อุ่นรักมหัศจรรย์


อุณหภูมิกายต่ำในทารกแรกเกิด

ความเป็นมา   /  ปัญหาและโอกาสพัฒนา

       ภาวะอุณหภูมิกายต่ำ หมายถึง อุณหภูมิที่วัดทางทวารหนักหรือทางรักแร้ ต่ำกว่า 36.5 องศาเซลเซียส ในทารกแรกเกิด  เป็นภาวะที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะทารกที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกคลอดระหว่างทางก่อนถึงโรงพยาบาล  คลอดท่าก้น และทารกที่ขาดออกซิเจนขณะคลอด ทารกน้ำหนักน้อย รวมทั้งทารกปกติทั่วไปก็สามารถเกิดภาวะนี้ได้  เนื่องจากทารกแรกเกิดมีความสามารถจำกัดในการปรับตัวเพื่อให้อุณหภูมิคงที่ ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม หากไม่ควบคุมอุณหภูมิร่างกายทารกให้อยู่ในเกณฑ์ปกติจะทำให้อัตราการเกิดโรคแทรกซ้อนและอัตราตายในทารกเพิ่มขึ้น ดังนั้นการป้องกัน และการแก้ไขภาวะนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

    โรงพยาบาลศรีสงครามเป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 60 เตียง  มีผู้คลอดเฉลี่ยประมาณ 70 ราย/เดือน จากการเก็บข้อมูลจากเดือนตุลาคม 2548 - กรกฎาคม 2549 พบอัตราการเกิดทารกอุณหภูมิกายต่ำ 20 % ทางห้องคลอดโรงพยาบาลศรีสงครามตระหนักถึงความสำคัญของภาวะนี้  แต่ห้องคลอดยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นแนวทางเดียวกัน  และเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ให้ความอบอุ่นแก่ทารกไม่เพียงพอและชำรุด  การควบคุมอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมรอบกายทารกทำได้ยาก เพราะอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล  และต้องมีการเคลื่อนย้ายทารกไปอยู่ตึกหลังคลอดหรือส่งต่อเพื่อรับการรักษาที่อื่น  ทางโรงพยาบาลไม่มีเครื่องให้ความอบอุ่นชนิดเคลื่อนย้ายได้ และไม่มีหออภิบาลทารกแรกเกิดโดยเฉพาะจึงได้ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพเรื่อง การลดอัตราการเกิดภาวะอุณหภูมิกายต่ำในทารกแรกเกิด โดยนำผลงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกรียงศักดิ์   และ ศาสตราจารย์ ดร. วีณา    จิระแพทย์  มาประยุกต์ใช้ร่วมกับการผลิตถุงผ้านวมห่อตัวทารก  ที่สะดวกใช้และเป็นแหล่งให้ความอบอุ่นที่รวดเร็ว ต้นทุนการผลิตต่ำ  ใช้ได้ทั้งการป้องกันและแก้ไขภาวะอุณหภูมิกายต่ำขณะอยู่ในหอผู้ป่วย และขณะเคลื่อนย้าย

การผลิตถุงถั่วเขียวและวิธีใช้

- ใส่ถุงถั่วเขียวดิบ 1กิโลกรัม ในถุงผ้ายีนส์ ขนาดของถุงผ้าเท่ากับกระดาษ A4 แล้วเย็บปิดให้มิดชิด

-  อุ่นถุงถั่วในด้วยไมโครเวฟ ขนาดไฟ 800 วัตต์ นาน 1 นาที

- ใส่ถุงถั่วเขียวในซองเอกสารสีน้ำตาลขนาด A4

- ปูผ้าขนหนูบนซองเอกสารที่ใส่ถุงถั่วเขียวที่อุ่นแล้ว 1 ผืน

- ใช้ผ้าขนหนูห่อตัวทารกแล้ววางลงบนผ้าขนหนูที่ปูอยู่บนซองเอกสารที่ใส่ถุงถั่วเขียวที่อุ่นแล้ว

ผลการดำเนินงาน

1. หลังการนำเอาถุงถั่วเขียวมาใช้เป็นอุปกรณ์ให้ความอบอุ่นแก่ทารก  แล้วเก็บข้อมูลนำมาวิเคราะห์พบว่าอัตราทารกอุณหภูมิกายต่ำลดลงจาก 20 %   เหลือ 15.1% และไม่พบภาวะแทรกซ้อนต่อผิวหนังของทารก

2. การใช้ถุงถั่วเขียวไม่เหมาะในการใช้ให้ความอบอุ่นแก่ทารกแรกเกิดในห้องคลอด และยังพบการเกิดอุณหภูมิกายต่ำที่ห้องหลังคลอด 2 ชั่วโมง 50 % ของทั้งหมด

3.   การใช้ถุงถั่วเขียวในรูปแบบเดิม   ไม่สะดวกในห้องหลังคลอด   2 ชม.ขณะมารดาให้นมบุตรและขณะเคลื่อนย้ายจึงได้ผลิต  ถุงผ้านวมอุ่นรักมหัศจรรย์  ใช้ร่วมกับถุงถั่วเขียว

การผลิตถุงอุ่นรักมหัศจรรย์

วิธีการผลิต  ตัดเย็บด้วยผ้าสำลี หรือผ้าฝ้าย  ผ้าใยสังเคราะห์และผ้าร่ม 3 ชั้นใช้ร่วมกับถุงถั่วเขียว

วัตถุประสงค์ / วิธีการใช้

1.ห่อตัวทารก ป้องกันการสูญเสียความร้อนออกจากร่างกาย ป้องกันกระแสลมพัดผ่านตัวทารก  ขณะอยู่ห้องหลังคลอดที่อุณหภูมิห้องค่อนข้างต่ำในฤดูหนาวหรือขณะเปิดเครื่องปรับอากาศ

2. เพิ่มการรักษาอุณหภูมิโดยมีช่องใส่ถุงถั่วเขียวอุ่นด้วยไมโครเวฟ 1 นาทีด้านหลังถุงอุ่นรัก

3. ใช้รับทารกที่คลอดระหว่างทางมีภาวะอุณหภูมิกายต่ำอยู่แล้ว หรือกรณีคลอดฉุกเฉินได้ภายใน 3นาที ( การทำงานของ warmer หรือ Incubator ที่ให้ความอบอุ่นเพียงพอ  ที่เวลา  15 - 30 นาที)

4. ใช้ห่อตัวทารกขณะเคลื่อนย้ายหรือส่งต่อแทนการห่อผ้าหลายชั้น หรือ Transport Incubator

5. มารดาสะดวกในการให้นมบุตร  ไม่ต้องแยกทารกเพื่ออยู่ใต้  Radiant warmer

 

ผลลัพธ์หลังการใช้ถุงผ้าอุ่นรัก

ประโยชน์ที่ได้รับจากถุงถั่วอุ่นรักมหัศจรรย์

1. ทารกปลอดภัยจากภาวะ อุณหภูมิกายต่ำ

2. แก้ไขภาวะอุณหภูมิกายต่ำได้ทันท่วงที  ลดความรุนแรงจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้

3. มีเครื่องมือ และ แนวทางปฏิบัติในการป้องกันและควบคุมอุณหภูมิกายต่ำในทารกแรกเกิดอย่างเป็นรูปธรรม

4. มารดาทารกอยู่ใกล้ชิดกันตลอดเวลา  สะดวกในการให้นมบุตร

5. สะดวกในการให้การพยาบาล  เปิดเผยร่างกายทารกเฉพาะส่วนที่จำเป็น

6. ประหยัดงบประมาณ  ต้นทุนต่ำ

7. ใช้ขณะเคลื่อนย้ายหรือส่งต่อ แทนการห่อผ้าหลายชั้นหรือTransport Incubator

คุณสมบัติ พิเศษของการออกแบบและวัสดุที่ใช้ตัด เย็บถุงอุ่นรัก มหัศจรรย์

1. ชั้นในสุดเป็นฝ้ายหรือผ้าสำลีเนื้อนุ่มไม่ระคายเคืองต่อผิวทารกและรักษาอุณหภูมิได้ดี

2. ชั้นกลางเป็นแผ่นใยสังเคราะห์เพิ่มความหนานุ่มและรักษาอุณหภูมิได้และซับน้ำได้ดี

3. ชั้นนอกสุดเป็นผ้าร่มสามารถป้องกันกระแสลมพัดผ่านเข้าถึงตัวทารกได้และกันน้ำได้

4. การออกแบบสะดวกใช้ สามารถเปิดเผยร่างกายทารกเฉพาะส่วน เมื่อให้การพยาบาล มารดาอุ้มทารกให้นมได้ ขณะใช้ถุง  มีช่องบรรจุถุงผ้ายีนส์ใส่ถั่วเขียวที่อุ่นด้วยไมโครเวฟด้านหลัง(ไม่ใส่ซองกระดาษ)

5. มารดาสามารถนำไประยุกต์ใช้ต่อที่บ้านได้

ข้อแนะนำการใช้  เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน

1.    แต่งตัวทารกด้วยด้วยผ้าอ้อม เสื้อ หมวก ถุงมือถุงเท้า และห่อตัวด้วยผ้าขนหนูก่อน

2.    ประเมินอุณหภูมิห้องถ้าต่ำกว่า 28 องศา ควรใช้ถุงผ้าพร้อมกับถุงถั่วเขียว

3.    ใช้แก้ไขภาวะอุณหภูมิกายต่ำได้ดีและรวดเร็ว อาจใช้ร่วมกับwarmer ด้วย

4.    อุณหภูมิทารกค่อนข้างต่ำ ( < 36.8 องศา) ควรใช้ถุงผ้าพร้อมกับถุงถั่วเขียว

5.    ประเมินอุณหภูมิทารกซ้ำหลังใช้ 15 - 30 นาที โดยวัดทางรักแร้ครบ 8 นาที

6.    ถ้าอุณหภูมิห้อง > 28 องศา พิจารณาใช้เฉพาะถุงผ้าอย่างเดียว

7.    การอุ่นถุงถั่วด้วยไมโครเวฟขนาดกำลังไฟ 800 วัตต์ 1 นาทีเท่านั้น เก็บอุณหภูมิได้ ~ 2 ชม. ต้องการใช้ต่อ อุ่นถุงถั่วอันใหม่

8.    ซักทำความสะอาดได้เหมือนเสื้อผ้าเด็กทั่วไป

 

พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุเสด็จเยี่ยมชมบูธนำเสนอผลงาน

 Poster presentation HA  Forum ครั้งที่ 10 ที่อิมแพคเมืองทองธานี

11  มี.ค. 2552


 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 263116เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2009 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • แวะมาทักทาย
  • เก่งจริงๆๆๆค่ะ
  • เป้ฯกำลังใจให้คนทำงานนะคะ

ขอชื่นชมกับความสำเร็จนี้นะคะ และมีความคาดหวังว่าจะผลิตผลงานดีๆๆออกมาอีกเยอะๆๆนะคะ

ต้นตำรับเป็นท่านอาจารย์เกรียงศักดิ์ จีระเเพทย์ใช่มั๊ยคะ ดีใจค่ะที่มีคนนำไปต่อยอด ชื่นชมพี่กรมรีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท