ห้ามใช้พาราไธออนเมทธิลและเอ็นโดซัลแฟน


พาราไธออนเมทธิลเป็นสารเคมีที่มีพิษเฉียบพลันสูง และมีการห้ามใช้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งยังเป็นอันตรายต่อสัตว์ที่มีประโยชน์อย่างรุนแรง ส่วนเอ็นโดซัลแฟนซึ่งแนะนำให้ใช้กำจัดศัตรูพืชไร่ แต่เกษตรกรกลับนำไปใช้กำจัดหอยเชอรี่ ทำให้ปลาตาย และทำให้สัตว์น้ำอื่น ๆ ตายด้วย รวมทั้งเกิดสารพิษตกค้างสิ่งแวดล้อม

ห้ามใช้พาราไธออนเมทธิลและเอ็นโดซัลแฟน

          เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมวิชาการเกษตรได้เสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศห้ามประกอบกิจการและมีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดที่ 4 เพิ่มขึ้นอีก 2 ชนิด คือ พาราไธออนเมทธิล และเอ็นโดซัลแฟน ทำให้ปัจจุบันมีวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ได้ประกาศห้ามใช้และมีไว้ในครอบครองรวมทั้งสิ้น 96 ชนิด

         หลังจากที่ได้ประกาศห้ามใช้ และมีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายทางการเกษตรทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวแล้ว ผู้ที่มีสารพาราไธออนเมทธิล และเอ็นโดซัลแฟนไว้ในครอบครองต้องแจ้งจำนวนสารทั้ง 2 ชนิดที่มีไว้ในครอบครองให้เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรทราบภายใน 7 วัน นับจากวันที่ 19 ตุลาคม 2547 และต้องส่งมอบสารทั้ง 2 ชนิดให้แก่ทางราชการภายใน 15 วัน หลังจากวันที่แจ้ง หลังจากครบกำหนดส่งมอบภายในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 แล้ว กรมวิชาการเกษตรจะส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบตามร้านค้าสารเคมีเกษตรทั่วประเทศ หากพบผู้ที่ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองจะมีความผิดทางกฎหมาย มีโทษจำคุกถึง 10 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท

         การที่ได้ประกาศห้ามใช้สารเคมีทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว เนื่องจากพาราไธออนเมทธิลเป็นสารเคมีที่มีพิษเฉียบพลันสูง และมีการห้ามใช้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งยังเป็นอันตรายต่อสัตว์ที่มีประโยชน์อย่างรุนแรง ส่วนเอ็นโดซัลแฟนซึ่งแนะนำให้ใช้กำจัดศัตรูพืชไร่ แต่เกษตรกรกลับนำไปใช้กำจัดหอยเชอรี่ ทำให้ปลาตาย และทำให้สัตว์น้ำอื่น ๆ ตายด้วย รวมทั้งเกิดสารพิษตกค้างสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมี สารชนิดอื่นที่สามารถใช้ทดแทนได้ดี และมีความเสี่ยงภัยน้อยกว่า ได้แก่ ไตรอะโซฟอส แลมดา-ไซฮาโลธิน คาร์โบซัลแฟน ใช้ทดแทนพาราไธออนเมทธิล นิโคลซีมาย เมทธาดิไฮด์ และชาโฟนิน หรือกากชา ใช้กำจัดหอยเชอรี่ทดแทนเอ็นโดซัลแฟน ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการนำเข้าสารพาราไธออนเมทธิลปีละประมาณกว่า 1 พันตัน ส่วนเอ็นโดซัลแฟนมีการนำเข้าปีละประมาณ 80-100 ตัน

        สำหรับพาราไธออนเมทธิลและเอ็นโดซัลแฟน เป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ได้เฝ้าระวัง และเสนอให้มีการประกาศห้ามใช้ รวมทั้งได้มีการแจ้งให้ผู้ประกอบการได้รับทราบไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2546 ในปี 2547 จึงไม่มีการนำเข้าสารเคมีทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย ดังนั้นการเรียกเก็บสารทั้ง 2 ชนิด จึงคาดว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะปัจจุบันแทบไม่มีสารทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวหลงเหลืออยู่ในท้องตลาดประเทศไทยแล้ว ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ประกาศห้ามใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตรายต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมมากกว่าทุกประเทศ และในขณะนี้ยังมีสารเคมีที่ต้องเฝ้าระวังการใช้อยู่อีก 10 ชนิด ได้แก่ อัลดีคาร์บ บลาสทิซินดิน-เอส, คาร์โบฟูแรน, ไดโครโทฟอส, อีพีเอ็น, อีโทโพรฟอส, ฟอร์มีทาเนต, เมทิดาไธออน, เมโทมิล, ออกซามิล ผู้ที่มีสารพาราไธออนเมทธิล และเอ็นโดซัลแฟนไว้ในครอบครองในส่วนกลาง สามารถแจ้งและส่งมอบสารทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวได้ที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาคส่งมอบได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ทั้ง 8 เขต สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายวัตถุมีพิษ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2940-6980 และ 0-2940-6670 ทุกวันในเวลาราชการ

ที่มา : พรรณนีย์ วิชชาชู. 2547. จดหมายข่าวผลิใบ. ปีที่ 7, ฉบับที่ 8, ประจำเดือน ตุลาคม : 16.

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2686เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2005 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท