เสียงกระซิบจากครูไม่ใหญ่ ตอนที่ 2 : ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง


ดังนั้นการทำ KM จึงน่าจะต้องคำนึงถึงหลักการของ "ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง" ด้วย

          อ่าน ตอนที่ 1 : โรงเรียนอยู่ไหน..?

          ในการจัดการเรียนการสอนของศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขานั้น  เมื่อมาคิดทบทวนอดีตที่ผ่านมา  ทำให้พบว่าเรามีกระบวนการเรียนการสอนที่สมัยนี้นิยมเรียกกันว่า การเรียนการสอนที่ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (ตามจริต)  ผมก็เพิ่งเข้าใจคำนี้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง  แต่ก็ทำมาบ้างแล้ว ทำอย่างไรบ้าง ผมมีเรื่องเล่าถึงการจัดการเรียนของศูนย์ฯ ดังนี้ครับ

  1. ครูไม่มีข้อห้ามเรื่องระเบียบการแต่งกาย ตามสะดวก ใส่ชุดอะไรมาเรียนก็ได้ไม่ผิดระเบียบ
  2. ใครจะนำน้องมาเลี้ยงหรือมาเล่นด้วยก็ได้ ไม่ห้ามไม่ได้แยกการศึกษาออกจากชีวิตจริงๆ
  3. ตอนกลางคืนจะห่มผ้าห่มมาเรียนก็ไม่ได้ว่าอะไร เพื่อความอบอุ่นเพราะโรงเรียนยังไม่มีฝาห้อง
  4. ใครพร้อมจะเรียนตอนกลางวันก็ได้  หรือจะมาเรียนตอนกลางคืนก็ได้ หรือเด็กๆ บางคนจะมาเรียนทั้งกลางวันกลางคืนก็ตามใจปรารถนา (ตามความพร้อม)
  5. สามารถเรียนควบคู่กับการเลี้ยงวัวด้วยก็ได้  โดยอาจผูกหลักไว้แล้วมาเรียนสักพักหนึ่งจะขออนุญาตไปดูแลวัวที่เลี้ยงก็ยินดี จะได้ไม่เสียเวลาทำมาหากิน
  6. ในขณะที่มาเรียน ครูและผู้เรียนก็สามารถปรึกษาพูดคุยเรื่องในชีวิตประจำวันได้ ไม่ต้องเคร่งเครียดกับการเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว
  7. ไม่มีการแยกชั้นเรียน แต่จะจัดเป็นกลุ่มๆ ตามความก้าวหน้า
  8. ร้อยะ 80 เป็นตำราที่มีมาจาก กศน. ส่วน อีกร้อยละ 20 ชาวบ้านร่วมกันสร้าง เรียกกันในสมัยนั้นว่า "หลักสูตรท้องถิ่น" หากเป็นสมัยนี้คงเรียกว่า "ภูมิปัญญา" ครับ
  9. การประเมินผล ไม่ใช้การสอบครับ ไม่เคยมีการสอบ แต่จะประเมินเป็นรายบุคคลตามความก้าวหน้า
  10. ในบางฤดูกาล ผู้เรียนก็จะมาต่อรองถึงช่วงเวลาของการเรียนที่เหมาะสมได้ เช่น ในฤดูทำนา  เกี่ยวข้าว หรือขอหยุดเรียนทั้งวันเพื่อไปกินแขกแต่งงาน(ออมุ) ต่างหมู่บ้านเป็นต้น

     ภาพนี้ ตอนกลางวันจะเป็นช่วงของเด็กๆ ครับ

                                     

 

     ภาพนี้ เป็นบรรยากาศการเรียนการสอนในตอนกลางคืน เป็นของผู้ใหญ่หรือคนที่ไม่ว่างในตอนกลางวัน

                                      

                                                

บทสรุป

          บทเรียนที่เรียนรู้จากประสบการณ์ในการจัดกระบวนการเรียนการสอนของศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา  ที่ผมได้มีโอกาสได้เรียนรู้ ขอสรุปไว้ดังนี้

  • ได้เรียนรู้ว่า...ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นครูในการจัดการสอนการเรียนนั้น  แม้ว่าจะมาจากหลายสาขาวิชาทั้งครู สายช่าง อื่นๆ  หรือวุฒิของครูที่มีตั้งแต่ ม.6 ถึงระดับปริญญาตรี  แต่ทุกคนต่างก็สามารถทำหน้าที่ของครูได้ดี  อาจแตกต่างกันบ้าง  แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่จิตวิญญาน  ความตั้งใจจริง  และความรับผิดชอบในหน้าที่ของครูที่มีอยู่ในตัวคนๆ นั้นต่างหาก  เพราะเราเป็นเพียงผู้เอื้ออำนวยให้คนได้เรียนรู้ (ทุกอย่างเรียนรู้และฝึกฝนได้)
  • ในการทำงานในชุมชนนั้น ต้องใช้ความรู้หลายๆ แขนงผสมผสานกัน ไม่ใช่แต่การสอนหนังสือเพียงอย่างเดียว  ต้องใส่ใจกับสภาพและความเป็นไปในชุมชนด้วย เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในชุมชน ล้วนส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของเราทั้งสิ้น
  • ได้เรียนรู้ว่าคนตัวผู้มาเรียนนั้น มีความหลากหลายและความพร้อมที่จะเรียนรู้แตกต่างกันมาก ดังนั้นการออกแบบหรือการจัดการเรียนการสอน จึงต้องจัดให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
  • บางเรื่อง ชาวบ้านหรือผู้เรียนตัวน้อยๆ ของเรา มีความรู้และความสามารถมากกว่าครูเสียอีก เช่น ความสามารถในการหาของป่า  การหุงหาอาหาร  การพึ่งพาตนเองโดยไม่ใช้เงินตรา เป็นต้น (ทุกคนมีศักดิ์ศรีและความรู้ความสามารถ)
  • สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะขอบันทึกไว้ก็คือ มาตรวัดที่ใช้ในการศึกษาหรือการเรียนรู้นั้น จะใช้เพียงว่าการจบการศึกษาชั้นนั้นชั้นนี้เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ หรือใช้ได้ในทุกๆ ที่   ผมว่ามันขึ้นอยู่กับว่าในวิถีชีวิตจริงของชุมชนแล้วเขาต้องใช้องค์ความรู้อะไร   จึงจะสามารถดำรงชีวิตรอดอยู่ได้อย่างมีความสุข  เพราะในบางพื้นที่แม้มีเงินก็ไม่สามารถซื้ออะไรๆ ได้ (ต้องทำเป็นและทำเอง)   แต่ความรู้ความสามารถทำอะไรได้ ทำอะไรเป็น ฯลฯ ต่างหาก  (ที่ส่วนใหญ่ไม่มีการสอนในห้องเรียน) แต่เขากลับเรียนรู้กันเองอย่างเป็นธรรมชาติ  และสามารถนำไปปฏิบัติได้ในชีวิตจริงๆ ส่งผลที่ทำให้เขาดงรงชีวิตอยู่ได้

          ประสบการณ์นี้  สามารถนำมาปรับใช้กับกระบวนการจัดการความรู้ได้เป็นอย่างดี เพราะในการจัดการความรู้  มิติหนึ่งของบุคคลที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือความพร้อมหรือความถนัด/ความชอบในการเรียนรู้ของแต่ละคน(จริต) ที่แตกต่างกัน  ดังนั้นการทำ KM จึงน่าจะต้องคำนึงถึงหลักการของ "ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง" ด้วย  เพราะจะเป็นส่วนที่เอื้อหรือสนับสนุนต่อความสำเร็จของ KM ด้วย

 

                                            

วีรยุทธ สมป่าสัก

หมายเลขบันทึก: 26560เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2006 17:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับคุณวีรยุทธ

เยี่ยมมาก ๆ เลยครับ ถูกต้องเลยครับการทำงานแบบมีส่วนร่วมเราต้องยึดผู้ที่เข้าไปร่วมเป็นศูนย์กลาง ให้เขาเป็นพระเอก ทำเพื่อเขา ให้เขามีความสุข "ร่วมรับประโยชน์" ครับ

เขาได้ประโยชน์ เราก็ได้ความรู้ครับ ความรู้ที่ได้จะเป็นกำลังใจในการทำงานครับ

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

 Flower เรียน ท่านสิงห์ป่าสัก

 ชื่นชมครับ





ขอชื่นชม และให้กำลังใจครับ อย่างนี้เป็นของจริงพื้นที่จริง มีผลเกิดเป็นรูปธรรมจริง ขอให้ทำต่อไปนานๆ และมีคนสนับสนุนมากๆ มีงบประมาณให้ด้วย
    ต้องขอขอบพระคุณทุกๆ ท่าน  ทั้ง คุณ ปภังกร อาจารย์หมอ JJ และ คุณประถม มากนะครับ  ที่ร่วมแสดงความคิดเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท