ทักทายพยาบาลPCU


บล็อคน้องใหม่ของพยาบาลPCUขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยค่ะ
พยาบาลที่ปฏิบัติงานใน PCU หรือในชุมชน รวมทั้งท่านที่ได้รับบริการจาก พยาบาลPCU หรือผู้สนใจรับบริการจาก PCU เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนทักทาย เล่าสู่กันฟังด้วยนะคะ
คำสำคัญ (Tags): #พยาบาล#pcu#nurse
หมายเลขบันทึก: 26824เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2006 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

   วันนี้ไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ซึ่งยังไม่ทราบวินิจฉัยที่แน่ชัด ได้รับข้อมูลจากบุตรสาวผู้ป่วยซึ่งอายุในราว55-57 ปี ผู้ป่วยก็น่าจะใกล้ๆ 80 ว่าต้องดูแลแม่ซึ่งไม่สามารถลุกจากเตียงได้ เมื่อไปถึงบ้านเลขที่ตามที่แจ้งไว้ ปรากฏว่าหลังจากกดออดอยู่พักนึงไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จึงเปลี่ยนวิธีเป็นโทรศัพท์เข้าเครื่องบ้านตามที่ญาติให้ไว้ ปรากฏว่าสายไม่ว่างดังเดิมเหมือนตอนที่เราพยายามโทรนัดผู้ป่วยก่อนออกมาเยี่ยม แต่ดูลักษณะบ้านที่เปิดประตูเหล็กชั้นในทิ้งไว้ ปิดแต่ประตูเหล็กยืดแล้วคล้องกุญแจไว้นั้นน่าจะมีคนอยู่ภายใน  จึงเปลี่ยนวิธีเป็นใช้ลูกกุญแจที่คาไว้เคาะกับประตูเหล็กแทน ตานี้ได้ผลพบเสียงตอบสนองจากภายใน  ภาพที่เราพยายามมองเข้าไปพบคือเห็นคล้ายคนเคลื่อนไหวอยู่บนตั่งหลังตู้ที่วางพิงฝาผนังบ้านไว้ จึงรีบส่งเสียงทักทาย แนะนำตัวเองแต่ได้รับการตอบกลับว่า"ไม่มีใครอยู่บ้าน" พยาบาลพยาบาลจะเยี่ยมผ่านประตูเหล็กแต่พยายามแล้วไม่เป็นผลเพราะระยะที่ผู้ป่วยนอนอยู่ห่างจากประตูบ้านราว 10 เมตร และบ้านอยู่ติดถนนใจกลางเมือง ผู้ป่วยตอบแค่ประโยคเดิมแม้จะเปลี่ยนคำถามเป็นคำทักทายอื่นๆ จึงต้องยอมแพ้พร้อมกับกลับมาสำนักงานด้วยอาการเจ็บคออย่างมากเพิ่มจากสภาพที่ป่วยอยู่ก่อนแล้ว  การเยี่ยมบ้านนี้เจอผู้ป่วยแต่ไม่สามารถเข่าถึงได้  สรุปคร้งนี้ได้แค่ทักทายโดยไม่ทราบด้วยว่าผู้ป่วยเข้าใจพยาบาลมากน้อยแค่ไหนหรืออาจเข้าใจว่าเราเป็นพนักงานขายสินค้าตามบ้านก็เป็นได้  แต่ไม่เป็นไรคราวหน้านัดใหม่ถ้าเจอแล้วค่อยมาเล่าให้ฟังนะ

 

 

 

       บ้านคลองประดู่ ม.8 อยู่ในเขตความรับผิดชอบของ สอ.พะตง  ต.พะตง  อ.หาดใหญ่  จ.สงขลา  ห่างจาก สอ.ไปทางทิศใต้ ประมาณ 3 กม.ด้านหลังโรงงานเซฟสกิน  ลึกเข้าไปจากถนนใหญ่  ประมาณ 1.5 กม.เป็นถนนลาดยางมะตอยครึ่งหนึ่ง  อีกครึ่งหนึ่งเป็นถนนดินแดง  มีชุมชนเล็กๆมีบ้านใกล้ในละแวกเดียวกันอยู่ประมาณ 20 หลังคาเรือน  สภาพเป็นพื้นที่ลุ่ม  ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพกรีดยาง   ที่นี่มีบ้านหลังหนึ่งเป็นขนำเล็กๆ  อยู่ในสวนยาง   แต่ก็ไม่ห่างจากบ้านอื่นมากนัก  สวนยางนี้เป็นของคนจีนในตลาดทุ่งลุง เนื้อที่ ประมาณ 2 ไร่ เป็นคนดีใจบุญ  ลักษณะบ้านเป็นเพิงไม้เก่าๆ  หลังคาเป็นสังกะสีเก่ามีรูรั่ว  มุมหนึ่งไว้สำหรับหุงหาอาหาร  อีกมุมหนึ่งไว้นอน
บ้านรกรุงรัง  ใต้ถุนมีไม้ฟืนกองอยู่เต็ม  ขยะก็ทิ้งลงใต้ถุนเวลาทำอาหารน้ำก็เทลงใต้ถุน  แฉะ เสื้อผ้าเก่าๆ ไม่กี่ตัวพาดไว้ตามฝาบ้าน(มีคนเอามาให้) มีหม้อข้าว อลูมิเนียมดำๆ 1 ใบ หม้อแกง  จาน  ชาม เก่าๆ 4-5 ใบ  ผู้อาศัย คือคุณยายทองใหม   สวมทอง  อายุ 83 ปี  อยู่คนเดียว  สามีเสียชีวิตนานแล้ว   มีลูก 1คน เสียชีวิตตอนอายุ  20 ปี  ยายทองใหมเป็นคนบ้านทุ่งลาน  ที่คลองประตูนี่เป็นญาติฝ่ายสามีตอนที่ยังพอมีแรงก็ตัดยางแก่วันละ 1-2 แผ่น  แต่ไม่ได้ตัดทุกวัน  บางวันได้น้ำยางน้อยขี้เกียจทำยางแผ่นก็ทำขี้ยางก้อน  เถ้าแก่ให้ตัดฟรี แถมยังช่วยเหลืออยู่เรื่อยๆ  ข้าวสารบ้าง  ยายทองใหม เป็นคนผอม ร่างเล็ก น้ำหนักราว 30 กก. ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ  poor hygine ไม่มีโรคประจำตัว  มีออดๆแอดๆก็เรื่อง ปวดเมื่อย  ปวดข้อนิ้วมือ ซื้อยากินเองนานๆครั้ง  พยาบาลได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้าน 2 เดือน/ครั้ง เคยชวนให้มารับยาที่ สอ.ยายบอกว่าไปลำบาก "ไม่รู้จิไปกับใคร ต้องขอพลอยรถที่ผ่านมาแต่ก็ไม่ค่อยมี ลางทีไปครึ่งทางแล้วรอโบกคันอื่นต่ออีก 2-3ต่อ หวางอิถึงอนามัย    ไปหลาด ก็เหมือนกัน เวลาไปแม่ค้าที่รู้จักกันก็หยิบยื่นแบ่งให้" ยายทองใหมเป็นคนอารมย์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาสุภาพ มีแต่คนสงสารรักใคร่เพื่อนบ้านแถบนั้นคอยช่วยเหลือให้ ปลา ไข่ แกง ข้าวสาร  ไฟฟ้าก็พ่วงจากบ้านใกล้ๆไว้ตามไฟที่มีอยู่ 1 ดวง  ใช้น้ำบ่อเด็กแถวนั้นช่วยตักน้ำใส่ถังเล็กๆเรียงไว้เป็นแถว
    เมื่อปีที่แล้วน้ำท่วม 2 ครั้ง น้ำได้พัดบ้านยายทองใหมเสียหายหมด ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าน้ำไหลเชี่ยว น้ำลึกทีเดียว เทศบาลใช้เรือท้องแบนเข้าไปส่งข้าวห่อ  น้ำท่วมขังอยู่เป็นอาทิตย์สัญจรไปมาไม่ได้ หลังจากน้ำลดก็ได้มีโอกาสไปแจกยาน้ำท่วมให้กับชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านดีใจมาก  ช่วงนั้นคุณยายทองไหมได้ไปอาศัยอยู่กับเพื่อนบ้านแถวๆนั้น  หลังน้ำลดเถ้าแก่เจ้าของสวนและชาวบ้านช่วยกันทำบ้านใหม่ให้ยายในที่เดิม  คล้ายบ้านหลังเก่าแต่ใหญ่และเป็นสัดส่วนดีกว่าเดิมตอนนี้ยายมีความสุขเวลาฝนตกหลังคาไม่รั่วแล้ว  ใต้ถุนบ้านก็สะอาดขึ้นไม่ค่อยมีขยะมากนัก  อาการปวดข้อที่มือหายแล้ว  ตอนนี้ยายไม่ได้กรีดยางแล้วได้แต่ปลูกผักเล็กๆน้อยๆข้างบ้าน  ไม่มีรายได้อะไร  แต่ก็ไม่อด เพื่อนบ้านในละแวกนั้นคอยให้ความช่วยเหลือมีอะไรก็เอามาแบ่งให้ เวลาไปนั่งบ้านคนโน้นคนนี้เขาก็ให้ของติดมือกลับบ้านทุกครั้ง  ทุกวันนี้ได้ใส่บาตรทุกวัน  เคยถามยายว่าแล้วเอาอะไรมาใส่บาตรยายบอกว่า "ก็เอาของที่เขาให้นั่นแหละใส่  แบ่งไว้ใส่บาตรให้พระ  ไม่มีอะไรก็ต้มไข่นั่นแหละใส่บาตร ทำยังไงได้พระมายืนบาตรผ่านหน้าบ้านทุกเช้า"เคยถามยายว่ามีความทุกข์ใจอะไรอยากให้ช่วยอะไรบ้างไหม "ไม่เคยไม่รู้จะทุกข์อะไร  ก็ไม่ได้อด เพื่อนบ้านก็ดีๆทั้งนั้น พอหัวถึงหมอนก็หลับทุกที บางทีนอน ตี 10หัวเช้าตื่นอีกที ตี4ตอนเย็น  บางทีนอนบ่าย3ตื่น ตี 8 มืดแล้วก็ลุกมาลวกมาม่ากิน  แล้วก็เข้านอนหลับต่อ โทรทัศน์ก็ไม่ชอบดู  พริกที่ยายปลูกเริ่มใช้มาทำน้ำพริกได้แล้ว กินผักปลูกเองดีหวา ผักหลาดฉีดยาทั้งเพ "     ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสไปเยียมชุมชนในคลองประตูก็จะแวะไปนั่งคุยกับคุณยายทองไหมอยู่เสมอ

   วันนี้ขณะปฎิบัติงานได้มีโอกาสทำแผลให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ระเบิดใจกลางเมืองหาดใหญ่ เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 16 ก.ย.49      

     รายแรกเป็นหญิงสาววัย 30เศษ โดนสะเก็ดระเบิด     ที่บริเวณกลางหน้าอกใต้แนวราวนมเล็กน้อย
แผลขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 ซม.ลึก 0.5
ซม.เธอเล่าว่าขณะเกิดเหตุเธอยืนขายของอยู่บนฟุตบาธข้างห้างโอเดียนเป็นแผงขายเครื่องประดับสตรีซึ่งอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุจุดที่1 เมื่อได้ยินเสียงระเบิดขึ้นเธอวิ่งหนีจะไปที่ร้านของพี่สาวและพี่เขยซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่งของห้าง ระหว่างที่กำลังวิ่งไปก็เจอลูกที่ 2เธอบอกว่าโชคดีที่เธอวิ่งได้ช้า ถ้าวิ่งเร็วอีกนิดเธอคงไม่รอดแน่เพราะลูกที่ 2ดักอยู่ด้านหน้าที่เธอกำลังจะวิ่งไป จึงโดนสะเก็ดระเบิดที่กลางหน้าอก เธอบอกว่ารู้สึกแป๊ลบ แล้วก็มีเลือดไหลลงไปตามหน้าท้อง
จนท.มูลนิธินำเธอส่งรพ.พี่สาวพี่เขยก็ตามไป รพ.สามี
เธออยู่ที่บ้านทราบข่าวก็ตามมาที่รพ.ที่รพ.ก็ยุ่งเขากันคนไม่อนุญาตให้เข้าไปดู ญาติก็เป็นห่วงไม่รู้เป็นมากน้อยแค่ไหน      ตอนที่หมอมาตรวจแผลเห็นหมอใส่ถุงมือดึงเหล็กเป็นเศษเหล็กสั้นๆ แล้วหมอก็เอานิ้วล้วงใหญ่รู้สึกเลยคงจะดูว่าทะลุไหม เสื้อที่ใส่งี้ขาดไหม้เป็นวงเลยรูเท่าปิงปองได้   ข้าวของที่ร้านก็ไม่ได้มีใครได้ย้อนกลับไปเก็บเลย แต่เห็นเขาบอกว่าช่วงดึกๆเจ้าหน้าที่อนุญาตให้เข้าไปเก็บของได้  ก็ไม่รู้ว่ามีเพื่อนเก็บไว้ให้บ้างหรือเปล่าเพราะหลังเกิดเหตุ ต่างคนต่างก็กลับบ้านยังไม่ได้เจอกันเลย
     รายที่ 2 เป็นชายรุ่นราวคราวเดียวกันกับรายแรกวันเกิดเหตุกำลังขับรถตุ๊กๆ ผ่านที่จุดเกิดเหตุพอดี โดนสะเก็ดระเบิดที่สะบักขวา ต้นคอและบริเวณไหล่และต้นแขนอีกเล็กน้อย
      เขาเล่าว่ารถตุ๊กๆคันที่อยู่หลังคันของเขาไฟลุกท่วมเลยโชคดีที่เขารอดมาได้ แต่หลังเกิดเหตุนี่ยิ่งแย่เลยแทบไม่มีลูกค้าใช้บริการเลย น้ำมันก็แพง รถที่เสียหายก็ต้องซ่อม
      นี่ขนาดแค่ 2 รายที่นับว่าได้รับบาดเจ็บไม่สาหัสแต่ด้านจิตใจคงบอบช้ำแสนสาหัส       ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ทำมาหากินอย่างสุจริตต้องมาได้รับผลกระทบที่ตนไม่ได้เป็นคนก่ออย่างใหญ่หลวง  เศรษฐกิจการค้าที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวหลังน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 48 ก็ต้องกลับมาซบเซาอีกครั้งหนึ่งรอเวลาที่จะเยียวยาเพื่อให้ผู้คนเกิดความมั่นใจในความปลอดภัยและกล้ากลับมาใช้ชีวิตเหมือนปกติทีเคยมีมาต่อไป

รู้สึกถึงความพอเพียงของคนในชนบท จากการทำงานในPCUส่วนใหญ่จะอยู่ในชนบทก็มักจะสัมผัสได้ในลักษณะใกล้เคียงกัน แต่ส่วนลึกแล้วคิดว่านี่คือการปรับตัวของคนแก่ที่ไม่มีลูกหลานคอยดูแลโดยใช้ภูมิปัญญาแบบชาวบ้าน ยายโชคดีที่มีคนใจดีคอยให้ความช่วยเหลือ

ที่มาของโรงพยาบาลกลางวัน  ที่ PCUท่าจีน

ที่ตั้ง ม.7 ต.น้ำน้อย

ประชากร       รับผิดชอบ 5 หมู่บ้านจำนวนประมาณ     6,500  ราย

เริ่มเปิดเมื่อ เม.ย.2548  แพทย์จะไปออกทุกพุธ วันอื่นจะมีพยาบาลอยู่ประจำ มีเตียงผู้ป่วย 3 เตียง อุปกรณ์ช่วยฟื้นคืนชีพครบ  พญ.พรหมศิริ เป็นแพทย์ประจำ

ช่วงแรกมีผู้ป่วยนอนสังเกตุอาการ 3 ราย/เดือน ระยะหลังผู้ป่วยลดลง คนไข้นอกประมาณ 20 คน/วัน วันที่หมอออกมีคนไข้ในราว 50 คน/วัน เดือนละประมาณ 600 ราย

ปัจจุบันงานที่ทำ รับบริการผู้ป่วย observe เยี่ยมบ้านบริการส่งเสริมสุขภาพที่บ้าน  case เรื้อรังที่ไม่มาตรวจตามนัด และคนที่ไม่สามารถเดินทางมาที่PCUได้

ยาและเวชภัณฑ์ เบิกจากคลินิคเวชปฏิบัติครอบครัวรพ.หาดใหญ่

       บทเรียนก็คือการให้อะไรกับชุมชนแม้จะเคยผ่านการทำประชาคมแล้วว่าผู้ป่วยต้องการ แม้เราจะพร้อมทีมงานเครื่องมือจะพร้อมแต่ไม่ไช่ความต้องการที่จำเป็นของชุมชนเราจึงยังไม่ประสบความสำเร็จ และเกิดความไม่คุ้มทุนในการลงทุน ลักษณะสังคมแถบนั้นสภาพสถาบันครอบครัวแข็งแรง คนสูงอายุหรือคนที่เจ็บป่วยเล็กน้อยยินดีที่จะพักอยู่ที่บ้านมากกว่ามานอนพักที่รพ.กลางวัน

 

เรื่องเล่า"พยาบาลชุมชน" ชีวิตจริงที่ไม่ใช่"นางฟ้า"
http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03lad01301049&day=2006/10/30
ทีมเยี่ยมบ้านรพ.ตสม.
ความเสี่ยงของงานเยี่ยมบ้าน

       ไม่เคยคิกว่างานเยี่ยมบ้านจะมีความเสี่ยง ได้รับบาดเจ็บจนได้มาเจอกับตัวเอง          

       ความเสี่ยงทางการพยาบาลหมายถึง โอกาสที่จะเกิดความเสียหายหรือสิ่งที่ไม่พึงประสงค์จากการปฏิบัติงาน ซึ่งเราประเมินกันว่า งานเยี่ยมบ้านน่าจะมีความเสี่ยง คือ

  • ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อ              
  • ผู้ป่วยเกิดแผลกดทับ
  • ไม่มีรถ/ไม่ได้ไปตามนัด
  • ไปแล้วไม่พบผู้ป่วย
  • ผู้เยี่ยมได้รับอุบัติเหตุ/บาดเจ็บ

        ซึ่งความเสี่ยงประการหลังที่ได้ประสบกับตัวเองก็คือ ได้รับบาดเจ็บจากการถูกสุนัขกัด เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน หลังจากย้ายมาปฏิบัติงานที่หน่วยงานนี้ได้ประมาณ 8 เดือน ยังมีประสบการณ์ในการเยี่ยมบ้านน้อยมาก วันนั้นไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยซึ่งเปิดประตูรั้วบ้านไว้แล้ว มีสุนัขตัวสูงประมาณ 2 คืบ เห่าและวิ่งออกมาจากในบ้าน พร้อมกับเสียงเจ้าของบ้านตะโกนบอกว่า "เข้ามาเลย มันไม่เคยกัดใคร" หลังสิ้นเสียงเจ้าของ สุนัขตัวน้อยมันก็งับที่ข้อเท้าฉัน แล้วก็วิ่งหนีเข้าบ้านไป ฉันก็ได้แต่เพียงรีบล้างแผลที่มีรอยเขี้ยวลากเป็นแนวยาวประมาณ 1 นิ้ว และมีเลือดซึมเล็กน้อย ล้างด้วยสบู่และน้ำประปา ขณะเดียวกันทีมพยาบาลที่ไปด้วยก็ให้บริการเยี่ยมบ้าน ให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยจนเสร็จเรียบร้อย จึงกลับเข้าโรงพยาบาล เพื่อล้างแผลและฉีดยาป้องกันพิษสุนัขบ้า

        จากนั้นเป็นต้นมาพวกเราทีมเยี่ยมบ้านทุกคน ต้องถือร่มไว้กันสุนัข และส่งเสียงตะโกนสอบถามมาแต่ไกลว่าบ้านนี้มีสุนัขหรือไม่ ถ้ามีต้องให้เจ้าของช่วยมัดหรือจับไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัย

         และตอนนี้ฉันก็สุขสบายดี ไม่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า (อิอิ) ยังเยี่ยมบ้านทุกสัปดาห์โดยไม่โดนสุนัขกัดอีก

หมายเหตุ: ในรูปคนที่ยืนหลบสุนัขคือ น้องปองไพลิน ส่วนคนที่กางร่มแดง เดินเข้าไปโดยไม่กลัวสุนัขคือพี่สดใส ส่วนคนที่อยู่ท้ายสุดและเป็นคนถ่ายรูปคือฉันเอง.....จิตรลดา :)

สร้าง: อ. 31 ต.ค. 2549 @ 16:56   แก้ไข: อ. 31 ต.ค. 2549 @ 16:56
ไม่ได้อ่านเรื่องเล่าเยี่ยมบ้านของ ตสม. นานแล้วคะ คิดถึง

การต้อนรับความตายด้วยใจสงบ
      มีหลายอย่างที่ครอบครัว ญาติและผู้ดูแลสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้โดย
  1.ให้ความรักและความเห็นอกเห็นใจ
  2.ช่วยให้ผู้ป่วยยอมรับความตายที่จะมาถึง
  3.ช่วยให้จิตใจจดจ่อกับสิ่งดีงาม
 การปลดเปลื้องสิ่งที่ค้างคาใจของผู้ป่วย
       1.ช่วยปลดเปลื้องสิ่งที่ค้างคาใจ
       2.ช่วยให้ผู้ป่วยปล่อยวางสิ่งต่างๆ
การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายจำเป็นต้องคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นจุดศูนย์กลาง เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตที่เหลืออยู่
อย่างมีคุณภาพโดยยึดหลัก
  1.มุ่งประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเป็นหลัก มิใช่ตัวโรค
  2.มุ่งบรรเทาความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานทางกาย-ใจ-สังคม
  3.ให้การดูแลด้วยความรัก ความเมตตา ความอาทร ครอบคลุมทุกด้านอย่างจริงใจและเน้นเฉพาะรายบุคคล
 4.เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยและครอบครัว โดยให้การดูแลช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มป่วยจนถึงวาระสุดท้าย
  5.จัดให้มีระบบการช่วยเหลือค้ำจุนครอบครัว
  6.ไม่เร่งรัดหรือเหนี่ยวรั้งความตาย
  7.ถือว่า “ความตาย” เป็นกระบวนการปกติของธรรมชาติ เป็นสัจธรรมที่ทุกชีวิตต้องสัมผัส

สิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในชุมชน
 การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบองค์รวม พยาบาล,บุคลากร ทางการแพทย์ไม่จบลงพร้อมกับการตายของผู้ป่วยเท่านั้น
จะต้องดูแลครอบครัว,บุคคลที่คลุกคลีกับผู้ตายอย่างยาวนาน อาจมีความเศร้าโศกและความเครียดอย่างมาก การช่วยเหลือ
ประคับประคองบำรุงจิตใจ เป็นสิ่งที่ต้องกระทำทันที โดยได้รับการช่วยเหลือ สนับสนุน จากทีมบริการสุขภาพชุมชน
“ รู้เขา รู้เรา” สัจธรรมความจริง สักวันหนึ่งเราจะเป็นอย่างเขาและในที่สุดก็จะต้องเดินหน้าเข้าหาความตายเช่นเดียว
กับเขา เราควรจะสำรวจความรู้สึกของเราว่าเป็นอย่างไร เราคิดว่าเราพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์เพียงใด
 “ธรรมโอสถ” การเข้าใจในความเป็นจริงของชีวิต เป็นเสมือนโอสถที่ไม่เพียงแต่เยียวยาจิตใจไม่ให้ทุกข์เท่านั้น
หากยังเสริมสร้างจิตใจให้มีความเข้มแข็ง สามารถเผชิญกับอุปสรรคต่างๆได้ คุณงามความดีที่เราได้ทำ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่
เราควรระลึกด้วยความภาคภูมิใจ จะกลับมาจัดสรรใจเราให้เป็นสุขและสงบในที่สุด

ปล.ประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยมะเร็งในช่องปาก-คอระยะสุดท้ายปฏิเสธการผ่าตัดในครั้งแรกและรักษาแบบประคับประคองจนวาระสุดท้าย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท