สมคิดเร่งเบิกงบ 49 ช่วงสุญญากาศ


สมคิดเร่งเบิกงบ 49 ช่วงสุญญากาศ
     คลังชี้ปีหน้างบลงทุนเบิกจ่ายล่าช้าหนึ่งไตรมาส หลังการเปิดประชุมสภาไร้ความชัดเจน
"สมคิด" สั่งเร่งหน่วยงานเบิกจ่ายงบปี 2549 และงบผูกพันเต็มที่ช่วงสุญญากาศการเมือง ระบุเพื่อบรรเทาผลกระทบงบปี 2550 ล่าช้าจากปัญหาการเมือง   ด้านสำนักงบวิตกรายได้ไม่เข้าเป้า จนต้องจัดงบปีหน้า        แบบ "ขาดดุล" หลังประเมินปัญหาการเมือง ส่งผลกระทบปีหน้าเศรษฐกิจโตไม่เกิน 3%
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย หลังหารือร่วมกับ ดร.ทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายวุฒิพันธ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ วานนี้ (2 พ.ค.) ว่า การที่ยังไม่มีความชัดเจน ว่า จะเปิดประชุมสภาได้เมื่อใด ทำให้อาจกระทบต่อการจัดงบประมาณรายจ่ายปี 2550 อาจจะล่าช้าออกไปบ้าง แต่ก็จะประสานงานไม่ให้ล่าช้ามากนัก
ดร.สมคิด กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายประจำต่าง ๆ ของภาครัฐยังคงใช้ได้อยู่ รวมทั้งยังมีงบเหลื่อมปีหรืองบผูกพันอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท ที่นำมาใช้ได้ในช่วงที่งบประมาณปี 2550 ต้องล่าช้าออกไป จึงเชื่อว่าจะไม่ทำให้ การใช้จ่ายของภาครัฐต้องสะดุดลงจากการที่งบประมาณต้องล่าช้า   อย่างไรก็ตาม ได้มีการมอบให้ นายวราเทพ รัตนากร รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รักษาการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาโครงการต่าง ๆ ที่สามารถเร่งรัดได้ให้ดำเนินการไปได้ก่อน
นอกจากนี้ ยังได้ให้ นายวราเทพ และนายสุรนันนท์ เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณปี 2549 ของกระทรวงต่าง ๆ ให้เร็วที่สุด เพราะขณะนี้ ยังมีการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2549 ไม่มากนัก โดยเฉพาะงบลงทุน   
ส่วนด้านรายได้และรายจ่ายอื่น ๆ ของรัฐบาลนั้น  ดร.สมคิด กล่าวว่า จะสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้   ในเร็ว ๆ นี้ และไม่น่าจะมีปัญหา โดยในส่วนของรายรับของภาครัฐได้มอบหมายให้อธิบดีกรมจัดเก็บภาษีทั้ง 3 กรม และปลัดกระทรวงการคลังดูแลอย่างใกล้ชิด
ด้าน ดร.ทนง เปิดเผยว่า งบประมาณปีนี้น่าจะล่าช้าออกไปประมาณ 1 ไตรมาส แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนัก เพราะโดยปกติแล้วการเบิกใช้งบประมาณจะเบิกใช้จริงประมาณไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ จะมีการเร่งรัดงบเหลื่อมปีให้ใช้เร็วมากขึ้นในไตรมาสแรกของปีงบประมาณด้วย อีกทั้งจะมีการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณปี 2549 ให้เร็วที่สุดด้วย โดยจะต้องดูแลโครงการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากนัก หลังจากที่มีหน่วยงานด้านเศรษฐกิจคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีปีนี้ลดลง   "ในทางปฏิบัติไม่มีอะไรที่ล่าช้า การที่งบประมาณเสร็จช้าไปหนึ่งไตรมาสนั้น ปกติในไตรมาสแรกก็ไม่มีอะไรอยู่แล้ว โดยงบใช้จ่ายและงบผูกพันก็ไม่มีการล่าช้าอยู่แล้ว ส่วนงบลงทุนส่วนใหญ่ก็มีการใช้จ่ายจริงในไตรมาส 2 ขึ้นไปอยู่แล้ว ฉะนั้นในทางปฏิบัติแล้วไม่ได้รับผลกระทบ" ดร.ทนงกล่าว     ทั้งนี้ ในส่วนของการลงทุนปีนี้นั้น รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพราะมีการคาดการณ์ใช้จ่ายไว้ไม่สูงนัก แต่ส่วนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือการลงทุนในโครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เพราะการประมูลการลงทุนจะต้องล่าช้าออกไป
ดร.ทนงยังกล่าวถึงงบประมาณในปีนี้ด้วยว่า จะไม่เกิดปัญหาการขาดดุลงบประมาณแน่นอน โดยในส่วนของดุลเงินสดในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีเงินปันผลจากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เข้ามาและในปลายเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ก็จะมีรายรับจากภาษีเงินได้นิติบุคคลเข้ามา จึงเชื่อว่าตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไปจะไม่มีการขาดดุลเงินสดอีก และในปี 2549 นี้ ก็จะไม่มีการขาดดุลเงินสดอย่างแน่นอน
ดร.สมคิด ยังกล่าวถึง การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีนี้ ว่า ยังคงเบิกจ่ายตามรายเดือนตามปกติ      ซึ่งคาดว่าจะเบิกจ่ายจริงได้ 97-98% ของงบประมาณที่วางไว้ ส่วนงบลงทุนนั้นก็จะมีการเร่งรัดเบิกจ่ายเหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งภาพรวมของงบประจำและงบการลงทุนนั้น ก็คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายประมาณ 93% ของงบประมาณตามที่เคยประมาณไว้   ทั้งนี้ งบลงทุนของปีนี้ สำนักงบประมาณได้อนุมัติไปแล้วประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งมีการเบิกจ่ายจริงไปแล้วประมาณ 50%
ด้านนายวราเทพ กล่าวว่า อาจจะลดระยะเวลาพิจารณางบประมาณของคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณจากเดิมใช้เวลา 8-12 สัปดาห์ หลังจากที่ผ่านการพิจารณาในการที่ประชุมสภาวาระแรก ให้เหลือประมาณ 6-8 สัปดาห์ ซึ่งหากลดเวลาในการพิจารณาลงได้ ก็จะทำให้สามารถผ่านกฎหมายมาเป็นงบประมาณได้เร็วมากขึ้น    ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณของปีนี้ ได้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 728,700 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 53.58% โดยแบ่งเป็นงบประจำ 569,515 ล้านบาท คิดเป็น 58.08% และเป็นงบลงทุน 159,185 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 41.95%
แหล่งข่าวจากสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ความสับสนทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ประกอบกับปัจจัยลบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ขยับตัวสูงขึ้น และการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นไปสูงสุดในรอบ 6 ปีที่ระดับ 37.50 บาท    เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ จนทำให้การบริโภคและการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ท้ายสุดได้กระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศ ซึ่งหน่วยงานสำคัญ ๆ  ก็ได้ประมาณการตัวเลขอัตราเติบโตของจีดีพีปีนี้ลง 0.50% หรือขยายตัว 4.25-5.25% จากเดิม 4.75-5.75%
แหล่งข่าวกล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัว และปัจจัยลบที่รุมเร้า อยู่ในขณะนี้นับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม) ได้ทำให้ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวสะท้อนออกมาในทิศทางที่น่าเป็นห่วง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปี 2550 และกระทบการจัดทำงบประมาณรายประจำปี 2550 ที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งกรอบวงเงินไว้ 1.476 ล้านล้านบาท   ซึ่งรัฐบาลใหม่จะต้องทบทวนกรอบวงเงินงบประมาณ และอาจจำเป็นต้องปรับงบประมาณเป็นแบบขาดดุล จากเดิมที่เป็นงบสมดุล เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เนื่องจากคาดว่าภาวะเศรษฐกิจในปีหน้ามีแนวโน้มจะชะลอตัวลง จากปัจจัยลบทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดทำเก็บรายได้ของภาครัฐแน่นอน ประกอบกับมีโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ที่ต้องใช้งบลงทุนอีกจำนวนมากรอการอนุมัติ     ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าขณะนี้ มีสัญญาณหลายตัวบ่งชี้ว่า แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แม้ภาคการส่งออกจะขยายตัวและเป็นหัวหอกหลักในการผลักดันอัตราเติบโตของจีดีพีประเทศอยู่ก็ตาม แต่ปัจจัยลบต่าง ๆ ที่รุมเร้า อาทิ ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยและค่าเงินบาท ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนั้น ปัญหาการเมืองเองก็มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจของนักลงทุน รวมทั้งผลกระทบต่อการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่บางส่วนที่ต้องล่าช้าออกไป และการเลื่อนระยะเวลาในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจออกไป ทำให้การลงทุนหยุดนิ่ง เพื่อรอนโยบายของรัฐบาลใหม่ ขณะที่ฐานะการคลังภาครัฐเองก็มีปัญหาการบริหารเงินคงคลัง ที่ผ่านมา  ทำให้ดุลเงินสดติดลบต่อเนื่องหลายเดือน แม้กระทรวงการคลังจะยืนยันว่าไม่มีปัญหาด้านการเงินก็ตาม
ทั้งนี้ ตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนช่วงเดือนมีนาคมและไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเหลือเพียง 1.4% จาก 5.3% เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  "ขณะนี้ ตัวเลขการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ชะลอตัวลงมาก ขณะที่การใช้จ่ายของประชาชนเองก็ถดถอย เพราะไม่มั่นใจภาวะเศรษฐกิจของประเทศว่าจะเป็นอย่างไร ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ระมัดระวังการใช้จ่าย ต้นทุนการผลิตของเอกชนเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันและดอกเบี้ย   ในที่สุด ก็จะกระทบต่อผลประกอบการ และกระทบต่อการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ โดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งจะทำให้รายได้เข้ารัฐไม่เป็นไปตามเป้า นั่นหมายความว่า ต้องส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายอย่างแน่นอน" แหล่งข่าวระบุ
สำหรับการลงทุนของภาครัฐในปีงบประมาณ 2549 จะมีการลงทุนทั้งสิ้น 5.64 แสนล้านบาท ขยายตัว 11.9% จากปีก่อน แต่ลดลง 2.66 หมื่นล้านบาท จากเดิมคาดว่าจะลงทุน 5.91 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 17.8% ส่วนปีหน้าคาดว่าจะมีเงินลงทุน 6.21 แสนล้านบาท ขยายตัว 5.1% ลดลงจากที่คาดว่าจะมีเงินลงทุนภาครัฐ 6.98 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 18.1% ลดลงจากที่คาดไว้ที่ 7.67 แสนล้านบาท        ขณะที่การลงทุนของภาครัฐและเอกชนปีนี้ จะขยายตัว 7.5-8.5% ลดลงจากที่คาดไว้ 10.5-11.5%  โดยการลงทุนของภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัว 7-8% ลดลงจากที่คาดว่าจะขยายตัว 12.5-13.5%   ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 7.5-8.5% ลดลงจากที่คาดว่าจะขยายตัว 9.5-10.5% ขณะที่การลงทุนของภาครัฐปีหน้าขยายตัว 8-9% ลดลงมาก จากที่คาดว่าจะขยายตัว 14-15% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 8-9% ลดลงจากที่คาดว่าจะขยายตัว 8.5-9.5%   
อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดี เพราะการขยายตัวของการส่งออก แต่ส่วนหนึ่งก็มาจากการขยายตัวของฐานที่ต่ำในช่วงไตรมาสแรกของปี 2548 (Low Base Effect) เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2548 เห็นได้ว่าเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงชะลอตัว และช่วงที่เหลือของปีนี้เศรษฐกิจยังเผชิญกับความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นตาม และดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้คาดว่าปัจจัยลบต่าง ๆ จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปีหน้าอย่างชัดเจน   โดยเฉพาะหากราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากปัญหาของประเทศอิหร่าน และค่าบาทยังแข็งขึ้นไปถึงระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามที่นักการเงินวิเคราะห์ไว้ จะยิ่งทำให้กระทบต่อความสามารถแข่งขันของผู้ส่งออกไทย รวมทั้งหากไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาคุณภาพ และสร้างความแตกต่างของสินค้าส่งออกได้ ขณะที่ประเทศคู่แข่งมีการพัฒนาคุณภาพสินค้าที่คล้ายกับสินค้าไทยแต่มีต้นทุนต่ำกว่า ก็จะทำให้การส่งออกไทยมีปัญหาได้ เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย เป็นต้น ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะขยายตัวไม่เกิน 3% อย่างแน่นอน     "ปัจจุบันแม้การส่งออกของเรายังขยายตัวได้อยู่ แต่หากไม่มีการพัฒนาคุณภาพสินค้า สร้างความแตกต่างหรือมูลค่าเพิ่มได้ ขณะที่ต้นทุนเราสูงกว่า


จากราคาน้ำมันและดอกเบี้ยสูง รวมทั้งประเทศคู่ค้าเองก็กีดกันสินค้ามากขึ้น โอกาสที่เราจะสู้ประเทศคู่แข่งไม่ได้   ก็มีสูง ซึ่งหากการส่งออกมีปัญหาเศรษฐกิจไทยก็จะถูกกระทบอย่างแน่นอน เพราะทุกวันนี้ การส่งออกเป็นหัวหอกหลักในการผลักดันจีดีพีประเทศให้ยังคงเติบโตอยู่" แหล่งข่าวย้ำ
ขณะที่นายวุฒิพันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้งบประมาณปี 2549 มีเพียงพอถ้าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะใช้เงินงบประมาณเท่าเดิมประมาณ 2,000 ล้านบาท

กรุงเทพธุรกิจ  ไทยโพสต์  แนวหน้า  ผู้จัดการ 
ไทยรัฐ  ข่าวสด 
บ้านเมือง  โพสต์ทูเดย์  โลกวันนี้  3  พฤษภาคม  2549
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 26610เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2006 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท