ชีวิตที่พอเพียง : 15. ฝึกงาน


• ผมเป็นคนโชคดีในชีวิตที่ได้ฝึกงานตั้งแต่เด็ก    โดยส่วนใหญ่มีแม่เป็น “ครูฝึก”
• งานที่ได้ฝึกคือการทำงานบ้าน ซึ่งตอนนั้นเราเบื่อมาก    แต่ตอนนี้ถือเป็นกำไรชีวิตที่ได้ทำงานเหล่านั้น    ซึ่งมีมากมาย จาระไนไม่หมด
• งานกวาด-ถูบ้านทำให้ผมโดนแม่ตีบ่อยๆ ว่าเบี้ยวงาน   เพราะกวาดถูแล้วทำไมเวลาแม่เดินพื้นจึงยังมีฝุ่นอยู่   ผมยืนยันว่าได้ทำแล้วจริงๆ   แม่ไม่เชื่อ ผมก็โดนตี   ตอนเด็กๆ ผมคงจะเป็นคนที่เครดิตไม่ค่อยดี   และแม่ของผมก็เป็นครูฝึกที่ดุ
• มาคิดได้ตอนโตแล้วว่าที่เราโดนตีฟรีก็เพราะหลังคาบ้านมุงด้วยจาก ที่เรียกว่าหลังคาจาก   หลังจากมุงไปได้สัก ๒ – ๓ ปีใบจากก็เริ่มเปื่อยยุ่ย และหลุดร่วงลงมาเป็นฝุ่น    จนในที่สุดหลังคาก็จะโหว่ ฝนรั่ว ต้องเปลี่ยนหลังคาใหม่ทุกๆ ๓ – ๔ ปี
• งานที่ผมขอบคุณมากที่ได้ทำคืองานตักน้ำจากบ่อใส่โอ่งไว้ใช้และอาบ   ใช้กระป๋องน้ำชนิดมีหูหิ้วผูกเชือก (ควั่นจากใยกาบมะพร้าว ผู้ใหญ่เป็นผู้ทำ)    หย่อนลงไปในบ่อซึ่งลึกระหว่าง ๒ – ๕ เมตร   หน้าฝนระดับน้ำจะไม่ลึก หน้าแล้งระดับน้ำลึกมาก   (แต่ที่บ้านผมโชคดีแม้หน้าแล้งน้ำก็ไม่ลึกมาก    ผมเคยไปเห็นหน้าแล้งบางบ่อน้ำอยู่ลึกถึง ๑๐ เมตร)   แล้วเหวี่ยงกระป๋องให้จมน้ำ   และสาวเชือกขึ้นมา   งานนี้ทำให้ผมซึ่งเป็นเด็กร่างกายอ่อนแอผอมกระหร่องได้ออกกำลังกาย   ผมเบ่งกล้ามแขนดูทุกวันว่ากล้ามขึ้นหรือยัง
• ตอนเริ่มเป็นวัยรุ่น ครอบครัวทำโรงสี   ผมชอบช่วยลูกจ้างยกกระสอบข้าวสาร (หนัก ๑๐๐ กก.) โดยยกกัน ๒ คนคนละข้าง เอาใส่หลังคนแบก   พอยกได้ผมภูมิใจมาก   และทำงานนี้อยู่ ๒ – ๓ ปี ก่อนมาเรียนต่อที่กรุงเทพ   นี่ก็เป็นการทำงานที่ช่วยให้ผมได้ออกกำลังกาย
• งานใช้สมองก็มี   บิดาใช้ให้ช่วยทำบัญชี คิดเลข   โดยบิดาคิดลูกคิด ผมคิดในใจ สนุกมาก    เป็นการฝึกสมองอย่างดี   ทำไปได้สักครึ่งปีผมทำได้คล่องมาก    บิดายกให้ผมเป็นผู้ทำ โดยบิดาคอยตรวจสอบเท่านั้น   ผมมานึกเมื่อโตแล้วว่าบิดาน่าจะนึกชมในความสามารถของผมมากทีเดียว    แต่ผมไม่เคยได้รับคำชม   เข้าใจว่ากลัวจะเหลิง    แปลกมากที่ที่บ้านผมเน้นการตำหนิหรือลงโทษเวลาบกพร่องหรือทำผิด   ไม่เน้นการให้คำชื่นชม
• คิดย้อนกลับไป   แม้จะไม่มีการแสดงความชื่นชมด้วยวาจา    แต่คุณพ่อของผมก็แสดงโดยการกระทำ    ปี ๒๕๐๐ ผมมาเรียน ม. ๖ (เท่ากับ ม. ๔ สมัยนี้) ที่ รร. ปานะพันธุ์วิทยา ลาดพร้าว    พอสอบเทอม ๑ ผมสอบได้ที่ ๒   เด็กบ้านนอกเข้ากรุงสอบได้ที่ ๒ มันน่าตื่นเต้นนะครับ    พ่อผมซื้อปากกาปาร์กเกอร์ 65 ปลอกทองให้ ราคา ๓๕๐ บาท ให้เป็นรางวัล    ตอนนั้นเงินค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่ผมได้รับเท่ากับ ๓๐๐ บาท  
• กลับไปเรื่องการฝึกงาน   หน้าหนาวไม่ค่อยมีผักกิน   แม่ผมจะเพาะถั่วงอกขาย    ผมมีหน้าที่ตื่นตอนตี ๕   หอบปี๊บเพาะถั่วงอกกับตะแกรงไม้ไผ่ เดินไปครึ่ง กม. ไปที่ท่าน้ำ    ไปล้างถั่วงอก   ตอนนั้นผมทรมานน่าดู    เพราะกำลังนอนเพลินๆ ในหน้าหนาวแม่ก็มาปลุก   และต้องเดินไปมืดๆ กลัวผี    ลงไปในน้ำก็นึกถึง “ผีพราย” ที่ผู้ใหญ่เล่ากัน   และหนาวด้วย   ผมกลับมาคิดย้อนหลัง ผมได้ฝึกงาน ฝึกความอดทนจากการทำงานเหล่านี้มาก    เวลาได้รับความยากลำบากในชีวิตช่วงหลังๆ ก็ใช้คาถานึกถึงความยากลำบากสมัยเด็กๆ และบอกตัวเองว่าความยากลำบากแค่นี้เราน่าจะทนได้ เพราะเคยมามากกว่านี้

วิจารณ์ พานิช
๓ พค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 26784เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2006 08:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เข้ามาอ่านแล้วครับ  ขอบคุณคุณหมอสำหรับเรื่องเล่าดีๆ ตอนเด็กผมก็ได้ทำงานคล้ายๆ กัน แต่จะอยู่ในทุ่งนามากกว่า  โตมาจึงมีความสุขในการทำงานมากกว่าที่จะเห็นว่าเป็นหน้าที่ เพราะการทำงานทำให้เราใช้ความคิด รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า  เลยมีนิสัยชอบทำอะไรด้วยตัวเอง และก็ยังเป็นอยู่ครับ

     อ่านเรื่องของอาจารย์แล้วก็ทำให้ย้อนนึกถึงเรื่องของตัวเอง ซึ่งก็โลดโผนโจนทะยาน ไม่น้อยเลยทีเดียว แม้จะเกิดในอำเภอเมือง ที่บ้านอาชีพค้าขาย มีลูกจ้างหลายคน ดูเหมือนว่าจะเป็นคุณหนูสุขสบาย

     แต่กาลหาเป็นเช่นนั้นไม่ ตอนเด็กๆ ถูกแม่บังคับให้ "ฝึกงาน" (ใช้งาน) จนเคยแอบน้อยใจว่า เราเป็นลูกคนใช้ หรือถูกเก็บมาจากถังขยะข้างถนนรึเปล่า (เพราะเวลาเราถูกทำโทษ เคยถูกผู้ใหญ่บางคนซ้ำเติมว่า เพราะเราถูกเก็บมาจากถังขยะบ้าง เป็นลูกไอ้ปานลิ้นห้อย (คนพิการที่ชอบเล่นกับเด็ก) บ้าง 

แต่ถึงวันนี้  ต้องขอบพระคุณแม่อย่างสูง ที่ช่วยเป็น "แหล่งฝึก" ที่ดีที่สุดในชีวิตลูก  

  •  ทักษะ ประสบการณ์ ความคิด และจินตนาการทั้งหลายที่เกิดกับตัวเองในทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาซื้อสำเร็จรูปได้จากที่ไหน
  • การได้เดินผ่าน เวลา สถานการณ์ สิ่งแวดล้อม จนเกิดเป็น ความรู้สึก ความรู้ ความเข้าใจ ความสงสัย และปัญหาต่างๆ เป็นเบ้าหลอมเฉพาะตัวของแต่ละคน  

     ถึงทุกวันนี้ก็ยังคงต้องฝึกงานต่อไป ฝึกมากก็ได้ประโยชน์มาก มีโอกาสที่จะได้พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีต่อไป

ต่างคน  ต่างก็หลากหลายความคิด  หลากหลายประสบการณ์  อันประสบการณ์เมื่อครั้งวัยเยาว์นั้น  ถือเป็นสิ่งทรงคุณค่า  เป็นเบื้องหลังชีวิตของแต่ละคน  เป็นรอยทางเกวียนที่สามารถย้อนรำลึกถึง  ต้นตอของปัจจุบัน  ว่าประสบความสำเร็จ  ผิดหวังหรือสมหวัง อย่างไร 

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ผ่านประสบการณ์ร้อน หนาว  มาหลายแดดหลายฝนแล้วคนหนึ่งเช่นกัน  ทุกครั้งที่มองย้อนกลับไปรำลึกถึงความตรากตรำ  ต่อสู้ ฟันฝ่าอุปสรรคนานับประการ  จนกว่าจะมีวันนี้  วันที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในชุมชน คน KM ซึ่งจริง ๆ แล้วถือได้ว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับผมเลยก็ว่าได้  แต่คิดว่าคงเป็นบทเรียนที่ดีบทหนึ่งในชีวิต อีกครั้ง  ที่หากว่าได้หวนกลับมามองคราใด  ก็จะต้องรู้สึกภูมิใจทุกครั้ง  กับแบบฝึกหัดที่ได้รับในบทเรียนบทนี้

อ่านแล้วนึกถึงถังน้ำที่ต้องไปตักตามที่แม่สั่งเลยค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

หนูเป็นคนหนึ่งค่ะที่อิงกับแนวคิด "แม่นิยม" ประสบการณ์ของแม่คือห้องเรียนของเรา หนูจึงใช้ประสบการณ์ระหว่างหนูกับแม่ เป็นพื้นที่ของการศึกษา และกำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "แม่"  ในหลักสูตรสตรีศึกษา ยังกังวลใจอยู่ค่ะว่า คณะกรรมการหลักสูตรจะยอมให้หนูทำหรือเปล่า (ฮือๆๆๆ) แต่หนูจะต่อสู้ค่ะ เพื่อให้ได้ทำเรื่องแม่ของตัวเอง ขึ้นหิ้ง

ตอนนี้หนูเลยทยอยเขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับแม่ แง่มุมต่างๆ และกำลังทยอยนำขึ้น http://forknow.weblog.in.th  เพื่อเป็นส่วนของหนึ่งของวิทยานิพนธ์ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท