ความเข้าใจระหว่างศาสนาคือแนวทางในการดับไฟใต้


อิสลามถือว่าความหลากหลายทางด้านภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ และวงศ์ตระกูลของมวลมนุษย์ คือหนทางสู่การเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ เกื้อกูล เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน มิใช่เป็นต้นเหตุแห่งการบาดหมาง พยาบาท การเข่นฆ่า สงครามและการนองเลือดระหว่างกัน อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกันและกัน” (อัลฮุญุรอต : 13) การรู้จักซึ่งกันและกัน ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การเข้าถึง เข้าใจ ร่วมมือ เกื้อกูล และถือเป็นบันไดขั้นแรกของกระบวนการสร้างอารยธรรมอันสูงส่งของมนุษยชาติ
อิสลามได้วางกรอบพร้อมเสนอวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในทุกเรื่องทุกประเด็นที่เป็นความต้องการตามสัญชาติญาณดั้งเดิมของมนุษย์ไม่ว่าด้านจิตวิญญาณที่ครอบคลุมความเชื่อ จิตวิญญาณ หรือด้านกายภาพที่เกี่ยวเนื่องกับสรีระร่างกายและปัจจัยพื้นฐานทั่วไป นอกจากนี้อิสลามยังเสนอมาตรการการป้องกันและห้ามปรามทุกเรื่องทุกประเด็นที่ปฏิเสธและไม่เป็นที่ต้องการตามสัญชาติญาณดั้งเดิมของมนุษย์ไม่ว่าด้านนามธรรมหรือกายภาพ
       อิสลามเป็นคำสอนที่ถือว่ามนุษย์ทุกคน ถึงแม้จะแตกต่างด้านเชื้อชาติ สัญชาติและเผ่าพันธุ์ ต่างก็มีตระกูลอันดั้งเดิมที่มาจากครอบครัวเดียวกัน ดังอัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย จงยำเกรงพระเจ้าของพวกเจ้า ที่ได้บังเกิดพวกเจ้ามาจากชีวิตหนึ่ง (นบีอาดัม)”(อันนิสาอฺ : 1) อัลลอฮฺยังได้ตรัสอีกความว่า “โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน” (อัลฮุญุรอต : 13) การประกาศหลักการและเจตนารมณ์อันบริสุทธ์นี้ถือเป็นการปฏิเสธความเหลื่อมล้ำ การแบ่งชนชั้นวรรณะและการจัดวางกลุ่มคนบนขั้นบันไดทางสังคมเนื่องจากความแตกต่างด้านสีผิว เชื้อชาติ วงศ์ตระกูลและเผ่าพันธุ์ของมนุษย์โดยสิ้นเชิง

        อิสลามถือว่าความหลากหลายทางด้านภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ และวงศ์ตระกูลของมวลมนุษย์ คือหนทางสู่การเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ เกื้อกูล เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน มิใช่เป็นต้นเหตุแห่งการบาดหมาง พยาบาท การเข่นฆ่า สงครามและการนองเลือดระหว่างกัน อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกันและกัน” (อัลฮุญุรอต : 13) การรู้จักซึ่งกันและกัน ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การเข้าถึง เข้าใจ ร่วมมือ เกื้อกูล และถือเป็นบันไดขั้นแรกของกระบวนการสร้างอารยธรรมอันสูงส่งของมนุษยชาติ

        อิสลามถือว่า มนุษย์มีฐานะอันทรงเกียรติยิ่งและประเสริฐสุดในบรรดาสิ่งที่ถูกสร้างทั้งหลาย ถึงแม้จะมีความแตกต่างด้านสีผิว เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรมและศาสนา แต่ความเป็นมนุษย์ของคนๆ หนึ่งถือเป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่เขาจะได้รับฐานะอันทรงเกียรตินี้ อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “แน่แท้ เราได้ให้เกียรติแก่ลูกหลานของอดัมและเราได้พิทักษ์ปกป้องพวกเขาทั้งหลายทั้งทางบกและทางทะเล และได้ให้ปัจจัยยังชีพที่ดีทั้งหลายแก่พวกเขา และเราได้ให้พวกเขาดีเด่นอย่างมีเกียรติเหนือกว่าผู้ที่เราได้ให้บังเกิดเป็นส่วนใหญ่”(อัล อิสรออฺ : 70)

         บนพื้นฐานแห่งกระบวนทัศน์ดังกล่าว อิสลามจึงประกาศเป็นศาสนาสากลที่ตระหนักและให้ความสำคัญแก่มนุษย์ อิสลามจึงเชิญชวนและเรียกร้องมนุษยชาติทั้งมวล โดยไม่ได้จำกัดกลุ่ม ชนชาติ เผ่าพันธุ์ เชื้อชาติหรือลักษณะภูมิประเทศใดเป็นการเฉพาะ และด้วยความเป็นสากลของอิสลาม ไม่ว่าในมิติของการเชิญชวน การเรียกร้อง หรือในมิติของการตอบรับของประชาคมโลก อิสลามจึงปฏิเสธแนวคิดชาตินิยม รัฐนิยมหรือการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์ของตนเอง อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด เว้นแต่เป็นผู้แจ้งข่าวดีและเป็นผู้ตักเตือนแก่มนุษย์ทั้งหลาย แต่ว่าส่วนมากของมนุษย์ไม่รู้”(สะบะอฺ: 28)

        ท่านศาสนทูตมูฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) กล่าวไว้ว่า “ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติของฉันสำหรับผู้ที่เรียกร้องบนฐานแนวคิดของการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์ ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติของฉันสำหรับผู้ที่ทำสงครามบนฐานแนวคิดของการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์ และไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติของฉันสำหรับผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากการต่อสู้ในการปกป้องและพิทักษ์รักษาแนวคิดของการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์”

        ดังนั้นอิสลามจึงได้สร้างเงื่อนไขไว้ว่า การเข้ารับอิสลามของแต่ละคน ต้องเกิดจากเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์และความต้องการอันเสรีเท่านั้น ไม่ใช่ด้วยการบังคับขู่เข็ญ และอิสลามถือว่าการบังคับในเรื่องดังกล่าวเป็นอาชญากรรมและสร้างตราบาปให้แก่มนุษย์ที่มีความอิสระและสิทธิเสรีภาพในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “ไม่มีการบังคับในการนับถือศาสนาอิสลาม” (อัลบะเกาะเราะฮฺ : 256) อัลลอฮฺทรงตรัสอีกความว่า “เจ้าไม่ใช่เป็นผู้มีอำนาจเหนือพวกเขา (ให้เกิดความศรัทธา) ” (อัลฆอซิยะฮฺ : 22) นอกจากนี้ อัลลอฮฺยังได้ปฏิเสธพฤติกรรมอันจะนำไปสู่การบังคับในศาสนาด้วยคำดำรัสของพระองค์ความว่า “และหากพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์ แน่นอนผู้ที่อยู่ในแผ่นดินทั้งมวลจะศรัทธา เจ้าจะบังคับมวลชนจนกว่าพวกเขาจะเป็นผู้ศรัทธากระนั้นหรือ ” (ยูนุส : 99)

        อิสลามได้กำหนดเป้าประสงค์อันสูงสุดของสาส์นแห่งการเผยแผ่อิสลาม มายังมนุษยชาตินั่นคือการแผ่ความเมตตาแก่เหล่าสมาชิกในสากลจักรวาล อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเป็นความเมตตาแก่สากลโลก ” (อัล-อัมบิยาอฺ : 107) อิสลามไม่ได้เป็นศาสนาที่จำกัดความเมตตาเพียงแค่มนุษย์เท่านั้น หากยังก้าวล้ำแผ่ไปถึงบรรดาสิงสาราสัตว์ ซึ่งได้ปรากฏในคำสอนของอิสลาม ที่กำชับให้มีการอ่อนโยนแก่สัตว์ มีความปรานี ให้การเยียวยารักษา และห้ามใช้งานสัตว์ที่หนักจนเกินไป นอกจากนี้ อิสลามได้สอนให้มุสลิมรู้จักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการกำหนดบทบัญญัติที่ว่าด้วยการห้ามทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์โดยเปล่าประโยชน์ ศาสนทูตมูฮัมมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) กล่าวความว่า “หญิงนางหนึ่งต้องเข้านรกด้วยความผิดที่นางได้จับขังแมวตัวหนึ่ง โดยที่นางไม่ให้อาหารและไม่ปล่อยให้มันหาอาหารเอง จนกระทั่งแมวนั้นตายเพราะความหิว”(รายงานโดยอัล-บูคอรีย์) ท่านศาสนทูต (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ยังได้เชิญชวนมนุษย์ให้มีความโอบอ้อมอารีแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยวจนะของท่านความว่า “แท้จริงท่านทั้งหลายจะได้รับผลบุญในทุกครั้งที่ท่านยื่นมือให้อาหารแก่ทุกกระเพาะที่เปียกชื้น (อันหมายถึง ทุกสิ่งที่มีชีวิต)”

          อิสลามได้ยอมรับการมีอยู่ของประชาคมอื่น ทุกประชาคมในโลกนี้ย่อมมีสิทธิใช้ชีวิตและดำรงคงอยู่บนโลกนี้ พร้อมกับความเชื่อของตนได้อย่างอิสรเสรี อิสลามถือว่าความหลากหลายของประชาคม ถือเป็นกฏสามัญทั่วไปของสิ่งมีชีวิต ความแตกต่างในสัจธรรมดังกล่าว ถือเป็นแนวทางสู่การแข่งขัน และการเสริมสร้างอารยธรรมอันสูงส่ง อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “และหากพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์ แน่นอนพระองค์จะทำให้ปวงมนุษย์เป็นประชาชาติเดียวกัน แต่พวกเขาก็ยังคงแตกแยกกัน”(ฮูด : 118)

          อิสลามยึดหลักการสนทนาและเสวนาธรรม ด้วยวิธีการที่ดี และถือว่าวิธีการดังกล่าวคือหนทางสู่การสร้างความเข้าใจและการยอมรับอันจะนำไปสู่การประสานความร่วมมือและจรรโลงสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อัลลอฮฺทรงตรัสความว่า “จงเผยแผ่สู่แนวทางแห่งพระเจ้าของเจ้าด้วยวิธีการที่สุขุม และการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งพวกเขาด้วยเหตุผลและหลักฐานที่ดีกว่า”(อันนะหฺลุ :125)

       อิสลามยอมรับการยื่นมือให้ความช่วยเหลือในทุกกิจการอันนำไปสู่การดำรงคงไว้ซึ่งคุณประโยชน์และจรรโลงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ท่ามกลางบรรยากาศที่สงบร่มเย็น เป็นสุข และมีความยุติธรรม ท่านศาสนทูตมูฮัมมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ได้เคยเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในสนธิสัญญายุคก่อนอิสลามที่บ้านของอับดุลลอฮฺ บิน ญัดอาน ซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านความ อยุติธรรมในสังคม และท่านได้กล่าวหลังจากที่อิสลามได้แผ่ขยายไปทั่วคาบสมุทรอาหรับเพื่อเป็นการรำลึกถึงสนธิสัญญาดังกล่าวว่า “ หากฉันได้รับการเชิญชวนให้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในสนธิสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกันกับสนธิสัญญาดังกล่าว ฉันยินดีเข้าร่วมอย่างแน่นอน”

   อิสลามได้เชิญชวนและเรียกร้องให้มุสลิมยืนหยัดในกระบวนการยุติธรรมและพยายามดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม แม้ต่อบรรดาศัตรูและกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อชาวมุสลิมก็ตาม อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “และจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใดทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า”(อัล-มาอิดะฮฺ : 8)

          อิสลามถือว่า ความสงบร่มเย็นเป็นสุขในสังคม เป็นเสาหลักแห่งสันติภาพอันเป็นโอกาสดีที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งและความมีประสิทธิภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เจ้าจงเข้าในกระบวนการสันติภาพโดยทั่วทั้งหมดด้วยเถิด”(อัลบะเกาะเราะฮฺ : 208)

          ทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับอิสลามไม่ว่าหลักการ หลักปฏิบัติหรือคำสอน ล้วนยึดหลักสายกลางและความพอดี เป็นแนวทางอันเที่ยงตรง ไม่ใช่เป็นแนวทางที่สุดโต่งหรือหย่อนยานหละหลวมแต่อย่างใด อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ความว่า“และในทำนองเดียวกัน เราได้ให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติที่เป็นกลาง”(อัลบะเกาะเราะฮฺ:143)

         อิสลามสั่งห้ามพฤติกรรมต่างๆที่นำไปสู่ความรุนแรง สร้างความเสียหายบนแผ่นดิน หรือสร้างอาณาจักรและปริมณฑลแห่งความหวาดกลัวแก่ชนในสังคม อิสลามถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นบาปอันใหญ่หลวงและก่ออาชญากรรมทางสังคมที่ร้ายแรง อัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า“แท้จริงการตอบแทนแก่บรรดาผู้ทำสงครามต่ออัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ และพยายามสร้างความเสียหายบนผืนแผ่นดินนั้นก็คือ พวกเขาจะถูกฆ่าหรือตรึงบนไม้กางเขนหรือมือพวกเขาและเท้าของพวกเขาจะถูกตัดสลับข้าง(คือมือขวาและเท้าซ้าย)หรือถูกเนรเทศออกไปจากแผ่นดิน พวกเขาจะได้รับความอัปยศในโลกนี้และจะได้รับโทษอันใหญ่หลวงในปรโลก ”(อัลมาอิดะฮฺ:32)

          ในทุกมิติของอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นหลักการ เจตคติและประวัติศาสตร์ ถือว่าการละเมิดรุกราน การใช้ความรุนแรง และการกระทำที่ไม่ชอบธรรมบางประการของมุสลิมส่วนหนึ่งที่ไม่รู้จริงในแก่นแห่งศาสนา การแอบอ้างศาสนา การใช้อารมณ์ใฝ่ต่ำ หรือการใช้สติที่วู่วามและโกรธแค้น เป็นสิ่งที่อิสลามประณามและปฏิเสธโดยสิ้นเชิง และอิสลามไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเชิงลบเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย

       มาบัดนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ปัญหาความรุนแรงได้กลายเป็นปัญหาระดับโลก และเป็นปัญหาของมนุษยชาติไปแล้ว ดังนั้นประชาคมโลกจึงต้องเร่งสร้างความร่วมมือ ขจัด แก้ไข และเยียวยารักษาปัญหานี้โดยด่วน การแก้ไขเพียงปลายเหตุหรือการทำความเข้าใจเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ไร้ความหมาย ตราบใดที่เรายังไม่แก้โจทย์ที่ถูกต้องในทุกมิติของปัญหา ไม่ว่ามิติของรากฐานความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของบุคคล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นมาของชุดความคิดและรากฐานของปรัชญา ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการศึกษาและประมวลสภาพปัญหาที่แท้จริง เพื่อกำหนดวิธีการแก้ไขที่ถูกต้อง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพ

         ขอให้กำลังใจทุกท่านที่มีส่วนร่วมสร้างความเข้าใจอันดีงามในสังคม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราคงมีโอกาสพูดคุยในโอกาสต่อไป ขอขอบคุณ

 

เขียนโดย ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา

 คัดลอกจาก www.majlisilmi.org
คำสำคัญ (Tags): #ศาสนาอิสลาม
หมายเลขบันทึก: 26559เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2006 20:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท