ดูงานมูลนิธิฉือจี้ : 3. วันที่สาม – เรียนรู้วิธีการกระตุ้นพลังด้านดีของมนุษย์ ออกมาสร้างเครือข่ายแห


วันที่ 28 เมษายน 2549 เราไปดูงานที่ Still Thoughts Hall, พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของมูลนิธิฉือจี้, โรงพยาบาลฉือจี้ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของมูลนิธิฯ, มหาวิทยาลัยฉือจี้และคณะแพทยศาสตร์, รับฟังการบรรยายเรื่องการจัดการอาสาสมัคร, แล้วหลังอาหารเย็นเรากลับมาทำ AAR ครั้งที่ 1 ที่โรงแรม นำโดย อ. หมอประเวศเป็นผู้ให้การบ้านพวกเรากลับไปทำ
ผมบันทึกแบบตีความตามเคย ไม่รู้ว่าตีความเข้าป่าไปหรือเปล่า ท่านผู้อ่านโปรดอ่านโดยเชื่อตามกาลามสูตรนะครับ และที่แน่ๆ ก็คือผมคงจะตีความได้ไม่ครบถ้วนอย่างแน่นอน คงจะมีหลักการ/วิธีการที่แฝงอยู่ แต่ผมตีความไม่ออก หรือมองไม่เห็น
วิธีกระตุ้นพลังด้านดีของมนุษย์ออกมาครองโลก ที่ฉือจี้ใช้ ได้แก่
1. เน้นที่การปฏิบัติ คือการช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลือสังคม โดยทำทันที ไม่รอช้า
2. การช่วยเหลือผู้อื่นทำโดยไม่หวังผลตอบแทน และทำอย่างประณีต อย่างเคารพความเป็นมนุษย์ของผู้รับ และอย่างมีหลักฐานคือให้เซ็นรับ อาจถ่ายรูปไว้ด้วย
3. แสดงความขอบคุณแก่ผู้ที่เราให้ความช่วยเหลือด้วยกาย วาจา ใจ ว่าเขาเป็นผู้ให้โอกาสเราได้ปฏิบัติตนช่วยเหลือผู้อื่น
4. ถือว่าการช่วยเหลือผู้อื่นคือการปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลาจิตใจของตน
5. เน้นการกระตุ้นความรู้สึกกินใจ ประทับใจ โดยกิจกรรมที่แตกต่างหลากหลาย เช่น ผลัดกันเล่าเรื่อง (เรื่องจริง) ที่แสดงการทำดี การเสียสละ ความอดทน การมีไหวพริบแก้ปัญหาเพื่อทำความดี เพื่อปลุกจิตใจด้านดีของมนุษย์ออกมา
6. ใช้สื่อเพื่อประกอบเรื่องเล่าในการปฏิบัติความดีต่อผู้อื่น ทั้งที่เป็นภาพถ่าย ภาพยนตร์ และโทรทัศน์
7. มีการแสดงความชื่นชมยินดีต่อผู้ที่ได้ทำความดีช่วยเหลือผู้อื่น และนำไปเล่าต่อๆ กัน หรือสร้างหลักฐานที่แสดงความชื่นชมและเห็นคุณค่าในความเสียสละ ดังกรณี “อาจารย์ใหญ่” ที่อุทิศร่างของตนให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษา โดยไม่ขอรับยารักษาโรคมะเร็ง (ซึ่งจะทำให้ใช้ร่างในการศึกษาไม่ได้) ทางโรงเรียนแพทย์ได้จัดพิธีที่แสดงความเคารพต่อศพ และใช้เป็นเครื่องปลุกจิตสำนึกด้านดีของนักศึกษาแพทย์ คือเมื่อเรียนชำแหละศพจบแล้วให้เย็บชิ้นส่วนของร่างกายกลับที่เดิมอย่างประณีต ห่อด้วยผ้าขาว ใส่โลง และทำหน้าที่แบกโลงในพิธีเผา อัฐิของ “อาจารย์ใหญ่” นำมาบรรจุในกล่องแก้ว เรียงรายไว้อย่างสมเกียรติ รวมทั้งมีรูปและ ประโยคความดีของอาจารย์ใหญ่ ที่นักศึกษาแพทย์ได้จากการไปสัมภาษณ์ครอบครัวอย่างละเอียดและเขียนบันทึกเรื่องราวของอาจารย์ใหญ่ส่งอาจารย์ในวิชามนุษยศาสตร์
8. กิจกรรมอย่างหนึ่งในการปลุกสำนึกด้านดี คือการจัดพิธีพบปะประจำปี ระหว่างผู้บริจาคไขกระดูกกับผู้ได้รับบริจาคที่หายจากโรคร้าย เป็นกิจกรรมที่ปลุกทั้งสำนึกของตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรง เจ้าหน้าที่ของฉือจี้ที่เกี่ยวข้อง และสำนึกของสาธารณชน เป็นเครื่องกระตุ้นให้คนอยากทำดี อยากเข้ามาสมัครเป็นผู้บริจาคไขกระดูกอย่างกว้างขวาง
9. นักเรียนในโรงเรียนของฉือจี้ ได้รับการกล่อมเกลาทางด้านอารมณ์ความรัก เช่น การแสดงความขอบคุณแม่ ด้วยการล้างเท้าแม่ ป้อนข้าวให้แม่ เป็นกิจกรรมที่เรียกน้ำตาทั้งของแม่และลูก สร้างความอ่อนโยนทางอารมณ์
10. เน้นว่าคนทุกคนมีความดีอยู่ในตัว คนเล็กคนน้อยเป็น “โพธิสัตว์รากหญ้า” พระโพธิสัตว์กวนอิมมีพันตาพันมือ ดังนั้นคนห้าร้อยคน รวมกันพันตาพันมือ ก็เป็นโพธิสัตว์ได้
11. เห็นได้ชัดเจนว่ากิจกรรมของฉือจี้ ได้สร้างชีวิตใหม่ให้แก่อาสาสมัครฉือจี้ คือทำให้มีชีวิตที่มีความสุขจากความปิติที่ได้ช่วยเหลือหรือทำดีให้แก่ผู้อื่น ชาวฉือจี้เป็นนักเล่าเรื่องทุกคน เพราะมีเรื่องราวการปฏิบัติ หรือประสบการณ์ของตนเอง ความคิดความเชื่อของตนเอง และได้รับฟังเรื่องเล่าของเพื่อนาวฉือจี้ อย่างสม่ำเสมอ กล่าวได้ว่าชีวิตของชาวฉือจี้อาบไปด้วยการทำดี และการรับฟังเรื่องราวดีๆ
12. เดาว่าชาวฉือจี้มีการทดลองหาวิธีการกระตุ้นพลังด้านดีของมนุษย์ด้วยกิจกรรมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เมื่อทำได้ผลอย่างน่าประทับใจ ก็เอามาเล่าใน “รายงานยามเช้า” ต่อท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน และเผยแพร่ทางโทรทัศน์ไปทั่วโลก ที่เราจะได้ไป “ฟังด้วยหู ดูด้วยตา” ตนเองในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๙

มือที่คว่ำ คือมือของพระโพธิสัตว์ ผู้ให้ เพื่อเยียวยาโลก

ภายใน Still Thoughts Hall ในอาคารพิพิธภัณฑ์ฉือจี้

รูปหมู่ที่ด้านข้างอาคารพิพิธภัณฑ์ หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์

พ่อลูก ถ่ายที่หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์

กุฏิจำลองสมัยแรกเริ่มออกบวชและศึกษาธรรม ของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน

จำลองสภาพวัดของท่ายอาจารย์เจิ้งเหยียนช่วงเริ่มต้น

กล่องแก้ว บรรจุอัฐิท่านอาจารย์ใหญ่ของนักศึกษาแพทย์

บรรยากาศของนิทรรศการ 40 ปี ฉือจี้ ผู้นำชมสามารถเล่าเรื่องตามภาพในนิทรรศการ สร้างความดื่มด่ำจนน้ำตาไหลไม่รู้ตัว

อีกมุมหนึ่งของนิทรรศการ 40 ปี

พิธีชงชาเพื่อชำระจิตใจ ก่อนดื่มให้นึกขอบคุณคนที่ปลูกชา เก็บชา ฯลฯ ที่ทำให้เราได้ดื่มชาในวันนี้ ก่อนดื่มจิบที่ 1 ให้อวยพรให้ตนเองจงพูดแต่สิ่งที่ดี ก่อนดื่มจิบที่ 2 อวยพรให้ตนเองคิดแต่สิ่งดีๆ ก่อนจิบที่ 3 อวยพรให้ตนเองทำสิ่งที่ดี

วิจารณ์ พานิช
๒ พค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 26790เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2006 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2016 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท