเดียว ไม่ใช่คอบพึ่งให้คนอื่นเข้ามาช่วยหยิบโน่นหยิบนี่ ทุกอย่างจึงต้องอยู่ใกล้มือเรา หลังจากตัดพลาสเตอร์ ก็ฉีกพลาสเตอร์ยาที่จะแปะตรงรอยแทงเข็มไว้ให้พร้อมด้วย  แต่ไม่ต้องดึงแผ่นกระดาษที่ปิดผ้าพลาสเตอร์ออกหรอกนะคะ เพราะว่ามันจะไม่สะอาด (เห็นหลายคนเลย ชอบแกะออก สงสัยอยู่เหมือนกันว่า ทำแบบนั้นมันจะ keep sterile ยังไงหว่า)

จากนั้นก็เตรียมไม้พันสำลี ชุบน้ำยาทิงเจอร์ไอโอดีน กับ อัลกอฮอล์ (อย่างละอัน) ที่จะใช้ทำความสะอาดผิวหนัง ปักใส่บนแท่นดินน้ำมัน

ทำไมต้องใช้แท่นดินน้ำมัน ?  น้องถามอีก.. ใช้อย่างอื่นไม่ได้หรือคะ อย่างเช่น วางตั้งทรงไว้ในกล่อง

เราบอกน้อง.. เดี๋ยวตอบให้ เดี๋ยวรู้.. ว่าแท่านดินน้ำมัน เอาไว้ใช้อย่างอื่นด้วย

อ้อ..เกือบลืมไป.. หันไปเตรียมชุดให้สารละลายให้พร้อมด้วยนะคะ ไล่สายให้เรียบร้อย พร้อมที่จะเสียบเมื่อแทงเข็มสำเร็จ  แต่ถ้าหากจะใส่เป็น heparin lock ก็เตรียมหัวจุกให้เรียบร้อย ฉีกซองใส่แบบที่ยังคง keep sterile แต่ว่าสามารถหยิบออกมาได้ง่าย

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ก็หยิบเข็ม Medicute ออกมาเตรียมแทง โดยอย่าลืมคีบสำลีมาไว้ในอุ้งมือ 1 ชิ้นด้วย เผื่อว่าถ้าเกิดแทงพลาด ก็จะสามารถใช้ถอดเข็มกดเลือดได้อย่างรวดเร็ว

 

2.  ขั้นตอนการแทง

เมื่อเตรียมทุกอย่างเรียบร้อย ..เอาล่ะ ทีนี้ก็มาถึงขั้นตอนที่น้องๆสนใจที่สุด

เทคนิคการแทงไอวีของพี่  มีเคล็ดวิชา 2 ประการ  คือ สมาธิ กับ จินตนาการ

คงสงสัยล่ะสิ.. ว่าสองสิ่งนี้มันเกี่ยวอะไรกัน

สมาธิ กับ จินตนาการ สำคัญมากๆในการจ่อเข็มแล้วกดแทงลงไปในเนื้อคนไข้ ถ้าหากเราไม่มีสมาธิ โอกาสที่เราจะแทงพลาดนั้นสูงมาก

แล้วเราจะสร้างสมาธิได้อย่างไร ?

อันดับแรก.. เราต้องทำให้ตัวเราผ่อนคลาย และ คนไข้ผ่อนคลาย

การทำให้ตัวเราผ่อนคลาย.. ต้องผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ  พี่จะแนะนำให้ผู้แทงเอาเก้าอี้มานั่งแทงค่ะ เพราะการนั่งลงแทงนั้น ร่างกายของเราไม่ต้องเกร็งกล้ามเนื้อ ลงน้ำหนักไปที่ขาทั้งสอง รวมไปถึงการทรงตัว โน้มตัวลงไปแทงเส้นคนไข้   นอกจากนี้ในคนไข้ที่แทงเส้นยากๆ การก้มนานๆก็ทำให้ผู้แทงมึนหัวได้ โอกาสยิ่งแทงพลาดก็จะยิ่งสูง

สำหรับการผ่อนคลายทางจิตใจนั้น.. พี่จะแนะนำไม่ให้ญาติมุงเวลาแทงค่ะ  ญาติบางคนจ้องเราตาเขม็งเลย  เชื่อไหม.. สายตาของคนเรามันแฝงกระแสจิตของคนผู้นั้น ซึ่งมันเหมือนมีรังสีหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ยิงใส่คนอีกคน แม้ว่าคนๆนั้นจะนั่งหันหลังให้ก็ตาม  ดังนั้น.. ถ้าคนไข้เครียด ญาติเครียด..ภายในห้องก็จะอบอวลไปด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขนาดแรงดันสูงเชียวล่ะ  กดดันใส่คนแทงน้ำเกลือ ก่อกวนจิตใจคนผู้นั้นจนสมาธิสั่นคลอน แล้วโอกาสที่จะบังคับกล้ามเนื้อนิ้วมือให้กดแทงแทงลง มีโอกาสความพลาดสูง

ถ้าเรารู้สึกเช่นนั้น.. หน้าที่ของเรา คือต้องหันไปปลอบญาติและคนไข้ ให้เขาลดความเครียดและแรงกดดัน  บางทีเขาไม่ได้ตั้งใจหรอกค่ะ (หมายถึงญาติ)  ดังนั้นบางทีพี่ก็หันไปยิ้มๆ บอกเขาอย่างทีเล่นทีจริงว่า สายตาของเขามีพลังจิตสูงนะ ช่วยหันไปทางอื่นก่อนได้ไหม สงสารคนไข้ เพราะมันจะกดดันทำให้พี่แทงพลาด  ตามประสบการณ์ที่ผ่านมา.. ถ้าเราบอกดีๆด้วยรอยยิ้ม บอกแบบทีเล่นทีจริงไม่ซีเรียส ญาติเขาก็ร่วมมือค่ะ บางคนยังหัวเราะขำ  เพราะเพิ่งรู้ตัวว่า ตนเองจ้องซะ... อิอิ  ตัวคนแทงก็ไม่ต้องอายหรอก..บอกเขาไปเถอะ  เราสามารถขอความร่วมมือเขาได้ ( ดีไม่ได้.. ถ้าเราแทงพลาด จะได้โยนไปให้เขาซะเลย ว่าจ้องเรา จนเราแทงพลาดเห็นมั้ย 5555 .. อันนี้พี่พูดเล่นนะ อย่าไปเอาจริง)

เมื่อเราผ่อนคลาย ก็ให้ทำให้คนไข้ผ่อนคลายด้วย  ต่อให้เราไม่มีความมั่นใจว่าจะแทงเส้นเขาสำเร็จ ก็ไม่ต้องไปแสดงกิริยาเกร็งหรือกลัวให้เขาเห็น  ให้แตะหลังมือเขา ลูบผิวหนังที่เราจะหาเส้นเบาๆ  ยิ้มไปด้วยชวนเขาคุยไปด้วย  (แต่ก็เคยเจอนะ บางคนเครียดมาก  พอเราชวนคุยก็ดุเรา ว่ารีบๆแทงเถอะ อย่าพูดมาก.. เคยเจอแบบนั้นเหมือนกัน แต่ก็น้อยเคสมากๆ ในชีวิตนึงทำงานมาสิบกว่าปี มีซัก 1 คนมั้ง ถ้าเจอก็ไม่ต้องซีเรียส ยิ้มให้เขาก็พอ แล้วก็ตั้งสมาธิตัวเองให้ดีๆ)

ก่อนแทงเข็ม.. เกือบลืมขั้นตอนการรัดทูนิเก้ไปซะแล้ว

การรัดทูนิเก้เนี่ย ใครไม่เคยโดนไม่รู้นะ  ว่ามันเจ็บยิ่งกว่าแทงเส้นเสียอีก  ตัวเราเองเกลียดการรัดทูนิเก้ที่สุด ถ้าจะให้ดี.. ให้เอาทูนิเก้ ที่ใช้งานมาหลายครั้งแล้ว อย่าใช้อันใหม่ๆ เพราะอันใหม่ๆ มันยังมีความเกลี้ยงของผิวยางอยู่ เวลารัดจะเสียดสีไปกับผิวเรา จนรู้สึกเจ็บมาก

แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ แนะนำว่าให้ รัดทูนิเก้ไปบนแขนเสื้อของคนไข้ หรือว่าเอาผ้าผืนเล็กๆหรือกระดาษทิชชูนิ่มๆก็ได้ มารองก่อนที่จะคาดรัดสายทูนิเก้ มันจะช่วยลดความเจ็บได้ค่ะ

แต่ทูนิเก้ที่มันเก่าแล้ว ก็อาจจะรัดไปเลยได้เลย เพราะหนังมันจะเริ่มนิ่มแล้ว เวลารัดจะเจ็บไม่มาก

 


3. มาถึงขั้นตอนการหาเส้นเลือด

เราชอบใช้ปลายนิ้วแตะกดลงไปเบาๆ เพื่อหาเส้นนะคะ  ไม่ค่อยชอบใช้การตบหาเส้น   ในการเลือกเส้น.. ถ้าไม่ใช่คนไข้ไปห้องผ่าตัด ซึ่งวิสัญญีมักชอบให้แทงหลังมือ  เราก็มักชอบหาเส้นบริเวณหลังแขนหรือท้องแขน เหนือข้อมือที่บริเวณที่ใช้แตะชีพจรขึ้นไปของคนไข้ 

เหตุผลก็เพราะว่า.. การ on IVF บริเวณนี้ คนไข้จะเคลื่อนไหวและใช้งานมือและแขนข้างนั้นได้สะดวก หลายคนชอบใส่หลังมือ  แต่คนที่เคยโดนใส่น้ำเกลือจะรู้เลยว่า บริเวณนั้นมันทำให้เคลื่อนไหวใช้งานมือข้างนั้นไม่สะดวกเลย  แล้วยิ่งเวลาคุณจะเข้าห้องน้ำขับถ่าย มันทำความสะอาดให้ตนเองยากจริงๆ  นอกจากนี้เวลาลุกขึ้นนั่งซึ่งเราจำเป็นต้องมีการเท้าแขน การใส่น้ำเกลือบนหลังมือ จะทำให้เราเท้าแขนลำบาก เลือดย้อนขึ้นสายได้ง่าย

ตอนเรียน.. ทฤษฏีที่อาจารย์สอน.. มักแนะนำให้เราเริ่มแทงเส้นที่หลังมือ.. ไล่จากปลายขึ้นไปยังส่วนบน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรามีมาตรฐานเปลี่ยนบริเวณแทงเข็มทุก 3 วัน  แล้วก็มักสลับแขนข้างที่แทง ดังนั้นถ้าเรารักษาเส้นให้ดีๆ fix ให้ดีๆ ไม่ให้เกิดการ leak บวม  พอครบเวลาเปลี่ยนบริเวณแทง  รอยแทงเข็มเดิม มันก็แผลสมานสนิทแล้ว ตั้งแต่ทำงานมา ยังไม่เคยเจอว่า ถ้าแทงเส้นบนๆก่อน แล้วจะมาแทงเส้นล่างๆไม่ได้ ดังนั้นถ้ามีใครสอนแบบนี้อีก เราคงเป็นคนแรกที่ขอชูมือไม่เห็นด้วย

อย่าว่าแต่..คนไข้มากกว่า 50% มักใส่น้ำเกลือไม่นานหรอก บางทีไม่ครบเวลาเปลี่ยนเส้นตามมาตรฐานด้วยซ้ำ  ฉะนั้นหาตำแหน่งเส้นที่ดีที่สุด ให้คนไข้ดีกว่าค่ะ แล้วเท่าที่เคยถามๆ คนไข้ (ที่รู้สึกตัวดี และมี activity ต่างๆด้วยตนเองได้)  มักชอบให้แทงบริเวณแขน มากกว่าหลังมือนะ .. แต่เสียดาย ไม่เคยจดบันทึกสถิติทำวิจัย ( 555 แบบว่าโรคขี้เกียจน่ะ อิอิ)

ไปไกลอีกแล้ว.. มาหาเส้นกันต่อๆๆ...

 

ในกรณีที่เห็นเส้นอยู่โต้งๆ ก็คงไม่ต้องพูดถึงหรอกนะ  เพราะแทงลงไปได้เลย หรือไม่ก็เดี๋ยวข้ามไปอ่านตรงการตั้งองศากดเข็มแทงเส้น  แต่กรณีไม่เห็นเส้น หรือคนไข้อ้วนมันชั้นไขมันหนามากๆล่ะ ทำไงดี

ก็ใช้วิธีคลำเอาสิพี่น้องคร้าบ.. .อิอิ

เราจะพบว่าพอเรารัดทูนิเก้.. เส้นเลือดมันจะพองขึ้น มีความตึงขึ้น เนื่องจากแรงดันภายในเส้นเลือดตรงนั้นมันเพิ่มขึ้น ให้เราใช้ปลายนิ้วจิ้มลงไปเบาๆเพื่อหา  สัมผัสของเรา จะเจออะไรที่มันเป็นลำๆ ชั้นใต้ผิวหนังลงไป.. อา.. ทีนี้แหล่ะค่ะ.. ขั้นตอนของการใช้จินตนาการก็จะเริ่มต้น

ให้ตั้งสมาธิ.. ใช้นิ้วคลำและใช้จิตของเราสัมผัสกับมัน  เส้นเลือดที่เหมาะที่จะแทง ควรจะมีขนาดพอสมควร ไม่เล็กเกินไป ควรจะมีความนิ่ม เมื่อกดลง..พอปล่อยก็มีมีพลังยืดหยุ่นชนิดหนึ่ง ดีดตัวขึ้นมาสัมผัสกับปลายนิ้วของเรา นอกจากนี้.. ให้ใช้ปลายนิ้วแตะไล่คำนวณหาความยาวของมันด้วย ซึ่งความยาวของมัน ควรจะยาวประมาณ 1 นิ้วเป็นอย่างน้อย  ถ้าหากเจอเส้นคด.. ให้เปลี่ยนบริเวณหาไปเลย เพราะเวลาแทงเข็มโอกาสจะแทงทะลุเส้นจะสูง ถ้าเส้นแข็งๆ..อย่าเลือก   ถ้าเจออะไรนิ่มๆสั้นๆแล้วก็หายไปเลย ก็อย่าเลือก.. เพราะมันอาจจะเป็น node หรืออาจจะเป็นพวกจุดลมก็ได้  แทงไปโอกาสพลาดสูง

 

พูดถึงจุดลมในร่างกาย.. เราไม่เคยเรียนพวกวิชาฝังเข็ม หรือวิชาหมอนวด แต่เคยได้ยินมาบ้างในหนัง  เมื่อก่อนเคยคิดว่า มันเป็นนิยายไม่มีจริง  แต่พอมาใช้ปลายนิ้วสัมผัสไล่หาเส้นคนไข้บ่อยๆ ก็พบว่า.. เจอจุดลมเอาหลายครั้ง (เราเรียกว่าจุดลมนะ ไม่รู้เหมือนกันว่าใช่หรือเปล่า)  จุดลมพวกนี้หลอกให้เราแทงคนไข้เจ็บฟรีมาหลายครั้งเลย  คือคลำได้.. แต่พอแทงลงไปมันก็แฟบหาย ไม่มีเลือดออกมา  .. มันมีจริงนะพี่น้อง.. ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่  อิอิ

(จะแนะนำน้องๆว่า.. ถ้าว่างๆให้ลองไปศึกษาอนาโตมี่ของแขนคนดูนะ  ว่าเส้นเลือดมันพาดผ่านไปบนแขนยังไงบ้าง  แม้ว่าแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แต่มันจะคล้ายๆกันในเส้นใหญ่ๆที่อยู่ตื้นๆ  ลองจับพลิกแขนเพื่อนดูก็ได้ หรือว่า ก้มลงมองหาที่แขนของเรา ตำแหน่งของเส้นพวกนั้นมันจะช่วยเป็นทิศทางให้เราได้  เวลาเริ่มจะคลำหาเส้นในคนไข้ที่เส้นหายาก)

แล้วเราตั้งชื่อวิชาการคลำหาเส้นของเราว่า  วิชาดำน้ำแทงค่ะ.. นั่นคือ "  ใช้ปลายนิ้วสัมผัสหา  ใช้จิตสัมผัสถึง จินตนาการให้ออกมาเป็นภาพในห้วงคำนึง..แล้วจึงจิ้มเข็มแทงลงไป "

เมื่อหาเส้นเจอแล้ว และตกลงใจว่า..เอาล่ะ..เอาเส้นนี้ล่ะ
ที่นี่ก็มาถึงขั้น.. ตั้งองศา..กดเข็มแทง

น้องถามอีกว่า.. พี่คะ เราจะตั้งเข็มกี่องศาคะเวลาแทง

เราจะตอบน้องว่า.. น้องจ๋า.. นั่นมันเป็นทฤษฏีที่น้องเอาไว้ตอบในข้อสอบนะคะ แต่ในการลงมือจริงๆ การกำหนดองศาว่าจะแทงเข็มเท่าไหร่เนี่ย มันเอามาใช้ไม่ได้ เพราะคนไข้แต่ละคนอ้วนผอมต่างกัน ผิวหนังหนาบางต่างกัน  น้องจะแทงทำมุมยังไงใช้จิตของน้องกำหนดออกมาเอง

เมื่อเราใช้ปลายนิ้วแตะหาเส้นเลือดคนไข้เจอ   บางทีเราก็มองไม่เห็นเส้นหรอก  แต่ปลายนิ้วผสมผสานกับจิตของเรา มันจะทำให้เราสามารถคำนวณได้ว่า เส้นนั้นอยู่ลึกขนาดไหน

น้องเคยนอนอยู่ในห้องมืดๆไหม  แล้วเคยใช้มือไปหยิบนาฬิกาปลุกตรงหัวเตียงไหม ถ้าหากตำแหน่งนาฬิกาปลุกอยู่กับที่ แล้วน้องเอื้อมมือไปหยิบมันบ่อยๆ ต่อให้ตาน้องมองไม่เห็น.. สมองของน้องก็สามารถสั่งการอัตโนมัติออกมา ให้น้องสามารถหยิบนาฬิกาได้ การคำนวณระยะทางมันจะอัตโนมัติ

การคำนวณความลึกของเส้นเลือดก็เหมือนกัน เราบอกไม่ถูกหรอกว่ามันลึกแค่ไหน กี่มิลลงไปแต่เราจะรู้ว่ามันอยู่ตรงนี้  เมื่อเราจะแทง ก็ให้ส่งจิตไปที่ปลายเข็ม จินตนาการวาดเป็นภาพท่อน้ำที่มันอยู่ใต้พื้นลงไป ทำอย่างไรก็ได้ ให้เราจิ้มปลายเข็มให้ลงไปถึงท่อน้ำท่อนั้น

ทีนี้..อย่าลืมว่าเข็ม medicute มันจะเป็นโลหะแบบเข็มแหลมซึ่งจะใช้เป็นไกด์นำทาง (inner ) แล้วหุ้มด้วยปลอกนิ่มๆ(ไม่แน่ใจว่าเรียกโพลีนรึเปล่านะ)ที่เราจะใช้วางมันไว้ในเส้นเลือดคนไข้   ซึ่งมันจะห่างออกมาจากปลายเข็มที่เป้นโลหะเล็กน้อย   ดังนั้นก่อนะจิ้มดูซะก่อนว่า มันห่างกันแค่ไหน (เพราะบางยี่ห้อจะระยะไม่เท่ากัน)  เมื่อเราแทงแล้วเจอเส้นแล้วมีเลือดออกมา ก็ให้แทงลึกลงไปอีกหน่อย เพื่อที่จะให้ส่วนที่มันเป็นปลอกนิ่ม ถูกสอดเข้าไปอยู่ในเส้น  อย่าแทงทีเดียวจนมิดเข็ม เพราะเดี๋ยวอาจจทะลุจนเส้นแตก  แต่ก็อย่าแทงเข้าไปนิดเดียว แล้วเลื่อนเข็มที่เป็นไกด์ออกมา เพราะว่าส่วนที่เราอจะสอดไปไว้ในเส้นเลือด มันอาจจะยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในเส้น หรือเข้าไปอยู่นิดเดียว พอเราขยับไกด์ออกมามันก็หลุดจากท่อเส้นเลือด เลยเกิดการที่เรียกว่า leak หรือเส้นแตกได้

การใช้จิตนำปลายเข็มแทงเข้าเส้น.. มันคงจะต้องใช้ประสบการณ์มาฝึกด้วย  บางทีสิ่งที่เรามองเห็นด้วยตามันอาจจะไม่ใช่ ต่อให้เห็นเส้นอยู่ทนโท่  แต่ขอให้ยังคงใช้ปลายนิ้วแตะสัมผัสมัน เพื่อใช้จิตคำนวณหาความลึก และขนาดของเส้นๆนั้น การฝึกบ่อยๆ..จะทำให้เรามีนัยน์ตาดวงที่สามเกิดขึ้นได้ค่ะ  แม้มองไม่เห็น.. แต่จิตก็จะยังคงมองเห็น  มองด้วยจิต..ลึกลงไปใต้ผิวของคนไข้ ลงไปที่เส้นเลือด ลงไปที่จิตใจของคนไข้ด้วย

อย่าลืมว่า.. กระแสจิตของคน..มันเหมือนมีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่ง มีทั้งคลื่นร้อน คลื่นเย็น คลื่นที่ปั่นป่วน และคลื่นที่สงบ  ให้ใช้ความสงบจากจิตของเราไปปลอบโยนจิตของคนไข้  ลดกระแสคลื่นต่อต้านที่เปล่งออกมาอย่างอัตโนมัติจากความรู้สึกกลัวของเขา แล้วเมื่อนั้น..ปลายเข็มของเราก็เหมือนเรือที่แล่นออกไปกลางลำน้ำ  ถ้าสายน้ำสงบ คลื่นลมสงบ..เรือก็จะถึงฝั่งที่หมายอย่างปลอดภัย

แต่ถ้าคนไข้กลัว เกร็ง.. มันก็เหมือนเกิดกระแสพายุขึ้นมาต้านเรือ.. โอกาสที่เรือจะล่มลงจึงง่าย

(เออหนอ..เปรียบเทียบแฝงปรัชญาเกินไปไหมเนี่ย.. แต่ก็หวังว่าผู้อ่านคงเข้าใจเนอะ  ^^'')


..........................

 

เขียนมาซะยาวมากๆ (ไม่นึกว่าจะยาวนะ  แต่อยากจะให้อ่านแบบฟังคำเล่าไปเรื่อยๆมากกว่า..^^)

เกือบลืมไปเรื่องนึง.. (น้องทวง.. พี่ๆ แล้วแท่นดินน้ำมันล่ะ ? )  เกือบลืมเรื่องแท่นดินน้ำมันไปเลย  ว่าเอาไว้ใช้ตอนไหน 

ตอบคือ..เอาไว้ใช้ตอนที่เราดึงเข็มไกด์ของ medicute ออกมาน่ะค่ะ  (ลองจินตนาการภาพนะ)  พอเราถอดเข็มไกด์ออกมา ที่ท้ายเข็มส่วนที่อยู่บนคนไข้มันจะ free ทันทีจริงไหม ต่อให้เราใช้ปลายนิ้วกดลงตรงตำแหน่งปลายเข็มซึ่งอยู่ในเส้นเลือดแล้ว  แต่บางทีมันก็กดเลือดไว้ไม่อยู่ มันจะมีเลือดไหลออกมา.. ดังนั้นตรงนี้เราจะมีเวลาแค่เสี้ยววินาทีเอง ที่จะต้องต่อสายไอวีเข้าที่เข็มบนตัวคนไข้ หรือเอาจุด heparin lock มาสวม

เวลาแค่สั้นๆตรงนั้น.. เราจะไม่สามารถเอื้อมเอาไกด์เข็มไปทิ้งใส่ถังซึ่งเตรียมไว้ได้ทันค่ะ  แล้วถ้าจะวางไว้ข้างๆก่อน โอกาสที่จะพลาดโดนเข็มตำก็จะสูง  ถ้าหากจะสอดเก็บมันไว้ในปลอก medicute บางทีมือเราก็สั่นนะ จะสอดปลายเข็มไกด์คืนปลอกมันคงยาก

วิธีที่เร็ว ง่ายแล้วปลอดภัย ที่พี่ใช้คือ เสียบเข้ากันดินน้ำมันก่อนค่ะแล้วค่อยหยิบออกไปทิ้งลงถัง หลังจากปิดพลาสเตอร์ fix เข็มไอวีให้คนไข้เรียบร้อยแล้ว  (ถ้าใครมีวิธีที่ดีกว่านี้ ก็บอกด้วยนะ)  บางคนอาจจะแย้งว่า.. เอาเข็มไปเสียบยังงั้น หน่วย ID จะว่ายังไง เพราะปลายเข็มมันปนเปื้อนเลือดคนไข้ด้วย

ว่าไปแล้ว เราก็เคยคิดเหมือนกันนะ  แต่มาคิดอีกที ..แล้วทีเวลาเราเจาะ Hct คนไข้ เราก็เอาหลอด Hct ที่เปื้อนเลือดเสียบเข้าไปในแท่นดินน้ำมัน เพื่อให้ดินน้ำมันอุดปลายท่อหลอด ทำไมทำได้ล่ะ..  แท่นดินน้ำมัน..มันก็โดนเลือดคนไข้เหมือนกันนิ.. ใครก็ได้ตอบเราหน่อยสิ  ^_^'

 

จบเรื่องดินน้ำมัน.. มาต่ออีกเรื่องที่เราเกือบลืม.. ที่จะขอกล่าวในตอนท้ายของบทความนี้

นั่นคือ.. บางคนที่เข้ามาอ่าน อาจจะแย้งว่า.. วิธีของเรานั่น ดูช่างละเลียดบรรจงเหลือเกิน  มีทั้งการทำ relaxation การเลื่อนเอาเก้าอี้มานั่งแทง  วอร์ดยุ่งๆ.. หรือเวลาที่ยุ่งๆ ทำแบบนี้ไม่ทันหรอก ทุกอย่างมันต้องฉับไว

แต่ขอบอกค่ะ.. เมื่อทำจริงๆ มันใช้เวลาไม่นานเลย relaxation ก่อนจะแทงคนไข้นั้น  1-2  นาทีบางทีก็เหลือเฟือ  คุณที่ไม่เคยโดนแทงน้ำเกลือคงไม่รู้  การโดนแทงน้ำเกลือนั้นมันเป็นความเครียดทีเดียวเลยล่ะ คนไข้หลายคนกลัวมาก  พยาบาลจึงควรใส่ใจตรงนี้สักนิด  แม้เราจะรีบจะยุ่งแค่ไหน.. แต่คนไข้ไม่รู้ถึงความรีบหรือยุ่งของเราหรอกค่ะ

เมื่อเราจะมอบเวลาให้การเคสของเขา ทำหัตถการอะไรให้กับเขา  จงอย่าเอาความยุ่งจากเตียงอื่นๆ มาใส่กับเคสนี้  เพราะคนไข้เขาจะต้องการสิ่งที่ดีที่สุด  เมื่อเวลาของพยาบาลช่วงนี้เป็นของเขา ก็ควรจะมอบให้เขาอย่างเต็มที่  ไม่ใช่พยาบาลเอาเวลามามอบให้เขา ทำให้เขา แต่ใจของพยาบาลไปอยู่ที่เตียงอื่น

มันไม่ถูกหรอกนะ

ไม่ว่าข้างนอกจะยุ่งแค่ไหน ไม่ว่าจะมีงานรอเราอยู่นานเพียงใด  แต่เมื่อเราจะทำอะไรให้คนไข้อีกคน..เราควรจะมอบทุกอย่างให้เขาอย่างเต็มที่  ทั้งความสงบผ่อนคลาย จิตใจที่เยือกเย็น พูดจากิริยาที่อ่อนโยน  เราให้การพยาบาลคนไข้ แต่ละคน โดยถือว่าเขาเป็นปัจเจกบุคคล  แม้เราจะให้อย่างเท่าเทียม.. แต่ไม่ใช่ทำเหมือนทุกๆคนเหมือนกันหมด.. อย่าลืมว่า..ความคิด ความต้องการของแต่ละคนนั้นต่างกัน

ให้อย่างถูกต้อง และตามที่เขาต้องการ.. นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องตระหนักอยู่เสมอ

..........................

บทความนี้ยาวเหลือเกิน 

ขอสรุปสั้นๆสำหรับเทคนิคในการแทงไอวีคนไข้ของเรานะคะ


นั่นคือ

1.  ตั้งสมาธิ และใช้จินตนาการ

2.  เตรียมของให้พร้อม แล้วเลื่อนเก้าอี้มานั่งแทง  ถ้าคนไข้ไม่ดิ้น หรือว่าบางสถานการณ์ที่เราจำเป็นต้องยืนแทง (เช่นคนไข้กำลังช็อค หรือกำลัง  CPR ) ไม่ใช่สถานการณ์ด่วนฉุกเฉินของคนไข้มากๆ  ก็ขอแนะนำว่าให้นั่งแทงดีกว่า

3. relaxation  ทั้งคนแทงและคนไข้ (รวมไปถึงญาติ)

4.  ใช้ปลายนิ้วสัมผัสหา  ใช้จิตสัมผัสถึง จินตนาการให้ออกมาเป็นภาพในห้วงคำนึง..แล้วจึงจิ้มเข็มแทงลงไป

5. ตระหนักใส่ใจทุกอย่างในความรู้สึกของคนไข้ ไม่ว่าจะเป็นการรัดทูนิเก้ ไปจนถึงการปิด stap พลาสเตอร์  ถามความรู้สึกและความต้องการของเขาเป็นช่วงๆ  เช่น ทูนิเก้แน่นไปไหม  เขาแพ้พลาสเตอร์แบบไหนรึเปล่า (ถ้าไม่รู้ ก็ให้ใช้ micropore ไว้ก่อน)  เขาชอบให้ติดพลาสเตอร์แบบไหน ติดแน่นไปไหม เคลื่อนไหวมือสะดวกไหม  ยอมเสียพลาสเตอร์เพิ่มนิดหน่อย แต่ก็แลกมาซึ่งความพึงพอใจ ความรู้สึกมั่นใจ และความมั่นคงของตำแหน่งที่เราแทงไอวี ซึ่งคุ้มค่ามากกว่า

6. คนไข้แต่ละคนล้วนมีศักดิ์ศรี และมีความเป็นปัจเจกบุคคล  เมื่อเราเข้าไปให้การพยาบาลเขา ไปแทงน้ำเกลือให้เขา ก็ต้องมอบเวลาตรงนั้นให้เขาเพียงคนเดียว มอบให้อย่างเต็มที่  ไม่ใช่ทำให้พร้อมๆกันหลายคน แทงไอวีคนนี้ แต่ใจไปคิดถึงงานที่จะทำให้คนไข้อีกคน

7. ก่อนผละจากเตียงคนไข้ เช็คทุกอย่างให้เรียบร้อย ไมใช่เพียงแค่อัตราการไหลของน้ำเกลือ  แต่ให้รวมไปถึงร่องรอยที่เราอาจทิ้งไว้โดยไม่ตั้งใจ เช่นรอยเลือดบนผ้าปูเตียง (แต่เราป้องกันได้ โดยก่อนแทงให้ปูผ้ายางพลาสติคกันเปื้อนไว้)  ถ้ามีก็ให้ถามคนไข้.. บางคนก็อาจจะไม่ถือสา  บางคนก็ให้เอาผ้าอื่นมารองไว้ บางคนอาจจะขอให้เราช่วยเปลี่ยนผ้าปูเตียงให้เลย เพราะเขากลัวเลือด

จบแล้วค่ะ..คราวนี้จบจริงๆ  คิดไปพิมพ์ไปจึงไม่ได้เกลา เอาไว้มีเวลาค อยขัดเกลาให้กระชับสั้นก็แล้วกันนะคะ

ขอบคุณค่ะ ที่อ่านมาจนจบ 

^_______________^

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 26878เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2006 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

ตามอ่านจนจบด้วยใจระทึก ตึกๆ ตักๆ เพราะกลัวเข็ม แต่เรื่องชวนอ่านก็เลยอ่านจนจบ ดีมากๆเลย ดีจนอยากไปเรียนให้น้ำเกลือเป็น

ประสบการณ์ตรงนะว่า "ไร้นาม" ต้องท่องคาถา พุทธัง สาระนัง คัจฉามิ ตอนโดนแทงด้วย พระพุทธคุณจะทำให้ไม่โดนหลายที

แล้วที่กลัวคือเวลาเจาะเลือดตอนคุณๆ จะถอนเข็มออก เพราะคุณๆ ชอบเอาสำลีชุบแอลกอฮอล มากดตอนดึงเข็ม....มันแสบบบบบบ มากกกกกก บอกคุณๆ ว่าเอาสำลีฆ่าเชื้อแห้งๆ มากดเถอะ ก็ไม่ค่อยเชื่อ ...ฮึ

แล้วก็ชอบให้พับแขนแทนการกดนิ่งๆเลยกลายเป็นคนแก่ข้อพับเขียวไปสองอาทิตย์เลย...ฮึฮึ

 

เห็นด้วยกับคุณไร้นามค่ะ  มีหลายคนชอบใช้สำลีที่มีอัลกอฮอล์กดรอยแทงเข็มเวลาเจาะเลือด  คนไม่เคยโดนจะไม่รู้หรอกว่าแสบแค่ไหน หึหึ

 เวลาสอนน้องเจาะเลือดก็จะย้ำตรงนี้เหมือนกัน ว่าในมือต้องถือสำลีแห้ง 1 ก้อนนะ  จะใช้หรือไม่ใช้ก็ถือไว้เถอะ ไม่ว่าจะฉีดยา (เข้ากล้าม , เข้า Sc ) ก็ให้ถือเผื่อไว้ตอนถอนเข็ม

แล้วหลังเจาะเลือดก็เหมือนกัน.. ขอบคุณที่เอ่ยถึงเรื่องนี้นะคะ เพราะหลายคนเลยที่เวลาเจาะเลือดข้อพับแขนมักจะให้พับแขน  ซึ่งความจริงแล้ว.. ใช้สำลีแห้งกดไว้น่ะดีที่สุด เพราะมันจะกดอุดไว้ตรงรูแทงเข็มพอดี  ส่วนการพับแทนน่ะ..มันจะทำให้มีเลือดเซาะซึมออกมา แล้วจะทำให้เกิดรอยช้ำเปนจ้ำเขียวได้ในบางคน

เวลาสอนน้องก็มักยกตัวอย่างท่อน้ำน่ะค่ะว่า ถ้าท่อมันรั่ว.. วิธีที่ดีที่สุด กให้เอาอะไรไปกดอุดที่รูรั่ว แล้วมันจะหยุดเร็วกว่าเอาท่อนั้นมาหักพับ ดีไม่ดีหักพับไม่ตรงอุดรอยรั่ว.. เลือดมันก็จะเซาะซึมออกมาได้

ซึ่งก็โอเคนะ.. น้องเขาก็เลยพอเห็นภาพ  ^____^

ดีจัง คุณหลานหลิง

ไหนๆ ก็คิดต่อ เลยต่อความคิดอีกหน่อย..ได้ไหมเอ่ย

ว่าเวลาไปเจาะเลือด กรุณาล้างมือก่อน เพราะ "ไร้นาม" บอกตรงว่า หยะแหยงเล็กๆ ที่เห็นคนเจาะเลือด เตรียมของเสร็จ ไม่ล้างมือ แต่ใส่ถุงมือ แล้วก็ใช้มือนั้นหยิบจับทุกอย่าง (รวมทั้งเอาสำลีใส่มือนั้น...) ในฐานะคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องแต่ชอบคิด

อยากบอกคุณๆ น่ะว่า อย่าเอาสำลีใส่อุ้งมือเลยเอาสำลีใส่ถ้วยยาเล็กๆ ไปดีกว่าหรืออย่างหนังเรื่องอีอาร์ (เคยดูไหมเป็นเรื่องห้องฉุกเฉิน)ก็คือสำลีจะเป็นแพ็กกิ้งสำเร็จรูปเฉพาะ และเตรียมของทุกอย่างบนถาด  เขาเอาถาดเล็กๆ ปูกระดาษฆ่าเชื้อแล้วก็วางของที่จะใช้บนถาด คลุมกระดาษฆ่าเชื้ออีกที

เฮ้อ ไร้นามพูดยาว คงไม่ว่ากัน เพียงแต่อยากเห็นโรงพยาบาลบ้านเมืองเรา มีมาตรฐานและอีกอย่างเมืองเรามันร้อนเชื้อโรคเยอะ เชื้อโรคตามผิวก็จะมาก คนไข้ส่วนมากมาโรงพยาบาลก็ภูมิต้านทานต่ำอยู่แล้ว น่ะซิ คุณหลานหลิงว่าไหม

 

อิอิ.. มาแก้ต่างเกี่ยวกับเรื่องการใส่ถุงมือก่อนเจาะเลือดของพยาบาลจ้า 

การใส่ถุงมือเวลาเจาะเลือด ไม่ใช่ไม่ได้ล้างมือมาหรอกนะคะ แต่เป็นการใส่เพื่อป้องกันตัวต่างหาก  กล่าวคือ เดี๋ยวนี้มันมีโรคที่ติดต่อกันทางเลือดเยอะ ไม่ว่าจะเป็นไวรัสตับอักเสบบี หรือว่า HIV ดังนั้นการใส่ถุงมือจึงเป็นการป้องกันตนเอง จากการโดนเลือดคนไข้ต่างหากจ้า

ส่วนเรื่องการล้างมือนั้น.. ปกติก็ล้างกันบ่อยค่ะ  หลังจากออกจากห้องคนไข้ หรือการทำหัตถการทุกอย่างกับคนไข้ ก็ล้างกันทุกครั้ง เขารณรงค์เกี่ยวกับกับการล้างมือกัน (อันนี้พูดถึง รพ.ของหลานหลิงนะคะ  เพราะว่าที่อื่นเราก็ไม่รู้)

นอกจากนี้.. ปลายเตียงคนไข้  รวมถึงรถแทงไอวี (ที่ รพ.ของหลานหลิงจะจัดรถแทงไอวีไว้โดยเฉพาะ) ก็จะมีน้ำยาล้างมือไว้ด้วย ก่อนที่จะทำอะไรกับตัวคนไข้ ก็จะกดน้ำยาล้างมืออีกที เป็นการทำความสะอาดมืออย่างรวดเร็ว

กรณีเจ้าหน้าที่ที่เจาะเลือดในห้องเจาะเลือดเลย เท่าที่สังเกต..บางทีคนไข้มาเจาะเลือดเยอะ เขาจึงใช้วิธีใส่ถุงมือแล้วเปลี่ยนถุงมือเอา ถุงมือนั้นเป็นถุงมือสะอาด (แกะกล่อง) ใช้คราวเดียวทิ้ง (หมายถึงใช้คนต่อคน)

แต่อย่างไรก็ตาม.. ขอขอบคุณสำหรับเสียงสะท้อน ในมุมมองจากผู้รับบริการนะคะ  เป็นเสียงที่ดีมากเลย เพราะในบางสิ่งที่ผู้รับบริการมอง เราในฐานะผู้ให้บริการก็นึกไม่ถึง  มีหลายครั้งเหมือนกัน  ที่เราพยายามจะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนไข้ โดยเป็นสิ่งที่ "ดี"  ในมุมมองของเรา แต่เราไม่เคยมองในมุมของคนไข้เลย 

"ความเข้าใจผิด"  "การให้ในสิ่งที่เขาไม่อยากจะได้"  "การมองในคนละมุมกัน"... สิ่งเหล่านี้ หลายๆครั้งทำให้สิ่งที่เราทำ ไม่เป็นเพียงความสูญเปล่า  บางครั้ง..ยังทำให้เกิดความไม่สบายใจต่อกันอีกต่างหาก

ขอบคุณอีกครั้งค่ะคุณไร้นาม

^__________^

เขียนได้ดีมีประโยชน์มากค่ะ คุณหลานหลิงมีความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ที่มีประโยชน์และน่าจะเป็นที่ต้องการสำหรับเมืองไทยของเรา และมีพรสวรรค์ในการเป็นคุณลิขิต ขอเป็นกำลังใจให้ขยันเขียน ขยันเล่าต่อไปเรื่อยๆนะคะ จะคอยติดตามเป็น"แฟนพันธุ์แท้" 
เขียนได้ดีมีประโยชน์มากค่ะ คุณหลานหลิงมีความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ที่มีประโยชน์และน่าจะเป็นที่ต้องการสำหรับเมืองไทยของเรา และมีพรสวรรค์ในการเป็นคุณลิขิต ขอเป็นกำลังใจให้ขยันเขียน ขยันเล่าต่อไปเรื่อยๆนะคะ จะคอยติดตามเป็น"แฟนพันธุ์แท้" 

สวัสดีค่ะคุณโอ๋-อโณ  ขอบคุณมากค่ะ

^___^

เยี่ยมครับ...ขอยืมไปใช้บ้างนะครับ..

เข้ามาอ่านแล้วค่ะ ขออนุญาตนำไปเผยแพร่นะคะ
k-jira ครับ เข้ามาอ่านเรื่องเก่าๆ เลยเจอเรื่องนี้ ดีมากเลย นี่แหละเป็นสิ่งที่นักเรียนเขาต้องการ ซึ่งในหนังสือไม่มี เขียนไว้ดีมากเลยครับ ชื่นชม ชื่นชม
และนี่เลยทำให้ทราบว่าสมัยโน้นใช้ชื่อว่าหลานหลิง ^__^

พี่คะ ตอนนี้เวลาแทงน้ำเกลือไม่มีความมั่นใจเลย มือสั่น เลยทำให้แทงพลาด จะทำยังไงดีคะ เครียดมากเพราะงานที่ทำคนไข้จะคาดหวังว่าเราต้องแทงได้ในครั้งเดียวและก็ไม่เจ็บด้วย เลยยิ่งเครียดไปใหญ่ แต่ก่อนเคยแทงได้ค่อนข้างดีนะคะ แต่หลังจากแทง caseที่น่าจะได้แต่ไม่ได้เลยหมดความมั่นใจไปเลย ตอนนี้เลยกลายเป็นว่า caseง่ายๆบางครั้งยังพลาด และความรู้สึกเวลาแทงยังไม่ได้ จะทำยังไงดีคะ

สวัสดีค่ะ

ขออนุญาตนำไปถ่ายทอดต่อนะคะ

อยากให้มีอบรมแทงไอวีคะ ถ้ามีติดต่อกับมาทางอีเมล์นะคะ

พรุ่งนี้แล้วค่ะที่จะแทงน้ำเกลือกลัวมากค่ะ

อ่านแล้วก้อรุ้สึกผ่อนคลายนิดนึง

แต่ดีมากค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

ลิสาเองอิอิ

ขอบคุนมากมายเรยคร้า ^^

พี่ค่ะหนูไม่มันใจในการแทงน้ำเกลือเลย เครียด แทงได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางทีเส้นก็มี แต่ก็แทงพลาด แต่บางทีก็ฟลุ๊กแทงได้ค่ะ

So good.... 

ที่คุณพยาบาลให้Guide line น้องๆ มาดีมากเลยค่ะ ขอชื่นชมในทักษะ เทคนิค เฉพาะตัวจริงๆ

ใช่เลยค่ะ บางอย่างสิ่งที่เรียน กับการปฏิบัติจริง ไปด้วยกันไม่ได้ก็มีจริง

*** ชื่นชม วิธีการเปิดเส้นฯลฯ ในฐานะผู้ป่วย เคยเข้ารับการรักษา จริงค่ะ หาเส้นเลือดมันยากมากๆ ต้องใช้เก้าอี้ จริงค่ะ ขั้นตอนตามนั้นเลย ไม่เยอะค่ะ ตามนั้นจริงๆ สมาธิ สติ นิ่งๆ

*** เคยโดนเปิด 5-12 แทงหาย แทงหาย จนท. ต้องใช้เก้าอี้จริงค่ะ อะนาโตมี้ด้วย ที่ตอนเรียนพยาบาลท่องๆ กันมา คุณได้ใช้จริง กับกรณีผู้ป่วย หาเส้นยาก จากยืน ต้องเก้าอี้ เลียกพยาบาล W.เด็ก ตั้งมัด ทั้งตบ ทั้งตี บางทีเส้นมันไม่ขึ้นจริงๆ นะคะ

แขน ขา เท้า ค้นแขน ท้องแขน ข้อมือ หลังมือ ง้ามนิ้วมื้อ - นิ้วเท้า ถึงขั้นเคยแซวกันขำๆ จะเจาะเส้นเลือดดำที่คอ***

***** ด้วยความที่เราป่วยบ่อย จากเปิดเส้นง่ายๆ กลายเป็นยากมาก บอกเลยเรารู้สึกสนุก และกลับเกรงใจ และสงสาร จนท.มากๆ ***** 

ทุกวันนี้ได้ฉายาเส้นปราบเซียน..... แต่ชื่นชมคุณมาก คนที่เจาะเลือด เปิดเส้นในการรักษาเรา คุณพยาบาลทุกโรงบาล คุณน่าทึ่งมาก

เราไม่ได้เป็นพยาบาล แต่เห็นกระทู้น่าสนใจค่ะเลยเข้ามาอ่าน สัมผัสได้ถึงการทำงานด้วยหัวใจ อย่างแท้จริงเป็นแบบนี้ ใส่ใจทุกรายละเอียดคนไข้ รู้สึกดีใจแทนคนไข้ที่เจอคุณพยาบาลแบบนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท