คนที่มีอีคิวสูงจะเป็นอย่างไร


สื่อการเรียนรู้...มศว มศวกับสังคม เปิดโอกาศให้คนเรียนรู้ได้ตลอดเวลา

ลองพิจารณาจากตัวอย่างบุคคลต่อไปนี้
          ณิชาภัทร เป็นคนที่เรียนเก่ง สมองไว ชอบตอบคำถามของครู เมื่อจะต้องทำกิจกรรมอะไรก็ชอบเป็นหัวหน้า มักเป็นคนสั่งการให้คนนั้นคนนี้ แต่ไม่ค่อยรอฟังความคิดเห็นของเพื่อนที่ต่างไปจากของตน เพราะเห็นว่าความคิดเห็นของตนดีกว่าเพื่อนๆ ที่ต้องการมีสิทธิมีเสียงในการทำงานก็มักไม่ชอบทำงานกับณิชาภัทร บางครั้งณิชาภัทรตัดสินใจไม่เหมาะสม ก็ไม่มีใครกล้าทักท้วง เพราะนอกจากณิชาภัทรไม่ฟังใครแล้ว ณิชาภัทรก็ชอบว่าความคิดของเพื่อนไม่เข้าท่าด้วย
          เพียงตะวัน เป็นคนเรียนดี ทำอะไรก็ตั้งใจทำจริง เป็นคนร่าเริง ไม่เคร่งเครียด เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็สามารถทำจิตใจให้สงบได้ เพราะเข้าใจธรรมชาติของคน ไม่ผิดหวังรุนแรง จะพูดจาหรือทำอะไรจะคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น
          จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ทั้งสองคนเป็นคนที่มีสติปัญญาดี คือ มีไอคิวสูง แต่คนที่สองมีอีคิวสูงกว่าคนแรก

          นักวิชาการยอมรับว่า สติปัญญาไม่ได้มีเฉพาะไอคิว (IQ) ซึ่งเป็นความสามารถในการคิด การใช้เหตุผล และการเรียนรู้ แต่สติปัญญามีได้หลายด้าน เช่น ด้านการเคลื่อนไหว ด้านดนตรี ด้านการเข้าใจตนเอง ด้านการเข้าใจผู้อื่น อีคิวเป็นสติปัญญาด้านอารมณ์ ซึ่งจะใกล้เคียงกับสติปัญญาด้านการ เข้าใจตนเองและเข้าใจผู้อื่น คำว่า อีคิว (EQ) เป็นคำย่อจาก "Emotional Quotient" ซึ่งหมายถึง "Emotional Intelligence" อีคิวมีผู้แปลเป็นภาษาไทยไว้หลายคำ ตั้งแต่ ความฉลาดทางอารมณ์ สติปัญญาทางอารมณ์ เชาวน์อารมณ์ วุฒิภาวะทางอารมณ์ และปรีชาเชิงอารมณ์
          อีคิวเริ่มต้นจากนักวิชาการในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยปีเตอร์ ซาโลเวย์ (Peter Salovey) และจอห์น เมเยอร์ (John Mayer) รวมทั้งแดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) ที่ใช้คำว่า "Emotional Intelligene" ส่วนรูเวน บาร์ออน (Reuven Bar-On) ผู้ใช้คำว่า "Emotional Quotient" นักวิชาการเหล่านี้ให้ความหมายของอีคิวที่ไม่เหมือนกันทีเดียว แต่ในความหลากหลายก็มีความคล้ายกัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า คนที่มีอีคิวสูงจะเป็นคนที่มีลักษณะดังนี้

  • เข้าใจอารมณ์ตนเอง รู้ตัวว่าตนเองกำลังมีอารมณ์อะไร ทำไมจึงมีอารมณ์เช่นนั้น
  • จัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ในทางสร้างสรรค์ โดยไม่เก็บกด ไม่เป็นทุกข์ต่อตนเอง และไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น
  • มีการผสมผสานการใช้เหตุผลและอารมณ์ในการคิด ตัดสินใจ หรือแก้ปัญหาต่างๆ ของตน ไม่ให้อารมณ์อย่างเดียวมาชี้นำการตัดสินใจ หรือใช้แต่เหตุผลอย่างเดียว ไม่ฟังเสียงความรู้สึกของตน
  • ใช้อารมณ์ให้เป็นประโยชน์ต่อการคิด และการทำงาน สามารถสร้างสรรค์และรักษาอารมณ์ เพื่อให้ตนทำงานได้จนประสบความสำเร็จ
  • เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น เข้าใจว่าเขากำลังมีอารมณ์อย่างไร ทำไมเขาจึงมีอารมณ์เช่นนั้น
  • สามารถที่จะสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้

          นอกจากนี้ก็มีความหมายของอีคิวเพิ่มเติมที่นักวิชาการให้แตกต่างกันไป เช่น

  • การมองโลกในแง่ดี
  • เห็นคุณค่าในตนเอง
  • เชื่อมั่นในตนเอง
  • มีความรับผิดชอบ
  • มีความสุข

          มีผู้พยายามให้ความหมายของอีคิวในแบบไทยๆ เช่น อีคิวในแนวพุทธศาสนา ซึ่งจะหมายถึงความสามารถของบุคคลที่จะใช้ปัญญาในการรักษาและพัฒนาสภาพจิตที่ดีงาม หลังจากรับรู้สิ่งใดแล้ว และแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่เกื้อกูลและสร้างสรรค์ ส่วนอีคิวของกรมสุขภาพจิตจะหมายถึง ความดี ความเก่ง ความสุข

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 26393เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2006 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท